เปลี่ยนใบไม้เป็นเงิน “ปลูกจามจุรีขายใบ” น้ำท่วมไม่ตาย-ไม่ต้องรดน้ำ กำไรเกินครึ่ง

มีการใช้ใบจามจุรี หรือ ฉำฉา สำหรับปลูกพืชมานานแล้ว ยุคก่อนโน้นที่โป๊ยเซียนได้รับความนิยม ใบจามจุรีมีราคาสูง บางช่วงถึงกับขาดตลาด

ใบจามจุรี มีคุณค่าทางอาหารสำหรับพืชสูง โดยเฉพาะไนโตรเจน เพราะเป็นพืชตระกูลถั่ว การใช้ก็ไม่ยุ่งยาก นำมาผสมวัสดุปลูก หรือจะใส่ต้นไม้ทั่วไปก็ได้ อย่าง มะม่วง ขนุน นำใบเทกองไว้โคนต้น เวลาผ่านไป ใบค่อยๆ ย่อยสลาย ต้นไม้โตเร็วกว่าปกติ

โดยทั่วไปแล้ว จามจุรีขึ้นตามที่รกร้าง ที่สาธารณะ เมื่อใบร่วงหล่น คนก็ไปกวาดใส่ถุงปุ๋ย นำออกมาจำหน่าย แหล่งใหญ่ของใบจามจุรี พบอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ลพบุรี

ในเขตภาคเหนือ จริงๆ แล้วเมื่อก่อนพบจามจุรีอยู่หนาแน่น แต่เพราะเขานิยมตัดโค่นไปแกะสลัก ประชากรของจามจุรีจึงลดลง

คุณลุงชิน หรือ จ้อย และ คุณป้าวันทอง ศรีเนตร เป็นชาวตำบลหนองหว้า อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบอาชีพขยายพันธุ์ไม้ขายมานาน 30 ปีแล้ว

เมื่อสมัยเป็นวัยรุ่นลุงจ้อยไปทำงานรับจ้างในค่ายทหารที่อู่ตะเภา จังหวัดชลบุรี วิชาที่ได้ติดตัวมาคือการทำอาหารฝรั่ง รวมทั้งอาหารสากลอื่นๆ จากนั้นลุงไปทำงานตะวันออกกลาง อยู่หลายประเทศ ทำหน้าที่เป็นพ่อครัวให้กับคนสำคัญของประเทศนั้นๆ

เมื่อมีสงครามอ่าวเปอร์เซีย ลุงกลับบ้าน ลุยงานเกษตรอย่างจริงจัง โดยขยายพันธุ์ไม้ขาย ซึ่งพันธุ์ไม้ที่ขายมีมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีไม้ไทยกลิ่นหอม ไม้ด่าง รวมทั้งไม้กระถาง

ขณะที่ปลูกไม้กระถาง ลุงและป้าต้องซื้อใบก้ามปูจากคนที่ลพบุรี ปีหนึ่งหลายร้อยถุงปุ๋ย ซึ่งบางครั้งอาจจะมีใบอย่างอื่นปลอมปน รวมทั้งมีหนามผสมมาด้วย

เมื่อ ปี 2552 ป้าวันทอง ถามคนที่มาส่งใบก้ามปู ว่าปลูกยากไหม คนมาส่งบอกว่า ใบก้ามปูขึ้นตามหัวไร่ปลายนา ที่ลพบุรีส่วนหนึ่งไปกวาดตามค่ายทหาร บางแห่งที่ต้นจามจุรีขึ้นอยู่หน้าฝนน้ำท่วมขัง แต่ต้นจามจุรีไม่ตาย

เมื่อได้รับคำตอบ ลุงและป้า จ้างเด็กไปเก็บฝักก้ามปูมาเพาะ แต่เปอร์เซ็นต์ความงอกไม่มากนัก ต่อมา ทดลองแช่น้ำ แล้วห่อผ้าไว้ราว 2 คืน จนเมล็ดบวมแล้วนำไปเพาะ ปรากฏว่างอกดีมาก จึงนำลงปลูกในที่ดินของตนเอง ซึ่งเป็นที่ลุ่ม แต่เดิมจะใช้ทำนากัน

ปลูกช่วงแรกนั้น ต้นจามจุรีโตดี แต่ช่วงปลายฝน น้ำท่วมขัง ลุงและป้าคิดว่าจามจุรีไม่รอดแน่ แต่เมื่อน้ำแห้ง ต้นตายไปเพียง 4-5 ต้น เท่านั้น

แต่ระยะแรก เจ้าของต้องกำจัดวัชพืชให้กับต้นจามจุรี เพราะพุ่มใบยังไม่แผ่กว้าง แสงส่องลงพื้นได้ เข้าปี ที่ 4 ขนาดของต้นและทรงพุ่มใหญ่ เจ้าของไม่ต้องช่วยกำจัดวัชพืชแต่อย่างใด

ปีที่ 4 เจ้าของกวาดใบมาใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งจำหน่ายให้กับผู้สนใจซื้อไปใช้

ลุงจ้อยและป้าวันทองปลูกจามจุรีพื้นที่ 22 ไร่ ใช้ระยะปลูก 4 คูณ 4 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 100 ต้น

ป้าวันทอง เล่าว่า ช่วงปลายฝน น้ำที่แปลงจามุรีมักท่วมขัง ทำกิจกรรมอะไรลำบาก จนผ่านเดือนตุลาคมไปแล้ว ก็จะเริ่มกวาดใบจามจุรี กวาดไปจนฝนลงจึงหยุด

สนนราคาจำหน่าย กระสอบปุ๋ยละ 25 บาท

ป้าวันทอง บอกว่า ค่าใช้จ่ายในการผลิตใบจามจุรี มีค่าถุงปุ๋ย 3 บาท ค่าคนกวาด 4 บาท ค่าคนยก 1 บาท รวม 8 บาท เจ้าของเหลือเก็บ 17 บาทต่อ 1 กระสอบปุ๋ย

แรกๆ เจ้าของต้องกำจัดวัชพืชให้กับแปลงจามจุรี ต่อมาเมื่อต้นโตไม่ต้อง

ระหว่างปี ป้าวันทองบอกว่าไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ต้องพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรู

“มีคนมาซื้อกันมาก บางคนรับไป 1,000 กระสอบปุ๋ย นำไปขายต่อ นำไปทำดินผสม คนถมที่…ดินไม่ดีนิยมนำไปรองก้นหลุมปลูกต้นไม้ ใช้กับต้นไม้ทุกชนิด ของเราใบล้วนๆ ไม่มีใบอื่นปน เมื่อปลูกใหม่ๆ มีคนแนะนำให้เราใช้ปุ๋ยบำรุงต้น เราไม่มีเวลาดูแล ดังนั้น จึงไม่ได้ใส่ปุ๋ยเลย” ป้าวันทอง อธิบาย และยังบอกอีกว่า

“รายได้หลักที่ผ่านมา จำหน่ายกิ่งมะม่วง ทำต่อเนื่องมา 30 ปีแล้ว คนมาซื้อที่บ้าน ไม่ได้นำออกไปขายที่ไหน อย่างอื่นมีไม้ผลปลูกไว้กิน อย่าง ลองกอง ทุเรียน เงาะ ไม้ไทย ไม้ดอกไม้ประดับสวยๆ ก็ปลูกไว้ ใบก้ามปูจำนวนคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากขายแล้ว เราก็ใช้เองปีหนึ่งไม่ใช่น้อยๆ”

ติดต่อ ลุงและป้า ได้ที่ โทรศัพท์ 081-855-0654

เมื่อวันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559