งานเกษตรหลังเกษียณ ของ อดีตนายอำเภอกับอินทผลัม ที่อำเภอลอง

“ผม…ในฐานะที่เคยเป็นนายอำเภอลองมาก่อน ตั้งใจจะทำแปลงอินทผลัมแห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้หรือแหล่งศึกษาดูงานสำหรับเกษตรกรชาวอำเภอลอง หรือผู้สนใจจะปลูกอินทผลัมมาถ่ายภาพหรือเซลฟี่ดูทัศนียภาพ ดูการจัดสวน  วางระบบน้ำ ผมยินดีต้อนรับครับ”

เป็นคำกล่าวปรารภในเบื้องต้นของเจ้าของแปลงปลูกอินทผลัม จากอดีตนายอำเภอกลับคืนถิ่นสู่วิถีเกษตร

อดีตนายอำเภอ คุณลุงจำลอง เณรแย้ม

อินทผลัม (อ่านว่า อิน-ทะ-ผะ-ลำ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542) ภาษาทางพฤษศาสตร์ว่า Date Palm ซึ่งก็คือ อินทผลัมกินผล เป็นพืชตระกูลปาล์ม พืชดั้งเดิมของประเทศแถบทะเลทราย ตะวันออกกลาง ประเทศที่อยู่ในเขตอากาศร้อนในตอนกลางวัน หนาวเย็นตอนกลางคืน แต่อินทผลัมกลับกลายเป็นพืชไม้ผลเศรษฐกิจอีกตัวเลือกหนึ่งของเกษตรกรไทยกลุ่มผู้รักอินทผลัม พบเห็นการปลูกกันในหลายจังหวัดทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภาคกลาง ภาคเหนือ

(จากซ้าย) คุณเวทย์ เปียงเก๋ ผู้ดูแลสวน (กลาง) ผู้เขียน (ขวาสุด) คุณลุงจำลอง เณรแย้ม

กอปรกับมีการเผยแพร่ว่า อินทผลัม เป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่หลากหลาย เป็นผลไม้ทางเลือกอีกชนิดหนึ่งสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ในบทความของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนว่า  จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของอินทผลัมมีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการต้านทานอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ  ลดไขมัน และลดน้ำตาลในเลือด ช่วยปกป้องตับ ไต หัวใจ และป้องกันการตายของเซลล์หัวใจ แต่มีเงื่อนไขในเรื่องปริมาณการกิน

(จากซ้าย) คุณลาวัณ เณรแย้ม (กลาง) ผู้เขียน (ขวา) คุณลุงจำลอง เณรแย้ม

อินทผลัม จึงเป็นไม้ผลที่ถูกหมายปอง ต้องตาต้องใจของคนหลายคนสนใจใฝ่หามากิน แม้จะมีราคาค่อนข้างสูงในปัจจุบัน ส่วนเกษตรกรจำนวนมากก็แสวงหาต้นพันธุ์มาเพาะปลูกเพื่อตอบสนองความต้องการตลาดของผู้บริโภค ซึ่งมีทั้งเกษตรกรที่สมหวังและเกษตรกรที่ไม่ค่อยสมหวัง ส่วนจะเป็นเพราะเหตุและผลใด ในบทความนี้มีอดีตนายอำเภอ  แต่หลังเกษียณก็มาเป็นเกษตรกร จะมาอรรถาธิบายเล่าประสบการณ์ให้ได้ข้อคิดกันครับ

