เกษตรกรปากช่อง อดีตปลูกผัก 500 ไร่ สู่ความพอเพียง ลดเหลือ 40 ไร่ ได้ดีกว่าเดิม

อาชีพเกษตรกรรม นอกจากจะเป็นกระดูกสันหลังของชาติแล้ว ยังกลายเป็นอาชีพรองรับสำหรับผู้คนทุกเพศทุกวัย ทุกระดับการศึกษา หรือแม้กระทั่งนักธุรกิจร้อยล้าน พันล้าน จะประสบความสำเร็จจากอาชีพประจำแล้วอยากทำเกษตรเพิ่ม หรือผิดหวังจากงานประจำแล้วมาทำเกษตรก็ได้ทั้งนั้น ขอเพียงมีใจรักและความตั้งใจ อาชีพเกษตรกรรมไม่เคยทำร้ายใครอยู่แล้ว

คุณชยพล กลมกล่อม สมาร์ทฟาร์มเมอร์นักพัฒนา อยู่บ้านเลขที่ 388 หมู่ที่ 19 ตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อดีตเป็นนักธุรกิจบ้านจัดสรรอยู่ที่กรุงเทพฯ ประสบวิกฤตฟองสบู่แตก ปี 2540 เจอกับภาวะหนี้สินมากมาย จึงได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นหนทางดำเนินชีวิต และเบนเข็มอาชีพสู่การเป็นเกษตรกรปลูกผักมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปีแล้ว

คุณชยพล กลมกล่อม สมาร์ทฟาร์มเมอร์นักพัฒนา

จุดเปลี่ยน จากปลูกผัก 500 ไร่
สู่วิถีชีวิตเกษตรกรพอเพียง

คุณชยพล เล่าว่า หลังจากหมดเนื้อหมดตัวจากวิกฤตฟองสบู่แตก ตนใช้เวลากว่า 2 ปี ในการเริ่มทำชีวิตใหม่ เริ่มต้นกับอาชีพใหม่ คือการมุ่งมั่นที่จะเป็นเกษตรกร โดยเริ่มจากการเช่าพื้นที่ปลูกข้าวโพดหวานส่งไร่สุวรรณ จำนวน 5 ไร่ จากนั้นค่อยขยับขยายเช่าพื้นที่ปลูกเพิ่มเป็น 80 ไร่ เพราะมองว่ามีตลาดที่แน่นอนแล้ว แต่ปลูกได้เป็นระยะเวลาเพียง 2 ปี รายได้ก็ยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร จึงคิดที่จะมองหาพืชผักชนิดอื่นมาปลูกแทน พอดีกับที่ไปเห็นคนอื่นปลูกผักแล้วรายได้ดี จากนั้นก็ค่อยๆ ศึกษาเรียนรู้วิธีการปลูกผักมาเรื่อยๆ จนเริ่มทดลองปลูกผักอายุสั้นบนพื้นที่เล็กๆ เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดหอม ผีกชี ช่วงหลังการปลูกผักใบทำรายได้ดี จึงทำเป็นแปลงใหญ่เช่าพื้นที่เพิ่มขึ้นมาจากเดิมเช่าไว้ประมาณ 100 ไร่ ก็เช่าเพิ่มขึ้นมาอีก ทั้งหมดเป็น 500 ไร่ เลือกปลูกกุยช่ายเขียวและขาวเป็นส่วนมาก เนื่องจาก

1. กุยช่ายขาว จะปลูกซ้ำพื้นที่ไม่ได้ คนมีพื้นที่น้อยทำได้ยาก คู่แข่งก็จะน้อยตามไปด้วย

2. เรื่องของการตลาด การทำกุยช่ายขาวต้องลงทุนในเรื่องของกระถางครอบ

3. ราคาไม่สวิงเหมือนผักทั่วไป จึงคิดว่ากุยช่ายนี่แหละคือพืชสร้างรายได้ดี

ซึ่งก็ดีจริงๆ แต่ก็คิดว่าไม่คุ้มกับค่าเช่าปีละล้านกว่าที่เสียไป ประกอบกับตอน ปี’57 ต้องประสบกับภัยแล้ง แหล่งน้ำไม่พอสำหรับทำแปลงใหญ่ ตั้งแต่นั้นมาก็ค่อยๆ มีการลดสเกลเหลือน้อยๆ กลับมาทำบนที่ดินของตัวเองที่มีอยู่ 40 ไร่ ทำแต่พอเพียง ปลูกผักอินทรีย์ ทุกวันนี้มีความสุขทั้งกายและใจ รวมถึงรายได้ที่เข้ามาอย่างไม่ขัดสน เพราะที่สวนผักปากช่อง นอกจากจะปลูกผักแล้ว ยังเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกด้วย

