ส้มโอขาวน้ำผึ้งบ้านแม่ปาน แพร่ จุดเด่นในรสชาติ 3 ไม่ : ไม่เฝื่อน ไม่ขม ไม่ซ่า

“ส้มโอ” หรือ มะโอ บะโอ หม่ะโอ หม่าโอ ชื่อเรียกตามภาษาพื้นถิ่นเมืองเหนือ แต่ละจังหวัดเรียกแตกต่างกันไป ภาษาอังกฤษ เขียน pomelo ส้มโอเป็นผลไม้มงคล และเป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งนอกจากนิยมบริโภคกันแล้ว ยังนำไปประกอบพิธีกรรมที่เป็นพิธีมงคลต่างๆ รวมทั้งการบูชา และยังเก็บรักษาไว้ได้นาน

การจัดการสวนสะอาดโล่งเตียน

จังหวัดแพร่ มีเกษตรกรปลูกส้มโอทุกอำเภอ ปริมาณและคุณภาพมากน้อยแตกต่างกันไป สายพันธุ์ที่นิยมปลูกเพื่อการค้า อย่างเช่น พันธุ์ขาวใหญ่ พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง สายพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกไว้บริโภคก็มีพันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวแตงกวา เป็นต้น แต่ในพื้นที่อำเภอลอง มีปลูกกันมากราย และพื้นที่ปลูกมีมากหลายตำบล ผู้เขียนได้โฟกัสไปที่ตำบลแม่ปาน ที่มีเกษตรกรปลูกส้มโอขาวน้ำผึ้ง ได้ผลผลิตดีที่ตลาดต้องการ

กำลังเก็บผลผลิต

ส้มโอขาวน้ำผึ้ง ที่นำมาเสนอยังท่านผู้อ่านนี้ แม้จะเป็นผลไม้พื้นถิ่นของจังหวัดนครปฐม ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศตามที่ธรรมชาติบ่งชี้ แต่ส้มโอสายพันธุ์นี้ถูกนำไปปลูกได้ทุกพื้นที่ทั่วถิ่นแดนไทย ตามวัตถุประสงค์ของผู้ปลูกว่า จะปลูกไว้เป็นไม้มงคลตามบ้านเรือนและบริโภค หรือจะปลูกเพื่อการค้าอย่างเป็นระบบ อันอาจนำมาซึ่งความแตกต่างของปริมาณและคุณภาพ การตอบรับหรือปฏิเสธของผู้บริโภคก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมหลายประการ ทั้งดิน น้ำ ปุ๋ย สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ รวมถึงการดูแลเอาใจใส่

กิ่งตอนพร้อมนำลงชำในถุงดำ

คุณพิกุล ท้วมแก้ว และ คุณวิโรจน์ ท้วมแก้ว 2 สามี-ภรรยา อยู่บ้านเลขที่ 81/2 หมู่ที่ 6 บ้านแม่ปาน ตำบลแม่ปาน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ 54150 โทร. 082-180-5509 เป็นครอบครัวเกษตรกรหนึ่งเดียว และเป็นเจ้าแรกของบ้านแม่ปาน ที่ปลูกส้มโอขาวน้ำผึ้งในเชิงการค้าที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี และมีการจัดการสวนอย่างเป็นระบบ ทั้งในเรื่องน้ำ ปุ๋ย ปัจจัยต่างๆ ซึ่งเป็นแปลงตัวอย่างให้แก่เกษตรกรรายใหม่ๆ ได้เข้าไปศึกษาหาประสบการณ์ได้เป็นอย่างดี

