ตามไปพิสูจน์ ส้มเขียวหวานรสเลิศของหนุ่มเมืองแพร่ ผลผลิตมีเพียงปีละ 1 รุ่น

หากจะกล่าวถึงการผลิต ส้มเขียวหวาน ที่มีคุณภาพเป็นที่ถูกใจในรสชาติของผู้บริโภค เราต้องลงไปสัมผัสถึงในสวน พูดคุยกับเกษตรกรผู้ผลิตถึงกระบวนการผลิต ดูตั้งแต่สายพันธุ์ของส้มเขียวหวาน การดูแล (ดิน น้ำ ปุ๋ย โรคและแมลง) พัฒนาการของผลและการเก็บเกี่ยวผลผลิต

ที่จังหวัดแพร่ มีเกษตรกรคนหนุ่ม อายุ 25 ปี สืบทอดเจตนารมณ์ของครอบครัว รุ่นปู่ รุ่นพ่อ สานต่อการเกษตรทำสวนส้มเขียวหวาน วางแผนการผลิตเพียงรุ่นเดียวใน 1 ฤดูกาล เพราะได้พิสูจน์แล้วว่า ส้มเขียวหวานรุ่นนี้มีรสชาติเป็นเลิศ  เป็นที่กล่าวขานกันเป็นวงกว้าง ผู้เขียนจึงหาโอกาสขอไปดูสวนดังกล่าวว่า เกษตรกรคนนี้เขาดูแลสวนอย่างไร

คุณประภาส สานอูป หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต

คุณสุริยะ ต่อมแก้ว หรือ คุณยะ อายุ 25 ปี ยังเป็นโสดอยู่นะครับ คุณยะ เล่าว่า ทำสวนส้มเขียวหวานมาตั้งแต่อายุ 16 ปี ขณะนั้นเรียนอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคแพร่ ระดับ ปวช. และเรียนจนจบ ระดับ ปวส. รับช่วงต่อเป็นเกษตรกรสวนส้มเขียวหวาน จำนวน 8 ไร่ ของคุณปู่ เป็นส้มเขียวหวานที่คุณปู่บอกว่าเป็นส้มสายพันธุ์จากบางมด ซึ่ง ณ วันนี้ มีต้นส้มเขียวหวานคงเหลืออยู่เพียงไม่กี่ต้น แต่ได้ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งมาปลูกไว้อีกแปลงหนึ่ง ต่อมาได้ซื้อที่ดินไว้อีกหลายแปลงเพื่อปลูกส้มเขียวหวาน โดยทยอยปลูกเป็นปีๆ ไป ปัจจุบันมีต้นส้มเขียวหวาน 300 ต้น อายุต้น 15 ปี ได้ต้นพันธุ์มาจากการตอนกิ่งทั้งหมด และวางแผนไว้ว่าเมื่อได้ต้นพันธุ์ที่สั่งจองไว้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่  ก็จะปลูกใหม่ให้เต็มพื้นที่

คุณป้าสมจิตร ต่อมแก้ว

“ช่วง 2-3 ปีแรก ผมขาดทุนย่อยยับเลยครับ เกือบหมดตัว เพราะดูแลสวนน้อยไป ผมต้องเรียนหนังสือด้วย แต่เมื่อเอาเวลามาดูแลเอาใจใส่มากขึ้น ก็มีกำไร มีเงินเหลือพอที่จะซื้อที่ดินเพิ่ม ทุกวันนี้ผมให้เวลาในการทำเกษตรไม่น้อยกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ผมไม่ได้ปลูก ดูแลเฉพาะส้มเขียวหวานนะครับ ยังมีส้มโอ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข่าเหลือง ฟักทอง  ต้องสลับหมุนเวียนไปดู บางวันต้องขับรถไปส่งผลผลิตไกลๆ เช่น จังหวัดปทุมธานี อุดรธานี…ก่อนนอนผมคิด…คิดว่า  พรุ่งนี้มีงานอะไรในสวนบ้างที่ต้องทำ ผมนอน 2 ทุ่ม ตื่นนอนตี 5 ทำกิจวัตรเสร็จก็เข้าสวนแล้วครับ” เจ้าของสวนส้มกล่าว