ระบบร่องน้ำและทางระบายน้ำ

ผู้เขียนขอตั้งต้นการเดินทางไปยังแปลงปลูกอินทผลัมดังกล่าว จาก ณ ที่ว่าการอำเภอลอง ขับรถไปทางทิศตะวันออกตามเส้นทางสายบ้านแม่ลานใต้-บ้านห้วยแม่ต้า เขตติดต่อระหว่างตำบลห้วยอ้อกับตำบลบ้านปิน ถนนหนทางลาดยางอย่างดีครับ จากตัวอำเภอไปเพียง 6 กิโลเมตร ด้านซ้ายมือจะเห็นแปลงปลูกต้นอินทผลัมลดหลั่นกันเป็นขั้นบันไดมองแล้วสะดุดตา นั่นนะหรือต้นจริงๆ ของอินทผลัม ยังไม่เคยเห็นในพื้นที่แถบนั้น ซึ่งอดีตนายอำเภอลองเป็นผู้ริเริ่มปลูกเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

วันที่ได้นัดหมายกันไว้กับผู้เขียนและอดีตนายอำเภอพร้อมภรรยาและผู้ดูแลสวน ได้นั่งสนทนากันบนจุดยอดเนินสุดของแปลงอินทผลัม ที่มองเห็นความสวยงามของทิวทัศน์และป่าเขาโดยรอบได้ 360 องศา

ระบบร่องน้ำและทางระบายน้ำที่ดี

คุณลุงจำลอง เณรแย้ม และภรรยา คุณป้าลาวัณย์ เณรแย้ม บ้านที่อยู่เพื่อดูแลสวน เลขที่ 25/5 หมู่ที่ 12 บ้านแม่ลานใต้ ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ 089-953-8825 พื้นเพเดิมเป็นชาวอุตรดิตถ์ เมืองผลไม้ อดีตเป็นปลัดจังหวัดลำพูนและเคยเป็นนายอำเภอลองอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ผู้ซึ่งได้เขียนแผนชีวิตที่เตรียมการไว้ก่อนเกษียณว่า เมื่อเกษียณอายุราชการได้มองงานเกษตรเพื่อจะใช้เวลาว่างแสวงหาความสุขในบั้นปลาย และทำเกษตรเป็นแปลงตัวอย่าง แม้จะให้เวลากับการรับราชการมานาน แต่เมื่อมาจับงานเกษตร อดีตนายอำเภอท่านนี้ใช้การบริหารจัดการแปลงปลูกอินทผลัมจนได้เห็นผลผลิตที่น่าภาคภูมิใจ ซึ่งยังมีพืชอื่นๆ อีก แต่ผู้เขียนได้พูดคุยสนทนากันเฉพาะพืชอินทผลัม

หลากหลายสีจากการปลูกด้วยต้นพันธุ์เพาะเมล็ด

อดีตนายอำเภอลอง หรือคุณลุงจำลอง ได้เล่าย้อนเวลาไปก่อนหน้านี้ว่า ช่วงรับราชการได้เก็บภาพความทรงจำและข้อมูลของอินทผลัมไว้มากพอควร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าก็ไม่รู้จัก แต่เมื่อครั้งไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศได้เห็นไม้ผลชนิดหนึ่งคล้ายหมากบ้านเรา จึงรู้ว่า นั่นคือ อินทผลัม ไปที่อำเภอปาย ก็ได้ลิ้มชิมรสอินทผลัมที่เป็นผลสด เก็บเมล็ดไว้เพาะ แล้วก็ได้มีโอกาสพูดคุยซักถามเจ้าของต้นพันธุ์อินทผลัม ถูกใจ ก็ซื้อแบ่งปันต้นพันธุ์มาทดลองปลูกลงแปลงไว้ที่จังหวัดเชียงใหม่ก่อน เป็นการลองผิดลองถูก ในระยะเริ่มต้นเพียง 6 ต้น เป็นพันธุ์ KL1 ได้ผลผลิต 3 ต้น อีก 3 ต้นกำลังรอผลผลิตปีหน้า ก็เลยค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือบ้าง นิตยสารบ้าง รวมทั้งสื่อออนไลน์ เมื่อครั้งที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอลอง ก็เดินทางไปหลายพื้นที่ ได้พูดคุยกับเกษตรกรและต้องการซื้อที่ดินไว้ซักแปลงหนึ่ง ตั้งใจจะปลูกอินทผลัม เพราะเชื่อมั่นทั้งข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ บวกกับความเหมาะสมของพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมเป็นเนินเขา พื้นดินได้รับแสงแดดเต็มพื้นที่ อากาศกลางวันร้อน กลางคืนบางช่วงก็เย็น ทำให้ได้พบกับสิ่งซึ่งต้องพิสูจน์ว่าพื้นที่ดินลูกรังจะปลูกอินทผลัมได้งอกงามดีหรือไม่ ผลผลิตจะให้ความหวานหรือไม่ ตั้งใจจะปรับพื้นที่เป็นแบบขั้นบันได จะลงมือปลูกอินทผลัม รดน้ำ พรวนดิน ด้วยตนเองในระยะแรกๆ ถือเป็นการออกกำลังกายและใช้เวลาให้เกิดประโยชน์หลังเกษียณ