คุณพิกุลและคุณวิโรจน์ท้วมแก้ว

สวนส้มโอขาวน้ำผึ้งของครอบครัวคุณพิกุลมีหลายแปลง แต่ละแปลงมีส้มโอที่มีอายุแตกต่างกัน แปลงที่ 1 เนื้อที่ 5 ไร่ จำนวน 70 ต้น อายุต้น 15 ปี เป็นแปลงที่รับการดูแลต่อมาจากพ่อ-แม่ แปลงที่ 2 จำนวน 100 ต้น อายุต้น 3 ปี และแปลงที่ 3 จำนวน 100 ต้น อายุต้น 2 ปี โดยต้นส้มโอขาวน้ำผึ้ง แปลงที่ 2 และ 3 กิ่งพันธุ์เป็นกิ่งตอนจากการตอนส้มโอมาจากแปลงที่ 1 ทั้งสิ้น

คุณฤทัยทิพย์จุมพิศ

เพื่อให้เห็นภาพจริงของสวนส้มโอขาวน้ำผึ้ง ผู้เขียนและคณะจากสำนักงานเกษตรอำเภอลอง ประกอบด้วย คุณฤทัยทิพย์ จุมพิศ เกษตรอำเภอลอง คุณศรีไสล อุปนันชัย เกษตรตำบลแม่ปาน  

คุณกรณ์ปารณีย์ จันทร์แก้ว เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอลอง ได้เดินทางไปด้วยกัน พื้นถิ่นโดยทั่วไปในระหว่างการเดินทาง สองข้างทางเมื่อผ่านชุมชน ก็เข้าสู่เนินเขา และที่ราบสลับเชิงเขา สลับลำธารน้ำไหล และเต็มไปด้วยแปลงเกษตร พืชพรรณทางการเกษตรที่หลากหลายของเกษตรกรบ้านแม่ปาน อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีต้นใบเขียวขจีระบัดใบเขียวงดงาม รวมทั้งไม้ผลนานาชนิด

คุณศรีไสลอุปันชัยเกษตรตำบล

คุณพิกุล และคุณวิโรจน์ ได้เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า ได้เริ่มทำเกษตรโดยปลูกส้มโอขาวน้ำผึ้งมาตั้งแต่แรกเริ่ม เมื่อปี พ.ศ. 2547 ในระยะที่ต้นส้มโอขาวน้ำผึ้งยังเล็ก ก็ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชแซมระหว่างต้นทุกรอบการผลิต แต่เมื่อต้นส้มโอขาวน้ำผึ้งอายุ 4 ปี ก็งดปลูกข้าวโพด จึงเป็นการบริหารจัดการพื้นที่เฉพาะส้มโอขาวน้ำผึ้งเพียงอย่างเดียว

ต้นส้มโอขาวน้ำผึ้งอายุ2ปี

คุณพิกุล บอกว่า “ผลผลิตส้มโอขาวน้ำผึ้งที่สวนนี้ออกสู่ตลาดตลอดปี มีผู้ซื้อเข้ามาเก็บผลเองถึง 3 แห่ง จากตลาดไท จังหวัดปทุมธานี จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ซื้อให้การยอมรับในคุณภาพของส้มโอขาวน้ำผึ้งที่สวนนี้ว่า มีรสชาติอร่อย”

ผู้เขียน จึงสอบถามถึงจุดเด่น และลักษณะที่ดีของผลผลิตส้มโอขาวน้ำผึ้ง ตามที่ผู้ซื้อกล่าวว่า รสชาติอร่อย

คุณพิกุล แจกแจงว่า

ลักษณะผล ทรงผลกลม ขนาดผลพอเหมาะ มีน้ำหนัก 1.5-2.0 กิโลกรัม

ผิว สีเขียวอมเหลือง

เปลือก เปลือกแกะออกง่าย เปลือกบางถึงหนาปานกลาง

เมล็ด เมล็ดน้อย บางผลไม่มีเมล็ด

เนื้อ เนื้อกุ้งสีคล้ายน้ำผึ้ง เนื้อกุ้งใหญ่ เนื้อแน่น-กรอบ เนื้อแห้ง ไม่ฉ่ำน้ำ แกะเนื้อออกจากเยื่อหุ้มกลีบได้ง่าย

