ทำเกษตรกรรมผสมผสาน ใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ ทั้งปลูกผักเลี้ยงสัตว์ สร้างรายได้งาม

คุณอรสา งามนิยม หรือ คุณเล็ก กับคู่ชีวิต

พื้นที่ในกรุงเทพมหานครด้านชานเมือง ยังมีพื้นที่อีกมากมายในการทำการเกษตรกรรม การทำเกษตรชานเมืองกรุงเทพฯ ได้เปรียบกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อ การนำผลผลิตจากแปลงมาสู่ผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องง่ายและใช้ระยะเวลาสั้น ผลผลิตที่ได้จึงสดใหม่ แต่เมื่อเทียบกับประชากรและนำสู่ตลาดขายส่งขนาดใหญ่ 2-3 แหล่ง ในกรุงเทพมหานครกลับมีปริมาณน้อยมาก

กรุงเทพมหานคร เป็นองค์กรท้องถิ่นภาครัฐที่มีขนาดใหญ่และจัดตั้งมานาน บวกกับงบประมาณอีกมหาศาล เพียงพอที่จะดูแลทุกๆ ด้าน แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายเกษตรกลับเป็นแค่ส่วนหนึ่งของฝ่ายพัฒนาสังคมฯ ซึ่งเน้นทางด้านสังคมมากกว่า อาจจะเป็นเพราะงานด้านเกษตรเมื่อเทียบกับงานส่วนอื่นแล้วด้อยกว่า งบประมาณ ปี 2559 มีงบฯ เพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมแค่ 9 ล้านกว่าๆ เท่านั้น

รำอินทรีย์ของกลุ่ม
รำอินทรีย์ของกลุ่ม

การเลี้ยงสัตว์ร่วมกันเพื่อเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันมีการทำกันมานานแล้ว ในบางประเทศก็มีการเลี้ยงสัตว์บกกับสัตว์น้ำคู่กันไปอย่างนี้เช่นกัน เพราะถือว่าเป็นการเกษตรที่ให้ผลผลิตสูง เนื่องจากมีการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน

คุณอรสา งามนิยม หรือ คุณเล็ก กับสามี คุณไพบูลย์ หาคลัง โทรศัพท์ (096) 813-6717 เป็นเกษตรกรชาวแบนชะโดคู้ซ้าย แขวงทรายกองดิน ในเขตคลองสามวา กรุงเทพฯ นี่เอง ครอบครัวมีอาชีพทำนาข้าวเป็นหลัก แต่ก็ได้เลี้ยงปลาเบญจพรรณในบ่อขนาด 7 ไร่ หลายบ่อ รวมกันบนพื้นที่ 67 ไร่ ในเขตคลองสามวา นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงไก่ไข่บนบ่อปลา และเลี้ยงกบเสริมอีกด้วย นอกจากการเลี้ยงสัตว์แล้ว บริเวณขอบบ่อได้ปลูกผักสารพัดชนิด คุณเล็ก บอกว่า “การเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ และเลี้ยงกบ เป็นการใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ น้ำในบ่อที่เก็บกักไว้นอกจากใช้เลี้ยงปลาแล้วยังนำมารดพืชผักที่ปลูกข้างขอบบ่อได้อีก มูลของไก่กลายเป็นอาหารปลา มูลของปลาที่อยู่ก้นบ่อ เมื่อลอกขึ้นมาก็เป็นปุ๋ยสำหรับปลูกผัก เศษผักหลังจากการตัดแต่งก็สามารถนำมาเป็นอาหารปลาได้อีก โดยทุกอย่างจะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน”

 

