เทคนิค “ปลูกข้าวหอมมะลิ ต้นทุนต่ำ กำไรสูง” ที่บุรีรัมย์

ทุกวันนี้ ปัจจัยการผลิตสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ฮอร์โมนพืช ค่าน้ำมัน ฯลฯ มีราคาแพง ทำให้ชาวนามีภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ดังนั้น เกษตรกรคงต้องปรับตัวเอง เพื่อสร้างความอยู่รอดอย่างยั่งยืน ในฉบับนี้ ผู้เขียนจะพาไปเรียนรู้เคล็ดลับการปลูกข้าว ต้นทุนต่ำ ของชาวนาบุรีรัมย์ที่เข้าร่วมโครงการปลูกข้าวหอมมะลิกับบริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวตราฉัตร ที่ใช้เทคนิคการดูแลจัดการแปลงนารูปแบบใหม่ ทำให้มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มมากขึ้นจาก 390 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 430 กิโลกรัม/ไร่ ทำให้ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามไปด้วย

โครงการส่งเสริมปลูกข้าวหอมมะลิในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทกับชาวนาผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อสร้างความยั่งยืนร่วมกัน ประการสำคัญก็คือ บริษัทต้องการที่จะมีแหล่งผลิตข้าวที่มั่นใจในคุณภาพของวัตถุดิบ เพราะจำเป็นต้องรักษามาตรฐานของข้าวตราฉัตร ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงปัญหาด้านการตลาดของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จึงมีแนวคิดที่จะรวมเอาจุดเด่นของเกษตรกร และความชำนาญของบริษัทเข้าด้วยกัน นับเป็นการทำธุรกิจที่เกื้อกูลกัน

คุณสมนึก ทราบรำ
คุณสมนึก ทราบรำ

“คุณสมนึก ทราบรำ” ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลแสลงพัน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ หนึ่งในตัวแทนชาวนาที่มีชีวิตสดใส หลังประสบความสำเร็จในการปลูกข้าวหอมมะลิ ต้นทุนต่ำ กำไรสูง เมื่อเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวหอมมะลิ กับ “ข้าวตราฉัตร” เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวผมมีอาชีพทำนามาตลอด ต่อมาปี 2554 ข้าวตราฉัตรได้เข้าตั้งโรงสีอยู่ใกล้ๆ หมู่บ้าน และแนะนำให้ชาวบ้านปลูกข้าวคุณภาพดีส่งขายบริษัท และกรมการข้าวก็เข้ามาช่วยดูแลให้คำแนะนำเรื่องขั้นตอนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี

คุณสมนึก ยืนยันว่า ที่นี่ถือเป็นแผ่นดินทองของการปลูกข้าวหอมมะลิที่มีความโดดเด่น เพราะเป็นที่นามาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย แทบไม่มีปัญหาเรื่องโรคและแมลง บางปีเจอปัญหาโรคใบแดง ใบไหม้ในข้าว ก็จะใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านแก้ไขปัญหา โดยใช้มูลวัว มูลควาย ไปหว่านในแปลงนาข้าวที่เป็นโรค ปรากฏว่า ต้นข้าวจะกลับมีใบเขียวเหมือนเดิม ข้อจำกัดของการทำนาของชุมชนแห่งนี้ก็คือ เป็นนาน้ำฝน ทำนาได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ถ้าฝนไม่มาก็ทำนาไม่ได้ ที่นี่ไม่เคยเป็นแหล่งสะสมโรคและแมลง แม้แต่หอยเชอรี่ยังไม่มีการระบาดในท้องถิ่นแห่งนี้เลย  

ปัจจุบัน คุณสมนึกเป็นแกนนำรวมกลุ่มสมาชิกชาวนา ประมาณ 45 ราย เพื่อปลูกข้าวส่งขายข้าวตราฉัตร โดยมีเนื้อที่ปลูกข้าวรวมกัน 200 ไร่ เก็บเกี่ยวข้าวออกขายได้ ประมาณ 4-5 ตัน โดยขายข้าวในราคากิโลกรัมละ 25 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขราคาที่สูงกว่าท้องตลาดทั่วไป ประมาณ 14-15บาท/กิโลกรัม กลุ่มชาวนาพึงพอใจกับตัวเลขรายได้ที่เกิดขึ้น จึงปลูกข้าวส่งขายบริษัทติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แล้ว