รสชาติ รสหวานตัดด้วยรสเปรี้ยวนิดๆ และ 3 ไม่ คือ รสไม่เฝื่อน รสไม่ขม และรสไม่ซ่า

ติดผลเป็นพวง

จากการที่คุณพิกุลได้แจกแจงถึงจุดเด่นของส้มโอขาวน้ำผึ้งที่ตลาดตอบรับดี ผู้เขียนขอให้คุณพิกุลบอกเล่าถึงวิธีการปลูก การดูแล หรือปฏิบัติการในสวนส้ม เพื่อเป็นข้อมูลการนำไปปรับใช้ของเกษตรกรคนอื่นๆ ที่อาจจะมีวิธีการที่แตกต่าง ถือเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

ติดผลเป็นพวงและสมบูรณ์

วิธีการปลูก และการดูแล

ส้มโอขาวน้ำผึ้ง ช่วงปีที่ 1-4 ก่อนให้ผลผลิต

สภาพแวดล้อมของพื้นที่โดยทั่วไปของสวนและพื้นที่รอบข้าง เป็นแอ่งที่ราบระหว่างเนินเขาและมีภูเขาโอบล้อม มีลำธารไหลผ่าน พื้นที่บริเวณนี้จึงเย็นและชื้น ดินมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างร่วนซุย

เนื้อกุ้งใหญ่สีคล้ายน้ำผึ้ง

การปลูก เกษตรกรหญิงคนเก่ง บอกว่า เคยทดลองปลูก 2 วิธีการ คือ ขุดหลุม 50x50x50 เซนติเมตร (กว้างxยาวx ลึก) รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก ที่หมักจากแกลบ ขี้วัว ใบไม้แห้ง วิธีการนี้ทำในช่วงเดือนมีนาคม แล้วก็ตากแดดไว้ พอถึงเดือนพฤษภาคมมีฝนห่าแรกจึงนำกิ่งพันธุ์ที่ชำไว้ในถุงดำมาลงปลูกในดิน ผสมดินกลบโคนต้น ใช้ไม้ปัก ผูกด้วยเชือกกันโยก รดน้ำพอสมควร กับอีกวิธีการหนึ่ง ขุดหลุมรองก้นหลุมเหมือนวิธีการแรก แล้วตัดกิ่งตอนมาลงปลูกเลย ผลก็คือมีต้นตายสูงกว่าวิธีแรก

การดูแลส้มโอขาวน้ำผึ้ง ช่วงปีที่ 1-4 ก่อนให้ผลผลิต

น้ำ ให้น้ำสัปดาห์ละครั้ง ให้พอสมควรเพื่อบำรุงต้น ใช้น้ำจากการขุดสระ แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนก็ไม่ต้องให้น้ำเลยแม้แต่น้อย

ปุ๋ย ให้ทั้งปุ๋ยเคมี สูตรบำรุงต้น ใบ ราก ปุ๋ยน้ำพ่นทางใบ น้ำหมักชีวภาพ (หมักจากผลส้มโอที่ไม่ได้คุณภาพและเศษปลา) น้ำหมักจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง

ยา จะใช้ยากำจัดโรค/แมลง ก็ต่อเมื่อได้สำรวจในแปลงแล้วว่ามีการระบาดหรือไม่ แต่จะใช้ป้องกันด้วยการฉีดพ่นน้ำหมักสมุนไพรที่หมักจากก้านยาสูบ สะเดา ข่า ใบสาบเสือ บอระเพ็ด

เนื้อกุ้งใหญ่สีคล้ายน้ำผึ้งมี13กีบ

การดูแลช่วงให้ผลผลิตตลอดฤดูกาลของแต่ละปี  

คุณพิกุล บอกว่า “ส้มโอขาวน้ำผึ้งที่สวนของน้องให้ผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 4 แต่ไม่ได้เก็บผลไว้ ต้องการให้ต้นเติบโตมากยิ่งขึ้น แต่จะเก็บผลเมื่อต้นอายุปีที่ 5 ต้นที่ให้ผลผลิตในปริมาณมากๆ ก็ตั้งแต่ปีที่ 8 เป็นต้นไป และอาจจะเก็บผลได้ตลอดไปจนต้นอายุ 30 ปี การจัดการที่ดีผลผลิตก็จะดีเมื่อต้นอายุ 10 ปีขึ้นไป เคยได้ถึง ต้นละ 200 ผล ดังนั้น แต่ละปีก็มีการดูแลไม่ได้แตกต่างกัน เว้นแต่ปีใดที่มีสภาพอากาศแปรปรวนก็ยากหน่อยค่ะ”

