ดอกฮัง…สะพรั่งบาน…ทุกก้านกิ่ง

ชื่อสามัญ รัง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Shorea siamensis Miq.

วงศ์ DIPTEROCARPACEAE

 ฤดูกาลนี้มองไปทางไหนก็เห็นใบไม้ ดอกไม้ ผลิบานไปทั่ว ทั้งสีเหลือง และแดง หลากหลายสี สีสันเหล่านี้แหละที่ช่วยจรรโลงจิตใจมนุษย์อย่างเราๆ ให้สดชื่น กระชุ่มกระชวย โดยเฉพาะแดนดินแถบถิ่นอีสานซึ่งอุดมไปด้วยป่าเต็งรัง

ต้นเดือนมกราคม พี่จุ๊ พี่สาวที่อยู่เมืองอุบลราชธานี แจ้งข่าวมาว่า “ต้นฮัง” ออกดอกแล้วก็รู้สึกแปลกใจ เพราะปกติ

กลีบดอกร่วงโรยจากนั้นพัฒนาเป็นผล

แล้ว “ดอกฮัง” จะเบ่งบานช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ต้อนรับหน้าแล้ง แถมพี่เค้ายังใจดีส่งรูปมาให้ดูด้วย บอกว่า เผื่อใช้เขียนลงคอลัมน์ จากนั้นอีกไม่นานผู้เขียนได้กลับไปที่ลานสะแบง (อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา) เลยได้โอกาสไปสอดส่องต้นรังดูบ้าง แต่ก็ผิดหวัง เพราะต้นรังที่นี่ยังไม่ออกดอกให้เชยชมเลย…มีแต่ใบที่ร่วงโกร๋น…

“หอมดอกจิก คิดฮอดบ้านหลัง
หอมดอกฮัง คิดฮอดบ้านเก่า
หอมดอกคัดเค้า คิดคือสิเฒ่าบ่เป็น…”

ผญาบทนี้กล่าวถึงความหอมรัญจวญของ “ดอกฮัง” เวลาผลิดอกบานสะพรั่ง แต่ทว่าหากไม่ได้ชื่นชมดอมดมดอกฮังแล้ว…จะบรรยายความรู้สึกนี้ได้อย่างไรกัน นับว่าโชคยังเข้าข้าง เพราะเมื่อปลายเดือนมกราคมผู้เขียนตั้งใจไปกราบหลวงพ่อที่วัดจิตภาวัน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี กลับพบว่าต้นฮังที่นั่นติดดอกออกผล…เลยได้ทั้งรูปทั้งกลิ่นหอมของดอกฮังมาฝาก…(ช่วงนั้นอากาศออกจะเย็นๆ สักหน่อย)

ช่อดอกรังหอมอ่อนๆ

ฮัง หรือ รัง อยู่ในวงศ์ยาง สกุลเดียวกับ “สาละอินเดีย” มีลักษณะคล้ายกันมากจนแทบจะเป็นฝาแฝดกันก็ว่าได้ รังเป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 20 เมตร มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย พม่า ลาว เขมร และเวียดนาม พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบขึ้นอยู่ในภาคอื่นๆ ด้วย ยกเว้นในภาคใต้ โดยมักขึ้นตามป่าเต็งรัง  รัง เป็นไม้ที่ทนทานต่อความแห้งแล้ง และไฟป่าได้ดีมาก

เปลือกลำต้น มีสีเทา แตกเป็นร่องเป็นสะเก็ดหนาๆ ไปตามยาวลำต้น เปลือกต้นด้านในเป็นสีแดงออกน้ำตาล มีน้ำยางสีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาล

ดอกที่ผสมแล้วกำลังพัฒนาเป็นผล

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบเป็นรูปไข่กว้างถึงรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลมหรือมน โคนใบเป็นรูปหัวใจ ขอบใบ เรียบ หรือขอบเป็นคลื่นขึ้นลง แผ่นใบ เรียบเกลี้ยง เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ แผ่นใบด้านล่าง มีขนขึ้นประปราย เส้นแขนงใบ มีข้างละ 10-16 เส้น ก้านใบ เกลี้ยง มีหูใบรูปไข่แกมรูปเคียว หลุดร่วงได้ง่าย

ใบอ่อน แตกใหม่เป็นสีน้ำตาลแดง ซึ่งเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของต้นรัง

ดอก-ผลอ่อน-ผลแก่

ดอก เป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ หรือออกที่ปลายกิ่ง ดอกมักจะออกก่อนแตกใบอ่อน ดอกตูมมีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือรูปรีขนาดใหญ่ ดอกย่อยสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีกลุ่มละ 5-20 ดอก มี 5 กลีบ รูปไข่ ปลายบิดเป็นเกลียวคล้ายกังหัน ปลายกลีบโค้งไปด้านหลัง โคนกลีบเชื่อมกัน ดอกหลุดร่วงได้ง่าย

กลีบเลี้ยง มีลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอกกว้าง มีอยู่ 5 กลีบ ปลายกลีบเลี้ยงเรียวแหลม โคนเชื่อมติดกัน ผิวด้านนอกมีขน กลีบดอกเป็นรูปไข่หรือรูปรีกว้าง ปลายกลีบแหลม ผิวด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนขึ้นประปราย เป็นดอกสมบูรณ์เพศ

เกสรตัวผู้ มี 15 อัน แบ่งเป็นชั้นใน 5 อัน และชั้นนอก 10 อัน

ต้นรังกลางเมืองอุบลราชธานี

รังไข่ อยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่เกลี้ยง มีอยู่ 3 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุล 2 เม็ด