สถานที่ปลูกกุยช่ายขาว

ปลูกผักให้สนุก สไตล์เกษตรกรปากช่อง
เปรียบสวนผักเป็นตู้เย็นประจำบ้าน-ตลาด

เจ้าของบอกว่า คติในการทำเกษตรของตนคือ ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เนรมิตสวนผักให้กลายเป็นตู้เย็นข้างบ้านที่ไม่ต้องเสียบไฟ ซึ่งคตินี้ก็มาจากการปลูกผักของที่สวน จะไม่เน้นปลูกผักชนิดเดียว แต่จะเน้นให้มีความหลากหลาย ถ้าเปรียบสเกลในบ้านเมื่ออยากกินอะไรก็หาเก็บได้ตามข้างบ้าน พริก ใบมะกรูด ข่า ตะไคร้ มีหมด เสมือนมีตู้เย็นอยู่ข้างบ้าน แต่ถ้าเปรียบเทียบระดับการค้า สวนผักปากช่อง ก็เปรียบเสมือนตู้เย็นประจำตลาดที่แม่ค้าร้านไหนมาเปิด อยากได้ผักอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นตระกูลผักสลัด กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ฟินเล่ บัตเตอร์เฮด เบบี้คอส หรือผักที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงอย่างเคล ราชินีผักใบที่นี่ก็มี รวมไปถึงผักสวนครัวและพืชสมุนไพร ทั้งผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง มะเขือเทศ โหระพา ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พืชสมุนไพรที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่ สวนผักปากช่อง ก็มีหมดเกือบทุกชนิด เรียกได้ว่าครบครัน ได้สุขภาพกายที่ได้กินผักปลอดสารพิษ ได้ทั้งสุขภาพใจ เพราะได้มาสูดอากาศที่บริสุทธิ์ ชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ที่ทาง สวนผักปากช่อง จัดไว้ให้ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้รอบละ 400 คน จากแนวคิดง่ายๆ สู่การต่อยอดพัฒนาเป็นรายได้ที่ไม่หยุดนิ่ง เพียงคิดและวางแผนเป็น

โรงเรือนปลูกผักสลัดอินทรีย์ขนาดใหญ่

ขั้นตอนปลูกผักอินทรีย์ในโรงเรือน

ขั้นตอนการจัดสรรพื้นที่ ในตอนนี้มีพื้นที่ทำโรงเรือนปลูกผักทั้งหมด 5 ไร่ แบ่งทำเป็นหลายๆ โรงเรือนติดกัน โดยความกว้างของแต่ละโรงเรือน กว้าง 8 เมตร ยาว 52 เมตร ซึ่งเป็นโรงเรือนที่มีขนาดใหญ่ เพราะมีการแบ่งทำเป็นส่วนของศูนย์การเรียนรู้ไปในตัว

ขั้นตอนวางแผนการปลูก ที่สวนจะสลับพื้นที่ปลูกไปเรื่อย มีการวางแผนการผลิต ใน 1 สัปดาห์ จะมีการเพาะกล้า 2 ครั้ง ให้สัมพันธ์กับจำนวนแปลงที่มี ดังนั้น ผักที่สวนจะมีออกมาขายสู่ตลาดทุกวัน วันละ 70-80 กิโลกรัม

ขั้นตอนการปรุงดิน ปรุงดินอย่างไรให้ได้ธาตุอาหารหลักของพืชครบ ทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ส่วนผสมในการปรุงดินมีดังนี้

  1. มูลสัตว์
  2. รำข้าว
  3. แกลบดำ
  4. แกลบดิบ และตัวสำคัญช่วยย่อยสลายวัตถุดิบเอามาเป็นธาตุอาหารหลักของพืช

