กคช. ผนึก TNDR ตั้ง “ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติด้านภัยพิบัติ”

การเคหะแห่งชาติ (กคช.) จับมือเครือข่าย TNDR ทำ “ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติด้านภัยพิบัติ” เน้นการแจ้งเตือนภัย-ออกแบบเมืองรองรับภัยพิบัติ หวั่นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย

เมื่อวานนี้ (11 ตุลาคม 2566) เวลา 15.00 น. ดร.พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (Thai Network for Disaster Resilience) หรือ TNDR พร้อมด้วยตัวแทนจาก ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC), ตัวแทนจากสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงแห่งสหประชาชาติ (UNDRR) และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในเครือข่ายฯ ให้การต้อนรับ เรืออากาศโท ชัยรัตน์ ทองบริบูรณ์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) พร้อมคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือแนวทางการทำงานร่วมกันของ กคช. และ TNDR เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย

โดย เรืออากาศโท ชัยรัตน์ ทองบริบูรณ์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยถึงผลการหารือในครั้งนี้ว่า การเคหะแห่งชาติได้ทำความตกลงที่จะบูรณาการการทำงานร่วมกับเครือข่าย TNDR ในการผลักดันทำศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติด้านภัยพิบัติร่วมกัน โดยการเน้นขับเคลื่อน 5 มิติ ได้แก่ ข้อมูลภัยพิบัติ, การแจ้งเตือนภัย, การออกแบบเมืองรองรับภัยพิบัติ, กองทุน/Finance และงานวิชาการอื่นๆ เพื่อให้เป็น “ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติของประเทศ”

“หลังการหารือกันวันนี้ การเคหะแห่งชาติ จะร่วมทำ MOU กับ TNDR และ ADPC เพื่อขับเคลื่อนการรับมือภัยพิบัติด้านที่อยู่อาศัย โดยภายหลังเซ็น MOU จะมีการทำ Working group แบ่งเป็น 4 ภาค เน้นบริบทแต่ละภาคที่มีความต่างกัน เพื่อเก็บข้อมูลทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม นำเสนอต่อคณะกรรมการที่อยู่อาศัยแห่งชาติ” รองผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ กล่าว

ด้าน ดร.พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่าย TNDR กล่าวเสริมว่า ทางเครือข่าย TNDR และ ADPC ยินดีให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะเรื่องการออกแบบที่อยู่อาศัยนั้น เครือข่าย TNDR มีสถาปนิกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติน่าจะให้ความช่วยเหลือได้ ดังนั้น การเคหะแห่งชาติสามารถส่งรูปแบบบ้านที่จะทำอยู่แล้วให้ทาง TNDR ประเมินความเสี่ยงได้ และควรสร้างต้นแบบ โดยการเติมโปรแกรมด้านสุขอนามัย หรือการป้องกันตัวเองเบื้องต้นให้ชุมชนเข้าใจ และสามารถปรับตัวอยู่กับภัยพิบัติที่จะเกิดให้ได้ด้วยก็จะยิ่งดีมาก