เกสรตัวเมีย ก้านเป็นรูปเส้นด้าย ยอดเป็นพู 3 พู

ผล ผนังชั้นในแข็ง ลักษณะเป็นรูปไข่ มีปีกที่พัฒนามาจากกลีบเลี้ยง 5 ปีก ปีกยาว 3 ปีก และปีกสั้นอีก 2 ปีก ปลายป้านเป็นรูปใบพาย มีเส้นตามยาวของปีกตั้งแต่ 7 เส้น ขึ้นไป ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

ขยายพันธุ์ ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด (เด็ดปีกก่อนนำเมล็ดไปเพาะ) รังจะออกดอก และเป็นผลในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน เมื่อออกดอกหลังใบร่วงแล้วจะพร้อมแตกใบใหม่

ไม้รัง เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความแข็งแรงทนทานเป็นอันดับหนึ่งคู่กับไม้เต็ง นิยมนำมาทำสิ่งปลูกสร้างที่ต้องการความแข็งแรง และรับน้ำหนักมาก เช่น ทำพื้น รอด ตง คาน ทำส่วนประกอบของยานพาหนะ และด้ามเครื่องมือการเกษตรต่างๆ

ต้นรังที่วัดจิตภาวัน ชลบุรี

ชันยาง จากต้นรังใช้ผสมกับน้ำมันทาไม้หรือน้ำมันยาง ใช้สำหรับยาแนวเรือ ภาชนะที่ทำจากไม้ไผ่ หรือเครื่องจักสานต่างๆ

ฤทธิ์ทางสมุนไพร ใบรังนำมาต้มกับน้ำ อาบเป็นยาแก้อาการวิงเวียนศีรษะ (ชาวไทใหญ่ภาคเหนือของไทย) ส่วนตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้เปลือกเป็นยาแก้โรคท้องร่วง และใช้ใบนำมาตำพอกรักษาแผลพุพอง

รังเป็นพันธุ์ไม้พระราชทาน เพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัด “อุดรธานี”

ในด้านความเชื่อ คนไทยในอดีตถือว่าต้นรังเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ซึ่งตามตำรากล่าวไว้ว่า “คนเกิดปีมะเส็ง มิ่งขวัญอยู่ที่ต้นไผ่ และต้นรัง ด้วยเหตุที่ดอกฮังมีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นเมือง จังหวัดสกลนคร ได้ตั้งชื่อพันธุ์ข้าวว่า “ข้าวหอมดอกฮัง”

ใบอ่อนผลิใหม่สีแดงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีเขียวเมื่อใบแก่ขึ้น

อีกมุมหนึ่งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมของข้าวพื้นเมือง จังหวัดสกลนคร ได้ตั้งชื่อพันธุ์ข้าวว่า “ข้าวหอมดอกฮัง” ด้วยเหตุที่ข้าวที่ปลูกนั้น มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เหมือนดอกฮัง และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้จัดกิจกรรม “ลงแขกดำนาสู่ปีที่ 4” เพื่อดำนาขยายและอนุรักษ์ฟื้นฟูพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน 100 สายพันธุ์ เมื่อ พ.ศ. 2560 ที่บ้านโคกสะอาด ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร

ต้นฮัง หรือ ต้นรัง มีความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอีกด้วยนะ โดยเฉพาะเรื่องราวของ “พระธาตุอิงฮัง” แขวงสะหวันนะเขต ที่เมืองลาว ซึ่งเป็นพระธาตุคู่แฝดของ “พระธาตุพนม” (ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปเยือนมาแล้ว) “พระธาตุอิงฮัง” สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบอง ประมาณ พ.ศ. 400 ภายในธาตุกู่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงราชคฤห์ และ “ชุนชนบ้านธาตุอิงฮัง” เชื่อกันว่าองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยภัตตาหารที่ทำจากหมู และเกิดอาหารเป็นพิษ คนที่นั่นจึงไม่มีใครเลี้ยงหมูมาจนถึงปัจจุบัน

ผลอ่อนมีสีเขียว

จะเห็นว่าต้นรังเป็นไม้ที่มีความสำคัญ และมนุษย์ก็เริ่มสนใจ และเข้าหาธรรมชาติกันมากขึ้น มองเห็นประโยชน์ของไม้ป่าที่เป็นเสมือนหนึ่งลมหายใจที่สะอาด และบริสุทธิ์ ผู้เขียนคาดหวังไว้ว่าหากเราช่วยกันปลูกคงจะทำให้โลกมีสีเขียว ก่อเกิดป่ากลางเมืองได้อีกมากมายให้เราได้ดื่มด่ำบรรยากาศกัน จนเราเกือบจะไม่ต้องปีนเขา หรือเข้าป่าให้ลำบากอีกเลย

ลักษณะช่อดอก

เราพร้อมกันหรือยังที่จะให้คนข้างหลังได้ดื่มด่ำบรรยากาศเหมือนเรา…

เอกสารอ้างอิง

เว็บไซต์สมุนไพร MED THAI. 2562.รัง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นรัง 7 ข้อ.  

แหล่งที่มา https://medthai.com/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87/ วันที่ 8 มกราคม 2562.

หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1. ไม้ต้นในสวน Tree in the Garden

เว็บไซต์ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน. 2561. คำผญาอีสาน. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บทบรรณาธิการประจำเดือน

เมษายน 2553 ปักษ์หลัง. แหล่งที่มา http://www.isan.clubs.chula.ac.th/article/index.php?id=47&on_y=2553. วันที่ 8 มกราคม 2562.