“ส้มเขียวหวาน” เมืองลอง ยังคงได้รับความนิยมอย่างยั่งยืน

ส้มเขียวหวานเมืองลอง เมื่อครั้งอดีตมีชื่อเสียงอันลือเลื่องในรสชาติ ความอร่อย ผลผลิตมีการส่งออกไปทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ ย้อนไปเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2525 ผู้เขียนได้ไปเยือนเมืองลอง (อำเภอลอง จังหวัดแพร่) เห็นรถบรรทุกสิบล้อจอดเรียงรายริมถนนหน้าโรงพยาบาลลอง คนงานกำลังขนถ่ายส้มเขียวหวานจากรถบรรทุกสี่ล้อ ทราบว่ากำลังจะขนส่งไปยังปลายทาง ณ ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย จึงได้เข้าไปดูแหล่งผลิตต้นทางสวนส้มเขียวหวานแถบริมฝั่งแม่น้ำยม ซึ่งมีสวนส้มเขียวหวานเต็มพื้นที่ บนต้นกำลังติดผลดก มีทั้งผลเล็ก ผลใหญ่ ทั้งสีเขียวและสีทอง ถัดจากนั้นมา 25 ปี ให้หลัง หลายพื้นที่กลายเป็นสวนส้มร้าง ทราบว่าสภาพดินเป็นกรด ดินขาดอินทรียวัตถุ ต้นส้มเขียวหวานอายุมากแล้ว ต้นโทรม ผลผลิตตกต่ำจากโรคและแมลง จึงไม่สามารถคัดเกรดของผลส้มได้ เกษตรกรที่สู้ต่อไปไม่ไหว ก็วางมือ

ส้มปลอดภัยเปลือกบาง

แต่ปัจจุบันเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ปริมาณผลผลิตส้มเขียวหวานในตลาดมีน้อยลง ราคาสูงขึ้น และหาซื้อได้ยาก จึงมีเกษตรกรรุ่นต่อๆ มา ได้หันมาปรับพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานมากรายขึ้น และได้นำบทเรียน ปัญหาจากอดีตมาปรับเปลี่ยนทั้งในเรื่องกิ่งพันธุ์และวิธีการจัดการเสียใหม่

คุณนพดล วงษ์แก้ว ตั้งบ้านเรือนอยู่เลขที่ 50/1 หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งแล้ง อําเภอลอง จังหวัดแพร่ 54150 โทร.085-434-6022 เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ทำเกษตรสวนส้มเขียวหวาน สืบทอดมาจากคุณพ่อ คือ ลุงดำเนิน วงษ์แก้ว ผู้คร่ำหวอดในวงการเกษตรไม้ผลและตลาดค้าผลไม้ เเละเป็นตัวอย่างของแปลงส้มเขียวหวานให้อีกหลายรายที่มีการขยายพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานมากขึ้น ในพื้นที่ใกล้เคียง ผู้เขียนตั้งคำถามว่า ก็ในเมื่อในอดีตสวนส้มทั้งอำเภอเคยประสบปัญหา แล้วเมื่อคุณนพดลมาเริ่มต้นปลูกส้มเขียวหวานอีกครั้ง ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยเดิมหรือ

รสชาติอร่อย

คุณนพดล บอกว่า ปัญหาเดิมๆ นั้น เกิดจากต้นส้มอายุมากเกิน เกิดโรค เกษตรกรจะเอาแต่ผลผลิตไม่ได้ ต้องมีการฟื้นฟูต้น ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ ส้มเปลือกแข็ง เนื้อกุ้งแห้ง ฟ่าม ซังขมและแข็ง ถ้าจะฟื้นฟูต้องใช้เงินลงทุนมาก เงินก็ไม่พอ ลงทุนไปมากๆ ก็จะไม่เหลืออะไร แต่ถ้าผมทำสวนส้มต้องทําให้แตกต่างจากเดิมก็อยู่ได้ พ่อให้ข้อคิดว่าถ้าปลูกส้มเขียวหวานแล้ว ในระยะ 10 ปี ถ้าไม่มีปัญหาเขามีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข ก็ถือว่ามาถูกทางแล้ว การลงทุนนั้นมีความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่ถ้าเรารู้วิธีการควบคุมปัจจัยเสี่ยงเมื่อลงทุนเงินไปแล้ว บวก ลบ คูณ หาร ก็ต้องอยู่ได้ เพื่อเป้าหมายที่รออยู่ข้างหน้า