น้ำ ต้องใช้การบริหารจัดการที่ดี นอกจากน้ำฝนแล้วก็ต้องมีน้ำสำรอง ก็ได้จากการขุดสระ เพราะต้นส้มโอขาวน้ำผึ้งต้องการน้ำในแต่ละช่วงแตกต่างกัน ทั้งช่วงก่อนผลิดอก ช่วงติดผลอ่อน ช่วงขยายผลจนถึงก่อนเก็บผล

ก่อนผลิดอก ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ จะให้น้ำสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละไม่มาก พิจารณาจากข้อบ่งชี้คือ ความชื้นของหน้าดิน

เมื่อสังเกตเห็นแน่ชัดแล้วว่าต้นส้มโอขาวน้ำผึ้งกำลังจะผลิดอก จะหยุดการให้น้ำ 15 วัน สังเกตใบจะแสดงอาการใบห่อ  และเมื่อผลิดอกแล้วจึงให้น้ำ แต่ให้ไม่มาก จนเมื่อติดผลเท่าหัวแม่มือจึงจะให้น้ำมากขึ้นอีกเล็กน้อย

ช่วงติดผลเท่าผลมะนาวและขยายผลเท่ากำปั้นจะให้น้ำปริมาณมากขึ้นและให้ปุ๋ยด้วย

ปุ๋ย แต่ละช่วงเวลาจะให้ปุ๋ยสูตรต่างๆ แตกต่างกัน เช่น ช่วงที่ต้องบำรุงต้นหลังเก็บผลหมดแล้ว ช่วงระยะสร้างดอก ระยะสร้างผลอ่อน บำรุงผล และก่อนเก็บผล ให้เพียงช่วงละ 1 ครั้ง เท่านั้น และฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพร่วมด้วย

กล่าวคือ

– เมื่อเก็บผลหมดต้น หรือเกือบหมดต้น ตัดแต่งกิ่ง จะให้ปุ๋ย สูตร 8-24-24 + สูตร 46-0-0 อัตรา 3:1

– เมื่อผลิดอกจนถึงติดผลอ่อน ให้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 และช่วงก่อนเก็บผล 1 เดือน ให้ปุ๋ย สูตร 13-13-21

โรค/แมลง โดยเฉพาะหนอนเจาะผลส้ม เมื่อพบเจอและไม่สามารถกำจัดได้ด้วยชีววิถี หรือด้วยน้ำหมักสมุนไพร จึงจะใช้ยากำจัดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่โดยทั่วๆ ไปแล้ว จะใช้วิธีการผสมผสานมากกว่าการใช้ยากำจัดเพียงอย่างเดียว

คุณพิกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า เคยดูในสื่อออนไลน์เห็นเขาใช้เกลือสมุทรมาโรยรอบๆ ทรงพุ่มของต้น ก็นำวิธีการดังกล่าวมาใช้บ้าง แต่ใช้ในปริมาณน้อย สังเกตได้ว่าเนื้อของส้มโอขาวน้ำผึ้งมีรสชาติดี ไม่ขมและแกะง่าย นี่เป็นความเชื่ออย่างหนึ่งแต่ยังไม่ได้แสวงหาคำตอบถึงเหตุและผล

