ส้มโชกุน กลางหุบ ที่ปะเหลียน หวานนำเปรี้ยว ราคาดี ไม่มีตก

จากตัวเมืองตรังถึงอำเภอปะเหลียน ระยะทางราว 40 กว่ากิโลเมตร ระยะทางประมาณนี้ไม่ถือว่าไกลสำหรับการเดินทางในต่างจังหวัด ยิ่งเมื่อลัดเลาะลึกเข้าไปตามตำบลและหมู่บ้าน ห่างไกลจากถนนสายหลักด้วยแล้ว ความสดชื่นร่มรื่นที่ได้จากต้นไม้ระหว่างทางยิ่งเพิ่มพูนเข้าสู่ร่างกายไม่น้อยเลยทีเดียว แม้ว่าต้นไม้ส่วนใหญ่ที่เห็นได้ในภาคใต้เป็นสวนปาล์มและสวนยางพารา แต่ก็สร้างความจำเริญใจได้เป็นอย่างดี

คุณอดิเรก คงวิทยา เจ้าของไร่วังน้ำค้าง

ด้วยสภาพของพื้นที่ตำบลปะเหลียน เป็นภูมิประเทศที่ราบสลับกับเทือกเขาบรรทัด และลาดลงมาทางทิศตะวันตก จึงก่อให้เกิดน้ำตกขึ้นในพื้นที่ตำบลปะเหลียนหลาย ทั้งยังมีกลุ่มเขาเล็กๆ ตั้งสลับหว่างตลอดพื้นที่ ตลอดระยะทางกว่า 40 กิโลเมตร จึงเป็นการเดินทางที่ผ่อนคลายมากที่สุดในรอบสัปดาห์

จุดหมายปลายทางอยู่ที่ไร่วังน้ำค้าง หมู่ 11 ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ห่างจากบริเวณทางเข้าน้ำตกน้ำพ่าน ราว 5-6 กิโลเมตร ไร่วังน้ำค้างแห่งนี้ถูกโอบล้อมไปด้วยเขาเล็กๆ พอเรียกได้ว่า ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา อุณหภูมิบริเวณไร่จึงต่ำกว่าด้านนอก พื้นที่ทั้งหมด 150 ไร่ ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมดปลูกส้มโชกุน ซึ่งมีถิ่นกำเนินอยู่ที่จังหวัดยะลา การเจริญเติบโตและลักษณะต้นคล้ายกับส้มเขียวหวาน ส่วนพื้นที่อีกครึ่งที่เหลือ เจ้าของไร่วังน้ำค้าง ปลูกไม้ผลอื่นอีก คือ ทุเรียน มังคุด และเงาะ

คุณอดิเรก คงวิทยา (ขวา) และคุณประภาส ปาติปาเลท นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ

ไร่วังน้ำค้าง มีคุณอดิเรก คงวิทยา วัย 49 ปี เป็นเจ้าของ พืชที่ปลูกโดยรอบของไร่วังน้ำค้าง ส่วนใหญ่เป็นปาล์มและยางพารา หากจะเป็นพืชอื่นก็อยู่ในกลุ่มพืชไร่ที่ไม่ใช่ไม้ผล ดังนั้น บริเวณนี้มีเพียงไร่วังน้ำค้างแห่งเดียวที่ปลูกไม้ผลยืนต้นไว้รับประทานและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์

คุณอดิเรก เป็นชาวจังหวัดตรังโดยกำเนิด ด้วยพื้นเพเป็นชาวใต้ การปลูกยางพาราก็เป็นสิ่งที่เห็นมาตลอดตั้งแต่เด็ก เมื่อเติบโตขึ้นมีที่ดินพอทำกิน จึงปลูกยางพาราเช่นเดียวกับเพื่อนบ้าน เมื่อมุมมองด้านการตลาดกว้าง จึงเล็งเห็นราคาผลผลิตที่สูงอย่างต่อเนื่องในตลาดผลไม้ จึงเปลี่ยนแนวคิดนำทุเรียนสายพันธุ์ดีจากจังหวัดจันทบุรีมาปลูก เริ่มต้นจากจำนวน 800 ต้น แต่เพราะไม่มีพื้นฐานความรู้ในการปลูกไม้ผล ทำให้ 8 ปีแรกไม่ได้ผลผลิต เมื่อศึกษาการปลูกทุเรียนอย่างจริงจัง กระทั่งได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ วางขายในตลาดเมืองตรังได้ราคาดี แต่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเป็นกระแสรักษ์สุขภาพ ปริมาณการบริโภคทุเรียนลดลง เมื่อคำนวนต้นทุนการผลิตแล้ว คุณอดิเรกเห็นว่าไม่คุ้ม จึงตัดสินใจเลิกปลูกจำหน่ายเชิงพาณิชย์