เลี้ยงปลาเบญจพรรณ

บ่อปลาของคุณเล็ก แบ่งเป็น 8 บ่อ โดยมีบ่อขนาด 9 ไร่ จำนวน 4 บ่อ ขนาด 2 ไร่ จำนวน 4 บ่อ และบ่อเก็บน้ำอีก 2 บ่อ รวมกัน 20 ไร่ เมื่อปีที่ผ่านมาต้นเดือนมีนาคมได้ลงลูกปลาไป 2 บ่อ คือบ่อขนาด 9 ไร่ 2 บ่อ รวมกันเป็น 18 ไร่ ปลาที่ลงเป็นปลาเบญจพรรณเฉพาะปลากินพืช โดยมี ปลานิล 100,000 ตัว ปลาตะเพียน 20,000 ปลายี่สก 10,000 ปลาจีน 10,000 และปลานวลจันทร์อีกเล็กน้อย ลูกปลาดังกล่าวซื้อมาจากจังหวัดฉะเชิงเทรา ในราคาตัวละ 30 สตางค์ มาอนุบาลในกระชัง ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนกว่าๆ ในช่วงแรกจะให้อาหารเป็นรำละเอียดเพียงอย่างเดียว ในราคากิโลกรัมละ 8.50 บาท ซึ่งซื้อมาจากโรงสีชุมชนในกลุ่มคลองเก้า และโรงสีชุมชนกลุ่มวัดสุขใจในราคาสมาชิก

เศษเบเกอร์ให้อาหารปลา
เศษเบเกอร์ให้อาหารปลา

ก่อนจะนำลูกปลามาปล่อยในบ่อ ก็จะตากดินในบ่อให้แห้ง โดยหว่านปูนมาร์ลกับปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อโรคและปรับความเป็นกรดเป็นด่าง แต่จะไม่ได้วัดค่า พีเอช คุณเล็กจะอาศัยประสบการณ์จากการดูน้ำให้เริ่มเป็นสีเขียวอ่อนๆ ก็จะปล่อยลูกปลา ซึ่งลูกปลาที่ปล่อยจะมีขนาด 30 ตัวกิโล หรือตัวยาวประมาณ 3 นิ้ว อาหารที่ให้ในช่วงนี้จะเป็นรำกับปลายข้าวจากโรงสีชุมชนฯ และหญ้าขนที่ปลูกไว้ข้างบ่อมาหั่นและต้มรวมกันนำมาใส่ยอขนาดเล็กหย่อนไว้ในบ่อ บ่อละ 3 จุด ให้วันละ 2 เวลา เช้าและเย็น เพราะถ้าให้ครั้งเดียวปลาบางตัวจะกินมากจนท้องอืดตาย ถ้าในช่วงไหนอาหารยังไม่หมดก็จะลดปริมาณลง ส่วนเศษผักก็จะได้จากตลาดสดอภัยมิตรใกล้บ้าน และเศษผักที่ปลูกเองด้วย โดยหว่านสดๆ ลงไปเลย เมื่อปล่อยปลาลงบ่อใหญ่ก็จะนำก้อนฟางไปปักกับไม้ไผ่ไว้ในน้ำ จุดละ 3 ก้อน ทั้งหมด 3 จุด วิธีนี้จะเกิดไรจำนวนมากเป็นอาหารปลา ช่วยประหยัดค่าอาหารไปได้ส่วนหนึ่ง ก้อนฟางนี้จะอยู่ได้ประมาณ 3 เดือน ก็จะผุจนหมด จึงจะทำก้อนฟางขึ้นมาใหม่อีก

ปลาที่ปล่อยในปี 58 ที่ผ่านมา คุณเล็กได้จับเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้เอง ปลานิลของบ่อมีขนาดกลาง ได้ราคากิโลกรัมละ 23 บาท ปลายี่สกขนาดตัวละครึ่งกิโลกรัม ราคา 22 บาท ปลาจีนขนาด 8 ขีด ถึง 1 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 25 บาท ปลาตะเพียนขนาด 5 ตัวกิโล ราคากิโลกรัมละ 34 บาท รวมน้ำหนักได้ประมาณ 16 ตัน ได้เงินเกือบ 2 แสนบาท หักค่าต้นทุนไม่กี่หมื่นบาท

 