การตัดแต่งกิ่ง คุณพิกุล กล่าวว่า เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับการทำสวนส้มโอ โดยที่สวนแห่งนี้เริ่มตัดแต่งกิ่งมาตั้งแต่ต้นส้มอายุได้ 1 ปี ตัดแต่งเฉพาะกิ่งที่ไม่สวย กิ่งไขว้กัน ต้องการให้ทรงพุ่มและกิ่งกระจายโดยรอบลำต้น และเพื่อให้ลำต้นสมบูรณ์ แต่จะตัดแต่งในช่วงหน้าแล้ง หน้าฝนจะไม่ตัดแต่ง เพราะน้ำจะขึ้นไปตามลำต้น ทำให้เกิดอาการแผลเน่าได้ แต่หลังการเก็บผลหมดแล้ว จะตัดแต่งกิ่ง 1 ครั้ง ตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งแก่ กิ่งที่ไขว้กัน แต่ถ้าเป็นกิ่งกระโดงหรือกิ่งที่ไม่ต้องการเพราะบังแสง จะใช้การตอนเพื่อใช้เป็นกิ่งพันธุ์นำไปขยายพันธุ์ต่อไป

ประโยชน์ จากการตัดแต่งกิ่งช่วงนี้

– แสงแดดส่องถึงโคนต้นและพื้นดิน

– ไม่มีโรค โดยเฉพาะเชื้อรา

– ผลส้มโอที่จะออกมามีรูปทรงผลสวย

การเก็บผลผลิต ผลแก่จัดเก็บได้ ดูจาก

  1. 1. ดูลักษณะภายนอก

– ดูเปลือกที่มีสีเหลืองอมเขียว

– ก้นผลจะเห็นต่อมน้ำมันห่างกันอย่างเด่นชัด ก้นผลจะมีนวล ใช้มีดกดจะนิ่ม

– นับอายุผลครบ 8 เดือน นับจากดอกส้มโอบาน

  1. ทดลองผ่าผลส้มโอดูภายใน

– เนื้อกุ้งนวลออกสีน้ำผึ้ง เนื้อล่อน แกะง่าย ไม่ฉ่ำน้ำ

– เนื้อกุ้งไม่แตกหรือแยกจากกลีบง่าย

คุณพิกุล บอกอีกว่า ถ้าเราไม่เก็บผลทั้งๆ ที่แก่จัดแล้ว แต่ปล่อยผลไว้บนต้น จะเกิดผลเสียคือ เนื้อกุ้งจะเป็นเม็ดข้าวสาร คือจะแข็ง ไม่มีรสชาติ และผลก็จะร่วงหล่น แต่ถ้าเก็บตามกำหนด แม้นำมากองกันไว้   1 หรือ 2 เดือน รสชาติก็ยังอร่อยดีอยู่

ปริมาณผลผลิตส้มโอขาวน้ำผึ้ง ส้มโอขาวน้ำผึ้งที่สวนของคุณพิกุล จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดตลอดทั้งปีมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน ช่วงเดือนพฤศจิกายนทุกๆ ปี จะให้ผลผลิตมากที่สุด แต่ปีนี้จากสภาพอากาศและเจอภัยแล้งคาดว่าจะได้ผลผลิต 6 ตัน ในช่วงเดือนมีนาคม รสชาติจะอร่อย ได้ 4 ตัน ซึ่งทุกปีก็จะได้ผลผลิตน้อยกว่าเดือนพฤศจิกายนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในเนื้อที่ 5 ไร่ จะได้ผลผลิตรวมประมาณ 12-13 ตัน หากนับผลก็จะได้ราวๆ 14,000 ผล

เมื่อสอบถามถึงเรื่องราคา คุณพิกุล บอกว่า แต่ละปีผู้ซื้อจะเข้ามาสำรวจ ประเมินผลผลิต แล้วตีราคาเหมาทั้งสวน ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายพอใจ เขาจะจัดหาคนงานเข้ามาตัดผลเอง ส่วนราคานั้นเป็นไปตามกลไกตลาด มีขึ้น-มีลง แต่ยอมรับได้ บางปีได้ราคาต่ำสุด กิโลกรัมละ 12 บาท บางปีได้สูงสุด กิโลกรัมละ 25 บาท ก็เคยมี