บรรจุกล่องพร้อมส่ง

คุณอดิเรก ทิ้งช่วงการศึกษาหาพืชที่เหมาะสมกับตลาดและพื้นที่นานเกือบ 2 ปี ท้ายที่สุดมาสรุปที่ส้มโชกุน เพราะราคาขายตามท้องตลาดสูง เกษตรกรผู้ปลูกส้มโชกุนก็มีจำนวนไม่มาก ผลผลิตมีตลอดปี ราคาขายไม่ผันผวนตามตลาดมากนัก อีกทั้งส้มยังเป็นผลไม้ที่คนรักสุขภาพกินได้ และใช้ได้ในทุกเทศกาล

“ผมซื้อกิ่งตอนต้นส้มโชกุนมาจากอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ครั้งแรกจำนวน 800 ต้น ลงปลูกในเนื้อที่ 12 ไร่ ปลูกไป 5 ปีแรก ส้มก็ออกดอก มั่นใจว่าได้ผลแน่นอน แต่ผิดคาด ถูกเพลี้ยทำลายหมด เป็นประสบการณ์ที่ต้องศึกษาให้ดีก่อนจะปลูกอะไร สุดท้ายก็ฝ่าฟันมา ได้ผลผลิตนำไปขายได้ในปีที่ 7 เข้าปีที่ 8 ของการปลูกทีเดียว”

ภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ดักแมลงวันทองตัวผู้

โชคดีที่คุณอดิเรกมีแผงค้าผลไม้ในตลาดเมืองตรังเป็นของตนเอง จึงไม่ต้องพึ่งพาฝากขาย หรือรอให้พ่อค้าแม่ค้ารับซื้อมากดราคาถึงสวน เมื่อได้ผลผลิตจึงนำไปวางขายที่แผง แรกๆ ยังไม่ติดตลาด เพราะมือใหม่ยังดูแลผิวส้มไม่ดี ผิวจึงไม่สวย ขณะที่ส้มสายน้ำผึ้งกำลังเป็นที่นิยม ผิวสวย มันวาว กว่าจะทำให้ติดตลาดได้ใช้เวลาเกือบ 2 ปีทีเดียว

จากขายหน้าแผงของตนเอง ก็มีแม่ค้ามารับซื้อถึงสวน ให้ราคาสูงเป็นที่น่าพอใจ จนถึงปัจจุบัน ไม่ต้องพึ่งพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง เพราะส่งผู้ค้ารายใหญ่ที่รับไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าเท่านั้น

เครื่องคัดแยกขนาดส้มโชกุน

การปลูกและการดูแล

คุณอดิเรก ปลูกส้มโชกุน 2 แบบ คือ 1.ระยะห่างระหว่างต้น 6 เมตร ระยะห่างระหว่างแถว 4 เมตร และ 2.ระยะห่างระหว่างต้น 5 เมตร ระยะห่างระหว่างแถว 5 เมตร

แบบที่ 1 เป็นแปลงส้มโชกุนชนิดเดียว ไม่มีไม้ผลอื่นปะปน ส่วนแบบที่ 2 เป็นการปลูกส้มโชกุนในแปลงเงาะ ซึ่งระยะห่างระหว่างต้นและแถวของต้นเงาะอยู่ที่ 10X10 เมตร จึงจำเป็นต้องปลูกระยะห่างน้อยเกินไป โดยข้อเสียของการปลูกแบบที่ 2 คือ ต้นชิดกันเกินไป แต่มีวิธีแก้ไข โดยการแต่งกิ่งให้เล็กลงและสูงขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมา คือ ต้องใช้แรงงานเก็บส้มที่อยู่สูง และการแต่งกิ่งสูง

