ผักหวานป่า ผักพื้นบ้าน คุณค่าทางอาหารสูง

ผักหวานป่า ถือเป็นผักพื้นบ้านอีกชนิดที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ไม่ว่าโปรตีน วิตามินซี และพลังงาน โดยยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อน ของผักหวาน เป็นส่วนที่นิยมนำมาปรุงเป็นอาหารได้ทั้ง นำมาต้ม ลวก นึ่ง หรือปรุงเป็นอาหารต่างๆ เช่น ผัดกับน้ำมัน แกงเลียง แกงอ่อม แกงกับไข่มดแดง แกงกับปลา แกงกะทิสด ยำ เป็นต้น

นอกจากรสชาติที่อร่อย ยังเป็นพืชพันธุ์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นฤดูที่ราคาจำหน่ายจะสูงมาก

ทั้งนี้ มีเคล็ดลับการปลูกผักหวานป่า ที่จะทำให้ให้รอดตายและเจริญเติบโตเร็ว คือเริ่มจากการเตรียมหลุมปลูกและปรับปรุงดินปลูกให้ร่วนซุย นอกจากนี้ ยังเตรียมต้นกล้าที่สมบูรณ์ และกรีดถุงต้นกล้าลงหลุม ระวังอย่าให้ตุ้มดินแตกเละ แปลงปลูกต้องมีพืชร่มเงาให้แสงแดดรำไร รวมถึงในช่วงช่วงแล้งปีที่ 1 และ 2 อย่าให้ต้นผักหวานป่าขาดน้ำและร่มเงา โดยเมื่อพ้นแล้งที่ 2 จะสังเกตเห็นต้นผักหวานป่าเติบโตได้เร็ว

การปลูก จะเริ่มเตรียมหลุมปลูกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม

ขุดหลุม ขนาด 30x30x30 เซนติเมตร ผสมวัสดุปลูกโดยใช้ดิน ปุ๋ยคอก แกลบดิบที่ย่อยสลายแล้ว อัตราส่วน 1:1:1 ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วกลบลงในหลุมปลูก

การเตรียมวัสดุปลูกที่ดีจะทำให้ต้นผักหวานป่าเจริญเติบโตได้เร็ว ระยะปลูกสามารถปลูกได้หลายระยะ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปลูก ได้ตั้งแต่ 1×1 เมตร หรือ 1.5×1.5 เมตร ซึ่งเป็นการปลูกระยะชิดเพื่อเพิ่มจำนวนต้น ควรมีการตัดแต่งกิ่งไม่ให้ต้นสูงและสร้างทรงพุ่มให้เล็ก เพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยว หรือจะปลูกแซมพืชเติมในสวนก็ได้

การปลูกผักหวานป่า ข้อควรระวัง อย่าให้รากของผักหวานป่าได้รับการกระทบกระเทือนจนรากขาด ถ้านำออกจากถุงระวังอย่าให้ดินแตก เพราะจะทำให้ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโต

ทั้งนี้ ควรปลูกให้ต้นกล้าสูงกว่าปากหลุม ประมาณ 5 เซนติเมตร พูนดินขึ้นกลบโคนโดยรอบ และต้องปลูกไม้ให้ร่มเงา เพราะนิสัยผักหวานป่าจะชอบแสงแดดรำไร ต้นไม้ให้ร่มเงา เช่น มะขามเทศ สะเดา แค ตะขบ และน้อยหน่า เป็นต้น

การให้น้ำ และการให้ปุ๋ย ผักหวานป่า ในช่วงฤดูแล้งให้น้ำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง พอดินชื้น อย่าให้ต้นผักหวานป่าขาดน้ำจนยอดแห้งและใบร่วง จะทำให้ต้นผักหวานป่าชะงักการเจริญเติบโต

สำหรับการใส่ปุ๋ย หลังปลูกผักหวานป่าได้ 3-4 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อต้น ห่างจากโคนต้นประมาณ 10-15 เซนติเมตร โรยทับด้วยปุ๋ยคอกแล้วกลบดิน

ในช่วงปีแรกให้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ร่วมกับปุ๋ยคอก 4 เดือน ต่อครั้ง ปริมาณปุ๋ยเพิ่มตามขนาดต้น

ในปีที่ 2 ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง คือช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน และปลายฤดูฝนประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ประมาณ 1 กำมือ ต่อต้น โรยทับด้วยปุ๋ยคอก 1-3 บุ้งกี๋ ต่อต้น ความสูงของต้นเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร

เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ เคยนำเสนอเทคนิคการทำผักหวานป่านอกฤดูของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตร จังหวัดนครราชสีมา (พืชสวน) ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผู้สนใจ เพราะหากสามารถทำให้ผักหวานป่าที่ออกก่อนฤดูกาล คือช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม จะได้ราคาเฉลี่ย 200-250 บาท ต่อกิโลกรัม และทำนอกฤดูในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม

เทคนิคที่แนะนำคือ ให้ตัดแต่งกิ่งผักหวานป่าทั้งต้นเพื่อเป็นการกระตุ้น และรูดใบแก่บนต้นออกเกือบหมด อาจเหลือติดกิ่งไว้บ้างเล็กน้อย กิ่งที่รูดใบออกหักกิ่งให้เหลือความยาวประมาณครึ่งหนึ่ง ถ้าเหลือกิ่งไว้ยาวจะได้ยอดไม่สวย ยอดไม่อวบ และออกยอดได้น้อย

หลังตัดแต่งกิ่งเสร็จควรให้น้ำบ่อยครั้งขึ้น เพื่อกระตุ้นการเกิดยอด และก่อนบังคับให้ออกยอด ควรใส่ปุ๋ยคอกบำรุงต้นก่อน เพื่อให้ต้นสมบูรณ์ ประมาณ 25-30 วัน ผักหวานป่าก็จะมียอดให้เก็บ ถ้าอากาศหนาวเย็นผักหวานป่าจะออกยอดช้าลง เมื่อผักหวานป่าหมดยอดแล้วก็พักต้นโดยให้น้ำและปุ๋ยบำรุงต้น

นอกจากนี้ ยังมีการใส่ปุ๋ยปลายฤดูฝนอีกครั้งเพื่อให้ต้นได้สะสมอาหาร จากนั้นจะตัดแต่งกิ่งและรูดใบในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน และต้นผักหวานป่าจะแตกยอดให้เก็บตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน หลังจากนั้นจะพักต้นโดยการใส่ปุ๋ยและให้น้ำ

ส่วนการกระตุ้นยอดอ่อน และการเก็บเกี่ยว เมื่อต้นผักหวานป่าเจริญเติบโตเต็มที่ เริ่มตัดแต่งกิ่งโดยหักปลายกิ่งแขนงทิ้ง ให้เหลือยาว 15-20 เซนติเมตร รูดใบแก่บางส่วนทิ้งให้เหลือติดกิ่ง กิ่งละ 3-4 ใบ พร้อมๆ กับการให้น้ำพอดินชื้น เมื่อยอดแตกออกมายาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ก็เก็บยอดไปจำหน่ายได้

เมื่อผักหวานป่าหมดยอดแล้ว ให้ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ประมาณ 1-2 กำมือ ต่อต้น ขึ้นอยู่กับขนาดของต้นผักหวานป่า ควบคู่กับปุ๋ยคอก 1-3 บุ้งกี๋ พร้อมกับให้น้ำเพื่อบำรุงต้นและพักต้น

ส่วนใหญ่เกษตรกรจะเก็บยอดผักหวานในช่วงเช้าๆ ของทุกวัน และจะหยุดเก็บก่อนจะถึงเวลาเที่ยงวัน เพราะอากาศร้อนยอดผักหวานป่าจะงอไม่สดชื่น การเก็บยอดจะเอามือเด็ดยอดอ่อน จะเลือกเอายอดที่ยาวประมาณสัก 1 คืบมือ ตอนเก็บยอดจะมีการตัดแต่งกิ่งไปในตัวเลย คือยอดที่แก่เราก็จะหักปลายยอดทิ้งเข้าไปสัก 1 คืบ โดยการหักยอดดังกล่าวจะเป็นการช่วยกระตุ้นกิ่งดังกล่าวให้แตกยอดออกมาใหม่ ถ้าต้นไหนสูงมากๆ ใช้มีดฟันเลย แต่จะไม่ใช้กรรไกรตัดกิ่งนะ เพราะใช้กรรไกรแล้วมันไม่แตกยอด

ยอดผักหวานอ่อนที่ปลูกและดูแล จึงเป็นอีกหนึ่งความสุขที่เกิดขึ้นได้ไม่ยากในสวนหลังบ้านของทุกท่าน…

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563