กลุ่มเพาะเห็ดบ้านท่าช้าง พรหมพิราม ทำก้อนเชื้อเห็ดคุณภาพ จากขี้เลื่อยยางพารา

ก้าวเข้าเกษตรยุค 4.0 แล้ว เกษตรกรรุ่นเก่าที่ยังคงใช้ภูมิปัญญาในการบริหารจัดการแปลงเกษตรก็ยังคงมีอยู่ แม้จะค่อยๆ จางลงไป แต่ก็มีเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่เรียกกันว่า ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ก้าวเข้ามาทดแทน สามารถบริหารจัดการด้วยการนำภูมิปัญญาผนวกกับนวัตกรรมใหม่ๆ ในภาคเกษตร สานต่อทำให้แปลงเกษตรได้รับการต่อยอดและมีการพัฒนาไม่ใช่น้อย

คุณวิวัฒน์ ฟักทอง
คุณวิมล ฟักทอง

ที่ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก มีเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่รวมตัวกันก่อตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านท่าช้างขึ้น จดทะเบียนเมื่อปี 2549 เริ่มจากเกษตรกรจำนวน 14 คน ปัจจุบันเพิ่มจำนวนเป็น 73 คน

ขี้เลื่อยไม้ยางพารา วัตถุดิบที่ทำให้ก้อนเชื้อเห็ดมีคุณภาพ

ในจำนวนนี้ แท้ที่จริงเริ่มต้นจาก คุณวิวัฒน์ ฟักทอง เกษตรกรหนุ่มที่ทำงานประจำ แต่สนใจการทำการเกษตร โดยเฉพาะการเพาะเห็ด เขาใช้เวลาว่างในการศึกษาการเพาะเห็ด ถึงกับสมัครไปเรียนรู้กับกลุ่มเพาะเห็ดหลายแห่งมาก่อนหน้า ในที่สุดจึงตัดสินใจควักเงินเก็บทำโรงเรือนเพาะเห็ดขึ้น 1 โรง ขนาด 4×4 เมตร ซื้อก้อนเชื้อเห็ดมาเพาะ หมดเงินก้อนแรกไปกว่า 50,000 บาท แล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ

คุณวิวัฒน์ บอกว่า ก้อนเชื้อเห็ดที่ซื้อมาทั้งหมด ไม่เปิดดอกเห็ดให้ เพราะเชื้อไม่เดิน เมื่อรู้สาเหตุของปัญหา จึงคิดเพาะก้อนเชื้อเห็ดเอง พยายามทดลองและศึกษา ลองผิดลองถูกนานเกือบ 2 ปี ในที่สุดก็ได้ก้อนเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพ

การอบลมร้อนเห็ดหูหนู

เพราะเคยถูกหลอกจากการลงทุนซื้อก้อนเชื้อเห็ดมาเพาะก่อนหน้านี้ การทำก้อนเชื้อเห็ดเอง จึงเป็นก้อนเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพ เปอร์เซ็นต์การให้ดอกครบทุกก้อน

สูตรก้อนเชื้อเห็ดของคุณวิวัฒน์ มีวัตถุดิบที่ไม่แตกต่างจากแหล่งอื่น คือ ปูนขาว ยิปซั่ม เกลือ รำละเอียด แต่ที่แตกต่างก็คือ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ที่ต้องสั่งตรงมาจากโรงเลื่อยไม้ที่ภาคใต้ และคุณวิวัฒน์ เชื่อว่า ขี้เลื่อยไม้ยางพารานี่แหละ คือวัตถุดิบที่ทำให้ก้อนเชื้อเห็ดเพาะเห็ดได้อย่างมีคุณภาพ

เห็ดหูหนูดำ

เริ่มต้นการเพาะเห็ด จากเห็ดนางฟ้า และเริ่มพัฒนาเพาะเห็ดหูหนู เห็ดกระด้าง เห็ดนางรม เห็ดขอน และเห็ดโคนญี่ปุ่น