สีเหลือง ที่ถูกแดดเผาทำลายผิวส้ม

ถึงตอนนี้ คุณอดิเรก เรียนรู้เกี่ยวกับส้มโชกุนไว้มาก จึงตอนกิ่งส้มโชกุนเอง แต่ไม่จำหน่าย ยกเว้นเกษตรกรที่สนใจจริงมาขอไปปลูกก็จะให้ ไม่คิดค่าใช้จ่าย

คุณอดิเรก อธบายถึงการปลูกว่า ก่อนปลูก ให้ขุดหลุมลึก 50 เซนติเมตร ปากหลุมกว้าง 50 เซนติเมตร วางกิ่งตอนลงหลุม แล้วนำปุ๋ยคอกคลุกเคล้ากับดินที่ขุดขึ้นมา กลบลงไปในหลุม ไม่ต้องอัดดินแน่น ไม่ต้องรดน้ำ เพราะลงปลูกในเดือนพฤษภาคม ซึ่งตรงกับฤดูฝน ส้มจะได้น้ำจากน้ำฝนในฤดูพอดี ซึ่งเป็นความโชคดีที่ดินบริเวณไร่วังน้ำค้างเป็นดินเหนียว สภาพของดินเหมาะสำหรับปลูกส้ม หากปลูกส้มที่ดินร่วมปนทราย จะทำให้ส้มมีรสชาติเปรี้ยวมากกว่าหวาน

ดกมาก

“ปกติที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ต้นกำเนิดของส้มโชกุน สภาพดินเป็นดินเหนียว ด้วยสภาพดินที่อำเภอปะเหลียนเป็นดินเหนียวเหมือนกัน สภาพอากาศเหมือนกัน มีความชื้นสูง ตอนกลางคืนอุณหภูมิต่ำ ฤดูร้อนจะร้อนไม่มาก ทำให้ปลูกส้มได้ผลดี”

การให้น้ำส้ม นับตั้งแต่ลงปลูกจะงดให้น้ำจนกว่าจะเข้าฤดูร้อน ในช่วงเดือนมกราคม หรือ เดือนกุมภาพันธ์ หรือเมื่อส้มมีอายุประมาณ 8-9 เดือน เพราะดินที่ได้จากน้ำฝนจะอุ้มน้ำไว้และเก็บความชื้นได้นาน เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ดินค่อนข้างแล้ง ให้รดน้ำโดยการเปิดสปริงเกลอร์ ประมาณ 20 นาที จากนั้นเว้นระยะ 5 วัน แล้วให้น้ำในปริมาณเท่าเดิมใหม่ ทำอย่างนี้กระทั่งเข้าฤดูฝน จึงหยุดให้น้ำ

สำหรับปุ๋ยนั้น คุณอดิเรก คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค พยายามทำให้ส้มโชกุนของไร่วังน้ำค้างปลอดสารเคมีมากที่สุด โดยให้ปุ๋ยคอกในช่วงที่ฝนเริ่มตก โรยรอบต้น ไม่ต้องพรวนดิน และให้ครั้งเดียวต่อปี ส่วนปุ๋ยเคมีให้เฉพาะช่วงที่ต้องการให้ต้นสมบูรณ์ คือ ระหว่างที่ส้มมีอายุ 1-3 ปีแรก ควรให้ปุ๋ยเคมี ทุก 3-4 เดือน เมื่อต้นมีสภาพสมบูรณ์แล้ว ก็ให้เฉพาะปุ๋ยคอกเพียงอย่างเดียว

ส้มโชกุนตอนกิ่ง ไม่ขาย แต่ให้ฟรีสำหรับผู้สนใจ

“ช่วงที่ส้มเริ่มติดผลจะงดให้ปุ๋ย แต่ถ้าพบว่ามีโรคและแมลงกวน ต้องฉีดสารเคมีฆ่าแมลง โดยให้หลังจากติดดอกบานแล้ว 1 ครั้ง และเมื่อผลส้มขนาดเท่าผลมะนาวอีก 1 ครั้งเท่านั้น เพื่อให้สารเคมีตกค้างหมดไปก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตไปขาย”

