จัดใหญ่ที่โคราชถ่ายทอดความรู้ซินโครตรอนให้นักวิทย์รุ่นใหม่ในเอเชีย-แปซิฟิก

ปิดฉากอย่างสวยงามกับการจัดกิจกรรม AOFSRR School ครั้งที่ 4 ถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีซินโครตรอนและการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในงานวิจัย เทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาค วิศวกรรมขั้นสูง ซึ่งสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นเจ้าภาพจัดให้แก่นักศึกษาปริญญาโท-เอก และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิก

นครราชสีมา – ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ ประธานจัดการอบรม AOFSRR School ครั้งที่ 4 ประจำปี 2566 และรองผู้อำนวยการพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงสยาม 2 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า

“สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนได้เป็นเจ้าภาพจัดโครงการ AOFSRR School ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 12-16 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นกิจกรรมสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก นักวิจัยหลังปริญญาเอก นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และวิศวกรวิจัย จากประเทศสมาชิก The Asia-Oceania Forum for Synchrotron Radiation หรือ AOFSRR โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 53 คน จาก 12 ประเทศ”

“กิจกรรม AOFSRR School ครั้งนี้มีการบรรยายถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีซินโครตรอนและการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในด้านต่าง ๆ เทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาค วิศวกรรมขั้นสูง โดยเราได้เชิญวิทยากรที่มีผลงานวิจัยด้านแสงซินโครตรอนที่โดดเด่นทั้งด้านวิชาการ อุตสาหกรรม การพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนและระบบลำเลียงแสงจากออสเตรเลีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น และประเทศไทยมาเป็นผู้บรรยาย”

“ถัดจากการฟังบรรยายเป็นการทำกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ ณ ระบบลำเลียงแสงและเครื่องเร่งอนุภาคของสถาบันฯ เพื่อพัฒนาทักษะการทำการวิจัยด้วยแสงซินโครตรอนรวมถึงเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาระบบเครื่องเร่งอนุภาคด้วยการลงมือปฏิบัติจริง กิจกรรมเชิงปฏิบัติการแบบกลุ่มนี้ยังเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ รวมถึงเป็นการขยายฐานกลุ่มผู้ใช้แสงซินโครตรอนรายใหม่ในระดับภูมิอาเซียนด้วย ในวันสุดท้ายสถาบันฯ ได้จัดให้มีกิจกรรมทัศนศึกษาเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมของประเทศไทยและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิก AOFSRR ซึ่งมีสมาชิกจากประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิกทั้งหมด 12 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เวียดนาม ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือและส่งเสริมการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาคสำหรับงานวิจัยร่วมกันของกลุ่มประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเริ่มกิจกรรม AOFSRR School ครั้งแรกในปี พ.ศ.2548 ซึ่ง ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ คาดหวังว่านักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จะสานสัมพันธ์และร่วมสร้างเครือข่ายกันต่อไปในอนาคต