ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์เมืองเลย ทำสวนแบบวนเกษตร ปลูกกะหล่ำปลี-มันเทศญี่ปุ่น สร้างรายได้หมุนเวียน อย่างยั่งยืน

อาชีพเกษตรกรรม ถือเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน แต่กลับเป็นที่น่าแปลกใจว่าภาคการเกษตรของประเทศไทยยังก้าวไม่ทันเพื่อนบ้าน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการติดนิสัยทำเกษตรแบบเดิมๆ ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นส่วนมาก เมื่อสินค้าล้นตลาดราคาตก ก็ส่งผลกระทบกันไปหมด ดังนั้น เกษตรกรอาจจะต้องปรับแก้พฤติกรรมแบบเดิมๆ แล้วหันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน วางแผนการปลูกพืชให้ตรงต่อความต้องการของตลาด ผลิตคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน เพื่อการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน

คุณอิศรากรณ์ พลธรรม อยู่บ้านเลขที่ 109 หมู่ที่ 3 บ้านเหมืองแพร่ ตำบลนาแห้ว อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์จังหวัดเลย เริ่มทำเกษตรด้วยหลักคิดหัวสมัยใหม่ เล่าว่า ตนเรียนจบเทคนิคช่างไฟฟ้า หลังเรียนจบทำงานบริษัทอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 2 ปี แล้วออกจากงาน เพราะจุดมุ่งหมายของตนจริงๆ คือ การทำเกษตร การเข้าไปเรียนและทำงานที่กรุงเทพฯ คือเพื่อทำงานหาเงินทุนสักก้อนกลับมาพัฒนาไร่นาที่บ้าน ซึ่งเมื่อก่อนที่บ้านทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำนา มีรายได้ไม่แน่นอน จึงอยากที่จะปรับเปลี่ยนทำเกษตรแบบยั่งยืน เพื่อพ่อแม่และลูกหลานในอนาคต

ปลูกมันเทศญี่ปุ่น-กะหล่ำปลี
ส่งสหกรณ์แก้วเกษตร ปลูก 1 ไร่ สร้างรายได้ดี

คุณอิศรากรณ์ บอกว่า ถ้าอยากทำเกษตรให้ก้าวหน้าและยั่งยืน จะต้องทิ้งตำราแบบเดิมๆ

“เราจะไม่ปลูกก่อนแล้วหาตลาดทีหลังอย่างแน่นอน เราต้องศึกษาหาตลาดก่อนปลูก และเลือกปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ ผมลาออกจากงานมาเริ่มทำเกษตรตอนปี’52 ก่อนที่จะเปลี่ยนไร่เลื่อนลอยของพ่อแม่มาปลูกมันเทศญี่ปุ่นและกะหล่ำปลี ผมได้ศึกษาเรื่องการตลาดก่อน โชคดีที่ผมเป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ มีเครือข่ายที่กว้างขวาง ก็ได้เพื่อนที่เป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ด้วยกันช่วยหาตลาด เขาทำงานอยู่ที่สหกรณ์แก้วเกษตรกำแพงแสน และเห็นพื้นที่จังหวัดเลยมีอากาศเย็นใกล้เคียงกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน เขาจึงแนะนำให้ผมปลูกมันเทศญี่ปุ่นส่งที่สหกรณ์ที่เขาทำงานอยู่ โดยตอนแรกเขาให้ทดลองปลูกมันเทศญี่ปุ่นแล้วส่งตัวอย่างให้เขาดู ว่าสินค้าที่ส่งไปได้มาตรฐานตรงกับที่เขาต้องการไหม ถ้าตรงและทำปริมาณได้ตามที่เขาต้องการ เขาจะรับซื้อ แล้วให้เราเป็นคนเสนอราคาเดิมตลอดทั้งปี เมื่อมันเทศที่ทดลองปลูกส่งไปผ่านมาตรฐานจึงเริ่มลงมือปลูก