คุณสุริยะ ต่อมแก้ว เจ้าของสวนส้มเขียวหวาน

ผลิตส้มเขียวหวานปีละรุ่น ให้มีรสชาติเป็นเลิศ

คุณยะ อธิบายว่า ส้มเขียวหวานที่ตนผลิตออกมาสู่ตลาดเพียงปีละรุ่น ผลผลิตจะมีขายเฉพาะกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน คือประมาณ 1 เดือน ก็เก็บผลหมดทุกต้น จากนั้นบำรุงต้น ใบ รอฤดูกาลใหม่

และยืนยันว่า รสชาติของส้มเขียวหวานที่สวนนี้จะมีรสเดียวเป็นมาตรฐานของสวนมาหลายปีดีดักแล้ว รสหวานอมเปรี้ยว (เปรี้ยวเพียงเล็กน้อย) ไม่ว่าจะชิมส้มเขียวหวานทั่วทั้งแปลง หรือจากต้นเดียวกันก็ได้รสชาตินี้

เก็บผลผลิตได้เดือนตุลาคม

คุณยะ ให้เหตุผลว่าที่ผลิตส้มเขียวหวานเพียงปีละรุ่น เพราะการจัดการดูแลง่าย โรคและแมลงมีน้อย ต้นทุนต่ำ ต้นส้มเขียวหวานไม่โทรม ดอกไม่ร่วง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว และขายได้ราคาดี ผลผลิตส้มเขียวหวานที่ออกสู่ตลาดในช่วงเวลาดังกล่าว ผลส้มจะมีอายุที่ 10 เดือน นับจากวันออกดอก เป็นช่วงที่ผ่านฤดูฝนหรือเป็นส้มปลายฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ปริมาณฝนน้อยลง ลักษณะของผลจะมีเปลือกบางล่อน ปอกง่าย ชานของส้มนิ่ม มีน้ำมากหรือฉ่ำน้ำ เนื้อผลมีสีส้ม

คุณยะ ให้รายละเอียดถึงวิธีการปฏิบัติและเคล็ดลับบางอย่างในด้านการบำรุงดิน การให้น้ำ ให้ธาตุอาหาร การดูแลเอาใจใส่

ขนาดเบอร์ 00 ที่ตลาดต้องการ

การปฏิบัติดูแล

ก่อนอื่นขอไปเดินดูสภาพพื้นที่ก่อน สวนส้มเขียวหวานของคุณยะอยู่ในเขตหมู่บ้านห้วยแม่ต้า ตำบลบ้านปิน อำเภอลอง ทางทิศเหนือของทางรถไฟสายเหนือ (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) ห่างจากสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำยมเล็กน้อย สะพานซึ่งมีประวัติศาสตร์ของการนำลูกระเบิดไปทำเป็นระฆังลูกระเบิดถวายวัด

มีแหล่งน้ำที่นำมาใช้ได้ถึง 2 แหล่ง คือ ลำห้วยแม่ต้าและแม่น้ำยม สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลาดเอียง 2 ด้าน ตรงกลางเป็นแอ่งรองรับน้ำฝนลาดลงสู่ลำน้ำห้วยแม่ต้า คล้ายรูปตัว V น้ำจึงไม่ท่วมขัง

ผลดก

ดิน คุณยะ บอกว่า ยังไม่เคยนำดินไปตรวจวิเคราะห์หาค่าความเป็นกรด ด่าง และธาตุอาหาร แต่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมแม่น้ำที่มีลำน้ำห้วยแม่ต้าไหลมาบรรจบกับแม่น้ำยม ลักษณะดินจึงเป็นดินร่วนและดินทรายดำ ดินลักษณะนี้มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาดูแล้วให้ความเห็นว่า เป็นดินร่วนชนิดหนึ่งที่มีสภาพการระบายน้ำและการถ่ายเทอากาศได้ดี เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง เนื่องจากมีการคลุกเคล้าด้วยอินทรียวัตถุมาก อันเกิดจากการผุพังสลายตัวของหินและแร่ที่มีสีเข้ม สามารถตรึงธาตุอาหารได้มากพอสมควร จึงเป็นแหล่งอาหารที่ดีของส้มเขียวหวาน ต้นจึงมีใบเขียวเข้มเป็นมัน

