สุโขทัยเมล่อนฟาร์ม เมล่อนยุคใหม่ในโรงเรือน ที่สุโขทัย

ถ้าเอ่ยถึง จังหวัดสุโขทัย นอกจากความงดงามของเมืองโบราณ แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับทางด้านประวัติศาสตร์ สิ่งที่ผู้คนจะนึกถึงตามมาหลังจากเอ่ยชื่อสุโขทัยแล้วนั้น ก็คงหนีไม่พ้น ถั่วทอด เครื่องสังคโลก และผ้าทอ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่มีชื่อเสียงประจำจังหวัด แต่ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสุโขทัยเช่นกัน และนั่นคงไม่พ้นผลไม้รสหวานของฝากขึ้นชื่ออย่าง เมล่อน

คุณยศวัฒน์ ศิริอธิพันธ์

เมล่อนพันธุ์กรีนเน็ต เป็นพันธุ์ที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี มีความทนโรคและเป็นพันธุ์ที่ได้มาตรฐานในเรื่องของการตลาด การยอมรับในเรื่องของการทำความหวานและการดูแลค่อนข้างง่าย

คุณยศวัฒน์ ศิริอธิพันธ์ เจ้าของสุโขทัยเมล่อนฟาร์ม ได้เล่าถึงเรื่องการให้ผลผลิตของเมล่อนที่ตนปลูกไว้ว่า ในผลผลิตเฉลี่ย 500 ต้น ต่อ 1 โรงเรือน น้ำหนักเฉลี่ย 1 ผล ประมาณ 1.5-1.8 กิโลกรัม ความหวานอยู่ประมาณ 15-16 บริกซ์ ขายอยู่หน้าฟาร์ม กิโลกรัมละ 100 บาท เป็นผลไม้ที่ราคาเป็นมาตรฐานและราคาไม่ตก แต่มีปัจจัยสำคัญที่ว่า

“ปัญหาของเมล่อนคือ การปลูกยังไงให้มีความปลอดภัย ปัจจุบันการปลูกเมล่อนที่จะให้ผลตอบแทนและป้องกันการเลี้ยงได้ดีที่สุดคือ การปลูกในโรงเรือน” คุณยศวัฒน์ ว่า

การลงทุนในการสร้างโรงเรือนเมล่อน

เมล่อนพันธุ์กรีนเน็ต

ในเรื่องของการลงทุน 1 โรงเรือน ความกว้างประมาณ 7 เมตร ยาว 30 เมตร ปลูกได้ประมาณ 500 ต้น 1 ต้น จะไว้ลูกได้แค่ 1 ผล เพราะต้องรักษาความหวาน ความหวานจะเป็นตัวกำหนดคุณภาพของสินค้า ปัจจุบัน ทำมา 5 ปี ยังไม่ประสบปัญหา ใน 1 โรงเรือน การลงทุนตั้งแต่ระบบน้ำโรงเรือน ประมาณ 150,000 บาท เปรียบเทียบอายุการใช้งานในปีที่ 5 ก็ยังคงสมบูรณ์อยู่ คิดว่าน่าจะใช้งานได้ประมาณ 10 ปี ตีว่าปีละ 15,000 บาท ใน 1 ปี ปลูกได้ 4 ครั้ง เฉลี่ยแล้วแต่ละครั้งต้นทุนประมาณ 4,000 บาท การตอบสนองต่อ 1 โรงเรือน 500 ต้น ขายได้ผลผลิตรวมแล้วอยู่ในเกณฑ์ 40,000 บาท

แยกเป็นเกรดที่มีคุณภาพ ประมาณ 30,000 บาท เกรดที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ส่งห้างไม่ได้ จะเป็นเกรดรวมๆ จะขายอยู่ในพื้นที่ หรือมีเกษตรกรและผู้บริโภคบางคนมารับไปขายต่อ ตกแล้วได้ราคารวม 40,000 บาท ถ้าคิดจากต้นทุน ลงทุน เมล็ด ปุ๋ย และยา ประมาณ 15,000 บาท จะมีกำไรทั้งหมด 25,000 บาท ใน 1 ครั้ง โรงเรือนจะมีรายได้ 100,000 บาท ในพื้นที่ประมาณ 180 ตารางเมตร 1 ไร่ สร้างได้ 6 โรงเรือน เท่ากับว่า ใน 1 ปี มีรายได้หลายแสน