กะหล่ำปลีอินทรีย์ หัวใหญ่ได้คุณภาพที่ตลาดต้องการ

เริ่มต้นจากการเปลี่ยนไร่เลื่อนลอยของพ่อแม่มาปลูกมันเทศญี่ปุ่นสีส้ม ปลูกตอนแรกมีอุปสรรค คือปลูกไปได้สักระยะผลผลิตเริ่มได้น้อยลง เพราะดินเสื่อมสภาพ จึงแก้ไขด้วยการหาพืชชนิดอื่นมาปลูกสลับ เพื่อปรับปรุงดินให้สมดุล ก็เริ่มจากสิ่งใกล้ตัว คือการมานั่งดูออเดอร์ที่ทางสหกรณ์ต้องการ แต่ผลผลิตยังขาด จะมีกะหล่ำปลี ข้าวโพดหวาน เราก็มองว่าพืชตัวไหนเหมาะสมกับพื้นที่ ก็คือ กะหล่ำปลี กะหล่ำปลีเป็นผักที่ชาวบ้านแถวนี้เขาปลูกกันอยู่แล้ว เพราะมีอากาศที่เอื้ออำนวย” เจ้าตัวบอก

 

วิธีการปลูกมันเทศญี่ปุ่น

มีพื้นที่ไว้สำหรับปลูกสลับหมุนเวียนอยู่ 6 ไร่ แบ่งปลูกเดือนละ 1 ไร่

การเตรียมแปลง ไถดินตากแดดไว้ 7 วัน แล้วไถพรวนใช้โรตารี่ปั่นดินให้ละเอียดสัก 5 รอบ ขั้นตอนการเตรียมดินถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ หากเตรียมดินดีตั้งแต่ครั้งแรก เมื่อถึงคราวต้องใส่ปุ๋ยจะทำได้ง่ายมาก

เมื่อเตรียมดินเสร็จ ยกร่องรองพื้นด้วยปุ๋ยขี้ไก่ แล้วยกร่องกลบปลูกบนสันร่อง ระยะห่างระหว่างต้น 30 เซนติเมตร หรือ 1 ฟุต 1 ไร่ ปลูกได้ 5,000-7,000 ต้น ลงทุนแค่ครั้งเดียว แล้วเก็บเหง้าทำพันธุ์ต่อได้

การเตรียมดินปลูกมันเทศญี่ปุ่น-กะหล่ำปลี

ระบบน้ำ วางสปริงเกลอร์ ระยะ 4×4 เมตร ให้น้ำทุกวันช่วงสัปดาห์แรก สัปดาห์ต่อไปรดทุก 3 วัน ตั้งเวลารดไว้ 20 นาที

ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยขี้ไก่รอบเดียวจบ ถ้าตอนเตรียมดินเราเตรียมดี

โรคแมลง มีบ้างเล็กน้อย แต่จะไม่ใช้สารเคมี จะใช้เพียงสารควบคุมไส้เดือนฝอย เพื่อกำจัดหนอนแมลง ถึงระยะเดือนถึงเดือนครึ่ง จะจ้างชาวบ้านมาถอนหญ้าทำความสะอาดแปลง 1 ครั้ง

ระยะการปลูก ถึงเก็บเกี่ยว 90 วัน ถ้าปลูกแบบอินทรีย์ 1 ไร่ จะได้ผลผลิต 500-1,000 กิโลกรัม ต้องบริหารจัดการพื้นที่ทำให้มีผลผลิตส่งสหกรณ์ให้ได้เดือนละ 2 ครั้ง กำหนดส่ง 2 สัปดาห์ ส่ง 1 ครั้ง ครั้งละ 500 กิโลกรัม 1 เดือน ต้องทำผลผลิตส่งให้ได้ตามโควต้า คือ 1 ตัน ขนาดของหัวประมาณ 2-3 ขีด ต่อ 1 หัว ไซซ์นี้เป็นไซซ์ที่ตลาดต้องการ ถ้าใหญ่กว่านี้จะขายยาก แต่ถ้าไซซ์เล็กกว่านี้ก็ไม่สวย คือต้องทำให้ได้ไซซ์มาตรฐานตามที่ทางสหกรณ์กำหนดมา

ราคารับซื้อ กิโลกรัมละ 60 บาท ตลอดปี ต้นทุนการปลูกคิดเป็นครึ่งต่อครึ่งของรายได้ 1 เดือน ขายมันเทศได้เงิน 60,000 บาท หักต้นทุนไปครึ่งหนึ่ง เหลือกำไรเดือนละ 30,000 บาท

สำหรับภาพรวมการบริโภคมันเทศญี่ปุ่นในประเทศไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ก็อย่าเพิ่งไปเห่อปลูกตามกระแสอย่าไปเชื่อคำชักชวน ให้เริ่มจากกำลังของตัวเอง เริ่มจากเล็กไปหาใหญ่ ค่อยๆ ขยายตลาดไปเรื่อยๆ ช่วงแรกอาจจะทำแล้วยังไม่ได้คุณภาพ ก็ให้ทำขายง่ายๆ หน้าสวนราคากิโลกรัมละ 20 บาท แล้วค่อยพัฒนา พอทำได้ตามคุณภาพอยู่ตัวจึงค่อยขยายแปลงปลูก เพราะที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องแชร์ลูกโซ่ให้ปลูกมันเทศออกมามากมายหลายท่านยังกังวล ก็ให้แก้ด้วยการทำจากน้อยไปมาก แล้วทำเองขายเองถึงจะดีที่สุด