การแต่งกิ่ง ควรเริ่มเมื่อส้มเริ่มแตกยอดอ่อนแรก เพื่อให้ส้มได้รับธาตุอาหารอย่างทั่วถึง ไม่แย่งอาหารกัน นอกจากแต่งกิ่งด้านนอกของต้นแล้ว ควรแต่งกิ่งด้านในของต้นด้วย เพื่อให้อากาศและแสงผ่านเข้าถึงต้นด้านใน ป้องกันโรคและแมลงที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งการแต่งกิ่งด้านในให้อากาศและแสงผ่านเข้ากลางลำต้น ช่วยได้มาก โดยคุณอดิเรก บอกว่า การแต่งกิ่งด้านใน ช่วยลดปัญหาโรคและแมลงได้มาก ซึ่งตั้งแตปลูกส้มมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ยังไม่ประสบปัญหาโรคและแมลงแม้แต่ครั้งเดียว

โดยรอบสวนถูกล้อมรอบด้วยหุบเขา

แต่สิ่งหนึ่งที่ถือว่ามีส่วนช่วยลดปัญหาโรคและแมลง นอกจากการตัดแต่งกิ่งแล้ว คุณอดิเรก ยังนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ เพื่อกัดแมลงวันทองตัวผู้ คือ การนำขวดน้ำพลาสติกที่ไม่ใช้แล้ว เจาะรูขนาดพอให้แมลงวันทองบินเข้าไปได้ นำสำลีชุดยาฆ่าแมลงติดไว้บริเวณปากขวด ส่วนกลางขวดห้อยสารล่อแมลงวันทองตัวผู้ จะทำให้แมลงวันทองตัวผู้เข้าไปติดกับภายในขวดตาย และเมื่อไม่มีแมลงวันทองตัวผู้ การวางไข่ของแมลงวันทองตัวเมียก็จะไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งภูมิปัญญาชาวบ้านเช่นนี้ ควรแขวนไว้ระยะห่างแต่ละชิ้น 20 เมตร หากใกล้ไป อาจทำให้แมลวันทองบินเข้าไปในขวดไม่ถูก และควรเปลี่ยนสำลีชุบยาแมลง รวมทั้งสารล่อแมลงวันทองตัวผู้ทุกๆ 45 วัน ส่วนผีเสื้อ ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชอีกชนิด ใช้แรงงานคนจับ เพราะผีเสื้อจะมีจำนวนมากเฉพาะช่วงที่ผลไม้สุก และจับเฉพาะเวลากลางคืน เท่านั้น

คุณอดิเรก แนะนำว่า ส้มโชกุนที่ดี ต้องมีรสชาติหวานนำเปรี้ยวตาม ผลส้มโชกุนจะทรงแป้น หากสุกได้ที่บริเวณก้นจะบุ๋ม รสชาติจะหวานนำเปรี้ยวตาม

กำจัดวัชพืช ป้องกันไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของแมลงศัตรูพืช

ผลผลิตที่ได้ต่อรุ่นอยู่ที่ 80 กิโลกรัมต่อต้น คุณอดิเรก มีคนงานคัดแยกขนาดส้มโดยใช้เครื่อง บรรจุส้มที่ได้ขนาดไว้ให้ลูกค้าประจำมารับไป วางจำหน่ายขึ้นห้างสรรพสินค้าชื่อดังในกรุงเทพฯ บางส่วนที่ไม่ได้ขนาด คุณอดิเรกจะนำไปวางขายหน้าร้านในตัวเมืองตรัง ในราคากิโลกรัมละ 150 บาท

ส้มโชกุนขึ้นชื่อของจังหวัดตรัง ก็เห็นจะมีที่ไร่วังน้ำค้าง ของคุณอดิเรก เพียงท่านเดียว สวนส้มโชกุนแห่งนี้ เปิดกว้างให้ผู้สนใจเยี่ยมชมและศึกษา ติดต่อได้ที่ คุณอดิเรก คงวิทยา ไร่วังน้ำค้าง หมู่ 11 ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง หรือโทรศัพท์ 087-271-5052

ผิวส้มมันเงาเองโดยธรรมชาติ ไม่ได้เคลือบสารใดๆ