คุณนพดล เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า สมัยยังเป็นเด็กก็เห็นพ่อแม่ทำเกษตรปลูกไม้ผลหลากหลายชนิดอยู่ก่อนแล้ว พอโตขึ้นก็เป็นกำลังให้กับครอบครัว ช่วยพ่อแม่ดูแลต้นไม้ ไม้ผลที่พ่อแม่ปลูกไว้ก็ได้แก่ เงาะ ลองกอง มังคุด ส้มเขียวหวาน พริกไทย เมื่อกล่าวถึงส้มเขียวหวาน ขณะนั้นต้นมีอายุ 25 ปี มีโรคขั้วเหลืองเกิดการร่วงหล่น ก็ไม่เข้าใจใช้ยา เคมีก็เยอะ เริ่มท้อ ต่อมาเมื่อยางพาราเริ่มเข้ามาเพิ่มแรงจูงใจก็ล้มส้มเขียวหวานออก ปลูกยางพารา เพราะน้ำยางราคาดี

ผลผลิตดก

พ่อมีลูกหลายคน ก็ให้ทุกคนร่วมกันทำร่วมกันดูแลรับผิดชอบพื้นที่ซึ่งมีอยู่หลายสิบไร่ในลักษณะเป็นกงสี หมายความว่า กิจการงานของทุกคนในครอบครัว อยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความสามัคคี แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

พื้นที่ที่คุณนพดลดูแลก็ได้พิจารณาว่า ขณะนั้นต้นยางพารา อายุได้ 13 ปี กรีดน้ำยางมาได้ระยะหนึ่ง แต่ราคาน้ำยางตกต่ำ เมื่อมาคำนวณรายได้-ค่าใช้จ่ายแล้วไม่คุ้มค่า ถ้าปลูกส้มเขียวหวาน จะมีรายได้ดีกว่า จึงตัดสินใจโค่นต้นยางพารา แล้วปรับพื้นที่มาปลูกส้มเขียวหวานอีกครั้ง มีจํานวน 4 แปลง เนื้อที่ 10, 15, 15 และ 16 ไร่ มีแปลงที่เพิ่งนำกิ่งพันธุ์ลงปลูกได้เพียง 1 สัปดาห์ ก็มี แปลงที่ต้นมีอายุ 3 ปี กําลังติดผลก็มี

ในส่วนของคุณนพดลดูแลสวนส้มเขียวหวาน เนื้อที่ 25 ไร่ คุณนพดล ได้ให้รายละเอียด การปลูก การดูแลแปลงที่มีอายุ 3 ปี ซึ่งกำลังจะเก็บผลผลิตได้รุ่นที่ 1 ของปีที่ 1 แปลงนี้มีส้มเขียวหวานอยู่ 15 ไร่

องค์ความรู้ที่ได้รับมาจากประสบการณ์ของพ่อ

คุณภาพเยี่ยม

คุณนพดล กล่าวว่า เมื่อ 20 ปีก่อน เห็นพ่อปลูกส้มเขียวหวาน ก็ช่วยพ่อดูแล พ่อก็คอยบอกว่าต้องคอยหมั่นสังเกต ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นหรือมีอะไรมารบกวนแล้วจะต้องปฏิบัติอย่างไร พ่อสอนตั้งแต่การให้น้ำ ให้ปุ๋ย ดูโรค/แมลง การพ่นยาตามกําหนดระยะเวลา

เริ่มปลูก ส้มเขียวหวาน เมื่อปี พ.ศ. 2559 หลังจากโค่นต้นยางพารา ขุดรากถอนโคนแล้ว ก็ปรับพื้นที่ เตรียมดิน สภาพดินในพื้นที่เป็นดินร่วน และดินร่วนปนทราย มีธาตุอาหารเพียงพอ อยู่ติดแม่น้ำยม ที่มีดินตะกอนค่อนข้างสมบูรณ์อยู่แล้ว จากนั้นวางผังเป็นรูปตารางสี่เหลี่ยมตามทิศทางของแสงแดด วัดระยะ 6×5 เมตร วางระบบน้ำใต้ดินก่อน ใช้หัวสปริงเกลอร์ ทั่วทั้งสวน ต้นละ 1 หัว ทำดินให้ร่วนซุยตรงบริเวณที่จะลงกิ่งพันธุ์ ขุดหลุมลึกเพียง 20 เซนติเมตร ไม่ได้ใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมแต่อย่างใด นำกิ่งพันธุ์ลงปลูก พูนดินบริเวณโคนต้น ใช้ไม้ปัก ผูกเชือกกันโยก แล้วให้น้ำพอเหมาะ ไม่ต้องแฉะ เป็นอันเสร็จการ

