ทำนาแบบปาเป้า ช่วยลดต้นทุนการผลิตในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ

นายพิเชียร ระวิระ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนการทำนามีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจาก น้ำมัน ปุ๋ย และสารเคมี มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าแรงงานปรับเพิ่มสูงขึ้น วันละ 300-400 บาท จึงอยากลดต้นทุนการผลิตข้าว ซึ่งการลดต้นทุนการผลิตข้าวเป็นแนวทางหนึ่งที่เกษตรกรสามารถจะพึ่งพาตนเองได้ ในปี พ.ศ. 2557 อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู

โดยเฉพาะเกษตรกรบ้านดงมะไฟ ตำบลดงมะไฟ ได้มีแนวคิดร่วมใจกันจัดงานวันสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีการส่งเสริมการทำนาแบบปาเป้า เพื่อสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ แปลงนาของ นายเฉวียน จันทะลุน มีนักเรียน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน เกษตรกรตำบลใกล้เคียง ได้จัดกิจกรรมสาธิตการทำนาแบบปาเป้า ซึ่งเป็นการปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดแรงงานการผลิต เพิ่มผลผลิตให้ข้าว นอกจากนี้ ยังสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2559 และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการค้าข้าวของประเทศไทย รวมทั้งยังไม่ต้องพึ่งพามาตรการช่วยเหลือด้านการประกันราคา หรือจำนำข้าว เหมือนที่ผ่านมา เรียกได้ว่า พึ่งพาตนเองเป็นที่ตั้งนั่นเอง

นายณัฐวัฒน์ บุญค้ำมา นายอำเภอสุวรรณคูหา กล่าวว่า การปลูกข้าวในปัจจุบันมีหลายวิธี ทั้งการปักดำ การหว่านข้าวงอก และการหว่านข้าวแห้ง แต่ละวิธีมีข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกัน เช่น การปักดำ ประหยัดเมล็ดพันธุ์ แต่สิ้นเปลืองแรงงาน ส่วนการหว่านข้าวงอกหรือการหว่านแห้ง ประหยัดแรงงาน แต่ใช้เมล็ดพันธุ์มากกว่า 15-25 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งภาวะที่เมล็ดพันธุ์มีราคาสูง 26 บาท ต่อกิโลกรัม

การปลูกข้าวโดยการปาเป้าจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง เนื่องจากใช้เมล็ดพันธุ์ 2.5-3 กิโลกรัม ต่อไร่ สามารถประหยัดเวลาและแรงงานในการดำนา โดยมีค่าใช้จ่ายด้านวัสดุปลูก เมล็ดพันธุ์ และแรงงาน โดยรวม ประมาณ 550 บาท ต่อไร่ และในปี 2559 มีส่วนราชการและเกษตรกร ร่วมกิจกรรมทำนาแบบปาเป้า โดยสำนักงานเกษตรอำเภอสุวรรณคูหา จัดขึ้นตามโครงการราชินีข้าวเหนียว ประจำปี 2559 เพื่อฝึกอบรมเกษตรกรถ่ายทอดความรู้ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกรข้าว การผลิตข้าวคุณภาพดี เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต โดยมีเกษตรกรตำบลกุดผึ้งเข้าร่วมโครงการ จำนวน 50 ราย ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมีนายพิเชียร ระวิระ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย

นายประเมิน พุทธมาตย์ เกษตรอำเภอสุวรรณคูหา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการทำนาแบบปาเป้า มีข้อดีหลายอย่างที่การทำนาดำและการทำนาหว่านไม่มี เช่น การลดต้นทุนการผลิต ประหยัดแรงงาน ประหยัดเมล็ดพันธุ์ข้าว ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็วขึ้น เนื่องจากไม่ถูกกระทบมากนัก จึงสามารถแตกกอได้มาก ชาวนาสามารถควบคุมวัชพืชได้ และเมื่อเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตข้าวมากกว่าการทำนาดำ ประมาณ 40% เกษตรกรได้เริ่มนิยมและลงมือทำกันอย่างจริงจัง แต่ในขณะเดียวกันนั้นกำลังทดลองเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ระหว่างการทำนาดำ การทำนาโยน การทำนาปาเป้า ดังนั้น ทางสำนักงานเกษตรอำเภอสุวรรณคูหา จึงส่งเสริมให้เกษตรกรได้หันมาปลูกข้าวแบบปาเป้า ปัจจุบันมีเกษตรกรทำนาปาเป้า ประมาณ 59 ราย พื้นที่ 721 ไร่

1467971155

            นายเฉวียน จันทะลุน วิทยากรประจำศูนย์เรียนรู้ฯ ตำบลดงมะไฟ และเกษตรกรปราดเปรื่องด้านข้าว กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การทำนาแบบปาเป้าจะมีความแตกต่างหรือคล้ายคลึงกับการทำนาโยนกล้า การทำนาแบบปาเป้าจะมีความสะดวกและจำกัดระยะต้นข้าวได้ดีกว่า การดูแลรักษาง่าย ซึ่งเป็นการพัฒนามาจากการทำนาโยนกล้า เพื่อลดต้นทุนการผลิตของชาวนา ขั้นตอนการทำนาแบบปาเป้า มีดังนี้
1
. เตรียมถาดหลุมสำหรับเพาะต้นกล้า (โดยแผงพลาสติก 40-50 แผง/ไร่ จำนวนหลุม 434 หลุม)
2. เตรียมข้าวสำหรับเพาะกล้า (ซึ่งจะต้องนำไปแช่น้ำ ประมาณ 2 วัน 2 คืน หลังจากนั้น เทน้ำออก วางทิ้งไว้อีก 1 วัน 1 คืน เพื่อให้ข้าวงอกสมบูรณ์ ในอัตรา 2.5-3 กิโลกรัม ต่อไร่
3. ผสมดินสำหรับเพาะต้นกล้า นำดิน แกลบ และปุ๋ยหมักชีวภาพ มาคลุกเคล้าเป็นเนื้อเดียวกัน
4. ใส่ดินที่ผสมลงในถาดหลุม ประมาณครึ่งหนึ่งของหลุม
5. หว่านเมล็ดข้าวงอกที่เตรียมไว้ลงในหลุม ประมาณหลุมละ 2-4 เมล็ด
6. นำดินที่ผสมไว้มาโรยปิดเมล็ดพันธุ์ข้าวอีกครั้งหนึ่ง และควรระวังอย่าให้ดินล้นออกมาจากนอกหลุม เพราะรากข้าวจะงอกออกมาพันกัน ทำให้เวลาหว่านต้นข้าวจะไม่กระจายตัว