น้ำ แหล่งน้ำที่คุณยะนำมาใช้ในสวนส้มเขียวหวาน เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติจาก 2 แหล่ง ดังที่กล่าว แต่ต้องลงทุนเดินท่อสูบน้ำจากแม่น้ำยมขึ้นมาจนถึงสวน ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการ

– ระยะก่อนออกดอก ต้นส้มเขียวหวานต้องการน้ำน้อย เป็นช่วงการสะสมอาหาร จะให้น้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ปริมาณน้ำ ประมาณ 150-200 ลิตร ต่อต้น

จำเป็นต้องค้ำ

– ระยะติดผล ต้องการน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ จนผลแก่ ปริมาณน้ำที่ให้ ครั้งละ 200-250 ลิตร ต่อต้น แต่จะงดการให้น้ำก่อนเก็บผล 2 สัปดาห์ เพื่อช่วยให้ส้มมีรสชาติหวานขึ้น

– ระยะเข้าสี จะลดปริมาณน้ำลง เพราะเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝนพอดี

แต่ถ้าไม่ให้น้ำ หรือให้น้ำไม่เพียงพอในระยะออกดอก ติดผล คุณยะ บอกว่า จะมีปัญหา ปัญหาก็อย่างเช่น ช่วงมีดอก  ดอกจะร่วงถ้าขาดน้ำเพียง 1 สัปดาห์ ก็ร่วงแล้ว หรือช่วงผลอ่อนถ้าติดผล ผลจะแคระแกร็น ผลด้าน ผลเล็ก

แปลงส้มเขียวหวาน

ธาตุอาหารและปุ๋ย

คุณยะ บอกว่า ส้มเขียวหวาน ต้องการธาตุอาหารทั้งธาตุอาหารหลักในปริมาณที่มาก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม จากที่เก็บผล ตัดแต่งกิ่ง ปริมาณธาตุอาหารก็ถูกนำออกไปด้วยจึงต้องเติมกลับลงไปในดิน แต่ถ้าต้นส้มเขียวหวานได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอจะแสดงอาการลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ทั้งต้น ใบ ดอก ผล จึงต้องหมั่นสังเกต ทำความเข้าใจว่าช่วงใดต้นส้มเขียวหวานต้องการธาตุอาหารอะไร ปริมาณเท่าไร และช่วงเวลาที่ต้องการ

อย่างเช่น…

– ระยะการออกดอก จะใส่ปุ๋ยยาราหรือตราเรือใบ สูตร 8-24-24 ให้ 1 ครั้ง ปริมาณ 1 กิโลกรัม ต่อต้น และฉีดพ่นสาหร่ายสกัดให้ด้วย

– ช่วงติดผล ให้ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 ให้ธาตุอาหารรอง อย่าง แคลเซียม แมกนีเซียม และธาตุอาหารเสริมโบรอน  สังกะสี ซึ่งต้องฉีดพ่นให้เป็นระยะๆ จะขาดเสียมิได้

กับดักล่อแมลง

– ก่อนเก็บผล จะให้ปุ๋ยเคมี สูตร 13-13-21 อีกครั้ง เพื่อให้ส้มมีคุณภาพ รสชาติดีขึ้น

