กรมส่งเสริมการเกษตร เดินเต็มสูบ พุ่งเป้าช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (ซ้ายสุด) เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ฯ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง

แม้ว่าปัญหาภัยแล้งในระยะนี้จะเริ่มทุเลาลงไป เพราะฤดูฝนก้าวเข้ามาเกือบเต็มรูปแบบแล้วก็ตาม แต่ภาวะภัยแล้งก็ไม่ได้หนีหายไปจากใจของเกษตรกรแขนงต่างๆ เพราะต่างรู้กันดีอยู่แล้วว่า การทำการเกษตร หากขาดน้ำก็ไปไม่รอด ดังนั้น การแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน จึงเป็นแนวทางที่น่าจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากภัยแล้งในทุกปีได้ดีที่สุด

กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ก้าวเข้ามารับผิดชอบโดยหน้าที่ ในการแก้ปัญหาภัยแล้ง และลดผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรจากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้น

หนึ่งในหลายโครงการและมองเห็นเป็นรูปธรรมคือ โครงการอบรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งนอกจากพุ่งเป้าช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแล้ว ยังสร้างเครือข่ายการทำงานแบบมีส่วนร่วม โดยการเรียนรู้จากเกษตรกรต้นแบบในชุมชน อันจะเป็นการสร้างฐานการเรียนรู้อย่างยั่งยืน

กรมส่งเสริมการเกษตร โดย นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เล็งเห็นความสำคัญของโครงการ จึงติดตามตรวจสอบอย่างเคร่งครัด โดยการลงพื้นที่สำรวจการดำเนินโครงการถึงถิ่น ซึ่งครั้งนี้ลงพื้นที่ในจังหวัดระนอง ทั้งนี้ นายโอฬาร เปิดเผยว่า ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบเกษตรกรเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ ซึ่งนอกจากกรมส่งเสริมการเกษตรจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือแล้ว ยังส่งเสริมให้เกษตรกรมีฐานความรู้ที่เกิดจากตนเองเพื่อความยั่งยืนในการเกษตร โดยจัดอบรมภายใต้โครงการ ในหลักสูตร 90 ชั่วโมง ต่อรุ่น รวม 5 รุ่น รุ่นละ 50 ราย การอบรมแต่ละรุ่นใช้เวลา 15 วัน แบ่งเป็นการอบรม ครั้งละ 5 วัน รวม 3 ครั้ง ซึ่งจะมีเกษตรกรที่ผ่านการอบรมทั้งสิ้น 220,500 ราย โดยเกษตรกรจำนวนนี้จะสิ้นสุดการอบรมในโครงการภายในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ดักแมลงวันทอง
ภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ดักแมลงวันทอง

“การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ก็เพื่อให้เห็นกับตาว่า เกษตรกรที่ผ่านการอบรม สามารถนำไปประยุกต์ใช้และปฏิบัติได้จริงในตามวิถีชีวิตภาคเกษตรของตนเองที่ดำเนินอยู่” นายโอฬาร กล่าว และว่า การอบรมดังกล่าว เป็นการนำ “เกษตรกรต้นแบบ” มาถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ แบ่งการอบรมในแต่ละครั้งเป็นกลุ่ม ถ่ายทอดประสบการณ์จากเกษตรกรสู่เกษตรกร ดังนั้น เกษตรกรจะเข้าใจปัญหาในภาคเกษตรของกันและกันได้ดี และจะช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาด เพื่อการทำงานในภาคเกษตรที่สมบูรณ์ที่สุด

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบายเพิ่มเติมถึงการจัดกลุ่มการอบรมให้ฟังว่า การอบรมดังกล่าว จะใช้พื้นที่อบรมที่เรียกว่า ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอละ 1 ศูนย์ รวมทั้งสิ้น 882 ศูนย์ ทั่วประเทศ เป็นสถานที่หลักในการอบรม เน้นให้เกษตรกรได้องค์ความรู้แบบกึ่งปฏิบัติตามวิถีดำเนินชีวิตของเกษตรกร เรียนรู้อยู่กับพื้นที่ศูนย์และปฏิบัติจริงในพื้นที่ของเกษตรกรโดยตรง

บ่อเลี้ยงปลา ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง
บ่อเลี้ยงปลา ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

“ก่อนครบกำหนดการอบรมในสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการสำรวจเกษตรกรกลุ่มแรกๆ ที่ผ่านการอบรมไป พบว่า เกษตรกรที่ผ่านการอบรมกว่า 76 เปอร์เซ็นต์ นำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ลดต้นทุนการผลิต และประกอบอาชีพเสริม นอกจากนี้ ยังได้นำความรู้ที่ได้ไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตจากกิจกรรมเดิมไปสู่กิจกรรมใหม่ เช่น จากการทำนาปกติ ก็หันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยมากขึ้น หรือเดิมปลูกพืชเชิงเดี่ยวก็หันไปทำการเกษตรแบบผสมผสาน เป็นต้น”

สำหรับพื้นที่จังหวัดระนอง มีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จังหวัดระนอง 5 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ฯ ปาล์มน้ำมัน อำเภอเมือง ศูนย์เรียนรู้ฯ มังคุด อำเภอกระบุรี ศูนย์เรียนรู้ฯ ยางพารา อำเภอสุขสำราญ ศูนย์เรียนรู้ฯ มังคุด อำเภอละอุ่น และศูนย์เรียนรู้ฯ ปาล์มน้ำมัน อำเภอกะเปอร์

ดาบตำรวจสมนึก โมราศิลป์ เจ้าของสวนปาล์มน้ำมัน ศูนย์เรียนรู้ฯ
ดาบตำรวจสมนึก โมราศิลป์ เจ้าของสวนปาล์มน้ำมัน ศูนย์เรียนรู้ฯ

แต่ละแห่งมีจุดเด่น ให้เกษตรกรในจังหวัดได้ศึกษา เช่น ศูนย์เรียนรู้ฯ ปาล์มน้ำมัน อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยปลิง หมู่ที่ 7 ตำบลราชกรูด มี ดาบตำรวจสมนึก โมราศิลป์ เป็นเจ้าของแปลง พืชหลักของแปลงคือ ปาล์มน้ำมัน เป้าหมายเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเมือง 1,317 ราย ซึ่งการเลือกแปลงปาล์มน้ำมันของดาบตำรวจสมนึก เนื่องจากเกษตรกรตำบลราชกรูดและพื้นที่ใกล้เคียงในเขตอำเภอเมืองระนอง ปลูกปาล์มน้ำมัน ร้อยละ 80 ของพื้นที่ โดยมีพื้นที่ปลูก 22,839 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกปาล์มน้ำมัน S1 ร้อยละ 60

ส่วนปัญหาที่พบในพื้นที่ พบว่า เกษตรกรปฏิบัติดูแลรักษาสวนปาล์มน้ำมันและพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่มีไม่ถูกหลักวิชาการ มีปัจจัยการผลิตราคาสูง และดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ

การแก้ปัญหา ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับเกษตรกรได้เรียนรู้คือ การจัดการสวนปาล์มอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ การลดต้นทุนการผลิต และการเพิ่มรายได้ในสวนปาล์มน้ำมัน การปลูกผักเหลียงแซมในสวนปาล์ม การปลูกพริกไทยพุ่ม และการเลี้ยงผึ้งโพรงไทย

ฐานการเรียนรู้ มี 6 ฐาน

ฐานการเรียนรู้ที่ 1 เรื่องการจัดสวนปาล์มน้ำมันอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ หากทำได้ สิ่งที่ได้รับคือ ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการใส่ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงลงได้ ลดการสูญเสียผลผลิตปาล์ม และประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้การใส่ปุ๋ยมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ช่วยให้ปาล์มน้ำมันไม่สูงเร็วเกินไป ง่ายต่อการจัดการการเก็บเกี่ยวผลผลิต และช่วยให้สามารถเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพ สามารถจำหน่ายได้ราคาดี

การทำน้ำหมักชีวภาพใช้เอง และขาย เพิ่มรายได้
การทำน้ำหมักชีวภาพใช้เอง และขาย เพิ่มรายได้

ฐานการเรียนรู้ที่ 2 เรื่องการทำปุ๋ยหมักเพื่อการลดต้นทุนการผลิต ประโยชน์คือ ปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดินให้ดินโปร่ง ร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดีขึ้น ไม่ให้ถูกชะล้างสูญเสียไปได้ง่าย ดูดซับธาตุอาหารในดิน เป็นแหล่งธาตุอาหารพืชทั้งธาตุหลักและธาตุรอง เพิ่มความต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรด-ด่าง ของดิน และเพิ่มปริมาณและกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน แต่มีต้นทุนการผลิต อยู่ที่ 1,500 บาท ต่อตัน