  1. หาวัสดุมาคลุมถาดหลุมที่เพาะต้นกล้าข้าว เพื่อที่เวลารดน้ำหรือฝนตกแล้ว เมล็ดข้าวหรือดินจะได้ไม่กระเด็นออกมา อาจจะใช้ซาแรน กระสอบป่าน ผ้า ฯลฯ ที่มีอยู่และสามารถใช้ได้
    8. รดน้ำทุกเช้าและเย็นติดต่อกัน ประมาณ 3-4 วัน ต้นข้าวจะงอกทะลุออกจากที่คลุมถาดหลุม ให้เอาวัสดุที่คลุมออกแล้วรดน้ำต่อไป จนต้นกล้าอายุได้ 15 วัน หรือความสูงประมาณ 12 เซนติเมตร
    9. การปาเป้า นำต้นกล้าที่มีอายุ 15 วัน หรือมีความสูงประมาณ 12 เซนติเมตร ก็สามารถถอนต้นกล้าออกจากหลุมไปปาเป้าได้ โดยต้นกล้าจะมีวัสดุปลูกติดตามมาด้วย ในการปาเป้าแต่ละครั้ง ใช้ต้นกล้า จำนวน 1 หลุม แล้วไปปาเป้าในแปลงนาที่เตรียมไว้ให้สม่ำเสมอและกระจายไปทั่วแปลงนา ควรให้มีระยะห่าง ประมาณ 25×25 เซนติเมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้ต้นกล้าประมาณ 40 ถาด ในระยะแรกต้นกล้าจะนอนราบกับพื้น และจะตั้งตัวได้หลังจากปาเป้าไปแล้ว 2-3 วัน ซึ่งการเตรียมดินในแปลงนานั้นก็ทำเช่นเดียวกันกับการทำนาทั่วไป ไม่มีอะไรแตกต่างมากนัก หากแต่นำปุ๋ยหมักชีวภาพที่ทำเองนำไปหว่านให้กระจายทั่วแปลงแล้วไถกลบก่อนการทำนาปาเป้า จากนั้นก็ไถตามปกติ ปรับผิวดินให้เสมอกัน และทำทางระบายน้ำได้สะดวกไว้ก่อนที่จะนำต้นกล้าปาเป้าในแปลงนาต่อไป
  2. การดูแลรักษาต้นกล้าปาเป้าใหม่ หลังจากปาเป้าเสร็จ เมื่อต้นข้าวอายุควรฉีดฮอร์โมนไข่และน้ำหมักจากมูลไส้เดือน 3 ครั้ง ห่างกัน 15 วัน ต่อครั้ง
    นี่เป็นเพียงวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตข้าว ซึ่งปัจจุบันชาวนาส่วนใหญ่ยังติดอยู่กับวังวนของการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ที่นับวันราคาจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นหนี้เป็นสิน ภาครัฐจึงต้องหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและยั่งยืน

 

นายเฉวียน  จันทะลุน  เล่าให้ฟังอีกว่า การทำนาแบบปาเป้ามีข้อพิจารณา เนื่องจากวัสดุปลูกที่ใช้ควรใช้ขี้เถ้าแกลบเก่า หรือขี้เถ้าแกลบใหม่ที่ผ่านการให้น้ำเพื่อลดความเป็นกรดเป็นด่างแล้ว มิฉะนั้นต้นกล้าข้าวจะตาย ก่อนการปาเป้า 1 วัน ควรงดการให้น้ำต้นกล้าในถาดเพาะ เพื่อให้วัสดุปลูกแห้ง พร้อมที่จะใช้ปาเป้าได้ดีกว่า และสถานที่ในการเพาะต้นกล้า ควรอยู่ใกล้กับแปลงที่จะปลูก เพื่อสะดวกในการขนย้ายถาดเพาะต้นกล้า ปัจจุบันนี้ ทางสำนักงานเกษตรอำเภอสุวรรณคูหา ได้พิจารณาคัดเลือกให้เป็น ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตจากการเกษตรตำบลดงมะไฟ มีการกำหนดเนื้อหาวิชาการ เรื่อง การทำนาปาเป้า ถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรทุกตำบลในเขตอำเภอสุวรรณคูหา จำนวน 250 ราย

นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรจากอำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี อำเภอนากลาง อำเภอศรีบุญเรือง อำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู ได้เข้ามาศึกษาดูงาน และบางครั้งก็มีเกษตรกรเข้าฝึกปฏิบัติ และเรียนรู้วิธีการทำนาแบบปาเป้าเป็นจำนวนมาก

หากเกษตรกรที่สนใจ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู โทร. (042) 372-229 หรือ นายเฉวียน จันทะลุน โทร. (083) 348-7498