ค้ำกิ่ง ก็เป็นต้นทุนเหมือนกัน ทั้งแรงงาน วัสดุที่นำมาใช้คือ ไผ่ ถ้าจะไม่ค้ำก็ไม่ได้ เพราะผลที่ติดดกมีน้ำหนักมาก กิ่งจะห้อยต่ำลงติดดิน ผลจะมีตำหนิ กิ่งจะฉีกขาด กับป้องกันลมได้ด้วย เพราะบริเวณนี้โล่งเตียน ไม่มีต้นไม้ใหญ่ มีลมแรงใกล้ฝั่งแม่น้ำ

ผลใหญ่ คุณภาพดี

สำรวจตรวจสอบโรค

และแมลงศัตรูสำคัญของส้มเขียวหวาน

คุณยะ กล่าวยืนยันว่า ที่สวนส้มเขียวหวานนี้มีโรคและแมลงน้อย จากการจัดการพื้นที่ให้โล่งเตียน ตัดหญ้าให้สั้นไม่ให้เป็นที่หลบซ่อนของแมลง จะไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า เพราะส้มเขียวหวานมีระบบรากที่ตื้น รากมีโอกาสเน่าได้จากพิษของยา การตัดหญ้าก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เศษหญ้าสลายกลายเป็นปุ๋ยเกิดจุลินทรีย์ ส่งเสริมให้ดินร่วนซุย และยังคลุมหน้าดินให้ด้วย กับอีกเหตุผลหนึ่งการใช้ยาฆ่าหญ้ามีโอกาสที่สารพิษจะปนเปื้อนลงสู่ลำห้วยแม่ต้าและแม่น้ำยมซึ่งเป็นลำน้ำสาธารณะ

แต่ทั้งนี้ก็มิใช่ว่าในสวนจะไม่พบแมลงเสียเลยต้องใช้การสำรวจ สังเกตดูการแพร่ก่อนว่ามีกี่มากน้อย ที่พบก็มีแมลงวันทอง จะใช้กับดักทากาวแขวนไว้ตามกิ่งส้ม ถ้าเป็นหนอนชอนใบ เพลี้ยต่างๆ ต้องใช้การป้องกัน หากระบาดมากๆ จำเป็นต้องใช้ยาเท่าที่จำเป็น ส่วนโรคโดยเฉพาะเชื้อราต้องใช้ยาป้องกัน

เคล็ดลับ ในการผลิตส้มเขียวหวานของหนุ่มแพร่เจ้าของสวน ที่เปิดเผยจากการได้ปฏิบัติซ้ำๆ จนมั่นใจว่า

  1. การทำให้ส้มเขียวหวาน ผลิดอก ติดผลจำนวนมากๆ ได้ผลขนาดใหญ่ ต้องตัดแต่งกิ่งทุกปี โดยเฉพาะกิ่ง-ก้าน ที่ให้ผลผลิตแล้ว ต้องตัดแต่งแล้วจะแตกยอดออกมาใหม่ ยอดจะใหญ่ สมบูรณ์ดี

การตัดแต่งกิ่งถือเป็นการจัดทรงพุ่มไปด้วยในตัว “ดูซิครับ ต้นส้มอายุ 15 ปี ทรงพุ่มไม่เกิน 2 เมตร ดูแล้วมันโปร่ง โล่ง  แสงแดดส่องถึงโคนต้นและพื้นที่โดยรอบทรงพุ่ม โรคและแมลงจึงน้อยไปด้วย” คุณยะ กล่าว

  1. ส้มเขียวหวานจะมีรสเลิศได้ ธาตุอาหาร น้ำ ดินต้องถึง การให้ปุ๋ยซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักแล้ว ก็ต้องให้ธาตุอาหารรองและอาหารเสริม อย่างแคลเซียม-โบรอน และยังต้องให้ปุ๋ยทางใบ คุณยะ บอกว่า ใช้ปุ๋ย สูตร 0-52-34 ฉีดพ่น น้ำต้องให้อย่างเพียงพอ ดินต้องได้รับการปรับปรุงบำรุงทุกปี ที่สวนนี้ใช้ปุ๋ยสำหรับบำรุงดิน
พาเกษตรกรไปศึกษาดูงาน ส้มเขียวหวาน