เหลืองอร่าม

และแล้วความตั้งใจก็บรรลุ หลังการซื้อที่ดินแปลงนี้ 10 ไร่ เดินสำรวจตรวจสอบพื้นที่โดยรอบ ลงมือปรับพื้นที่เป็นขั้นบันได กว้าง 6 เมตร ตามความลาดชันของพื้นที่ได้ 17 ขั้น ระดับความสูงวัดจากพื้นถนน 150 เมตร ทำร่องน้ำสำหรับระบายน้ำออกจากแปลงเป็นทางระนาบตามแนวโค้งของพื้นที่ให้น้ำระบายและซึมลงเบื้องล่างได้ แน่ใจว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมขังโคนต้นอินทผลัมอย่างแน่นอน จากนั้นวางระบบน้ำหยด ได้น้ำจากการขุดบ่อบาดาล ขุดหลุมแล้วรองก้นหลุมด้วยขี้ไก่ไข่คลุกเคล้ากับดินแล้วเกลี่ยพื้นที่รอบหลุมที่จะนำต้นพันธุ์ลงปลูกให้เป็นเนินแบบหลังเต่า ไม่ได้กะระยะห่างระหว่างต้น แต่วิธีการอื่นๆ ก็ปฏิบัติตามคำแนะนำที่ทำๆ กันมา และตากหลุมไว้เป็นเวลา 2 เดือน จึงนำต้นพันธุ์ลงปลูกเต็มพื้นที่ ได้ทั้งหมด 278 ต้น จำนวน 3 สายพันธุ์ ได้แก่

ลงไม้ลงมือทำเองอย่างเข้มแข็ง
  1. สายพันธุ์ KL1 (หรือพันธุ์แม่โจ้ 36) มี 66 ต้น จากการเพาะเมล็ด แต่เป็นต้นตัวเมียเพียง 20 ต้น ให้ผลผลิตแล้ว

ลักษณะผล ผลขนาดกลาง เรียวยาวเล็กน้อย ผลสีทอง เนื้อกรอบนุ่ม หวานมัน เนื้อหนา เมล็ดเล็ก กินผลสดหรือผลสุกก็ได้

  1. สายพันธุ์เดกเล็ทนัวร์ (Deglet Nour) มีฉายาว่า ราชินีแห่งอินทผลัม มี 168 ต้น จากการเพาะเมล็ดเป็นต้นตัวเมีย 60 ต้น ให้ผลผลิตแล้ว

ลักษณะผล ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงออกสีน้ำผึ้ง เป็นสายพันธุ์ที่กินผลสุก และแห้ง เนื้อนุ่ม เหนียวไม่มาก ไม่แข็งกระด้าง รสชาติไม่หวานมาก หวานปนมัน