เกษตรอำเภอลอง และเกษตรกรดีเด่น เจ้าของสวน

พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกส้มเขียวหวานได้ 50 ต้น รวม 750 ต้น เพราะบริเวณระหว่างแถวค่อนข้างจะกว้าง เพื่อสะดวกในการทำงาน ลมผ่านได้ดี กันโรค/แมลง ได้ส่วนหนึ่ง และยังนำรถตัดหญ้าเข้าไปทำงานได้ทั่วทั้งแปลง

กิ่งพันธุ์ มีคุณภาพ

คุณนพดลให้รายละเอียดว่า ส้มเขียวหวานที่ลงแปลงปลูกใหม่ เป็นกิ่งตอนที่ซื้อมาจากจังหวัดกำแพงเพชร (ส้มเขียวหวานบางมด) ส่วนแปลงที่อายุ 3 ปี ซื้อกิ่งตอนมาจากอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นส้มเขียวหวานบางมดเช่นกัน ที่ตัดสินใจใช้กิ่งตอนจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ เพราะเป็นกิ่งตอนที่มีคุณภาพ กล่าวคือ รอยแผลรอบกิ่ง จะมีรากออกโดยรอบ ปราศจากโรค/แมลง หลังปลูกลงดิน เมื่อต้นโตจะไม่โยก เพราะรากขยายแผ่ไปทุกทิศทาง และเติบโตทุกต้น ไม่มีตายแม้แต่ต้นเดียว ทั้งๆ ที่ตัดจากต้นแม่พันธุ์มา ก็ลงดินปลูกได้เลย ซึ่งคนที่ตอนกิ่งพันธุ์ได้เช่นนี้ต้องอาศัยทักษะความชำนาญ

แปลงส้มเขียวหวานตำบลบ้านปิน

การดูแลเอาใจใส่ที่ดี
ย่อมได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ

คุณนพดล บอกว่า ตนเองได้ให้การดูแลปฏิบัติกับแปลงส้มเขียวหวานด้วยดีมาตลอด ให้ความสำคัญในทุกขั้นตอน ทุกวันต้องเข้าสำรวจแปลง “การดูแลของผม ดูมาตั้งแต่ต้นส้มอายุ 1 ปี จนต้นอายุ 3 ปี ให้ผลผลิตแล้ว ทั้งการให้น้ำ ให้ปุ๋ย ฮอร์โมน สำรวจโรค/แมลง”

น้ำ ตลอดช่วงอายุของต้นส้มเขียวหวานจากปีที่ 1- ปีที่ 3 โดยเฉลี่ยแล้วจะให้น้ำผ่านหัวสปริงเกลอร์ 3-5 วัน ต่อครั้ง เว้นแต่ช่วงก่อนออกดอก ติดผลแล้ว จนผลแก่ ส้มต้องการน้ำแตกต่างกัน แต่ในช่วงฤดูฝนก็งดการให้น้ำตลอดฤดูกาล

ปุ๋ย แต่ละช่วงอายุ ให้ปุ๋ยแตกต่างกัน ตามตารางเวลา ปุ๋ยที่ใช้มี 3 ชนิด คือ ปุ๋ยอินทรีย์ ใช้อยู่ร้อยละ 30 ปุ๋ยอินทรีย์เคมี ร้อยละ 60 และปุ๋ยเคมี เพียงร้อยละ 10 ใช้เฉพาะช่วงส้มเขียวหวานก่อนออกดอกถึงก่อนเก็บผล 1 เดือน เท่านั้น

มีทุเรียน มังคุด

ดิน น้ำ ปุ๋ย มีความสำคัญมาก ต้องรู้และเข้าใจว่าทั้งต้น ใบ ดอก แต่ละช่วงอายุหรือเวลา ต้องการอะไร ขาดอะไร ต้องเติมลงไป

วัชพืช ใช้วิธีการตัดด้วยเครื่องยนต์รอบๆ แปลงปลูก จะไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า เพราะหญ้าก็มีประโยชน์ช่วยคลุมหน้าดิน ป้องกันแสงแดดจัดๆ และช่วยรักษาความชื้น