การพันยอดเมล่อน

“เกษตรแบบนี้เป็นเกษตรแบบประณีต คนทำจะต้องมีองค์ความรู้ในการศึกษาอย่างจริงจัง ถ้าผู้ทำไม่มีความรู้ที่แม่นยำโอกาสที่จะทำให้เมล่อนออกมามีคุณภาพหรือเป็นที่ต้องการทางการตลาดน่าจะยังยากอยู่พอสมควร” คุณยศวัฒน์ ได้กล่าวไว้ในเรื่องของการปลูกและดูแลเมล่อน

เมล่อน ต้องการการดูแลใส่ใจตั้งแต่เริ่มปลูก

วิธีการปลูก เมล่อนนั้น หลังจากได้เมล็ดพันธุ์จะปลูกโดยวัสดุที่ไม่ใช้ดิน แต่จะใช้แกลบผสมกับขุยมะพร้าว สาเหตุที่ไม่ปลูกลงดินเนื่องจากถ้าปลูกลงดินในระยะปลูกซ้ำต่อไปจะมีปัญหาเรื่องรากเน่า เพราะฉะนั้นถ้ามันอยู่ในถุงจะสามารถเปลี่ยนถุงได้เร็ว การเตรียมแปลงต่อรอบการใช้ในโรงเรือนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น การปลูกจะปลูกโดยการแหวกหลุม ในขณะเดียวกันจะมีการเตรียมไตรโครเดอร์ม่าเป็นตัวที่ทำให้ระบบรากไม่ติดโรค การใช้ขุยมะพร้าวจะทำให้ความโปร่งของดินแกลบมีมากขึ้น ทำให้ระบบการหายใจของพืชมีความแข็งแรงเร็ว การป้องกันโรคจะควบคุมได้ การให้น้ำจะใช้ระบบน้ำหยดตั้งเวลา หลังจากเพาะกล้าได้ 11-12 วัน จะย้ายการปลูก เมื่ออายุได้ 15 วัน จะเริ่มพันยอดเพื่อให้ต้นไต่อยู่กับเชือก และอีก 1 เดือน จะสามารถผสมดอกได้ เมื่อผสมดอกเรียบร้อยแล้วจะคัดลูกจากต้นที่มีลูก 2-3 ผล จะคัดให้เหลือเพียงแค่ 1 ผล เพื่อให้เมล่อนมีความหวาน และจะเริ่มตัดส่งได้เมื่อเมล่อนมีอายุได้ประมาณ 70 วัน

แต่ละต้นจะถูกคัดให้เหลือเพียงผลเดียว

การให้น้ำ หรือการดูแลเมล่อนตั้งแต่ระยะการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ระยะปลูกใหม่ จะให้น้ำ 2 นาที ต่อ 1 ครั้ง ใน 1 ชั่วโมง วันหนึ่งจะให้น้ำทั้งหมด 8 ครั้ง เมื่ออยู่ในช่วงผสมดอกจะให้น้ำ 10 นาที ต่อ 1 ครั้ง ใน 1 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นขนาดที่ใกล้จะตัดส่ง จะให้น้ำอยู่ที่ 16 นาที ต่อ 1 ครั้ง ใน 1 ชั่วโมง แต่ทว่าเมล่อนก่อนเก็บประมาณ 3 วัน จะผ่อนน้ำ โดยการปรับการให้น้ำ จาก 16 นาที เหลือเพียงแค่ 3 นาที เท่านั้น ใบจะเหี่ยวเพราะมีการคายน้ำออกจากใบเปลี่ยนไปทำความหวานไว้ที่ผลแทน ถ้าเมล่อนใบไม่เหี่ยวเวลาตัดไปจะมีปัญหาเรื่องความหวาน