แปลงปลูกมันเทศญี่ปุ่นสีส้ม

ปลูกกะหล่ำปลีสลับมันเทศญี่ปุ่น
ช่วยปรับปรุงบำรุงดิน

เจ้าของบอกว่า การปลูกกะหล่ำปลีที่จังหวัดเลยถือเป็นเรื่องไม่ยากนัก วิถีชีวิตคนแถวนี้จะปลูกกะหล่ำปลีกันเป็นส่วนใหญ่ ด้วยบรรยากาศที่คล้ายกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงปลูกได้ไม่ยาก

การเตรียมดิน เมื่อเก็บมันเทศญี่ปุ่นเสร็จ ไถดะแล้วตากดินทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ แล้วไถพรวนใช้โรตารี่ปั่นดิน สัก 3 รอบ การเตรียมดินปลูกกะหล่ำจะง่ายกว่าการปลูกมัน เพราะไม่ต้องปั่นให้ดินละเอียดมาก

ระยะห่างระหว่างต้น 40 เซนติเมตร ใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าวโพดเป็นตัวลงกล้า จ้างที่อื่นเพาะกล้า 25-30 วัน ราคาถาดละ 35 บาท มี 104 หลุม 1 ไร่ ปลูกได้ 5,000 ต้น

การดูแล ปลูกลงต้นกล้าเสร็จ ให้นำปุ๋ยขี้ไก่โรยระหว่างแถวระหว่างต้นเข้าร่องกลาง แล้ววางระบบน้ำ 4×4 เมตร เปิดรดน้ำช่วงเย็นนาน 20 นาที รดทุกวัน จนถึงเก็บเกี่ยว

ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต 75 วัน เราต้องบริหารจัดการผลผลิตให้ได้เดือนละ 2.5 ตัน 2 สัปดาห์ ส่ง 1 ครั้ง ส่งครั้งละประมาณ 1.2 ตัน ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 17 บาท 1 หัว ให้น้ำหนักครึ่งกิโลถึงสองกิโลกว่า ถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวหัวอาจมีน้ำหนักมากถึง 5 กิโลกรัม

แมลงศัตรูพืช หลายท่านอาจเคยได้ยินมาว่ากะหล่ำปลีมีสารเคมีเยอะมาก แต่จริงๆ แล้ว การปลูกกะหล่ำปลีไม่ต้องใช้สารเคมีก็ปลูกได้ แต่ช่วงหน้าแล้งจะลำบากหน่อย ตรงที่ว่าแมลงศัตรูพืชจะเยอะ แต่เราก็จะใช้สารควบคุมไส้เดือนฝอยตัวเดียวกับที่ใช้ในแปลงมันเทศมากำจัด ใช้ร่วมกับน้ำหมักด้วย เราวางระบบน้ำไว้ 4×4 เมตร เพื่อผสมน้ำหมักลงไปในน้ำ แต่นานครั้งจะใส่ ส่วนใหญ่จะดูที่ความเสียหายของแปลงว่ามีแมลงรบกวนไหม ถ้ามีค่อยใส่ บางครั้งก็ไม่มีเลย จะไม่ใช้บ่อย จะใช้น้อยที่สุด บางแปลงใช้แค่รอบเดียว

เงินลงทุน จ้างเพาะกล้า ถาดละ 35 บาท ต่อ 100 ต้น 1 ไร่ ใช้ 50 ถาด มีค่าเตรียมแปลง 1,000 บาท เพราะเรามีเครื่องมือเครื่องจักรเป็นของเราเอง เฉลี่ยต้นทุน ไร่ละ 10,000 บาท ใช้แรงงานครอบครัว 4 คน เก็บผลผลิต ครึ่งวันเก็บเสร็จได้ผลผลิตประมาณ 1.2 ตัน รายได้ ตันละ 17,000 บาท ค่าขนส่งรอบละ 5,000 บาท แต่ยังดีที่เราส่งพร้อมกับมันเทศญี่ปุ่น เมื่อเฉลี่ยค่าจ่ายออกมาแล้ว จะเหลือกำไรจากกะหล่ำปลี กิโลกรัมละ 10 บาท ถือเป็นพืชหลักที่สร้างรายได้ดี ปลูกไม่เยอะ แต่เห็นเงิน