คุณลุงจำลอง กล่าวอย่างฟันธงว่า “เดกเล็ทนัวร์ เป็นสายพันธุ์ที่ไม่เหมาะกับภูมิอากาศของประเทศไทย เนื่องจากสุกและเริ่มแห้งในช่วงฝนตกชุก ทำให้ผลเน่าและเกิดเชื้อรา ที่สวนจะเก็บเอาไว้เป็นแฟนซีประดับสวนให้ผู้สนใจถ่ายรูป  ส่วนที่เป็นเกสรเพศผู้จะเก็บเกสรไว้ผสมพันธุ์และขายให้กับผู้สนใจ”

  1. สายพันธุ์บาร์ฮี/บัรฮี (Barhi/Barhee/Barhy) กินผลสด มีฉายาว่า แอปเปิ้ลแห่งตะวันออกกลาง มี 44 ต้น เป็นต้นตัวเมียทั้งหมดจากการเพาะเนื้อเยื่อ ได้รับต้นพันธุ์จากเครือข่ายกลุ่มผู้ปลูกอินทผลัมภาคตะวันตก หรือ WDP group (Western Date Palm group) ยังไม่ให้ผลผลิต

“จำได้ว่า วันที่นำต้นพันธุ์ลงปลูกครั้งแรก เป็นวันพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 12 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝนพอดี” คุณลุงจำลอง กล่าวพร้อมรอยยิ้ม

จากนั้นงานดูแลก็เริ่มขึ้น หมั่นเพียรเข้าแปลง สำรวจตรวจสอบ สังเกตพัฒนาการของต้นว่าเติบใหญ่ดีหรือไม่

การดูแล ดิน น้ำ ปุ๋ย โรค-แมลง

โรยเกลือรอบต้น ช่วยลดรสฝาด

ช่วงต้นอินทผลัมอายุได้ปีที่ 1 และปีที่ 2 ดูแลในเรื่อง น้ำ จะขาดไม่ได้ ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน ที่นี่ให้น้ำด้วยระบบน้ำหยด แบ่งเป็นโซนๆ ได้ 5 โซน เปิดน้ำให้โซนละ 2 ชั่วโมง ได้ 60 ต้น หรือให้น้ำปริมาณ 100 ลิตร ต่อต้น

ปุ๋ย เร่งต้น ให้ทั้งธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม ได้แก่ ปุ๋ยเคมี สูตร 25-7-7 หรือ 6-3-3 ให้ 2 ครั้ง และปุ๋ยหมักจากขี้ไก่ 2 ครั้ง และฉีดพ่นธาตุแคลเซียม-โบรอน ธาตุสังกะสีให้ทางใบเป็นครั้งคราว

แปลงอินทผลัมมุมมองจากฟากถนน

ดูโรค-แมลง พื้นที่ตรงนี้ดูดีหน่อย ที่ยังไม่พบโรคและแมลง เพราะได้มีการจัดการพื้นที่ให้โล่งเตียน ดูสะอาดอยู่เสมอแสงแดดส่องได้ทั่วถึง

ช่วงต้นอายุปีที่ 3

น้ำ น้ำก็สำคัญ “ถ้าคิดว่า อินทผลัมไม่ต้องการน้ำละก็ คิดผิดนะครับ โดยเฉพาะช่วงจะให้ผลผลิตต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เพราะการให้น้ำในปริมาณมากน้อยจะมีผลอย่างมากต่อปริมาณและคุณภาพของต้น ดอก ผล” คุณลุงจำลอง กล่าว

เนื้อหนา น่ารับประทาน

ปุ๋ย ให้ปุ๋ยเคมี สูตร 6-3-3 และให้ปุ๋ยเร่งดอก แต่ช่วงที่กำลังจะให้ผลผลิตจนถึงก่อนการเก็บผลผลิตให้ปุ๋ย ดังนี้

– ช่วงสะสมอาหาร สูตร 8-24-24 ใส่ 2 ครั้ง คือต้นเดือนธันวาคมและกลางเดือนมกราคม

– ช่วงขยายผล สูตร 15-15-20 บวกธาตุแคลเซียม-โบรอน กันผลแตก และฉีดพ่นธาตุสังกะสีเป็นอาหารเสริม