เลี้ยงไก่ บนบ่อปลา

เล้าไก่บนบ่อปลา
เล้าไก่บนบ่อปลา

การเลี้ยงไก่บนบ่อปลานี้ นอกจากมูลที่ไก่ถ่ายลงไปจะเป็นการเพิ่มอาหารให้ปลาแล้ว เรายังได้ไข่ไก่ที่นำมาจำหน่ายได้ทุกๆ วันอีกด้วย ลูกไก่อายุ 1 วัน คุณเล็กได้ลูกไก่ไข่จากการสนับสนุนของกรมปศุสัตว์ จำนวน 1,500 ตัว มอบให้แก่สมาชิก จำนวน 12 คน แต่ไม่ได้แบ่งเท่าๆ กัน เนื่องจากติดขัดเรื่องปัญหาสถานที่ จึงต้องแบ่งไปตามความประสงค์ของสมาชิก สมาชิกแบ่งไป จำนวน 700 ตัว คุณเล็กเหลือไว้ 600 ตัว เลี้ยงเอาไว้จนกระทั่ง อายุ 4 เดือนกว่า ไก่ก็เริ่มไข่ แต่จากจำนวน 600 ตัว เหลือเพียง 400 กว่าตัว ซึ่งถือว่าเก่งมากสำหรับมือใหม่ที่ยังไม่เคยเลี้ยงไก่เลย ต่อมาสมาชิกได้มาขอแบ่งไก่ใหญ่ไปอีก จนปัจจุบันเหลือเพียง 100 กว่าตัว ในช่วงที่ไปสัมภาษณ์คุณเล็ก พอดี รศ. กษิดิศ อื้อเชี่ยวชาญกิจ อดีตอาจารย์คณะเกษตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ที่สอนเกี่ยวกับเกษตรยั่งยืนไปด้วย จึงแนะนำให้คุณเล็กใช้อาหารไก่สูตรหยวกกล้วย เพื่อลดต้นทุน คือนำต้นกล้วยมาหั่นละเอียดขนาดเม็ดถั่วลิสง ซึ่งไก่สามารถจิกกินได้หมักกับกากน้ำตาลพอหมาดๆ ประมาณ 7 วัน แล้วนำมาคลุกกับรำอีกทีเพื่อเป็นการเสริม สรุปการให้อาหารของคุณเล็กคือ ตอนเช้า ให้อาหารสำเร็จรูปสำหรับไก่ไข่ ประมาณครึ่งถังดำที่ใช้หิ้ว ตอนเที่ยงเสริมหยวกกล้วยจำนวนครึ่งถังเช่นกัน ตอนเย็นใช้หญ้าขน ใบกระถิน และเศษผักที่เหลือขายมาหั่นขนาดเล็กผสมกับอาหารไก่ไข่ ส่วนน้ำให้เช้า-เย็น โดยจะใช้ฟ้าทลายโจรและขมิ้นชันสลับกัน และทุกครั้งที่ให้น้ำจะเทน้ำทิ้งและทำความสะอาดก่อนทุกครั้ง การดูแลอย่างใกล้ชิดและให้อาหารแบบธรรมชาตินี้ในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา อุณหภูมิสูงกว่า 42 องศา ไก่ไข่ของสมาชิกเสียหายกันไปจำนวนคนละ 30-40 ตัว แต่ไก่ไข่ของคุณเล็กไม่เสียหายเลย แต่ปริมาณไข่ลดลง ประมาณ 10% ปัจจุบัน อายุไก่ไข่เกือบ 2 ปีแล้ว แต่การกินอาหารแบบธรรมชาติจะสามารถยืดอายุไข่ได้ถึง 3 ปี ซึ่งนานกว่าเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปอย่างเดียว

 

