เอกชนภาคตะวันตก เร่งศึกษาเตรียมแปรรูปไผ่ หวังสร้างอาชีพเกษตรกร อนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

ต่อไปที่นี่จะเต็มไปด้วยองค์ความรู้เรื่องไผ่

เดิมทีการเรียนรู้เรื่องของพืชพรรณ อาจจะช้าแต่ก็สนุกสนาน ยกตัวอย่างก่อนหน้านี้มี “ชมรมรักษ์กล้วย” จุดกำเนิดมาจาก คุณสมรรถชัย ฉัตราคม อดีตข้าราชการกรมส่งเสริมการเกษตร ปัจจุบันเกษียณจากราชการแล้ว สมาชิกมีการพบปะกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลไปจนถึงต้นพันธุ์ ถึงแม้สมาชิกชมรมจะแยกย้าย แต่ก็ได้ให้สิ่งดีๆ ไว้กับวงการมากมาย โดยเฉพาะพันธุ์กล้วย พบว่ามีมากกว่า 200 พันธุ์

ในยุคดิจิตอล การเรียนรู้เรื่องของพืชพรรณทำได้เร็ว มีการตั้งกลุ่มในรูปแบบของเพจ เฟซบุ๊ก และไลน์ แยกเป็นพืชแต่ละตัวชัดเจน เช่น กลุ่มอนุรักษ์ทุเรียน กลุ่มไม้โตเร็ว กลุ่มเกษตรพอเพียง กลุ่มผู้ผลิตมะม่วง นอกจากข้อมูลข่าวสารแล้ว พันธุ์พืชกระจายตัวเร็วมาก เพราะระบบการขนส่งทั่วถึง อย่างเกษตรกรที่เชียงใหม่ อยากได้ยอดมะม่วงจากนนทบุรีไปเปลี่ยนพันธุ์ เพียง 2 วันก็ทำได้แล้ว การซื้อการขายก็สะดวกกว่าเก่าก่อนมากๆ

กลุ่ม Western bamboo park ก่อตั้งขึ้นมา โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี สาเหตุที่ใช้จังหวัดนี้เป็นศูนย์กลางนั้น จังหวัดกาญจนบุรี มีชื่อเสียงเรื่องไผ่มานาน ที่นี่มีการตัดลำไผ่มาอบส่งต่างประเทศ ชนิดและพันธุ์ไผ่หายากก็มีไม่น้อย ยกตัวอย่าง ไผ่มันหมู เป็นไผ่พันธุ์เดียว ที่ข้อด้านในทะลุเป็นรูตั้งแต่โคนถึงปลายลำ ใครที่ไปเที่ยวเมืองกาญจน์ ไม่ว่าแควน้อยหรือแควใหญ่ จะเห็นกอไผ่ขึ้นอยู่ริมน้ำสองฝั่ง พร้อมกับน้ำใสๆ ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นในจังหวัดอื่น

คุณมานิจ สุขีวงศ์

เมื่อไม่นานมานี้ คุณมานิจ สุขีวงศ์ นักวิชาการเกษตร อดีตข้าราชการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งอยู่คู่กับสวนแสนปาล์มมานาน ได้ชวนให้ไปพูดคุยกับเอกชน ซึ่งสนใจงานแปรรูปไผ่…คุณมานิจ เกษียณจากงานประจำแล้ว ปัจจุบันทำสวนผสมผสานได้อย่างลงตัว ที่ผ่านมา หากใครรู้จักสวนแสนปาล์ม ต้องรู้จักคุณมานิจ เพราะท่านเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกและเป็นผู้รู้จริงเรื่องปาล์มประดับ เพียงแต่เอ่ยชื่อปาล์มเป็นภาษาไทย คุณมานิจจะพูดชื่อวิทยาศาสตร์ปาล์มชนิดนั้นขึ้นมาทันที

คุณมานิจเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Western bamboo park

รอเวลาที่เหมาะสมอยู่นาน จึงได้ไปพูดคุยกับ คุณสโรจ ลาวัณย์วิสุทธิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัทลาวัณย์วิสุทธิ์พลาสติกไทย จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนมาลัยแมน บ้านมะขามเด่น ตำบลห้วยม่วง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

ก่อนที่จะขึ้นไปพบกับคุณสโรจ เพื่อสัมภาษณ์ เห็นกอไผ่รวกขึ้นอยู่รอบโรงงานเต็มไปหมด คุณมานิจที่ร่วมเดินทางไปบอกว่า ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่แล้วที่ชอบไผ่ จึงปลูกไว้รอบๆ อาคารจำนวนมาก ปลูกมาหลายสิบปีแล้ว