ยา/สารเคมี สำหรับ โรค/แมลง ไม่ค่อยได้ใช้ เพราะดูแลอย่างใกล้ชิด ถ้ามีหรือเมื่อพบเห็นจะใช้เพียงเท่าที่จำเป็น

การปฏิบัติเพื่อให้ส้มออกดอกอย่างมีคุณภาพ

คุณนพดล บอกถึงวิธีการปฏิบัติว่า ส้มเขียวหวานที่สวนเมื่อปีที่แล้ว คืออายุต้นได้ปีที่ 2 ก็ออกดอกและติดผลแล้ว แต่เด็ดทิ้งไปบ้าง เหลือไว้ไม่มากเพื่อจะดูผลผลิตว่า ผิว เนื้อ รสชาติ จะมีคุณภาพเพียงใด จึงถือว่าส้มเขียวหวานแปลงที่มีอายุต้น 3 ปี จะเป็นส้ม รุ่นที่ 1 โดยช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคมจากปลายฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ก็จะถึงช่วงการ “ขึ้นน้ำ” ไม่ให้น้ำเลย เพื่อให้ใบแสดงอาการเฉาจนต้นโศก จากนั้นจะให้ปุ๋ย แล้ว “ขึ้นน้ำ” ให้เต็มที่ รอเวลาสักพักก็จะออกดอก นอกจากปุ๋ยแล้วก็จะมีการให้ฮอร์โมน และป้องกันโรค/แมลง เช่น โรคราดำ เพลี้ยไฟ ทั้งนี้ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ถ้าได้ปฏิบัติตามตารางเวลา จะไม่มีอะไรมารบกวน และจะไม่พบผลส้มร่วงหล่น

นี่ลองกอง

“ส่วนเทคนิคหรือเคล็ดลับในการดูแลส้มเขียวหวานนั้น ไม่มีอะไรมาก ต้องขยันลงแปลง ดูแลรอบๆ แปลงปลูก โดยเฉพาะช่วงก่อน-หลังฝนตก ส่วนต่างๆ ของส้มทั้งดอก ใบ ผล แสดงอาการอะไรบ้าง ก็ต้องดูแลตั้งแต่ต้นส้มเขียวหวานยังเล็กๆ จนให้ผลผลิต เช่น เมื่อต้นส้มครบ 3 ปี จะทำผลต้องพร้อมในเรื่องการออกดอก การให้น้ำ ให้ปุ๋ย ยา ฮอร์โมน อย่างที่บอกตอนต้นว่า เราทำไม้ผลในลักษณะกงสี มีการปรึกษาหารือกับพี่น้องกันตลอด เรามีพี่เลี้ยง มีการเตือนภัย” คุณนพดล กล่าว

คุณนพดล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วงระหว่างที่รอผลผลิตส้ม ใช้เวลา 3 ปี จะปลูกฟักทอง แฟง แซมเก็บขายเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง และผลพลอยได้ก็คือ ทั้งเถาและใบ ช่วยคลุมหน้าดินด้วย แต่ช่วงนี้ไม่ได้ปลูกพืชแซมแล้ว เพราะต้นส้มมีทรงพุ่มที่แผ่กว้างขึ้น ปล่อยให้หญ้าขึ้นแล้วใช้เครื่องยนต์เข้าไปตัดให้สั้น เพื่อให้คลุมหน้าดิน

ผลผลิตส้มเขียวหวาน รุ่นที่ 1
จะออกสู่ตลาดเดือนพฤศจิกายน

คุณนพดล วงษ์แก้ว และครอบครัว

คุณนพดล ให้ข้อมูลว่า ส้มเขียวหวาน ในเขตอำเภอลอง จะออกสู่ตลาด 3 รุ่น รุ่นที่ 1 ระหว่างเดือนตุลาคม-มกราคม รุ่นที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และรุ่นที่ 3 เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ส่วนส้มเขียวหวานของสวนแห่งนี้ ให้ผลผลิตปีที่ 1 รุ่นที่ 1 จะเริ่มเก็บผลได้ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะเป็นรุ่นที่ให้ผลดกที่สุด และอร่อยมาก อันเนื่องมาจากปริมาณน้ำฝนลดลง แต่ดูแลยาก ถ้าดูแลไม่ดีขั้วจะเหลือง ผลร่วงหล่น ที่สำคัญถ้าผลออกช่วงนี้คาดว่าจะได้ราคาดี หรือได้ราคาที่เป็นธรรม

