ผู้เขียน | องอาจ ตัณฑวณิช |
---|---|
เผยแพร่ |
การทำเกษตรในโรงเรือนเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนจำนวนมาก เกินกำลังของเกษตรกรโดยทั่วไป แต่การปลูกพืชในโรงเรือนสามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น ฝน ที่มีผลเสียต่อพืชบางชนิด รวมถึงสามารถป้องกันแมลงและโรคได้หากมีการจัดการที่ดี ในฤดูฝนผักบางชนิด เช่น ผักสลัด ไม่สามารถทนทานเม็ดฝนที่ตกกระหน่ำจนทำให้ใบช้ำเสียหายและปริมาณน้ำที่มากเกินไป ทำให้แฉะจนเป็นโรคเน่า ผลไม้ เช่น มะเดื่อฝรั่ง และเมล่อน เป็นพืชที่มีโรคพืชคุกคามในฤดูฝนเช่นกัน
เกษตรกรชาวมวกเหล็ก คุณสราวุธ ยศสูงเนิน เรียนจบทางด้านจิตวิทยา จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวลัยอลงกรณ์ อยู่ หมู่ที่ 7 ตำบลหนองย่างเสือ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เจ้าของ “เจ้าป่าฟาร์ม” กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ทางครอบครัวได้ทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพียงอย่างเดียว และใช้สารเคมี ยาปราบศัตรูพืชทุกอย่างที่เกษตรกรเขาใช้กัน โดยแปลงเกษตรขนาดใหญ่ 50-60 ไร่ ในการปลูกมะเขือเทศทำให้ต้องการใช้แรงงานประจำมาก 20-30 คน คนไทยไม่นิยมทำงานแบบนี้ จึงต้องใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งขยันและอดทนต่องานหนักมากกว่า แต่ก็มีปัญหาเรื่องการทำบัตรและลงทะเบียนให้ถูกต้อง เพราะแรงงานต่างด้าวชอบย้ายงานไปเรื่อยๆ ยิ่งช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตแรงงานในการเก็บเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนั้น มะเขือเทศของที่สวนจะทำปีละ 2 รอบ ต้นปีกับปลายปี แต่ละรุ่นตั้งแต่ปลูกจนเก็บผลผลิต ทั้งหมดจะใช้เวลา 5-6 เดือน”
เมื่อก่อนที่เจ้าป่าฟาร์มทำเกษตรเคมีอย่างเดียว ก็หันมาปลูกเกษตรอินทรีย์บ้าง เกษตรในโรงเรือนที่สามารถควบคุมศัตรูพืชบ้าง เนื่องจากเป็นแนวทางพืชผักปลอดภัยในอนาคต ซึ่งคนจะเริ่มมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น เริ่มต้นได้ทำแก้วมังกรปลอดสารพิษก็ประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง ส่วนข้างบ้านก็ปลูกพืชสวนครัวสำหรับรับประทานกันเองที่บ้าน
ต่อมาได้คิดทำโรงเรือนสำหรับปลูกพืช โดยมีหลังคาพลาสติกสำหรับกันฝน และตาข่ายมุ้งสำหรับกันแมลงรอบข้าง โรงเรือนนี้มีขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 32 เมตร จำนวน 3 โรงเรือน ซึ่งราคาต้นทุนต่อโรงเรือน หลังละ 8-9 หมื่นบาท เนื่องจากได้ว่าจ้างช่างมาทำและคุณสราวุธเป็นควบคุม โดยทางสวนเป็นคนซื้ออุปกรณ์ทั้งหมด ทำให้ประหยัดกว่าการจ้างให้ผู้รับเหมาโรงเรือนประเภทนี้มาทำ ซึ่งราคาสูงถึงแสนกว่าบาท ต่อ 1 โรงเรือน ทีเดียว