ขั้นตอนการเพาะเมล็ด ต้องมีการใส่ใจในการเพาะ ผักสลัดต้องใช้เวลาเพาะกล้าประมาณ 15 วัน หลังจากนั้นก็นำต้นที่สมบูรณ์แข็งแรงมาลงปลูกในแปลงต่ออีก 30 วัน ดูแลรดน้ำ ให้ฮอร์โมน เมื่อพืชเจริญเติบโตครบ 45 วัน ก็สามารถตัดสู่ผู้บริโภคได้

ขั้นตอนการรดน้ำ ค่อนข้างเป็นปัญหาหลักของที่สวน เพราะว่าน้ำผิวดินตอนนี้ที่ฟาร์มไม่ค่อยมี จำเป็นต้องใช้น้ำใต้ดิน ดังนั้น จึงมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ที่สวนมีวิธีแก้ปัญหาด้วยการสูบน้ำใส่ถังพักไว้ ครั้งละประมาณ 200,000 ลิตร และมีระบบการจัดการ เพราะพื้นที่ตรงนี้มีความลาดเอียง จึงได้มีการจัดตั้งแท็งก์น้ำไว้บนจุดที่สูงที่สุด แล้วปล่อยน้ำให้ไหลลงมา เรียกว่า การไหลแบบกราวิตี้ คือการที่ปล่อยให้น้ำไหลจากที่สูงลงที่ต่ำตามธรรมชาติ เท่ากับการใช้น้ำที่สวนไม่ได้ใช้ปั๊มเลย

ปริมาณการรดน้ำ ใช้เป็นหัวมินิสปริงเกลอร์เปิดออกมาเป็นละอองฝอย รดน้ำเช้าและบ่าย ในกรณีที่อุณหภูมิสูงจะเพิ่มปริมาณการรด เป็นวันละ 3 ครั้ง เช้า-สาย-บ่าย จะไม่รดตอนเย็น เนื่องจากความชื้นสูง จะทำให้พืชเกิดโรคง่าย

ปุ๋ย ไม่ต้องใช้มาก เพราะพืชได้รับธาตุอาหารจากการปรุงดินเมื่อตอนแรกไปแล้ว ส่วนธาตุอาหารรองและจุลธาตุ จะได้มากจากน้ำหมักผลไม้ น้ำหมักปลา การหมักจะต้องใช้เวลา 6 เดือนขึ้นไป ก็จะได้เรื่องธาตุอาหารรอง

 

ทำไม ต้องปลูกผักในโรงเรือน

  1. ตระกูลผักสลัดหรือผักใบทุกชนิดจะไม่ชอบฝน เพราะเม็ดของน้ำฝนทำให้ใบผักแตกเสียหายได้ง่าย
  2. ช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ในระดับที่ดี แต่สำหรับสวนที่ทำเป็นการท่องเที่ยวด้วย ก็จะกันไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเข้าออกโรงเรือนเป็นประจำ แมลงศัตรูพืชอาจแฝงเข้ามาพร้อมนักท่องเที่ยว อันนี้ต้องทำใจ ส่วนวิธีการป้องกันคือ ใช้น้ำส้มควันไม้ หรือใช้เชื้อราบิวเวอเรียในการป้องกันและกำจัด

ผลผลิต 70-80 กิโลกรัม ต่อวัน 2,000 กิโลกรัม ต่อเดือน ถ้าเปรียบเทียบกับขนาดโรงเรือนถือว่าผลผลิตยังน้อย เพราะว่าถ้าปลูกเต็มพื้นที่จริงๆ 5 ไร่ ค่าเฉลี่ยแล้ว ต่อเดือนจะได้ผลผลิต 1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อเดือน แต่เนื่องจากพื้นที่โรงเรือนถูกแชร์ออกไปเป็นฐานกิจกรรม เป็นพื้นที่สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว โซนเลี้ยงสัตว์ โซนจัดสวนในพื้นที่ไปด้วย

รายได้ต่อเดือน รวมทั้งท่องเที่ยวและผลิตผักเฉลี่ยต่อเดือน ประมาณ 200,000-300,000 บาท หักค่าใช้จ่ายไปประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือกำไร ถือว่าพึงพอใจมากที่ได้อยู่กับธรรมชาติ ได้เป็นนายตัวเอง และได้สุขภาพที่ดีกลับคืนมา