เก็บผลอย่างถูกวิธี

จะไม่ได้รับความเสียหาย ราคาไม่ตก

คุณยะ ขยายความให้ฟังว่า ส้มเขียวหวานที่เก็บผลได้ นอกจากการนับอายุแล้ว ยังพิสูจน์ได้จากการดูสีผิวของผลส้มที่เขียวเข้มมาเป็นสีเขียวสะบันงาหรือกระดังงาไทย หรือผิวสีเขียวอมเหลือง หรือดูที่ตุ่มน้ำมันจะออกห่างๆ หน่อย จะสัมผัสจากผิวผลก็ได้จากที่ผิวแข็งๆ จะลดลง ใช้มือบีบจะออกนิ่ม และที่พิสูจน์อย่างได้ผลแน่นอนก็คือ เก็บผลมาลองชิมทุกต้นว่าได้รสชาติตรงตามที่ต้องการ นั่นคือ รสหวานอมเปรี้ยว (รสเปรี้ยวเพียงเล็กน้อย)

ส่วนวิธีการเก็บนั้น คุณยะ บอกก็มีเคล็ดลับนะ หากเก็บไม่ถูกวิธีผิวผลจะมีรอยตำหนิ ขายไม่ได้ราคา เคล็ดลับที่ว่าอย่างเช่น คนที่จะมาเก็บผลส้มต้องไม่ไว้เล็บยาว เพราะเมื่อบิดผลแล้วรอยเล็บจะปรากฏบนผิวส้ม ถ้านำเข้าเครื่องคัดขนาดจะเห็นรอยที่ผิวส้ม อย่างนี้เสียราคา หรือถูกคัดออกและก็ต้องใส่ถุงมือจะช่วยได้มาก เวลาเก็บจะใช้วิธีการบิดผลเท่านั้น ไม่เด็ด ไม่ดึง ไม่กระชาก การบิดผลจะไม่เกิดรอยแผลที่ขั้ว แต่หากเด็ด ดึง กระชาก จะเกิดการแยกออกจากส่วนเนื้อ ขั้วจะฉีกเป็นแผล และที่สำคัญหากกำลังเก็บส้มเกิดฝนตกลงมาต้องงดเก็บ หากเก็บจะเกิดผลเสียอย่างมาก ผิวผลจะตายนึ่ง

แม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน เป็นแหล่งน้ำช่วยในการเกษตร

ผลผลิตส้มเขียวหวานและตลาด

หนุ่มแพร่เจ้าของสวนส้ม สาธยายให้ฟังว่า เมื่อปีที่แล้วได้ผลผลิต 35 ตัน จากจำนวนต้นส้มเขียวหวาน 300 ต้น ขายได้เงิน 320,000 บาท และคาดการณ์ปีนี้ว่าจะได้ผลผลิตน้อยกว่าปีก่อนก็ราวๆ 30 ตัน หากขายได้ราคาเท่าปีก่อน คาดว่าจะได้เงินประมาณ  300,000 บาท เหตุที่ได้น้อยกว่าปีก่อน เพราะปีนี้สภาพอากาศร้อน แล้งยาวนาน ต้องให้น้ำในปริมาณที่มากกว่าเดิม ผลส้มเขียวหวานจึงไม่ร่วงหล่นมากนัก ขณะที่แปลงอื่นๆ ที่ทั้งดอกและผลอ่อนๆ หลุดร่วงเสียหายกันเป็นส่วนใหญ่

จากการดูแลเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนดังที่ได้นำเสนอไป ผลผลิตส้มเขียวหวานจากสวนคุณยะจึงได้ผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ ได้น้ำหนักดี รสเลิศ ขายผลผลิตได้ทุกผลไม่มีตกค้าง จึงมีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท จากต้นส้มเขียวหวาน 300 ต้น ถ้าเทียบกับเพื่อนๆ เกษตรกรด้วยกันที่ปลูกส้มเขียวหวาน แต่การดูแลน้อยกว่าในขนาดพื้นที่เท่ากัน ขายได้ 30,000 บาท คุณยะ บอกว่า ถ้าเราดูแลเขาดี ดิน น้ำ ปุ๋ย ให้อย่างเพียงพอ ก็จะได้ผลผลิตที่คุ้มค่าการลงทุน ลงแรง