ฐานการเรียนรู้ที่ 3 การปลูกผักเหลียงแซมสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งผักเหลียง เป็นพืชที่เจริญเติบโตในพื้นที่รำไร ชอบดินร่วนซุย มีความอุดมสมบูรณ์สูง และต้องเป็นพื้นที่ที่มีฝนตกชุกต่อเนื่อง ผักเหลียงจึงเหมาะสำหรับพื้นที่ภาคใต้ที่มีฝนตกชุกตลอดปี นิยมปลูกแซมสวนผลไม้ สวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน ไว้เป็นพืชเสริมรายได้ เป็นพืชผักพื้นบ้านปลอดภัยจากสารพิษ มีมากในพื้นที่จังหวัดระนอง เป็นที่นิยมบริโภค ทั้งนี้การปลูกผักเหลียง 1 ไร่ จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 800 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี

ฐานการเรียนรู้ที่ 4 การขยายพันธุ์ผักเหลียง ฐานนี้ให้ความรู้เรื่องการขยายพันธุ์ ผักเหลียงสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี คือ การเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และการใช้ต้นจากราก แขนง แต่ที่นิยม ได้แก่ การตอนกิ่ง เนื่องจากสามารถทำได้ง่าย สะดวก ได้ปริมาณมาก ใช้เวลาน้อย และเจริญเติบโตเร็ว ผลตอบแทนจากการตอนกิ่งจำหน่าย ในราคากิ่งละ 18 บาท หากชำถุงแล้ว จำหน่ายได้ในราคา ต้นละ 25-30 บาท

การเพาะเห็ด เสริมรายได้ในสวนปาล์มน้ำมัน
การเพาะเห็ด เสริมรายได้ในสวนปาล์มน้ำมัน

ฐานการเรียนรู้ที่ 5 เรื่องการเลี้ยงผึ้งโพรงในสวนปาล์มน้ำมัน ผึ้งโพรง เป็นผึ้งพื้นเมืองของประเทศไทย ในธรรมชาติจะทำรังอยู่ในโพรงไม้ โพรงดิน หรือตามฝาบ้าน ผึ้งโพรงเป็นแมลงสังคมที่อยู่เป็นครอบครัวใหญ่ แต่ละรังจะเป็นหนึ่งครอบครัว ประกอบด้วย 3 วรรณะ คือ ผึ้งนางพญา ผึ้งตัวผู้ ผึ้งงาน ออกหาอาหารในรัศมี 5 กิโลเมตร ผึ้งโพรงสามารถนำมาเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรและช่วยผสมเกสรพืช ผลตอบแทนในการเลี้ยงผึ้งโพรงในสวนปาล์มน้ำมัน จะมีผลตอบแทนในพื้นที่รวมประมาณ 1 ไร่ สามารถเลี้ยงผึ้งได้ 20-30 รัง ปริมาณน้ำผึ้ง 3-5 กิโลกรัม ต่อรัง ต่อครั้ง และมูลค่าน้ำผึ้ง 1,000-1,700 บาท ต่อรัง ต่อครั้ง

ฐานการเรียนรู้ที่ 6 เรื่องการใช้รถไถขนาดเล็กตัดหญ้า หรือใส่ปุ๋ยลดค่าใช้จ่ายในสวนปาล์มน้ำมัน พบว่าแรงงานภาคการเกษตรนับวันหายากมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่มีอยู่ในวัยทำงาน คงมีแต่แรงงานสูงวัย ซึ่งสร้างปัญหาแก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน จึงจำเป็นต้องใช้แรงงานพม่าในการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการทำสวนแทนแรงงานไทย ซึ่งมีปัญหาด้านการสื่อสาร จากปัญหาด้านการสื่อสารและปัญหาด้านแรงงานดังกล่าว ทำให้ดาบตำรวจสมนึก มีแนวคิดลดปัญหาด้านแรงงาน โดยการจัดหารถไถขนาดเล็ก ซึ่งมีอุปกรณ์ในการตัดหญ้าและใส่ปุ๋ย ในราคา 3 แสนบาทเศษ มาใช้ในการจัดการสวนปาล์มน้ำมัน 100 ไร่ มาเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว

 

ทั้งหมดเป็นตัวอย่างศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า เป็นโครงการที่ทำให้เกษตรกรและชุมชนมีส่วนร่วมในการเสนอแผนและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้กับคนในชุมชนได้อย่างแท้จริง