เผยแพร่ |
---|
วันที่ 23 มกราคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ กลุ่มบริษัท ดาวประเทศไทย ลงพื้นที่ติดตามผลสำเร็จจากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ผลการดำเนินงานโครงการ เรื่อง “การลดขยะกากถั่วเหลืองจากชุมชนและอุตสาหกรรมโดยนำไปแปรรูปเป็นแป้งโอคาร่าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารมูลค่าสูง” ซึ่ง วช. ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ ร้านเบเกอรี่สคูล มูลนิธิคุณพ่อเรย์ จังหวัดชลบุรี
โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย และ นางสาวกรรณิกา ดุรงคเดช ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ รองศาสตราจารย์ ดร.ยุวพิน ด่านดุสิตาพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิจาก วช. ลงพื้นที่จังหวัดชลบุรีเพื่อติดตามผลสำเร็จจากงานวิจัยการถ่ายทอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ : ควบคู่การพัฒนาสังคมกรณีผลิตแป้งโอคาร่าจากกากถั่วเหลืองและผลิตเบเกอรี่จากแป้งโอคาร่า พร้อมทั้งเยี่ยมชมการสาธิตกระบวนการผลิตแป้งโอคาร่า โดยมี ดร.อัญชลี อุษณาสุวรรณกุล นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และ นายณัฐพงศ์ จิรวัฒนาวรกุล ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และ บาทหลวงก่อเกียรติ ดีศรี ประธานบริษัท เรย์ วิสาหกิจเพื่อสังคม (มูลนิธิคุณพ่อเรย์) ให้การต้อนรับ
นางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ที่มุ่งเน้นการนำผลงานวิจัยสู่ผู้ใช้ประโยชน์ โดยในประเด็นด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มเรื่อง Zero Waste ทั้งงานวิจัยที่เกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน และการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งขยะอาหาร หรือ Food waste เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ด้วยขยะอาหารมักจะถูกทิ้งรวมกับขยะมูลฝอยชุมชน ดังนั้น เราต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการจัดการ ครั้งนี้เป็นโอกาสอันดี ที่ วช. กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย และ มก. จับมือกันขับเคลื่อนถ่ายทอดงานวิจัยสู่การนำไปใช้ประโยชน์ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม ซึ่งมูลนิธิคุณพ่อเรย์ เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย ที่นำผลงานวิจัย “แป้งโอคาร่าจากกากถั่วเหลือง” นำไปผลิตเบเกอรี่ ได้แก่ บราวนี่ คุกกี้ และคุกกี้สิงคโปร์ จำหน่ายที่ร้านเบเกอรี่สคูลของมูลนิธิคุณพ่อเรย์ เป็นการช่วยพัฒนาสังคมและให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
ดร.อัญชลี อุษณาสุวรรณกุล หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ได้ดำเนินงานวิจัย “โครงการ การลดขยะกากถั่วเหลืองจากชุมชนและอุตสาหกรรมโดยนำไปแปรรูปเป็นแป้งโอคาร่าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารมูลค่าสูง” ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยของ วช. ในปีงบประมาณ 2564 โดยนำกากถั่วเหลืองมาพัฒนาเป็นแป้ง หรือชื่อในทางวิชาการว่า “แป้งโอคาร่า” นิยมบริโภคในกลุ่มผู้รักษาสุขภาพ สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ได้หลายประเภท เช่น บราวนี่ คุกกี้ และคุกกี้สิงคโปร์
จากการวิจัยพบว่าแป้งโอคาร่าอุดมไปด้วยใยอาหาร โปรตีน ไขมัน แร่ธาตุ อีกทั้งยังปราศจากกลูเตน ที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ที่แพ้กลูเตนในแป้งสาลี ซึ่งสามารถทดแทนการใช้แป้งสาลีในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ได้หลากหลายชนิด และจากปัญหากากถั่วเหลืองเน่าเสียง่ายเนื่องจากมีความชื้นสูงถึงเกือบ 80% ของน้ำหนัก และหากเก็บไว้นานจะเกิดกลิ่นเหม็นหืนได้ง่าย จำเป็นต้องมีวิธีการเก็บรักษาที่ต้องระมัดระวังก่อนนำมาผลิตแป้งโอคาร่า จึงได้นำกระบวนการวิจัยที่มีส่วนช่วยเพิ่มอายุการเก็บรักษาในการผลิตแป้งโอคาร่า เพื่อลดขยะเหลือทิ้งจากกากถั่วเหลืองมาช่วยเพิ่มมูลค่าอาหารให้สูงขึ้น โดย วช. กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และนักวิจัยจาก มก. ได้ร่วมมือกันถ่ายทอดวิธีการผลิตแป้งโอคาร่าให้กับมูลนิธิคุณพ่อเรย์ ซึ่งทางมูลนิธิได้ให้ความสำคัญและขยายโอกาสให้กับผู้พิการ จึงได้เปิดร้าน “เรย์เบเกอรี่สคูล” และได้นำงานวิจัยเข้ามามีส่วนช่วย สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับน้องๆ ผู้พิการทางร่างกาย เด็กออทิสติก และดาวน์ซินโดรม ได้เรียนรู้การทำกิจการร้านอาหาร ร้านกาแฟ และการทำเบเกอรี่ จนสามารถออกไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้
ทั้งนี้ วช. ร่วมกับ กลุ่มบริษัท ดาวประเทศไทย ได้ส่งมอบนวัตกรรมเครื่องอบลมร้อนสำหรับผลิตแป้งโอคาร่า ให้กับทางมูลนิธิคุณพ่อเรย์ เพื่อให้โอกาสให้กับผู้พิการได้ฝึกทำเบเกอรี่ ความร่วมมือกันในครั้งนี้ นอกจากช่วยเสริมรายได้จากการจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ ยังควบคู่ไปกับการพัฒนาอาชีพให้กับผู้พิการในสังคม อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาขยะเหลือทิ้งจากอาหาร Food waste ได้อย่างยั่งยืน