– ช่วงผลเข้าสี สูตร 13-13-24

ทิวทัศน์สวนอินทผลัม

อินทผลัม 3 ปี ให้ผลผลิต

ต้นอินทผลัมที่แปลงแห่งนี้ เริ่มแทงจั่นออกมาให้เห็นในปีที่ 3 บ่งบอกถึงการดูแลที่ดี ทั้งเรื่อง ดิน น้ำ ธาตุอาหาร  สำหรับการเตรียมความพร้อมช่วงก่อนออกจั่น ซึ่งปลายเดือนมกราคม จากที่มีอากาศหนาวสัก 10 วัน ก็ได้เห็นจั่น  แล้ว เริ่มผสมเกสรกลางเดือนกุมภาพันธ์

การผสมเกสร

ถังสำรองระบบน้ำหยด

เนื่องจากต้นอินทผลัมเป็นไม้ผลที่มีดอกไม่สมบูรณ์เพศ ต้องมีการผสมเกสรข้ามต้น โดยเกสรเพศผู้จะมีสีขาวกลีบดอกเป็นแฉกๆ คล้ายหางกระรอก จะบานก่อนเกสรเพศเมีย ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงต้องเก็บเกสรเพศผู้ไว้ในตู้เย็น รอเกสรเพศเมียบานก็จะนำออกมาผสม ส่วนเกสรเพศเมียนั้นออกดอกเป็นจั่นเหมือนเพศผู้ แต่ดอกเพศเมียมีลักษณะเมล็ดกลมๆ สีเขียวอ่อน

หลังการผสมเกสรแล้ว ก็ต้องดูแลให้ผลของอินทผลัมได้พัฒนาไปตามสายพันธุ์ของเขา ทั้งการแต่งช่อผล การห่อพวง/ทะลาย ก้านช่อ การให้น้ำ ให้ปุ๋ย เวลาล่วงเลยไปประมาณ 5 เดือน หรือ 150 วัน หรือดูว่าผิวผลมีลายขนแมว แสดงว่าผลแก่ได้ที่ มีรสหวาน ก็จะทยอยตัดช่อพวง/ทะลายได้ แต่การจะให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพก็ต้องมีการห่อ/ครอบช่อผลทั้งทะลายถึง 2 ชั้น ชั้นในเป็นตาข่ายกันแมลง ชั้นนอกใช้กระดาษห่อหุ้มเพื่อให้สีผิวสวย พร้อมกับมีการจดบันทึกทำสัญลักษณ์ติดป้ายไว้แต่ละต้น

เตรียมใส่ปุ๋ยคอกจากขี้ไก่

เนื่องจาก อินทผลัม จะติดผลในช่วงฤดูร้อน เป็นช่วงรอยต่อของฤดูร้อนกับฤดูฝน ต้องให้ความสำคัญกับการให้น้ำโดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ต้องประคับประคองการให้น้ำให้รองรับกับปริมาณฝนที่จะมา ที่ต้นอินทผลัมจะรับฝนแรกของเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ผลของอินทผลัมจะไม่แตกหรือร่วงหล่น

มีเคล็ดลับที่บอกต่อๆ กันมาว่า ถ้าจะแก้เรื่องรสฝาดในผลอินทผลัม ก็ให้ใส่เกลือสมุทรหว่านรอบๆ ต้น และสาดเข้าไปที่กาบใบ เมื่อผลมีอายุ 90 วัน ให้ทุกเดือน จะแก้รสฝาดได้ ทั้งเพิ่มความหวานและป้องกันแมลงได้ด้วย การปฏิบัติเช่นนี้คนดูแลสวนก็ยืนยันว่าลด รสฝาดได้จริง