คุณสุเมธ เหล่าโมราพร ผู้บริหารเครือ ซีพี เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัว “ข้าวสีสด”
คุณสุเมธ เหล่าโมราพร ผู้บริหารเครือ ซีพี เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัว “ข้าวสีสด”

โครงการสมาชิกเกษตรกรบุรีรัมย์ ของบริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด (ข้าวตราฉัตร) นับเป็นโครงการที่มีมาตรฐาน ทั้งด้านการรับซื้อและการนำระบบการบริหารจัดการเพาะปลูกที่ถูกต้องมาใช้ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้ผลผลิตตามที่ตลาดต้องการ    

โดยทั่วไป ขั้นตอนการปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ตามหลัก GAP ที่บริษัทแนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติ เริ่มจากการคัดเลือกพื้นที่ปลูกข้าว เพราะสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับปลูกข้าวหอมมะลิ จะต้องมีค่า pH ประมาณ 5.5-6.5 ภายใน 3 ปี เกษตรกรจะต้องคอยวิเคราะห์ดินอย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อปรับการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับสภาพดิน

นอกจากนี้ เกษตรกรต้องเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี มีความบริสุทธิ์ตรงตามสายพันธุ์ ที่มีอัตราความงอกไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ โดยนาหว่านข้าวแห้ง ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ ประมาณ 15-20 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนนาปักดำมือ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์  6-8 กิโลกรัม/ไร่

การเตรียมดินสำหรับปลูกข้าวหอมมะลิ 105 สำหรับนาหว่านข้าวแห้ง เกษตรกรจะไถพรวน ผาล 3-6 ให้ลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร เพื่อกลบตอซัง พลิกดิน และกำจัดวัชพืช หลังจากนั้นปล่อยทิ้งไว้ ประมาณ 2 สัปดาห์ และหว่านเมล็ดข้าวในอัตรา 15-20 กิโลกรัม/ไร่ โดยหว่านให้สม่ำเสมอและกระจายทั่วทั้งแปลง จากนั้นจะใช้โรตารี่ ปั่นตีดิน ในสภาพดินแห้ง ลึกประมาณ 15 เซนติเมตร เพื่อกลบเมล็ดข้าวที่หว่านไว้ให้แน่นพอเหมาะ และกระจายตัวสม่ำเสมอ หรือใช้รถไถเดินตาม ผาล 2 ไถกลบเมล็ดข้าวที่หว่านไว้ แล้วจึงใช้คราดเกลี่ยดินเพื่อให้ได้ระดับเดียวกัน เหมาะสมต่อการงอกของข้าว

ด้าน นาปักดำมือ การเตรียมแปลงตกกล้า ชาวนาจะไถพรวน ผาล 3-6 ทิ้งไว้ 7-10 วัน หลังจากนั้น ขังน้ำให้ได้ ประมาณ 3 เซนติเมตร ไถพรวน ผาล 2 แล้วคราดดินให้ละเอียด เพาะเมล็ดให้งอกตุ่มตายาว 1-2 มิลลิเมตร หว่านเมล็ดพันธุ์ที่งอกแล้ว ค่อยๆ เพิ่มระดับน้ำจนต้นกล้าข้าวอายุ 25-30 วัน จึงนำไปปักดำได้ ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ในอัตรา 1.5 กิโลกรัม/ไร่ ก่อนถอนกล้า 5-7 วัน เพื่อให้ง่ายต่อการถอน

ข้าวเปลือกหอมมะลิคุณภาพดี
ข้าวเปลือกหอมมะลิคุณภาพดี

ส่วนการเตรียมแปลงเพื่อการปักดำมือ ชาวนาจะใช้วิธีการไถพรวน ผาล 3-6 ทิ้งไว้ 7-10 วัน หลังจากนั้น ขังน้ำให้ได้ ประมาณ 3 เซนติเมตร ไถพรวน ผาล 3-6 อีกครั้ง แล้วคราดดินให้ละเอียด ขังน้ำให้ได้ ประมาณ 3-5 เซนติเมตร และรอปักดำ สำหรับพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 จะใช้วิธีปักดำที่ระยะ 25×25 เซนติเมตร ชาวนาจะถอนกล้าโดยไม่ต้องตัดใบและไม่ฟาดมัดกล้า เพราะจะทำให้ต้นกล้าช้ำ นำต้นกล้าที่เตรียมไว้ไปปักดำ 3-5 ต้น/กอ ลึก 3-5 เซนติเมตร ระดับน้ำขณะปักดำ ต้องไม่เกิน 10 เซนติเมตร