วางแผนทำสวนวนเกษตร
เปรียบเสมือนเงินบำนาญไว้กินยามแก่เฒ่า

การทำเกษตรแบบยั่งยืน คุณอิศรากรณ์ บอกว่า ต้องมีการวางแผนเป็นขั้นตอน พยายามใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รูปแบบการทำสวนวนเกษตรถือเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยให้พี่น้องเกษตรกรมีเงินกินเงินเก็บไปถึงยามแก่เฒ่า และอาจเป็นมรดกตกไปถึงรุ่นหลาน ด้วยเหตุนี้คุณอิศรากรณ์จึงเริ่มต้นการทำสวนแบบวนเกษตรตั้งแต่ตอนที่ยังมีกำลัง

“โดยก่อนที่จะมีความคิดทำสวนวนเกษตร เมื่อปี’56 ผมได้สมัครเข้าร่วมโครงการของกรมป่าไม้ ปี’57 สมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ มาที่ศูนย์การเรียนรู้ ท่านโปรดให้สมาชิกโครงการร่วมรับเสด็จฯ ผมเองก็มีโอกาสนั้นด้วย ในครั้งนั้น สมเด็จพระเทพฯ ทรงบรรยายให้ความรู้ถึงการปลูกไม้ 4 ชั้น และทรงเน้นสมาชิกทุกคนว่า ต้องทำให้ได้นะ ถ้าทำได้ ประโยชน์จะตามมาไม่รู้จบ ตั้งแต่นั้นมา ปี’58 จึงเริ่มต้นการทำสวนวนเกษตร ปลูกไม้ 4 ชั้น บนพื้นที่ 10 ไร่ ตามที่พระองค์ท่านได้ตรัสไว้”

หลักการเลือกพืชแต่ละชั้นมาปลูก

1. จะคำนึงถึงความชอบ

2. เลือกปลูกพืชที่ในพื้นที่สามารถปลูกได้ แต่มีน้อย เช่น พื้นที่ตรงนี้เหมาะกับปลูกเงาะ เงาะที่นี่รสชาติหวาน เนื้อกรอบล่อน และออกช้า ถือเป็นอำเภอสุดท้ายของประเทศไทยที่เงาะออก จะขายได้ราคาดี ลักษณะการปลูกตามรูปแบบของโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ในพื้นที่ 1 ไร่

ชั้นที่หนึ่ง ปลูกไม้ป่า จำนวน 10 ต้น

ชั้นที่สอง เป็น มะคาเดเมีย เงาะ ลำไย กล้วย

ชั้นที่สาม เป็นไม้ทรงพุ่ม กาแฟ ผักหวานป่า ปลูกพระยาเสือโคร่งไว้เป็นพี่เลี้ยงผักหวานป่า

ชั้นที่สี่ เป็นพืชใต้ดิน พืชหัว พืชผักสวนครัว พืชสมุนไพรต่างๆ

การทำสวนวนเกษตรปีแรกก็เริ่มมีรายได้แล้ว โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้ร่วม เพราะว่าในสวนจะปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก มีการเลี้ยงสัตว์ ค่าใช้จ่ายมีน้อย เพราะเราผลิตอาหารเองได้ มีเงินเหลือเก็บชัดเจน ถ้ามองระยะยาวเราจะไม่เหนื่อย แต่ถ้าปลูกพืชเชิงเดี่ยว เราต้องเหนื่อยทั้งปี และอีกอย่างถ้าเราทำพืชเชิงเดี่ยวลูกหลานของเราไม่อยู่กับเราแน่ ไม่มีใครทนแดดทนฝนเหมือนคนรุ่นปู่ย่าตายายแน่นอน

ฟาร์มสเตย์ติดดิน ใกล้ชิดธรรมชาติ เก็บผัก ตกปลา
หุงหากับข้าวกินเอง วัตถุดิบหาเก็บได้ที่สวน