ผู้ซื้อที่เข้ามาตัดผลที่สวนเคยบอกว่า ส้มโอขาวน้ำผึ้งที่นี่เขาชอบ รสชาติดี ขนาดผลพอเหมาะ

เลยตั้งคำถามว่า ช่วยบอกหน่อยว่าที่ผู้ซื้อเขาพอใจและตามที่คุณพิกุลภาคภูมิใจคืออะไร คุณพิกุล กล่าวว่า ส้มโอขาวน้ำผึ้งของตนก็ดีเลิศคล้ายๆ พื้นถิ่นเดิมจะด้วยความอุดมสมบูรณ์ของดิน สภาพภูมิประเทศ สภาพอากาศก็ตามที ความอร่อย รสชาติหวานตัดด้วยเปรี้ยวนิดๆ เป็นที่ถูกใจของผู้บริโภค และก็ไม่มีโรค/แมลง ติดมากับผล จะตัดผลเมื่อมีความแก่จัดที่พอดี

จากการพูดคุยกับ คุณพิกุล และคุณวิโรจน์ ตามเนื้อความที่นำเสนอไป พอจะอนุมานได้ว่า ด้วยการปฏิบัติการดูแลสวนส้มโอขาวน้ำผึ้งตั้งแต่เริ่มปลูก จนถึงต้นโต ให้มีความสมบูรณ์ปราศจากโรค/แมลง มารบกวน ก็จะได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพสมกับที่ตลาดต้องการ แม้สวนส้มโอขาวน้ำผึ้งบ้านแม่ปานจะยังไม่เคยผ่านการประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ แต่เกษตรกรอย่างคุณพิกุลและคุณวิโรจน์ก็มีความมุ่งมั่นที่จะผลิตส้มโอขาวน้ำผึ้งสู่มือผู้บริโภคด้วยความรับผิดชอบในด้านอาหารปลอดภัย

ผู้เขียนเดินทางไปพบคุณพิกุลถึง 2 ครั้ง อีกครั้งหนึ่งไปสนทนาการทำบัญชีต้นทุนการผลิต ทั้งคุณวิโรจน์และคุณพิกุล ได้แบ่งหน้าที่กันจัดทำบัญชีต้นทุนการผลิตส้มโอ โดยคุณวิโรจน์เป็นผู้จดบันทึก คุณพิกุลเป็นผู้รับ-จ่ายเงิน และเก็บหลักฐานเพื่อใช้ลงบัญชีตัวเลข ซึ่งคุณวิโรจน์ได้นำเสนอข้อมูลผลประกอบการการผลิตส้มโอมาให้ดูด้วย ซึ่งน่าจะเป็นแบบ หรือแบบอย่างให้กับเกษตรกรทั่วไปได้ตระหนักคิด ให้รู้ตัวตนการประกอบอาชีพของตนว่าอยู่ในสถานะใด กำไรหรือขาดทุน มีกำไรแล้วจะลงทุนทำอะไรต่อ หรือถ้าขาดทุนเป็นเพราะอะไร จะปรับลดค่าใช้จ่ายใดในรอบการผลิตครั้งต่อไป

ต้นทุนการผลิตส้มโอ ระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม พ.ศ. 2562

รายได้               ปริมาณ                บาท

  1. ขายผลส้มโอ     13,000 กิโลกรัม     250,000

2. ขายกิ่งพันธุ์ส้มโอ 150 กิ่ง              9,000

3. บริโภคในครัวเรือน 52 กิโลกรัม      1,000

รวม รายได้ หักต้นทุน/ค่าใช้จ่าย

ขั้นตอนการเตรียมการผลิต      

*ค่ากิ่งพันธุ์ ไม่ได้นำมาบันทึก เพราะได้ลงปลูกเมื่อ 15 ปี ที่แล้ว

  1. ค่าวัตถุดิบในการทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ สมุนไพร – 2,555