ส่วนการใช้ปุ๋ย เกษตรกรบอกว่า จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์รองพื้นก่อน ให้ใส่ก่อนไถพรวน ผาล 3-6 โดยใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 40-50 กิโลกรัม/ไร่ การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 สำหรับนาหว่านข้าวแห้ง ต้องใส่ในช่วงที่ข้าวเริ่มแตกกอ (ต้นเดือนสิงหาคม) โดยใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-8 ในอัตรา 20-25 กิโลกรัม/ไร่ สำหรับนาดินทราย หรือสูตร 16-20-0 (นาดินเหนียว) ส่วนนาปักดำมือ ให้ใส่หลังปักดำ 10-12 วัน หรือในช่วงที่ข้าวเริ่มแตกกอ โดยใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-8 ในอัตรา 20-25 กิโลกรัม/ไร่ สำหรับนาดินทราย หรือสูตร 16-20-0 (นาดินเหนียว)

ขณะที่การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ชาวนาจะใส่ปุ๋ยก่อนข้าวออกดอก ประมาณ 30 วัน (ประมาณวันที่ 20 กันยายน ของทุกปี) โดยใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ในอัตรา 5-10 กิโลกรัม/ไร่ โดยทุกครั้งที่ใส่ปุ๋ย จะต้องมีน้ำขังในแปลงนา ประมาณ 3-8 เซนติเมตร เพื่อให้ข้าวสามารถใช้ปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่อรักษาคุณภาพข้าวพันธุ์ดี คุณสมนึกและกลุ่มเพื่อนชาวนาจะใส่ใจดูแลการตัดข้าวปน โดยสำรวจต้นข้าวใน 2 ระยะ คือ ระยะแตกกอ โดยตรวจดูลักษณะการแตกกอ การชูใบ ขนาดความสูงของใบ หากพบต้นผิดปกติให้ถอนทิ้งทันที ส่วนระยะออกดอก ก็ต้องคอยตรวจดูความสูงของต้นข้าวในระยะออกดอก การออกดอกก่อนหรือหลัง ลักษณะของดอก สี ขนาดของเกสรตัวผู้ ถ้าพบต้นผิดปกติ ให้ตัดทิ้งทันทีเช่นกัน

ส่วนขั้นตอนการเก็บเกี่ยวข้าว คุณสมนึกบอกว่า ต้องทำในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยบันทึกวันออกดอก (เมื่อข้าวออกดอก ร้อยละ 80 ของแปลง) การกำหนดวันเก็บเกี่ยว จะนับจากวันออกดอกไปไม่น้อยกว่า 25 วัน และไม่เกิน 35 วัน เพราะการเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะทำให้ได้น้ำหนักเมล็ดสูง เปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดดี และมีคุณภาพการสีดี

ก่อนเก็บเกี่ยว ประมาณ 10 วัน ชาวนาในชุมชนแห่งนี้จะระบายน้ำออกจากแปลงนา เพื่อให้ข้าวสุกแก่พร้อมกัน ทุกวันนี้ชาวนาส่วนใหญ่นิยมใช้รถเก็บเกี่ยวข้าว เพื่อประหยัดเวลาและต้นทุนแรงงาน ข้อดีอีกประการหนึ่งก็คือ ทำให้ข้าวร่วงหล่นน้อย ภายหลังการเก็บเกี่ยวที่นี่จะไม่นิยมเผาฟางหลังการทำนา แต่จะใช้วิธีการไถกลบตอซัง พอฝนตกลงมา ตอซังที่ไถกลบก็จะย่อยสลายเป็นปุ๋ยบำรุงดินต่อไป

 

 

“ข้าวสีสด พลิกโฉมวงการข้าวไทย”