คุณยะ ยังแจกแจงถึงต้นทุนในการผลิตส้มเขียวหวานของแต่ละปี ทั้งค่าสูบน้ำ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าจ้างแรงงาน ฯลฯ โดยสรุปตัวเลขรวบยอดให้ฟังว่า ส้มเขียวหวาน 1 ต้น ให้ผลผลิตขายได้เงิน 1,000 บาท ต้นทุนการผลิตที่ลงทุนไปเพียงต้นละ 200 บาท กำไรต้นละเท่าไร…? มีส้มเขียวหวานทั้งหมด 300 ต้น ก็เป็นเงินปีละ…? หรือเดือนละ…? นี่เฉพาะรายได้จากการผลิตส้มเขียวหวานเพียงรายการเดียวนะ ยังไม่ได้รวมถึงผลผลิตอื่น ส้มโอทองดี มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข่าเหลือง ฟักทอง รายได้ของเกษตรกรวัย 25 ปี ที่สามารถสร้างฐานะได้อย่างมั่นคง เพราะความขยันหมั่นเพียรที่ชาวบ้านพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า “…ยะ มันทำจริง”

สะพานรถไฟประวัติศาสตร์ จุดกำเนิดระฆังลูกระเบิด

ตลาด ทุกๆ ปี คุณยะจะเก็บผลผลิตส้มเขียวหวานแล้วนำไปขายยังจุดรับซื้อ (ล้ง) นอกพื้นที่ได้ในราคาตามตลาด แต่ปีนี้คุณยะบอกว่าอาจจะปรับเปลี่ยนจากที่ต้องนำไปขายเอง หากแหล่งรับซื้อจะเข้าไปเก็บผลเอง แล้วชั่งเป็นกิโลกรัมตามน้ำหนัก วิธีการนี้คุณยะบอกว่าดีกว่าการขายเหมาทั้งสวน ซึ่งมีกลไกราคาที่ไม่ได้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรที่ทุ่มเทผลิตส้มเขียวหวานเชิงคุณภาพมากนัก

เรื่องตลาดนี้ คุณยะ บอกว่า ลำพังตนเองแค่บริหารเวลาในการดูแลสวนส้มเขียวหวานและพืชอื่นๆ ก็ไม่มีเวลาพอที่จะติดต่อกับตลาดรับซื้อ แต่มีผู้ช่วยด้านการจัดการตลาดโดยเฉพาะ คือป้าของคุณยะ

คุณป้าสมจิตร ต่อมแก้ว เป็นทั้งเกษตรกรและผู้ทำการตลาดส้มเขียวหวานให้แก่ครอบครัวต่อมแก้ว มาตั้งแต่อายุ 20 ปี ได้เล่าย้อนไปเมื่อครั้ง “ยะ” อยู่ระหว่างการเรียนและทำสวนส้มเขียวหวานควบคู่กันไปด้วย เมื่อผลผลิตออกมาป้าสมจิตร จะเป็นคนจัดการขายให้ โดยติดต่อพ่อค้าคนกลางเข้ามาซื้อ ก็มี คุณจำเนียร ลือทอง เป็นพ่อค้าคนหนึ่งที่มารับซื้อ ต่อมาทั้ง 2 คน แต่งงานกันเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ทั้งป้าสมจิตรและคุณลุงจำเนียร ช่วยกันทำการตลาดขายส้มทั้งของตนเองและของคุณยะ บรรทุกใส่รถไปขายตามตลาดกลางค้าส่ง เช่น ที่ตลาดสี่มุมเมือง ขายที่นี่เป็นหลัก รวมทั้งที่ตลาดไท (รังสิต) จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น ก็ไป ตลาดแห่งใดขายได้ราคาดีก็จะไปที่นั่น แต่การทำการตลาดลักษณะนี้ ป้าสมจิตร บอกว่า มีค่าใช้จ่ายสูง ค่าน้ำมันรถ ค่าที่จอดรถ ค่าตลาด ทั้งต้องขับรถไปไกลๆ ขายหมดคันรถ จึงจะได้กลับแพร่ จึงได้เปลี่ยนมาเป็นการขายในจังหวัดแพร่และจังหวัดใกล้เคียง คัดขนาดส้มตามเบอร์ที่กำหนดส่งขายให้ล้งตามราคาตลาด ราคาขายก็ได้จากการโทรศัพท์ติดต่อกับเครือข่ายก็จะรู้ว่าแหล่งใดรับซื้อราคาเท่าไร