คุณสราวุธเริ่มจากปลูกเมล่อนพันธุ์เหลืองจักรพรรดิ โดยเอาทิชชูรองในกระบะแล้วนำเมล็ดหว่านลงไป หลังจากนั้น เอาทิชชูปิดอีกที แล้วค่อยฉีดน้ำพ่นฝอยไม่ให้เมล็ดกระทบกระเทือนมาก วางไว้ในร่มรำไรไม่ให้โดนฝน พ่นน้ำวันเว้นวัน เมื่อต้นเริ่มงอกสูงประมาณ 1 นิ้ว ก็นำมาใส่กระบะเพาะ ใช้ดินพร้อมปลูกใส่ในกระบะให้เต็ม ช่วงนี้ก็ยังวางในที่ร่ม แสงพอรำไร ประมาณ 7 วัน ก็จะเริ่มนำเข้ามาปลูกในถุงที่เตรียมไว้ในโรงเรือน
การปลูก และดูแลเมล่อน
วัสดุปลูกในถุงที่ใช้เป็นดินพร้อมปลูกผสมกับขุยมะพร้าวและปุ๋อินทรีย์ 1 ต่อ 1 โดยใช้ถุงที่มีขนาดกว้าง 12 นิ้ว ดินที่ผสมกันใส่ถุงแล้วไม่ต้องหมักอีก สามารถนำมาปลูกได้เลย ในแต่ละถุงจะปลูก 2 ต้น ซ้ายขวา โดยจะใช้เวลาปลูกในช่วงเช้า การรดน้ำจะต่อสายยางขนาดเล็กลงในถุงเพื่อให้น้ำได้สะดวก ช่วงแรกจะให้น้ำ วันละ 3 รอบ เช้า กลางวัน เย็น ครั้งละประมาณ 2-3 นาที หลังจากปลูกประมาณ 20 วัน จะใส่ปุ๋ยขี้ค้างคาวแบบละลายน้ำได้ลงในท่อยางที่ให้น้ำตามปกติ ตอนนี้จะเริ่มใช้เชือกขึงลงมาเพื่อให้ต้นไต่ขึ้นไป เมล่อนจะเริ่มมีดอก เมื่ออายุประมาณ 1 เดือน ก็จะเริ่มผสมโดยใช้เกสรจากดอกตัวผู้ในต้นเดียวกัน ผสมกับดอกตัวเมีย ดอกตัวผู้ที่ใช้จะต้องนับขึ้นมา 5 ข้อใบจึงจะนำมาผสม ดอกที่ต่ำกว่านั้นจะไม่สมบูรณ์ การผสมเกสรควรทำในช่วงเช้า เพราะถ้าสายดอกตัวเมียจะหุบ คุณสราวุธจะใช้เกสรดอกตัวผู้ถึง 3 ดอก ผสมกับดอกตัวเมียเพียงดอกเดียว เพื่อให้มั่นใจว่าติดแน่นอน ใน 1 ต้น จะผสมไว้ 2 ดอก เมื่อผลขยายได้ขนาดเล็กกว่าลูกปิงปองก็จะเด็ดผลที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง เหลือไว้เพียง ต้นละ 1 ลูกเท่านั้น หลังจากผสมใช้เวลา 35-40 วัน ก็จะสามารถเก็บผลผลิตขายได้
การดูแลรักษาในช่วงมีดอก จะใช้ปุ๋ยมูลค้างคาวทุกๆ 3-4 วัน ผสมกับปุ๋ยเกล็ด สูตรเสมอ 16-16-16 ตั้งแต่อายุ 1 สัปดาห์ แต่ไม่มีการใช้ยาปราบศัตรูพืชและโรคพืช แต่ใช้ฮอร์โมนเพื่อเร่งดอกและให้ติดผลทั้งก่อนและหลังดอกบาน 3-4 ครั้ง เนื่องจากดอกจะค่อยๆ ทยอยบาน ก่อนตัดผลประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะใส่ปุ๋ยหวาน สูตร 8-24-24
แตงโมไร้เมล็ด
ครั้งแรกทางสวนได้ปลูกแตงโมตอร์ปิโดสีส้มมีเมล็ด โดยเพาะเมล็ดในกระบะเพาะ ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะนำมาปลูกในโรงเรือนเลย โดยใช้ถุงที่บรรจุดินพร้อมปลูก รดน้ำในช่วงแรก 3 เวลา แล้วค่อยลดลงเหลือ 2 เวลา เช้า บ่าย ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ดอกก็จะเริ่มออก แต่ในแปลงปลูกแตงโมงนี้ ถูกแบ่งเป็น 3 แถว แถวละ 50 ถุง แต่ละถุงจะปลูกเพียง 1 ต้น ไม่เหมือนเมล่อน ใน 1 โรงเรือน จึงปลูกได้เพียง 150 ต้น