จากโรงเรือนเพียงโรงเดียว เมื่อเก็บผลผลิตได้และนำไปขายตลาดชุมชน ก็ทำให้มีรายได้เข้าครัวเรือนเกือบทุกวัน ทำให้ต้องเพิ่มจำนวนโรงเรือนมากขึ้น โดยคุณวิวัฒน์ เพิ่มขนาดของโรงเรือนยาวต่อเนื่องกันขนาดความยาว 50 เมตร กว้าง 8 เมตร

โรงผลิตเครื่องดื่มที่ได้มาตรฐาน

เมื่อถามถึงความชื้นภายในโรงเรือน อุณหภูมิภายในโรงเรือนมีความจำเป็นมากเพียงใด คุณวิวัฒน์ ตอบด้วยท่าทีสบายว่า ไม่จำเป็นต้องวัดอุณหภูมิหรือความชื้นภายในโรงเรือนด้วยอุปกรณ์การวัดใดๆ ให้ใช้ตัวเองเป็นหลัก หากคนเดินเข้าไปในโรงเรือนแล้ว ไม่รู้สึกอึดอัด ไม่ร้อน ไม่อบอ้าว นั่นหมายถึง อุณหภูมิภายในโรงเรือนใช้ได้ และเห็ดก็สามารถเจริญเติบโตในอุณหภูมิเช่นนั้นได้เช่นกัน กรณีที่อากาศร้อนอบอ้าวมากๆ อาจเปิดมินิสปริงเกลอร์ที่ติดไว้ด้านบนของโรงเรือน เพื่อช่วยระบายความร้อนภายในโรงเรือนออกไป

เห็ดหัวลิง หรือเรียกอีกชื่อว่า เห็ดภู่มาลา

กิจกรรมในแต่ละวันของการเพาะเห็ด ทุกเช้าจะต้องเข้ามาเก็บเห็ดก่อน เพื่อนำดอกเห็ดที่แก่เก็บไปขาย จากนั้นรดน้ำเห็ด โดยเปิดสปริงเกลอร์รดให้เปียกเห็ดทุกก้อน ใช้เวลาประมาณ 50 นาที หรือ เปิดน้ำจากสายยางเดินรดน้ำเห็ดไปเรื่อยๆ ใช้เวลาเพียง 15 นาที เท่านั้น ค่าใช้จ่ายจากการรดน้ำเห็ดต่อเดือนประมาณ 400 บาท จากนั้นเปิดดอกในก้อนเพาะเชื้อเห็ดที่มีความพร้อม โดยปกติ หลังเก็บเห็ด จำเป็นต้องพักก้อนเชื้อเห็ด 10-15 วัน จึงจะเปิดดอกเห็ดรอบต่อไป

เวลาว่างหลังจากนั้น จึงเพิ่มมูลค่าด้วยการ “แปรรูป”

เห็ดเป๋าฮื้อ

เมื่อเริ่มก่อตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนฯ คุณวิวัฒน์ จึงให้บริการสมาชิกด้วยการรับซื้อเห็ดนางฟ้า เพื่อรวบรวมนำไปขายทั้งขายส่งและขายปลีก วันละประมาณ 100-120 กิโลกรัม และประกันราคาให้กับสมาชิกที่นำมาส่งให้กับวิสาหกิจชุมชนฯ ในราคารับซื้อกิโลกรัมละ 50 บาท

“การเพาะเห็ด ไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ย สำคัญตรงที่การควบคุมความชื้นให้ได้ และโรงเรือนไม่จำเป็นต้องมืด แค่พอมีแสงรางๆ ก็พอ หากมืดเกินไป จะทำให้เห็ดมีสีซีดจาง”

เห็ดโคนญี่ปุ่น

เพื่อให้สมาชิกของกลุ่มมีรายได้ จึงเริ่มผลิตก้อนเชื้อเห็ดเพื่อจำหน่ายเอง โดยก้อนเชื้อเห็ดที่ผลิตต้องรอให้เดินเส้นใยเห็ดแล้ว 1 เดือน จึงจะจำหน่ายออก แต่เพราะก้อนเชื้อที่ได้คุณภาพ ทำให้มีลูกค้าจำนวนมากออเดอร์ก้อนเชื้อเข้ามา แต่ความสามารถในการผลิตก้อนเชื้อต่อวัน ทำได้เพียงวันละ 1,000 ก้อน เท่านั้น ทำให้มียอดจองก้อนเชื้อยาวไปล่วงหน้า 2 เดือน ราคาก้อนเชื้อก็ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค จำหน่ายในราคาก้อนละ 8.50 บาท กรณีรับด้วยตนเอง แต่ถ้าถึงที่คิดราคาก้อนละ 9 บาท