เมื่อระบบสวนทุกอย่างเข้าที่ เริ่มมีความคิดจะทำฟาร์มสเตย์ เนื่องจากมองไปรอบสวนสองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้ที่เขียวขจี มีญาติ มีเพื่อนมาหา เมื่อก่อนยังไม่มีบ้านพัก เพื่อนๆ ต้องกางเต็นท์นอน ยามฝนตกก็ลำบาก จึงลงทุนสร้างกระท่อมเล็กไว้ให้เพื่อน ญาติพี่น้อง ที่มาหาเราไว้ได้พัก เริ่มจากการสร้างเป็นกระท่อมไม้ไผ่ทั่วไป และก็มีความคิดที่อยากแบ่งปันความสุขที่เรามีให้คนอื่นได้มาสัมผัสบ้าง ก็เลยเริ่มทำเป็นฟาร์มสเตย์ มีห้องพัก 4 หลัง ราคาคืนละ 400 บาท พักได้ 2 ท่าน เราจะคัดคนเข้าพักภายใต้เงื่อนไขของเรา คือในห้องพักจะไม่มีทีวี พัดลม เครื่องปรับอากาศ แต่แขกที่มาพักส่วนใหญ่ก็ไม่มีปัญหาหรือบ่นว่าร้อน มีแต่ขอผ้าห่มเพิ่ม เพราะอากาศที่นี่เย็นอยู่แล้ว

กิจกรรมในสวนจะแล้วแต่ฤดูกาล ถ้ามาพักตรงกับช่วงที่เรากำลังปลูกหรือทำอะไร ท่านก็จะได้เรียนรู้และทำไปพร้อมกับเรา อาจเป็นการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ตามโอกาส เรื่องกับข้าวหลักๆ ลูกค้าต้องเป็นคนหาเอง ถ้าอยากกินปลาท่านก็เลือกว่าอยากกินปลาอะไร แต่มีข้อแม้ว่าท่านต้องตกเอง ประกอบอาหารเอง เราจะมีผักแถมให้ ปลาขายกิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งผลตอบรับจากลูกค้าที่เข้ามาพักค่อนข้างดี ใครที่เคยมาแล้วต้องมาซ้ำอีก ในอนาคตอาจจะมีการขยายอำนวยความสะดวกให้รองรับลูกค้าได้ตลอดทั้งปี

ฝากไว้ให้คิด มีต้นทุนต่ำไม่ต้องน้อยใจ
ให้มองเป็นข้อดี

อยากฝากกับเกษตรกรมือใหม่ทุกท่านที่มีทุนน้อย ไม่ต้องน้อยใจ ให้คิดเป็นข้อดี ตามหลักความเป็นจริง หากคนที่มีกำลังเงินมาก เขาก็จะทุ่มเงินทำ แต่คนทุนน้อยก็ดีตรงที่เราได้ฝึกความอดทน ค่อยๆ เก็บสะสมจากน้อยไปหามาก ผมเริ่มทำเกษตรจากพื้นที่แค่ 1 งาน ปลูกผักขายส่งตอนเช้า ได้รายได้ขั้นต่ำเท่ากับแรงงานคนกรุงเทพฯ แต่ทำงานแค่ 2-3 ชั่วโมง สายๆ พักผ่อน หาความรู้ในอินเตอร์เน็ต ตอนเย็นค่อยลงแปลงผักอีกครั้ง ทำแบบนี้วนไป เมื่อเข้าที่ค่อยขยับขยายพื้นที่ให้เยอะขึ้น ใช้เวลาขยายพื้นที่ จาก 1 งาน ค่อนข้างหลายปี เราเก็บจากที่เราไม่มีอะไรเลย พัฒนาเรื่อยๆ ให้คิดแบบง่ายๆ คือ ทำให้มีความสุขก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนความสุขเป็นรายได้ มีทั้งเงิน มีทั้งสุข

สนใจเที่ยว นานาธานีฟาร์มสเตย์ ดื่มด่ำธรรมชาติ โทร. 094-372-8570 หรือ FB:อิศรากรณ์ พลธรรม (นานาธานีฟาร์มสเตย์)

 

 

…………………………………………………………………………………………………

ชี้พิกัดงานต้นไม้ ปี 2021 GREEN MARKET @มติชนอคาเดมี ตลาดต้นไม้สุดอินเทรนด์ และชมไม้หายากสุดปัง! ใครอยากเห็น “กล้วยแดงอินโด” ค่าตัวกว่า 5 ล้านบาท!! ไม้ประดับตระกูล Monstera สุดแรร์อย่าง Monstera Mint, Monstera Lechleriana variegated, Mostera Deliciosa และไม้หายากอีกมากมาย มาให้ชมในงานแบบเอ็กซ์คลูซีฟ รวมมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท!!
ปักหมุดรอเลย! 29 – 31 ตุลาคมนี้ รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก >> https://bit.ly/3aDFqQC