ขั้นตอนระหว่างการผลิต

  1. ค่าแรงตนเอง 2 คน (ดูแลแปลงปลูก ตัดหญ้า จ่ายน้ำ) 200 วัน/ปี 120,000

ไม่จ้างแรงงานภายนอก

  1. ค่าน้ำมันใส่เครื่องยนต์สูบน้ำ/ตัดหญ้า/ค่าน้ำมันรถ 166 ลิตร 4,950
  2. ค่าอุปกรณ์ระบบน้ำและค่าซ่อม      –                   4,050
  3. ค่าไม้ไผ่ค้ำยันต้นส้ม 100 ลำ                              1,500
  4. ค่าปุ๋ยเคมีสูตรต่างๆ 25 กระสอบ                         14,945
  5. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ (ลูกเหม็น เชือก ขุยมะพร้าว) 2,250

ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลผลิต

  1. ค่าขุดสระน้ำ เฉลี่ยต่อรอบการผลิต 2,000

รวมต้นทุนค่าใช้จ่าย                                             152,250

กำไร (รายได้ 260,000-ค่าใช้จ่าย 152,250)                107,750

– ต้นทุน/กิโลกรัม             11.67                บาท

– ต้นทุน/ไร่                      30,450.00          บาท

– กำไร/กิโลกรัม                8.26                  บาท

– ผลตอบแทน/ไร่              21,550.00          บาท

คุณพิกุล กล่าวเสริมว่า รายได้จากภาคเกษตรไม่ได้มาจากการขายส้มโอเพียงอย่างเดียว ยังมีการขายมะนาว ข้าวโพด และผลกำไรก็นำไปใช้จ่ายในครัวเรือนได้อย่างสบายๆ ไม่เดือดร้อน ไม่มีหนี้

บทบาทสำคัญของ สำนักงานเกษตร

อำเภอลอง ในการส่งเสริมในพื้นที่

คุณศรีไสล อุปนันชัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ (เกษตรตำบล) ผู้รับผิดชอบ ตำบลแม่ปาน และ ตำบลปากกาง กล่าวว่า “พื้นที่ปลูกส้มโอของอำเภอลองนั้น ปลูกมากที่ตำบลปากกาง และตำบลแม่ปาน ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ตำบลปากกาง อาศัยแม่น้ำยมแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่วนใหญ่มักปลูกในพื้นที่บริเวณสวนหลังบ้านของตนเองจำนวนไม่มากนัก ประมาณ 4-5 ต้น ต่อครัวเรือน ไม่มีการดูแลและบำรุงผลผลิตอย่างจริงจัง มักปลูกเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน หากเหลือก็นำมาจำหน่ายภายในหมู่บ้านหรือตลาดภายในอำเภอ บางรายมีพื้นที่บริเวณท้ายสวนหลังบ้านของตนเองใกล้กับแม่น้ำยม ซึ่งพบว่าพื้นที่สวนจะมีความชุ่มชื้นส้มโอได้รับน้ำตลอดทั้งปี ส่งผลให้ส้มโอในพื้นที่ตำบลปากกาง ขึ้นชื่อด้านรสชาติที่หวาน กรอบอร่อย ส่วนเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกนอกเหนือจากพื้นที่บริเวณครัวเรือนของตนเองนั้น มีจำนวนรายละไม่มากนัก โดยรวมพื้นที่ปลูกก็จะอยู่ในเขตของพื้นที่ตำบลแม่ปานเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ การจำหน่ายก็มักจะผ่านพ่อค้าคนกลางที่ขับรถมารับซื้อภายในสวนเพื่อนำไปจำหน่ายนอกพื้นที่ พันธุ์ส่วนใหญ่ที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์ขาวแตงกวา ขาวน้ำผึ้ง และทองดี ตามลำดับ

