“ มฟล.” ตั้งเป้าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของอาเซียน พัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ วิจัย และนวัตกรรมสู่สังคม

ก้าวสู่ปีที่ 25 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ภายใต้การนำของ รศ.ดร. ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี ประกาศวิสัยทัศน์ มุ่งพัฒนา มฟล. เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของอาเซียน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ใน  อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ วิจัย และนวัตกรรมสู่สังคม ผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน เพื่อตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ

มฟล. ดำเนินงานตามพระราชปณิธานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ‘ปลูกป่า สร้างคน’ และเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นการสร้างประโยชน์แก่สังคมอย่างยั่งยืน ด้วยภารกิจแห่งการเป็นมหาวิทยาลัย โดยการดำเนินงานที่ผ่านมา ยึดตามหลักแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) และ BCG โดยดำเนินงานครบถ้วนตามภารกิจอุดมศึกษา ภายใต้ 4 มิติด้วยกัน คือ Empowering Society ขับเคลื่อนสังคมด้วยปัญญา, Fostering Global Citizen สร้างพลเมืองของโลกที่ตอบโจทย์โลกอนาคต, Strengthening Frontier Research สร้างความเข้มแข็งงานวิจัยชั้นแนวหน้า และ Leading University in ASEAN มุ่งสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียน

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติแห่งลุ่มแม่น้ำโขง

รศ.ดร. ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี กล่าวว่า หนึ่งในแผนงานสำคัญในปี2566 คือ การก่อสร้างโครงการ Nature and Art Museum พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติแห่งลุ่มแม่น้ำโขง (Natural Musuem of Greater Mekong Subregion) เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ความหลากหลายทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมใน  อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ทั้งภายในและภายนอก (In & Out Musuem) โดยอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ ล้อมรอบด้วยการจัดแสดงทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เช่น พรรณไม้เฉพาะถิ่นอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พรรณไม้ในพระนาม พรรณไม้หายาก และพรรณไม้ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี (อพ.สร.)

โครงการ Nature and Art Museum ใช้งบดำเนินงาน 379 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในปี2566 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติแห่งลุ่มแม่น้ำโขง เปิดจัดแสดงนิทรรศการทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปะและวัฒนธรรมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ภายในปี 2569 คาดว่า โครงการนี้จะสร้างแรงบันดาลใจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับผู้เข้าชม ให้มีการสืบสานและต่อยอดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

“มฟล.” มหาวิทยาลัยของอาเซียน

รศ.ดร. ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี กล่าวว่า ปัจจุบัน มฟล.มีนักศึกษาทั้งหมดจำนวน 15,117 คน จากทั่วประเทศไทย และประเทศลุ่มน้ำโขง อาเซียน และทวีปต่างๆ ทั่วโลก จัดการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษ โดยเปิดสอน 15 สำนักวิชา การจัดการ นิติศาสตร์  ศิลปศาสตร์ นวัตกรรมสังคม จีนวิทยา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง อุตสาหกรรมเกษตร วิทยาศาสตร์สุขภาพ พยาบาลศาสตร์ เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ และการแพทย์บูรณาการ มีผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว กว่า 35,095 คน

มฟล. มีผลงานคุณภาพที่ได้รับการยอมรับในวงวิชาการ ได้รับอันดับ 1 จาก THE World University Rankings ต่อเนื่องกัน 3 ปีซ้อน ทั้งด้านภาพรวม ด้านการอ้างอิงผลงานทางวิชาการ และด้านความเป็นนานาชาติ ด้านการเรียนการสอนมีการส่งเสริมให้คณาจารย์ได้พัฒนาการสอนรูปแบบใหม่ ที่ทันสมัย ก้าวข้ามข้อจำกัดหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบออนไลน์หรือออนไซต์ ยังคงคุณภาพมาตรฐานการเรียนรู้ พัฒนาให้นักศึกษาทั้งทางวิชาการควบคู่กับทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต โดยมีสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง หรือ MFU Learning Innovation Institute (MLII) ขับเคลื่อนภารกิจนี้ให้บรรลุเป้าหมาย

นอกจากนี้ มฟล.ได้นำองค์ความรู้เหล่านี้ไปต่อยอด ผ่านโครงการ MFU Academy โดยเผยแพร่กิจกรรมบริการวิชาการรูปแบบใหม่ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตอบสนองการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนในสังคม (Lifelong learning) โดยมหาวิทยาลัยได้เริ่มดำเนินการทั้งในการจัดให้มีธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) ทั้งหลักสูตร Sandbox เพื่อรองรับนโยบายการพัฒนากำลังคนตลอดทุกช่วงวัย ให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นในโลกยุคปัจจุบัน เพื่อต่อยอดการทำงานพัฒนาตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการเทียบโอนหน่วยกิตจากการสอบหรือการเทียบโอนหน่วยกิตจากใบรับรองที่ได้จากการฝึกอบรมหรือฝึกปฏิบัติ ตลอดจนพื้นที่ออกแบบ ทดลอง และพัฒนาคอร์สออนไลน์

และเพื่อรองรับการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน และการบริหารมหาวิทยาลัยในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน มฟล. ดำเนินงานด้าน Digital Transformation นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกภารกิจ เพื่อเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล (Digital University) อย่างเต็มรูปแบบ ตลอดจนสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางดิจิทัลเพื่อตอบสนองการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างต่อเนื่อง เข้าถึงได้จากทุกพื้นที่ ทุกเวลา

มฟล. มีพันธกิจด้านการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของประชาชนในเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย โดยศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งประกอบด้วยโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ศูนย์บริการสุขภาพครบวงจรแห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (MFU Wellness Center) สถาบันการแพทย์แผนไทย-จีน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และยังพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการทางด้านสุขภาพ ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ หรือเป็น Wellness Hub ของโลก

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีการผลิตบัณฑิตในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้งสิ้น 6 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ และสำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน

ขับเคลื่อนสังคมด้วยปัญญา

รศ.ดร. ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี กล่าวว่า มฟล.มุ่งผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ พัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ วิจัย และนวัตกรรม สู่สังคม ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน เพื่อตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ

มฟล.สร้างหลักสูตรใหม่ๆ สอดคล้องความต้องการผู้เรียนและตลาดแรงงาน ด้านการวิจัย เพิ่มการสร้างความร่วมมือในการวิจัยข้ามศาสตร์ และเพิ่มความเข้มแข็งให้กับกลุ่มวิจัยต่างๆ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งในด้านภาพลักษณ์ด้านนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนนักศึกษาต่างชาติ นักศึกษาแลกเปลี่ยนหรือความร่วมมือทางวิชาการ

อธิการบดี มฟล.กล่าวว่า “มฟล.เป็นมหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์ทุกการเปลี่ยนแปลง และเป็นมหาวิทยาลัยของอาเซียนที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ มฟล.ขยายกรอบการเป็นที่พึ่งทางด้านวิชาการแก่สังคมผ่านกระบวนการบริการวิชาการสอดคล้องกับความต้องการของสังคมเช่น การวิจัยพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรและผู้ประกอบการกาแฟอะราบิกาในจังหวัดเชียงรายตลอดห่วงโซ่อุปทาน โครงการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสับปะรดภูแล สินค้าจีไอของจังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านอาชีพให้กับชุมชน เป็นต้น”