ข้าวสีสด ขายกิโลกรัมละ 120 บาท
ข้าวสีสด ขายกิโลกรัมละ 120 บาท

บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวตราฉัตร ร่วมมือกับชาวนาในโครงการส่งเสริมปลูกข้าวหอมมะลิ ปี 2556/57 เปิดตัว “ข้าวสีสด หรือ Fresh Milling” ถือเป็นครั้งแรกของเมืองไทย ที่ผู้บริโภคจะได้รับประทานข้าวที่อุดมไปด้วยคุณค่าและความอร่อยที่แตกต่างจากข้าวสารทั่วไป เพราะเป็นข้าวที่ผ่านกระบวนการสีสดๆ และวิธีการจัดเก็บรักษาความสดใหม่ของข้าวเปลือกที่จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกเหมือนได้รับประทานข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวมาจากรวงข้าว คาดว่าภายในปี 2558 บริษัทจะมีรายได้จากการขายข้าวสีสด ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

เคล็ดลับของข้าวสีสดจากข้าวตราฉัตร เริ่มจากการคัดเลือกแหล่งเพาะปลูกที่ดีที่สุดในแถบภาคอีสาน จากแปลงนาเกษตรกรสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมปลูกข้าวหอมมะลิ กับทางบริษัท ทั้ง 4 พื้นที่นำร่อง ใน 4 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ, อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี, อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ และอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร รวมกว่า 5,000 ไร่ ในปีการผลิต 2556/57 บริษัทได้เข้ามาช่วยดูแลเรื่องของระบบการบริหารจัดการการเกษตร ตั้งแต่แปลงนา จัดหาเมล็ดพันธุ์ พร้อมทั้งให้ความรู้ ขั้นตอนการปลูกข้าวหอมมะลิให้ได้ผลผลิตดี ราคาสูง ต้นทุนต่ำ อีกทั้งรับซื้อข้าวเปลือกคืนโดยตรงจากเกษตรกรสมาชิก ทำให้ข้าวทุกเมล็ดที่ได้มา เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอนการผลิต

ส่วนกระบวนการผลิต “ข้าวสีสด” เริ่มตั้งแต่ นำข้าวหอมมะลิของเกษตรกรสมาชิกที่เพิ่งผ่านการกะเทาะเปลือก และขัดสีเอารำข้าวออกสดๆ ใหม่ๆ ทำให้ข้าวที่ได้มีกลิ่นหอมกว่า และมีคุณประโยชน์มากกว่าข้าวสารที่อายุเท่ากัน แต่ผ่านการขัดสีมานาน ข้าวสีสดจึงมีความสดใหม่ เหมือนเพิ่งเก็บเกี่ยวจากรวง เพราะยังคงมีผิวรำ และจมูกข้าว จึงยังคงมีคุณค่าทางโภชนาการสูง และมีรสชาติความอร่อยที่แตกต่างจากข้าวหอมมะลิทั่วไป หรือข้าวกล้อง

เอกลักษณ์พิเศษของ “ข้าวสีสด” เป็นข้าวที่ผ่านการคัดสดใหม่ไม่เกิน 3 เดือน ก่อนจะนำมาผ่านกระบวนการ เพื่อรักษาคุณภาพให้คงความสดใหม่ เหมือนเพิ่งเก็บเกี่ยวจากรวง ด้วยเทคโนโลยีเก็บรักษาข้าวเปลือกไว้ใน Grain Cooler ที่อุณหภูมิคงที่ 25 องศาเซลเซียส ก่อนจะนำมากะเทาะเปลือกให้เป็นข้าวกล้อง เพื่อบรรจุลงถุงภายใน 24 ชั่วโมง จากโรงสีของตราฉัตร แล้วจัดเก็บในตู้แช่ ณ จุดขายที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส ข้าวสีสด จึงมีความแตกต่างจากข้าวทั่วไป ทันทีที่หุงสุก ข้าวสีสดจะเผยความหอมละมุน นุ่มเหนียว น่ารับประทาน มีรสชาติความหวานเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้ข้าวชนิดนี้ขายได้ราคาสูงถึง 120 บาท/กิโลกรัม เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ นับเป็นสินค้าตัวใหม่ที่มีลู่ทางการเติบโตสดใสมากในอนาคต