สำหรับปีการผลิตส้มเขียวหวาน ปีนี้ป้าสมจิตรคาดการณ์ภาวะตลาดว่า จะมีราคาสูงจากปริมาณส้มที่จะออกสู่ตลาดมีน้อย เนื่องจากภาวะแล้งตอนต้นปี และมีแมลงเข้ามาทำลายผลผลิตเสียหาย “อยากเห็นการตั้งจุดรับซื้อส้มเขียวหวานกลับมา ณ บ้านแม่หลู้ อีกครั้งเหมือนอดีต ที่สวนส้มล้มหายตายจากไป ก็เนื่องจากตอนนั้นผลผลิตลดลง ดูแลยาก ราคาตกต่ำ เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่น แต่ปัจจุบันกำลังมีการขยายพื้นที่ปลูกส้มมากขึ้น ทั้งตำบลแม่ปาน ตำบลบ้านปิน คาดว่าภายใน 2-3 ปี ผลผลิตส้มเขียวหวานจะออกมามาก เป็นการฟื้นตัวของส้มแพร่ขึ้นมาใหม่”  ป้าสมจิตร กล่าว

คุณยะ ได้ฝากข้อคิดจากประสบการณ์มายังเพื่อนๆ เกษตรกรหรือผู้ที่วางแผนจะทำสวนส้มเขียวหวานว่า…

  1. ใจต้องมาก่อน ใจถึง ใจสู้ เพราะต้องใช้การตัดสินใจ ต้องลงทุนทั้งเงิน แรงงาน ความรู้ จึงต้องเอาใจใส่ ขยัน อดทน ผลผลิตที่จะเกิดขึ้นต้องคาดหวังว่าจะต้องได้ 100%
  2. 2. ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะความรู้พื้นฐานของส้มเขียวหวาน ตัวคุณยะเองบอกว่าที่ผ่านมาได้ไปศึกษาดูงานสวนส้มเขียวหวานหลายจังหวัด รวมทั้งศึกษาจากเอกสารคู่มือ สื่อต่างๆ อยู่เป็นประจำ
  3. จังหวัดแพร่ มีความเหมาะสมอย่างมากๆ ทั้งสภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ หากได้รับการส่งเสริมให้ขยายพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานก็ขอให้มาทุ่มเทปลูกส้มกันเถอะ

กรมวิชาการเกษตร (2545) รายงานไว้ว่า พื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานควรสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 750 เมตร เมื่อพิจารณาลักษณะพื้นที่แล้ว จังหวัดแพร่แม้จะมีพื้นที่เป็นป่าไม้ ภูเขา เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่พื้นที่ราบมีความสูงจากระดับน้ำทะเลที่ 120-200 เมตร กับอีก 2 ประการ คือ สภาพภูมิอากาศก็ดี เหมาะสม จังหวัดแพร่มีอุณหภูมิเฉลี่ย 5 ปีที่ 27 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝนที่ 1,163 มิลลิเมตร มีความเหมาะสมกับการปลูกส้มเขียวหวาน เพราะส้มเขียวหวานเป็นไม้ผลกึ่งเมืองร้อน ไม่ชอบอากาศที่ร้อนจัด