เกษตรตำบลกล่าวถึงพื้นที่ปลูกส้มโออำเภอลองว่า “จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ตำบลแม่ปาน มีพื้นที่ปลูกมากกว่าตำบลปากกาง 2-3 เท่า โดยพื้นที่ปลูกส้มโอ ตำบลปากกาง มีประมาณ 25-30 ไร่ แต่ทั้งนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลแม่ปาน เป็นพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิและลักษณะพื้นที่เป็นดอย การปลูกจึงแตกต่างจากพื้นที่ตำบลปากกาง โดยการปลูกส้มโอของเกษตรกรตำบลแม่ปานส่วนใหญ่มักปลูกแซมกับไม้ผลยืนต้นชนิดอื่นๆ เช่น ลองกอง ลางสาด ส้มเขียวหวาน ยางพารา เป็นต้น”

แนวทางการส่งเสริมด้านการผลิตส้มโอของพื้นที่อำเภอลองนั้น สำนักงานเกษตรอำเภอลองพยายามผลักดันให้พื้นที่ตำบลปากกางและตำบลแม่ปานเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ส้มโอ แต่เนื่องด้วยเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ปลูกไม้ผลชนิดนี้เพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ปลูกเพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน และขายภายในชุมชนเท่านั้น อีกทั้งพื้นที่ปลูกในตำบลแม่ปาน เกือบร้อยละ 80 เป็นพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกตามพื้นที่ดอยหรือปลูกเพื่อเป็นพืชแซมไม้ผลและไม้ยืนต้นอื่นๆ จะมีเกษตรกรจำนวนน้อยรายเท่านั้นที่ปลูกจำหน่ายเพื่อการค้า

สำนักงานเกษตรอำเภอลอง มีความตั้งใจอยากให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอเกิดการรวมกลุ่มด้านการตลาด เนื่องจากปัจจุบันการรับซื้อส้มโอจากสวนของพ่อค้าคนกลางนั้น เจ้าของสวนส่วนใหญ่เน้นความสะดวกสบายไม่ต้องออกไปหาตลาดเพื่อจำหน่าย เนื่องจากมีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวนและเกษตรกรก็ต้องยอมรับและพอใจในระดับราคาที่ถูกรับซื้อ (กิโลกรัมละ 20 บาท) แต่ในความเป็นจริงนั้น ราคาส้มโอตามท้องตลาดนอกพื้นที่มักมีราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 50-60 บาท ซึ่งรสชาติของส้มโอเมืองลองก็ถือว่าอร่อยไม่แพ้จากแหล่งอื่นๆ เลย

นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนการปลูกพืชก็เป็นอีกทางเลือก ที่สำนักงานเกษตรอำเภอลอง เล็งเห็นว่า เกษตรกรควรตระหนักและให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปลูกส้มโอ เกษตรกรไม่ต้องลงทุนมากในระยะเวลา 3 ปี สามารถเก็บผลผลิตเพื่อจำหน่าย หากเกษตรกรมีการบริหารจัดการแปลงที่ดีนั้น จะสามารถให้ผลผลิตตลอดปี ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่สม่ำเสมอ ซึ่งต่างจากการปลูกพืชตามฤดูกาล เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ที่ต้องอาศัยน้ำฝน ปัจจุบัน เกษตรกรเสี่ยงต่อการขาดทุน เนื่องจากต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง โรคระบาด สร้างความเสียหายด้านผลผลิตเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ความมุ่งหวังที่จะพัฒนาผลผลิตเพื่อเข้าสู่มาตรฐาน GAP (Good Agriculural Practice) ปัจจุบัน มาตรฐาน GAP ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่เกษตรกรควรให้ความสนใจการปฏิบัติด้านการเกษตรที่ดี ทำให้ผลผลิตมีมาตรฐานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้รับความปลอดภัย อีกทั้งส้มโอถือเป็นไม้ผลที่ปลูกง่ายไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน หากเกษตรกรให้ความสนใจหันมาปลูกมากขึ้น และมีการจัดการที่ดี คาดว่าส้มโอเมืองลองน่าจะเป็นไม้ผลที่ได้รับมาตรฐานและเป็นผลไม้อีกชนิดที่ขึ้นชื่อของอำเภอลองได้ไม่ยาก สำนักงานเกษตรอำเภอลอง โทร. 054-581-486

เผยแพร่ครั้งแรก วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2563