ปัจจุบัน ทางสวนได้หันมาปลูกแตงโมตอร์ปิโดสีส้มไร้เมล็ด การผสมเกสรของแตงโมชนิดนี้ ไม่เหมือนเมล่อน จะนำเกสรตัวผู้ของต้นมาผสมไม่ได้ เนื่องจากเกสรตัวผู้ไม่สมบูรณ์ ในโรงเรือนจึงต้องปลูกแตงโมงตอร์ปิโดไร้เมล็ดไว้ตรงกลาง ส่วนซ้ายขวาปลูกแตงโมตอร์ปิโดแบบมีเมล็ด เพื่อใช้เกสรตัวผู้เพื่อผสมกับดอกตัวเมียของตอร์ปิโดสีส้มไร้เมล็ด การติดลูกของแตงโมไร้เมล็ดค่อนข้างยากพอสมควร จึงต้องพิถีพิถันดูแลอยู่ตลอดเวลา ช่วงระยะในการผสมได้หรือระยะดอกบาน ใช้เวลาประมาณไม่เกิน 2 สัปดาห์
ถ้าพบว่ามีดอกที่ผสมไว้ไม่ติด ต้องผสมดอกใหม่ทันที ใน 1 ต้น จะผสมไว้ 2 ลูก เมื่อมีขนาดใหญ่หน่อย ก็จะเลือกปลิดทิ้ง เหลือไว้เพียงลูกเดียว เพื่อให้ได้ลูกที่สมบูรณ์ที่สุด การให้น้ำก็จะทำเหมือนการให้น้ำเมล่อน ผลของแตงโมนี้เฉลี่ยแล้วมีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม อายุผลประมาณ 2 สัปดาห์ ก็จะต้องใช้ตาข่ายช่วยพยุง ในช่วงใกล้เก็บผลผลิตจะต้องใส่ปุ๋ยหวานในจำนวนมากกว่าเมล่อน ผลผลิตของแตงโมตอร์ปิโดสีส้มไร้เมล็ดจะมีจำหน่ายเริ่มต้นช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากเก็บผลผลิตแล้วจะนำถุงที่มีวัสดุปลูกออกจากโรงเรือนทั้งหมด แล้วฉีดล้างทำความสะอาด ฉีดยาฆ่าเชื้อ พักโรงเรือนไว้ประมาณ 7-15 วัน จึงจะปลูกใหม่และสลับกันปลูกไม่ให้ซ้ำพืชเดิม
รสชาติของเมล่อนจักรพรรดิ เนื้อจะเป็นสีส้มและกรอบนอกนิ่มในคล้ายๆ จะละลายในปาก มีรสชาติหวานและหอมกว่ากรีนเน็ต ซึ่งเป็นแตงโม ที่มีความกรอบ
ผลผลิตของสวนจะมีเมล่อนเหลืองจักรพรรดิ เมล่อนกรีนเน็ต แตงโมตอร์ปิโดสีส้มมีเมล็ดและไร้เมล็ด เนื่องจากผลผลิตยังไม่มาก ผลผลิตต่อ 1 โรงเรือน จะได้ประมาณ 200-300 กิโลกรัม โดยจะปลูกหมุนเวียนสลับกันไป ในช่วงที่มีผลผลิตจะจัดส่งไปจำหน่ายที่ ร้านค้าของคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ปิ่นเกล้า และบางส่วนขายตรงให้กับบุคคลทั่วไป ราคาส่งจากฟาร์ม เมล่อนเหลืองจักรพรรดิ กิโลกรัมละ 90-100 บาท น้ำหนักจะอยู่ประมาณ 1.5 กิโลกรัม ส่วนเมล่อนกรีนเน็ต ราคากิโลกรัมละ 70 บาท
สนใจเรื่องแตงโมตอร์ปิโดสีส้มไร้เมล็ด และเมล่อนเหลืองจักรพรรดิ สามารถพูดคุยกับ คุณสราวุธ ยศสูงเนิน โทรศัพท์ 085-773-4506
สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354
…………
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2562