คุณยะ ได้กล่าวถึงการส่งเสริมให้มีการขยายพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวาน ในจังหวัดแพร่มีหน่วยงานหลักคือ สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอ

เรามารับทราบแนวนโยบายการส่งเสริมการปลูกส้มเขียวหวานของสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่กันครับ

ส้มเขียวหวานเมืองแพร่ กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

คุณประภาส สานอูป หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต จากสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ ได้กล่าวว่า แพร่เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานมากติด 1 ใน 5 ของจังหวัดทางภาคเหนือ และปลูกกันมากในเขตอำเภอวังชิ้นและอำเภอลอง สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ โดยกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต ได้รับงบประมาณจากงบพัฒนาจังหวัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย เพื่อพัฒนาสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน กิจกรรม พัฒนาศักยภาพการผลิตไม้ผลให้มีคุณภาพของจังหวัดแพร่ เพื่อพัฒนาส้มเขียวหวานของจังหวัดแพร่ ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ 2563 จังหวัดได้ดำเนินการในพื้นที่อำเภอวังชิ้น โดยมีเป้าหมายเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 50 ราย ซึ่งมีกิจกรรม ดังนี้

  1. อบรมเกษตรกร โดยเน้นในเรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) หมายถึง แนวทางในการทำการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด มีการตรวจรับรองตามมาตรฐานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  2. การศึกษาดูงานสำหรับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ ได้นำเกษตรกรไปศึกษาดูงาน ณ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรผู้ปลูกส้มที่ประสบความสำเร็จ ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ ตลอดจนดูงานเรื่องการคัดเกรด การบรรจุภัณฑ์ และการตลาดส้ม
  3. การสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ ได้สนับสนุนกล่องบรรจุส้ม เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ส้มเขียวหวานของอำเภอวังชิ้น ขนาดบรรจุ 3 กิโลกรัม และ 5 กิโลกรัม
  4. การจัดงานวันส้มเขียวหวาน เชื่อมโยงการผลิตและการตลาด ในงานจะมีการแสดงนิทรรศการ การจัดแสดงและจำหน่ายส้มเขียวหวาน และผลผลิตทางการเกษตร การประกวดส้มเขียวหวาน และการประกวดเทพีส้มเขียวหวาน ซึ่งเบื้องต้นได้กำหนดจัดงาน ในช่วงวันที่ 31 ตุลาคม-1 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 2 วัน 2 คืน

อีกงานหนึ่งซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จังหวัดแพร่มีแปลงใหญ่ส้มเขียวหวาน ในปี 2560 จำนวน 1 แปลง ที่อำเภอวังชิ้น ปี 2561 อำเภอลอง 1 แปลง ปี 2562 อำเภอลอง 1 แปลง และปี 2563 อำเภอวังชิ้น 2 แปลง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มทำการผลิต การบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อให้เกิดการรวมตัวกันผลิต และรวมกลุ่มเพื่อจัดจำหน่าย โดยมีตลาดรองรับแน่นอน ตลอดจนเพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน ภายใต้การบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ภายใต้กิจกรรม

– การถ่ายทอดความรู้/การจัดเวทีวิเคราะห์

– การจัดแปลงเรียนรู้

งานส่งเสริมการผลิตส้มเขียวหวานเมืองแพร่ นับเป็นความท้าทายต่อภารกิจของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำการเกษตรแบบเดิมๆ ลดการพึ่งพาสารเคมีของเกษตรกร เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพของผลผลิต เมื่อผลผลิตเป็นที่ยอมรับ ความต้องการของตลาดจะเปิดกว้างเอง พี่น้องเกษตรกรผู้ผลิตก็จะมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

ท่านที่สนใจในรายละเอียดมากกว่านี้ ติดต่อ คุณสุริยะ ต่อมแก้ว บ้านเลขที่ 47/9 หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านปิน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ 54150 โทร. 062-278-2095 หรือติดต่อสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ โทร. 054-511-214