เห็ดนางรมสีทอง

สมาชิกที่เข้ามาลงมือผลิตก้อนเชื้อ จะได้ค่าแรงวันละ 250 บาท ส่วนสมาชิกที่ไม่ได้เข้ามาทำงาน ก็รอรับปันผลรายปี

เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนหนึ่ง แนวคิดเรื่องการแปรรูปจึงเกิดขึ้น

เห็ดนางฟ้าภูฎาน

ในการดูแลโรงเรือนเห็ด การทำก้อนเชื้อ และ การแปรรูป คุณวิวัฒน์ มีผู้ช่วยมือฉกาจที่มีมุมมองและแนวคิดในการเพาะเห็ดที่เก่ง คือ คุณวิมล ฟักทอง ภรรยา ที่เริ่มฟูมฟักช่วยกันมาตั้งแต่เริ่มต้น จนปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ ได้รับการยอมรับให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. โดยมีคุณวิวัฒน์ เป็นประธานศูนย์ฯ

ระบบสปริงเกลอร์ให้น้ำ เมื่ออุณหภูมิโรงเรือนสูงขึ้น

ในส่วนการแปรรูป คุณวิวัฒน์ บอกว่า โดยทั่วไปการแปรรูปเห็ดจะเน้นไปที่กลุ่มคนรักสุขภาพ จึงมองตลาดที่ไปตรงกับผู้ประกอบการอื่น เริ่มจากการทำสแน็คเห็ด และมองหาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ โดยไม่ซ้ำกับผู้ผลิตรายอื่น ทำให้แนวคิดมาจบที่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากเห็ดหูหนู ซึ่งปกติจะผลิตจากเห็ดหลินจือ หรือเห็ดที่มีคุณค่าทางสารอาหารสูง โดยมองข้ามเห็ดหูหนูไป แต่เนื่องจากกลุ่มมองว่าเห็ดหูหนูมีคุณลักษณะเป็นวุ้น เมื่อทำให้เนื้อเห็ดหูหนูละเอียด รับประทานแล้วก็ยังมีความนุ่ม กรุบ ความรู้สึกเหมือนรับประทานวุ้นหรือรังนก

ก้อนเชื้อที่ได้รับการบรรจุเชื้อแล้ว อยู่ระหว่างรอให้เชื้อเดิน

ผลิตภัณฑ์ที่นำเห็ดหูหนูมาแปรรูป ประกอบด้วย น้ำเห็ดหูหนูขาวพร้อมดื่ม น้ำเห็ดหูหนูดำพร้อมดื่ม เครื่องดื่มเห็ดหูหนูขาวผสมวิตามินซี และอนาคตมีแนวคิดจะผลิตเจลเพิ่มพลังงานจากเห็ด สำหรับผู้ออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ซึ่งผู้สนใจสามารถซื้อได้ตามร้านค้าชุมชนใกล้เคียง หรือ ค้นหาสินค้าในเว็บขายสินค้าออนไลน์สำเร็จรูปหลายแห่ง

ใช้เครื่องกรอกแทนแรงงานคน

สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านท่าช้าง เป็นศพก.ของพื้นที่ และมีคุณวิวัฒน์ เป็นประธานศูนย์ฯ จึงยินดีให้ความรู้สำหรับผู้ที่สนใจงานเกษตร ติดต่อสอบถามเข้ามาได้ที่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านท่าช้าง หมู่ที่ 2 ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก หรือโทรศัพท์ (084) 622-5879 นัดหมายก่อนล่วงหน้า ยินดีให้การต้อนรับ