ไบโอเทค สวทช. ถ่ายทอดข้าวเหนียว “พันธุ์หอมนาคา” สู่เกษตรกรจังหวัดลำปาง

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และพันธมิตร พัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียว “หอมนาคา” ขยายผลสู่เกษตรกร ในพื้นที่อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพการผลิตข้าวคุณภาพตรงตามพันธุ์

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ไบโอเทค สวทช. โดย ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ ได้มีการทำงานร่วมกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรกรรมของประเทศ โดยเน้นด้านการพัฒนาพันธุ์พืชและการบริหารจัดการการผลิตที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช.

โดยปัจจุบันไบโอเทค สวทช. เป็นเลิศทางด้านนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์แนวอณูวิธี (molecular breeding) กับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าว ซึ่งเน้นพัฒนาพันธุ์ข้าวตามความต้องการของผู้ผลิต ผู้บริโภค และความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และเน้นพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค ที่ผ่านมา ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย อาทิ ข้าวพันธุ์เหนียวพันธุ์ธัญสิริน ข้าวเหนียว กข 6 ต้นเตี้ยต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง ข้าวน่าน 59 และ กข 18 ต้านทานโรคไหม้ ซึ่งเผยแพร่ให้เกษตรกรทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อความมั่นคงในการบริโภคข้าวเหนียวของพื้นที่ และลดปัญหามลพิษจากสารเคมี พันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง ที่ผลผลิตสูงซึ่งเผยแพร่ให้เกษตรกรในภาคใต้โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความมั่นคงด้านอาหาร

นอกจากนั้น เผยแพร่ให้เกษตรกรทั้งภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ซึ่งทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงน้อยลงและเพิ่มรายได้ สำหรับข้าวเหนียวหอมนาคา เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวใหม่ที่มีคุณสมบัติพิเศษเหนือข้าวเหนียวชนิดไม่ไวต่อช่วงแสงในปัจจุบัน เช่น ทนต่อน้ำท่วม ทนแล้ง ต้านทานโรคไหม้และขอบใบแห้ง มีความหอมและนิ่ม เป็นต้น

นอกจากนี้ ไบโอเทค สวทช. ยังได้ทำงานร่วมมือทั้งกับหน่วยงานภาครัฐ และมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งทำงานร่วมกับชุมชนในแง่ของการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมเอง และการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในแง่ของการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีไว้ใช้เองอีกด้วย

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา หัวหน้าทีมพัฒนาพันธุ์ข้าวของไบโอเทค ปัจจุบันรักษาการรองผู้อำนวยการไบโอเทค ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร

ด้าน ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา หัวหน้าทีมพัฒนาพันธุ์ข้าวของไบโอเทค ปัจจุบันรักษาการรองผู้อำนวยการไบโอเทค ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไบโอเทค สวทช. นำความเชี่ยวชาญทางด้านจีโนมและเครื่องหมายโมเลกุลมาใช้ในกระบวนการคัดเลือก (Marker-Assisted Selection, MAS) เพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้รวดเร็วและมีลักษณะตามความต้องการที่เกื้อกูลการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวของประเทศ เน้นไปที่ผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ผลิตเป็นหลักเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารแก่พื้นที่ที่บริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก โดยได้พันธุ์ข้าวเหนียวนาปีหลายสายพันธุ์ที่ตอบโจทย์ของเกษตรกร ปัจจุบันได้พัฒนาข้าวเหนียวที่เหมาะสำหรับนาปีและนาปรัง คือข้าวเหนียวสายพันธุ์ใหม่ “หอมนาคา” ซึ่งมีคุณสมบัติทนทานต่อภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ทนแล้ง และต้านทานต่อโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง นอกจากนี้ ยังมีลำต้นแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ขนาดต้นสูงปานกลาง ทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่าย สอดรับกับการทำนาสมัยใหม่และแนวโน้มการทำนาในอนาคตที่เครื่องจักรจะเข้ามาแทนที่

ดร.ธีรยุทธ กล่าวต่อว่า พันธุ์ข้าวเหนียวหอมนาคา มีคุณสมบัติเด่นคือ กลิ่นหอม และนุ่มเหนียวเมื่อหุงสุก สามารถปลูกได้ตลอดปี (ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง) เพราะเป็นข้าวไม่ไวแสง มีระยะเวลาในการปลูกประมาณ 130-140 วัน ให้ผลผลิตสูง โดยผลจากการทดลองปลูกพบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีผลผลิต 800-900 กิโลกรัม ต่อไร่ และภาคอีสานมีผลผลิตสูงถึง 700-800 กิโลกรัม ต่อไร่ สำหรับข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคานี้ ทาง ไบโอเทค สวทช. ได้ยื่นขอหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และได้รับการขึ้นทะเบียนพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรเรียบร้อยแล้ว

ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา มูลนิธิรวมใจพัฒนา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปี 2562 ได้มีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในการนำไปปลูกทดสอบในแปลงเกษตรกร ในพื้นที่จังหวัดลำปาง จังหวัดพะเยา และจังหวัดเชียงราย รวมพื้นที่ประมาณ 95 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 807 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยในการปลูกทดสอบครั้งนี้ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้วิธีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้มาตรฐานและตรงตามพันธุ์ โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวใช้เอง และเกิดการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมนาคาในอนาคต และในปี 2563 ได้มีการขยายผลการปลูกทดสอบร่วมกับสหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร จำกัด โดยจัดส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวหอมนาคาให้ทางสหกรณ์จำนวน 400 กิโลกรัม สามารถปลูกได้จำนวน 58 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมปลูกจำนวน 6 คน

ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา มูลนิธิรวมใจพัฒนา

ซึ่งทาง ไบโอเทค สวทช. ภายใต้โปรแกรมนวัตกรรมเกษตรยั่งยืน ได้ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร ดำเนินการอบรมเกษตรกรเรื่อง “การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี” โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรเข้าร่วมทั้งสิ้น 33 คน เพื่อสร้างความตระหนักและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการเพิ่มพูนและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเกษตรกร ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพการผลิตข้าวคุณภาพตรงตามพันธุ์ และมีการบริหารจัดการแปลงที่ดีนำไปสู่การได้รับมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices)

คุณธีรภัทร์ คำสม ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์ได้นำเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวหอมนาคาจากไบโอเทค สวทช. กว่า 400 กิโลกรัม มาปลูกในพื้นที่อำเภอห้างฉัตร รวมจำนวนกว่า 58 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ของสหกรณ์ห้างฉัตรฯ 8 ไร่ และกลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ รวม 50 ไร่ โดยผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในฤดูกาลแรกคาดว่าจะได้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี 10-15 ตัน เพื่อปลูกในฤดูถัดไป และข้าวเปลือก 20-25 ตัน

คุณธีรภัทร์ คำสม ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร จำกัด

“ข้าวเหนียวหอมนาคามีลักษณะเด่นของพันธุ์คือ ลำต้นเตี้ยแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่ายขึ้น ลดค่าแรงคนในการเก็บเกี่ยว และปลูกได้ 2 ครั้ง ต่อปี ทนต่อโรคได้ดี ที่สำคัญจากการทดลองนำข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคาที่เก็บเกี่ยวได้จากแปลงทดลองมาลองหุงกิน ยืนยันได้ถึงคุณภาพของข้าว เพราะหุงสุกแล้วมีความนุ่มหอมไม่ต่างจากพันธุ์ กข 6 ที่มีจุดเด่นเรื่องความหอมและนุ่มนาน”

คุณธีรภัทร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีเกษตรกรในพื้นที่ให้ความสนใจสอบถามถึงพันธุ์ข้าวหอมนาคาจำนวนมาก เพราะเห็นถึงลักษณะเด่นของพันธุ์ข้าวที่มีลำต้นเตี้ย ไม่หักล้มง่าย และผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างดี ทำให้สหกรณ์เตรียมวางแผนขยายผล โดยจะถ่ายทอดให้ความรู้เกษตรกรในพื้นที่ตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับถ่ายทอดการผลิตจากทีมวิจัย สวทช. และเครือข่าย เพื่อกระจายเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรที่สนใจนำพันธุ์ข้าวเหนียวหอมนาคาไปปลูก เมื่อได้ผลผลิตแล้ว มีแผนวางจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุง โดยเกษตรกรที่เป็นสมาชิกจำนวนหนึ่งสามารถนำข้าวมาสีที่โรงสีของสหกรณ์เพื่อจำหน่ายได้เลย โดยในเบื้องต้นวางจำหน่ายข้าวเปลือกราคา 30 บาท ต่อกิโลกรัม และข้าวสาร 35 บาท ต่อกิโลกรัม ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ สหกรณ์การเกษตรห้างฉัตร จำกัด โทร. (054) 269-062-3

………………………..

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปี (24 ฉบับ) ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น!คลิกดูรายละเอียดที่นี่