การดูว่าผลสุกแก่เก็บได้ ดูจากสีของผลนวล สีขึ้นกระดังงา หรือกำลังเข้าสี (สีผิวเขียว-เหลือง) รสชาติเริ่มหวาน จึงต้องเร่งเก็บผล แต่ถ้าเราไม่เก็บผล หรือปล่อยไว้บนต้นเพื่อรอดูราคา จะเกิดผลกระทบ คือมันจะคืนต้น หรือดึงต้น จากรสชาติหวานก็จะจืดชืด ฝ่อ ผลจะร่วง ยิ่งเก็บช้ายิ่งทำลายต้น ซึ่งส้มเขียวหวานก็จะให้ผลผลิตเกือบตลอดทั้งปีอยู่แล้ว จึงต้องบำรุงต้นให้ได้รับธาตุอาหาร สะสมพลังงานตลอดเพื่อคุณภาพของผลส้มในรุ่นต่อๆ ไป มิฉะนั้นต้นจะโทรม

ลักษณะเด่นของ ส้มเขียวหวาน สวนคุณนพดล

บ้านของเกษตรกรปลูกส้มเขียวหวาน

คุณนพดล แจงว่าได้ชิมรสชาติของส้มเขียวหวานเมื่อปีที่แล้ว เพื่อจะได้ชี้แจงหรือสื่อสารกับผู้ซื้อว่าส้มเขียวหวานที่นี่เป็นเช่นไร มีจุดเด่นอะไร จึงพอจะบอกได้ว่า

ผล        – กลม แป้นเล็กน้อย ก้นผลเรียบถึงเว้าเล็กน้อย ผิวผลเรียบ และผิวสีเขียวอมเหลือง

เปลือก  – ไม่หนา บางล่อน และแกะออกง่าย

เนื้อ      – เนื้อในสีส้มอมทอง เนื้อกุ้งไม่แข็ง ฉ่ำน้ำ ซังนิ่ม กลีบแยกออกจากกันง่าย

รสชาติ  – หวานเข้ม และหวานอมเปรี้ยว แล้วแต่ช่วงเวลาของแต่ละรุ่น

และที่สำคัญ เป็นส้มปลอดภัย

ผลผลิตที่คาดว่าจะได้ ในรุ่นที่ 1

ใช้รถตัดหญ้าระหว่างแถวปลูก

คุณนพดล บอกว่า ผลผลิตส้มเขียวหวานปีที่ 1 รุ่นที่ 1 อาจจะได้ผลผลิตไม่มาก แต่ก็ได้คำนวณผลผลิตไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ผลผลิตจะเป็น เบอร์ 0 ประมาณ ร้อยละ 30 เบอร์ 1 กับ 2 ประมาณ ร้อยละ 70 ปริมาณผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ คำนวณจากผลบนต้น ต้นละ 50 กิโลกรัม มีต้นส้มเขียวหวาน 750 ต้น ผลผลิตรวมราวๆ 37,500 กิโลกรัม (น้ำหนัก เบอร์ 1 จำนวน 9 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม)

ผู้เขียนตั้งคำถามว่า การที่จะเป็นเกษตรกรหนึ่งในจำนวนผู้ปลูกส้มเขียวหวาน จะสร้างชื่อเสียงให้กับส้มเขียวหวานจังหวัดแพร่กลับมาลือเลื่องดั่งเดิม และให้เกิดความยั่งยืน จะมีวิธีการใด

คุณนพดล เสนอแนวทางว่า เราจะต้องเลิกวิธีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ต้องสร้างผลผลิตให้มีรายได้ตลอดปี ไม่ควรทำตามกระแส ต้องรู้ว่าตัวตนของเราคือเกษตรกร ที่มีความรู้ในเรื่องส้มเขียวหวานอย่างลึกซึ้งหรือไม่ พื้นที่ที่ปลูกส้มเขียวหวานมีความเหมาะสมหรือไม่ ดิน-น้ำ-ปุ๋ย เป็นปัจจัยที่สำคัญ ถ้าทำสวนส้มเขียวหวานแล้ว ต้องไม่ปลูกแบบทิ้งขว้าง ต้องกล้าลงทุน แม้การลงทุนจะมีความเสี่ยง จึงต้องดูแลเอาใจใส่ อย่ารอแต่รับผลผลิตอย่างเดียว ต้องดูแลเหมือนเขาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา และถ้าจะดูแลให้ต้นส้มเขียวหวานแข็งแรง มีอายุต้นที่ยืนยาว ปราศจากโรค ต้องใช้วิธีการฝังเข็มทุกต้น จากส้มที่เล (ใกล้ตาย) ไปแล้ว อาจฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ได้ เหมือนกับที่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเขาปฏิบัติกัน

ระบบน้ำสำคัญมาก

คุณนพดล เป็นเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดในการผลิตส้มเขียวหวาน มีความตั้งใจที่จะนำจุดอ่อนปัญหาจากอดีตมาแก้ไข เพื่อให้ผลผลิตส้มเขียวหวานมีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และตั้งใจที่จะผลิตส้มเขียวหวานในจังหวัดแพร่ ให้มีชื่อเสียงไปยังทั่วทุกภาคที่ผู้ซื้อ ผู้บริโภค ได้รู้จักและยอมรับในคุณภาพ และจากการเป็นเกษตรกรที่มุ่งมั่น ทุ่มเทในการประกอบอาชีพมาตั้งแต่ต้น จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาพืชสวนของจังหวัดแพร่ เมื่อปี พ.ศ.2559 และได้รับการคัดเลือก ลำดับที่ 3 ของระดับเขต

คุณฤทัยทิพย์ จุมพิต เกษตรอำเภอลอง ได้กล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมแก่เกษตรกรผู้ปลูกส้มเขียวหวาน ในพื้นที่อำเภอลองว่า ข้อมูลจากอดีตที่พบเห็น เกษตรกรต่างก็มีพื้นที่ปลูกของตนเองมากน้อยแตกต่างกันไป ผลผลิตที่ได้ก็มีปริมาณแตกต่างกัน ต่อพื้นที่ ต่อไร่ ไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องคุณภาพ แน่นอนว่าย่อมมีความแตกต่าง ผลผลิตก็ต่างคนต่างขาย หรือถ้ามีกลุ่มผู้ซื้อจากภายนอกเข้ามาสำรวจตรวจดูผลผลิตและคุณภาพเป็นแปลงๆ ไป ก็เลือกที่จะให้ราคาตามคุณภาพที่เขาเห็นว่าสามารถจะขายผลผลิตสู่ผู้บริโภคได้โดยไม่มีข้อตำหนิ เกษตรกรจึงได้รับการดูแลเอาใจใส่ในด้านราคา และตลาดที่ไม่ต่อเนื่อง

เมื่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร มีนโยบายส่งเสริมเรื่องเกษตรแบบแปลงใหญ่ สำนักงานเกษตรอำเภอลอง ก็ได้กำหนดแนวทางในการลงไปดำเนินการ แนะนำให้มีการรวมกลุ่ม มีการถ่ายทอดความรู้ การผลิตส้มเขียวหวานให้ได้มาตรฐาน และได้ออกใบรับรอง GAP ให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการทุกแปลง เกษตรแบบแปลงใหญ่ส้มเขียวหวานอำเภอลอง ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2561 ผลก็คือ เกษตรกรรับรู้ถึงทิศทางการตลาด จนเกิดการพัฒนาคุณภาพ และปริมาณการผลิตที่คำนึงถึงความต้องการของตลาด ปัจจุบันมีแปลงใหญ่ส้มเขียวหวาน ที่ตำบลทุ่งแล้ง 1 จุด จำนวนสมาชิก 40 ราย พื้นที่ 440 ไร่

คุณฤทัยทิพย์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่เฉพาะเกษตรกรที่เป็นสมาชิกแบบแปลงใหญ่เท่านั้น สำนักงานเกษตรอำเภอลอง ก็ได้เข้าไปส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยในด้านการผลิตเพื่อให้ได้คุณภาพ และสามารถออกใบรับรอง GAP ได้ และเมื่อเขาเห็นความสำคัญของการรวมกลุ่ม ก็จะได้เข้ามาร่วมกับกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ในโอกาสต่อไป

ผู้เขียนขอสื่อสารฝากบอกถึงแหล่งรับซื้อ ที่ต้องการรับซื้อส้มเขียวหวาน ติดต่อสอบถามที่ ที่ทำการเกษตรแปลงใหญ่ส้มเขียวหวาน หรือผลไม้อื่นๆ อย่าง ลองกอง เงาะ มังคุด ส้มโอ พุทรา ติดต่อสอบถามได้ที่ ศพก. ลอง หรือสำนักงานเกษตรอำเภอลอง จะได้รับข้อมูลที่หลากหลายของผลผลิตทางการเกษตร

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2562