ไข่ไก่อารมณ์ดี
ไข่ไก่อารมณ์ดี

เลี้ยงกบ ในกระชัง

อ้วนน่าหม่ำ
อ้วนน่าหม่ำ

ในอดีตจากที่เคยไล่จับกบนานำมาเลี้ยง ก็พอมีประสบการณ์บ้าง หลังจากไปดูงานจากเขาหินซ้อนก็เลยคิดอยากเลี้ยงกบ จึงสั่งซื้อมาจากแปดริ้ว ในช่วงแรกให้อาหารปลาดุกเล็กตอนเช้าและเย็น ต่อมาพอกบเริ่มโต ก็จะแบ่งกระชังเป็น 3 กระชัง โดยจะแยกกบเล็กสุดไว้ต่างหาก และกบที่โตกว่าก็จะแยกอีกกระชังหนึ่ง ทำให้กบไม่กินกันเปอร์เซ็นต์รอดมีมากกว่า ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ก็สามารถจับกบขายได้แล้ว ในช่วงกบโตตอนเช้าจะให้อาหารปลาดุกใหญ่ ส่วนช่วงบ่ายจะให้อาหารเสริมที่ทำขึ้นเอง โดยมีปลาป่น 1 ถ้วย ปลาป่นที่ว่าคือปลาเล็กปลาน้อยในบ่อของตัวเองตากให้แห้ง น้ำมันพืช 1 ถ้วย รำละเอียด 2 กิโลกรัม กล้วยครึ่งหวี หรือมะละกอสุก 1 ลูก หั่นเป็นชิ้นแล้วนำมาบดรวมกัน อัดออกมาเป็นเส้น นำมาตากให้แห้งก็จะเป็นท่อนเล็กๆ เหมือนอาหารสัตว์ ใส่ขมิ้นชันหรือฟ้าทลายโจรลงไปเล็กน้อย ทำคราวละไม่มาก จะกินได้ประมาณ 2 วัน แล้วค่อยทำใหม่ เพื่อให้อาหารใหม่อยู่เสมอ กบจะสุขภาพแข็งแรง

 

ปลูกผัก ตามขอบบ่อ

ผักที่ปลูกตามขอบบ่อที่มีคือ คะน้า กวางตุ้ง มะเขือ พริก แค ผักหวานบ้าน สลิด ชะอม มะม่วงหิมพานต์ มะตูมแขก มันปู ชะมวง สามารถเก็บขายได้ที่บ้านทุกวันเป็นรายได้เสริม ส่วนวันจันทร์กับวันศุกร์ก็จะนำผลิตผลทั้งหมดไปขาย ที่สำนักงานเขตคลองสามวา รายได้ต่อครั้ง ประมาณ 3,000-4,000 บาท ไม่รวมกับจำหน่ายที่บ้าน

ผักหวานบนขอบบ่อ
ผักหวานบนขอบบ่อ

การทำเกษตรแบบผสมผสานเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยก่อนจะกลายมาเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวในปัจจุบัน สมัยที่การคมนาคมไม่สะดวกยากแก่การซื้อหาของอุปโภคบริโภคจึงทำให้แต่ละครัวเรือนจะต้องปลูกพืชผักทุกอย่างที่กินโดยไม่ต้องรอซื้อหา เราจึงสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อย่างเต็มที่ บนพื้นดินปลูกไม้ใหญ่สำหรับใช้สอยและกินผล รวมถึงการปลูกผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ เศษพืชผักใช้เลี้ยงสัตว์ ประโยชน์จากมูลสัตว์นำมาเป็นอาหารสัตว์น้ำและเป็นปุ๋ยสำหรับพืชต่อไป เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการผลิตและเป็นการเพิ่มรายได้ไปในตัว นอกจากนำมาบริโภคภายในครัวเรือนแล้ว ที่เหลือก็ยังสามารถจำหน่ายได้อีกด้วย

การผลิตวิธีนี้จะช่วยลดอัตราเสี่ยงในการทำการเกษตรได้ดี เพราะก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียน ด้วยการพึ่งพาระหว่างกัน ไม่เหมือนกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งต้องซื้อปัจจัยการผลิตทั้งหมด