ต้นทุน การเริ่มต้นปลูกผักไม่ยาก อันดับแรกคือ ต้องมีใจก่อน ถ้ามีใจแล้วจะมีพื้นที่สัก 1 ตารางเมตร ก็สามารถที่จะเริ่มทำได้ มีถ้วยถัง กะละมังแตกก็ปลูกผักหลังบ้านได้ หรือซื้อเมล็ดพันธุ์ เตรียมดินที่จะปลูก ลงทุนไม่ต้องมาก ค่อยๆ เรียนรู้จากน้อยๆ ไปหามาก มีเงินแค่หลักร้อยก็เริ่มปลูกผักไว้กินเองได้

โรงเรือนปลูกผักสลัดอินทรีย์ขนาดใหญ่

ตลาดผักยังมีอีกกว้าง แต่จะทำอย่างไร
ให้เข้าถึงตลาดเหล่านั้น

คุณชยพล บอกว่า ตลาดผักในประเทศและต่างประเทศจริงๆ แล้วยังมีอีกกว้าง มูลค่าการซื้อขายพืชผักปีหนึ่งเป็นหมื่นล้าน แต่ทีนี้ต้องขึ้นอยู่กับผู้ผลิตแล้วว่าจะทำอย่างไรให้เข้าถึงตลาดที่มีอยู่ให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งความต่อเนื่องในการผลิตผักของเกษตรกรก็มีผลในเรื่องของการขาย ถัดมาคือคุณภาพของผัก หวาน กรอบ ยิ่งเป็นผักอินทรีย์ตลาดยิ่งมีความต้องการสูง จากนั้นเมื่อมีทั้งสองข้อที่พูดมาครบแล้ว ก็ไม่ต้องกลัวเรื่องการตลาด เดินเข้าไปหาตลาดด้วยตัวเองอย่างมั่นใจได้เลย ยกตัวอย่าง

“ผมเป็นคนเดินเข้าไปหาตลาดเอง ด้วยความที่มองการณ์ไกลและธุรกิจเรามีพื้นที่เยอะ เราจะทำยังไงให้สินค้ากระจายได้หมด ก็เริ่มจากการเข้าไปหาตลาดใหญ่ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง หรือแม้กระทั่งพื้นที่ในสวนก็ทำเป็นตลาดได้ เปิดขายให้นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมสวน รวมถึงไปติดต่อกับบริษัทส่งออกผักไปยุโรป ก็ไปคุยกับเขาแล้วจึงค่อยกลับมาวางแผนการผลิต วิธีการคือ เรามีหน้าที่แค่ผลิตผักสดไปให้โรงงาน หลังจากนั้น ขั้นตอนการตัดแต่ง การส่งออก จะเป็นหน้าที่ของเขาทั้งหมด ซึ่งข้อดีก็คือ ผักส่งออกจะได้ราคาสูงกว่าผักในประเทศ ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่ตามมาคือ คุณภาพของสินค้าที่ต้องคัดเกรดแบบพลาดไม่ได้ แต่ส่งในบ้านเราจะได้เรื่องของปริมาณ”

ปลูกพืชหลากหลายนักท่องเที่ยวชอบใจ

จากนักธุรกิจ สู่การเป็นเกษตรกร
ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก และมีความสุขดี

“จากการเป็นนักธุรกิจ สู่การเป็นเกษตรกร ให้มุมมองในหลายๆ เรื่อง เป็นนักธุรกิจก็จะมีสังคมอีกแบบ พอกลับมาสู่การเป็นเกษตรกรก็จะถูกสังคมดูถูก ไม่ให้เกียรติ และมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่มั่งคั่งยั่งยืน เราไม่อยากให้เกษตรกรไปใส่ใจคำพูดพวกนั้น เพราะจริงๆ แล้วอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ผมทำแล้วมีความสุขมากที่สุด เหนื่อยก็หยุดพักได้ ขยันก็ทำต่อ เราเป็นผู้กำหนดตัวเอง” คุณชยพล กล่าวทิ้งท้าย

ฐานฝึกอบรมอาชีพ

สำหรับท่านที่สนใจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสนใจอยากเข้าไปเยี่ยมชมหรือศึกษาหาความรู้ที่สวนผักปากช่อง ติอต่อ คุณชยพล กลมกล่อม ได้ที่เบอร์โทร. 091-915-5542

 


 

ฐานฝึกอบรมอาชีพ

อาหาร-ที่นั่ง สำหรับรองรับนักท่องเที่ยว

 

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2563