การให้ปุ๋ย จะเป็นปุ๋ย A และ B (ผสมปุ๋ยขึ้นมา 2 ชนิด) เนื่องจากว่าปุ๋ยสองชนิดนี้ผสมกันไม่ได้ จึงต้องผสมปุ๋ย A ขึ้นมาก่อน เมื่อละลายปุ๋ย A จึงจะเอาปุ๋ย B ผสมลงไป การให้ปุ๋ยจะวัดจาก EC คือความเข้มข้นของปุ๋ย ในระยะแรกจะใช้ประมาณ 2.2 ในช่วงก่อนตัดจะให้ประมาณ 2.8 ก่อนที่จะตัดเมล่อนก่อน 2 ครั้งสุดท้าย จะใช้ปุ๋ย 0-0-50 ฉีดทางใบเพื่อทำความหวานให้กับเมล่อน

กำจัดศัตรูพืช โดยใช้สารจุลินทรีย์

ผลเมล่อนใกล้เก็บเกี่ยว

ศัตรูสำคัญของเมล่อนก็คือ เพลี้ยไฟ รา และหนอน นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไม เมล่อนจะต้องอยู่ในโรงเรือน เพราะการปลูกในโรงเรือนสามารถป้องกันเพลี้ยไฟได้ในระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการเช็ค ถ้าเมล่อนมีลักษณะใบหงิก ยอดหงิก ต้องฉีดพ่นกำจัดเพลี้ยไฟ ปัจจุบันที่ใช้อยู่เป็นพวกบิวเวอเรีย จุลินทรีย์ที่กำจัดเพลี้ยไฟ เชื้อราจะใช้จุลินทรีย์ต่างๆ ที่กำจัดเชื้อราพวกไตรโครเดอร์ม่าด้วย การที่จะปลูกเมล่อนให้ได้มาตรฐานจำเป็นจะต้องลดการใช้สารเคมีหรือแทบไม่ต้องใช้ เพราะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค จึงหันมาใช้พวกจุลินทรีย์ในการกำจัดศัตรูพืชแทน บิวเวอเรียกำจัดเพลี้ยไฟ บาซิลลัสกำจัดเชื้อรา บีทีใช้กำจัดหนอน ซึ่งหนอนปกติจะไม่ค่อยมี เพราะจะเข้ามาในโรงเรือนไม่ได้ จะมีขนาดเล็กที่สุดก็คือ เพลี้ยไฟ ที่ยังสามารถลอดเข้ามาในตาข่ายมุ้งมาได้ แต่ก็มีจำนวนที่น้อยมาก เพราะฉะนั้นการที่เมล่อนจะปลูกอยู่นอกโรงเรือนโอกาสที่จะต้านทานศัตรูพืชจะน้อยมาก

เมล่อนที่ถูกผ่อนน้ำ

ในเรื่องของการตลาด คุณยศวัฒน์ บอกว่า หลักการทำการตลาดสินค้าในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะต้องเป็นระบบใหม่ (start up) จึงต้องสร้างกลไกการตลาดเป็นการทำร้านกาแฟขึ้นมา เพื่อเป็นจุดขายเมล่อน ซึ่งจะเน้นเป็นของฝากประจำจังหวัดให้แก่ผู้ที่สัญจรผ่านไปผ่านมา เนื่องจากเมล่อนค่อนข้างมีชื่อเสียง ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดคนที่มาเที่ยวสุโขทัยก็ต้องซื้อเป็นของฝาก

ในเรื่องการดูแลรักษา คุณยศวัฒน์ ก็ยินดีให้คำปรึกษากับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ต้องการได้องค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกและดูแลเมล่อน สามารถติดต่อ คุณยศวัฒน์ ศิริอธิพันธ์ ได้โดยตรง ที่อยู่ 60/2 หมู่ที่ 12 ตำบลยางซ้าย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย โทร. 089-961-3423