คุณสโรจ ลาวัณย์วิสุทธิ์

คุณสโรจ เล่าว่า ทางบริษัทได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลาสติกมานาน ระยะหลังได้มีการพูดถึงพลาสติกกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น ทางบริษัทจึงต้องศึกษาและปรับตัว เพื่อนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาปรับใช้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องสร้างงานทำเงินให้กับคนในชุมชน อันดับแรกจึงมองไปที่กาบไผ่ เพื่อนำมาแปรรูปเป็นภาชนะใส่อาหาร โดยนำมาขึ้นรูปเป็นจาน ชาม ขณะเดียวกัน พี่ชายของคุณสโรจ มีตำแหน่งเป็นกำนันตำบลห้วยม่วง ซึ่งคลุกคลีอยู่กับชาวบ้าน หากมีการจัดการที่เหมาะสม สามารถที่จะให้ชาวบ้านสร้างงานบางขั้นตอนให้ได้ แต่ที่แน่นอนที่สุดคือ ปลูกไผ่เพื่อเป็นวัตถุดิบ

คุณสโรจ เล่าว่า ไผ่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่หน่อ ไปจนถึงลำ ดังนั้น จึงมีการศึกษาการแปรรูป โดยใช้เครื่องจักร

“ห่างจากที่นี่ไม่ไกลนัก บริษัทมีที่อยู่ 6 ไร่ ตอนนี้เริ่มปลูกไผ่ ปลูกพืชผักอินทรีย์ จะตั้งชื่อว่า…สวนกอไผ่…จะเปิดตัวเดือนมกราคม 2564 ที่สวนจะปลูกไผ่เป็นแปลงเรียนรู้…ที่ภาคตะวันตก อย่างกาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี ปลูกพืชล้มลุกคือ อ้อย ยูคาลิปตัส หากเป็นไปได้ หากมาปลูกไผ่ก็จะมีความยั่งยืน ตอนนี้รวบรวมข้อมูลอยู่ อาจจะมีการพูดคุยกัน ซึ่งพบว่าตอนนี้เกษตรกรบางคนมีไผ่อยู่ 4,000 กอพร้อมตัด” คุณคุณสโรจ บอก

ไผ่ซางหม่น ภาพจาก Western bamboo park

คุณมานิจ บอกว่า ตนเองเข้าให้คำแนะนำที่สวนกอไผ่ ในฐานะที่ปรึกษา สวนกอไผ่อยู่ห่างจากกำแพงแสน มุ่งหน้าไปทางสุพรรณบุรีราว 14 กิโลเมตร อยู่ขวามือ ขณะนี้กำลังพัฒนาพื้นที่ โอกาสต่อไปที่นี่จะมีองค์ความรู้เรื่องไผ่ สำหรับไผ่ที่ทางคุณสโรจมุ่งมั่นที่จะนำมาแปรรูป คือไผ่ซางหม่น ปัจจุบันมีปลูกอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันตกพอสมควร ในอนาคต หากมีการรับซื้อมาแปรรูป คงซื้อในท้องถิ่น 3-4 จังหวัด…หากอยู่ห่างออกไปแต่สู้การขนส่งได้ก็ยินดี

“ไผ่ซางหม่นแปรรูปได้หลายอย่าง ไม้อายุมากๆ ทำเฟอร์นิเจอร์ เศษเหลือก็เผาถ่านไม่มีทิ้ง” คุณมานิจ บอก

คุณสโรจ บอกว่า โครงการที่ตนเองคิดถือเป็นจุดเริ่มต้น รายละเอียดยังมีไม่มากนัก แต่ใครสนใจก็เข้าไปคุยได้ โดยนัดหมายก่อน ที่โทรศัพท์ (085) 249-9924 และคุณมานิจ (081) 981-8956

บ้านเด่นมะขาม

 


งาน Healthcare 2020 จัดระหว่าง วันที่ 3-6 กันยายน 63 ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ 10.00 – 20.00 น. นอกจากมี ตรวจสุขภาพฟรี จากกว่า 10 โรงพยาบาลชั้นนำแล้ว ยังมีเวิร์กช็อปชุบชูสุขภาพใจฟรี ถึง 7 คอร์ส  โดย 7 วิทยากร ผู้อยู่ในแวดวงงานศิลปะ คราฟท์ และจิตวิญญาณ ช่วยเยียวยาจิตใจ ผ่อนคลาย และสร้างแรงบันดาลใจ เดินทางสะดวก โดยทางด่วน และ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2 Workshop ดี มีให้เรียนฟรีทุกวัน

พิเศษ! Workshop ดี ร่วมเรียนฟรีทุกวัน คลิกลงทะเบียนเรียนที่นี่ (รับจำนวนจำกัด)

รับต้นไม้ฟรี! (ของมีจำนวนจำกัด) เมื่อลงทะเบียนเข้างาน คลิกลงทะเบียนเข้างานที่นี่