การเก็บผลอินทผลัม

เก็บรักษาเกสรตัวผู้

ที่สวนนี้หากนับวันตั้งแต่วันที่ผสมเกสรเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ระยะเวลา 150 วัน ก็จะเก็บผลได้ วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 แต่จะงดเก็บผลหลังฝนตกใหม่ๆ จะทำให้ความหวานลดลง และจะต้องเปิดถุงที่ครอบออกทั้งหมดเพื่อให้ได้รับแสงแดด

คุณลุงจำลอง กล่าวว่า อินทผลัม ให้ผลปีแรกเมื่อต้นอายุ 3 ปี ก็อยากจะตัดจั่นทิ้งเหมือนกัน เพราะอายุต้นยังน้อยอยู่  ต้นอาจโทรมได้ แต่ก็คิดอีกมุมหนึ่งอยากจะทดลองดูว่าผลที่ได้จะมีลักษณะผล รสชาติ เป็นเช่นไร ก็เลยเก็บผลแต่ละต้นทั้งจำนวนทะลาย จำนวนก้าน/ช่อ ไว้ไม่มากนักแม้มีจำนวนไม่มาก รวมประมาณ 1,000 กิโลกรัม แต่ก็มีคนเข้ามาซื้อ สั่งซื้อทางสื่อออนไลน์จนเกือบจะหมดสวนอยู่แล้ว

คุณลุงจำลอง กล่าวถึงผู้ดูแลสวนว่า ด้านการจัดการดูแลแปลงอินทผลัมนั้น ต้องยกให้เขา คุณเวทย์ เปียงเก๋ ผู้ซึ่งคุณลุงจำลองได้ถ่ายทอดทักษะความรู้ จนมีความชำนาญในเรื่องการเก็บเกสร การผสมเกสร การคัดเลือกและแต่งช่อผล การห่อ ตลอดจนการดูแลการให้น้ำ ใส่ปุ๋ย ตัดหญ้า

ในท้ายเรื่อง คุณลุงจำลอง ได้ฝากข้อคิดมายังเกษตรกรหรือผู้สนใจที่จะปลูกอินทผลัมเป็นอาชีพเสริมหรือปลูกไว้ติดสวนดูสวยงามก็ตาม

  1. หลีกเลี่ยงการทำเกษตรแบบลัทธิเอาอย่าง เห็นเขาปลูกกันได้ผล ก็อยากปลูกบ้าง โดยที่ยังมองไม่เห็นตลาด เพราะการปลูกอินทผลัมต้องลงทุน ต้นพันธุ์ที่เป็นหน่อและจากการเพาะเมล็ดมีทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย ดูไม่ออก มารู้ทีหลังร่วงมา 3 ปี เมื่อออกจั่นอาจต้องตัดทิ้งขว้าง
  2. ถ้ามีพื้นที่ว่างก็ลองปลูกดู จากน้อยไปหามาก ขยันหมั่นเพียรคอยดูแลตัดแต่ง ศึกษาพัฒนาการของต้น ดอก ผล ทุกระยะ
  3. ต้นอินทผลัมดูแลไม่ยุ่งยากเหมือนไม้ผลอื่นๆ โรค-แมลง มีน้อย
  4. ดูสภาพพื้นที่ว่าเหมาะสมที่จะปลูกอินทผลัมหรือไม่ โดยเฉพาะแสงแดด ควรได้รับไม่น้อยกว่า 80% น้ำไม่ท่วมขัง
  5. น้ำต้องมี ถ้าหวังผลทั้งปริมาณและคุณภาพ หากขาดน้ำอาจได้แต่เมล็ด เนื้อบางหรือเนื้อไม่ฟู ไม่หนา

หากท่านสนใจจะสอบถามหรือสนทนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น คุณลุงจำลอง บอกว่า ยินดีครับ หมายเลขโทรศัพท์ตามที่ระบุข้างต้น

………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 10 กันยายน พ.ศ.2563

……………………………………….

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354