มกอช. เร่งปรับปรุงร่างมาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง รองรับการเติบโตอุตสาหกรรมอาหาร

นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ปัจจุบันเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง เป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย เป็นวัตถุดิบอาหารที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารได้หลากหลาย นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากถั่วเหลืองยังมีลู่ทางในการตลาดและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ

ล่าสุด มกอช. ได้จัดสัมมนาระดมความเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างมาตรฐานสินค้าสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และแนวทางการปฏิบัติต่างๆ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำมาใช้ประกอบการปรับปรุงร่างมาตรฐานฯ ให้มีความสมบูรณ์และสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้และกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนนำมาตรฐานสินค้าเกษตรไปใช้ประโยชน์ และการนำไปปฏิบัติเพื่อปรับปรุงระบบการผลิตของตนเอง

นางสาวจูอะดี กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันถั่วเหลืองประเทศไทยมีจุดแข็งคือไม่มีการตัดต่อพันธุกรรม จึงทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพซึ่งมีราคาสูง และมีความต้องการถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้น แต่พื้นที่ปลูกและผลผลิตถั่วเหลืองกลับลดลง ซึ่งสาเหตุมาจากเกษตรกรมีปัญหาที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองที่มีคุณภาพดี เพราะปัจจุบันยังไม่มีภาคเอกชนที่พัฒนาพันธุ์ถั่วเหลืองเพื่อจำหน่าย และภาคราชการไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้เพียงพอ

“โดยจากข้อมูลของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร พบว่า ในปี 2561 มีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองปริมาณถึง 37,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 4,939,146 บาท เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้มีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น” นางสาวจูอะดี กล่าว

เลขาธิการ มกอช. กล่าวต่อว่า มกอช. เร่งเดินหน้าในการสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองปฏิบัติตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) รวมทั้งช่วยให้เกษตรกรผู้ผลิตถั่วเหลืองเพื่อนำมาจำหน่าย สามารถเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองที่มีคุณภาพง่ายขึ้น การสัมมนาระดมความเห็นครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้ไทยมีมาตรฐานการผลิตที่มีความเหมาะสมก่อนที่จะนำมาตรฐานเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน พิจารณาให้ความเห็นชอบ และประกาศเป็นมาตรฐานภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตรต่อไป