ส้มโอเมืองแพร่ ผลไม้ดี มีคุณภาพ จากอดีตถึงปัจจุบัน ตลาดยังตอบรับดี

ส้มโอเมืองแพร่ เคยเป็นข่าวคราวถูกเสนอผ่านสื่อกระแสหลัก และสื่อท้องถิ่นช่วงปี พ.ศ. 2557-2560 นั่นคือ ข่าวส้มโอกลิ่นคล้ายใบเตย มีรสชาติเหมือนมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งพบโดยบังเอิญเพียงต้นเดียวที่สวนของเกษตรกรบ้านน้ำจ้อม ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ ต่อมาส้มโอดังกล่าวได้ตั้งชื่อว่า ส้มโอหอมวิรุณ เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าของต้นส้มโอ ส้มโอหอมวิรุณ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาเพื่อขยายผล

คุณประภาส สานอูป นำเกษตรกรผู้เข้าอบรมไปศึกษาดูงาน

หากย้อนไปในอดีตกว่า 50 ปี ส้มโอเมืองแพร่มีการเพาะปลูกกันมาเมื่อก่อนปี พ.ศ. 2513 ส่วนจะเป็นส้มโอสายพันธุ์อะไรนั้นไม่ได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ผู้เขียนก็ได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกษตรกร รุ่นปู่ รุ่นย่าของชาวเมืองลองผู้ซึ่งปลูกส้มโอกันมาตั้งแต่เริ่มทำการเกษตรไม้ผลจากการสืบเสาะประวัติทราบว่า พ่อเลี้ยงวงศ์  ชมพูมิ่ง ชาวเมืองแพร่ ได้นำต้นพันธุ์ส้มโอขาวน้ำผึ้งมาปลูกไว้ที่สวนอำเภอลอง และได้แบ่งปันกิ่งพันธุ์ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่นนำไปปลูกขยายพันธุ์ต่อๆ กันไปจนแพร่หลาย

คุณประภาส สานอูป นำเกษตรกรผู้เข้าอบรมไปศึกษาดูงาน

ส้มโอเมืองลอง ปลูกกันมาไม่น้อยกว่า 40 ปี

โดยภาพรวมแล้ว จังหวัดแพร่มีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกส้มโอทุกอำเภอ แต่อำเภอลองมีพื้นที่ปลูกส้มโอมากที่สุดและมีคุณภาพดี สายพันธุ์ที่นิยมปลูกกันและเป็นที่ต้องการของตลาดก็อย่างเช่น ขาวใหญ่ ขาวน้ำผึ้ง ขาวแตงกวา ทองดี

ส้มโอเมืองลองได้รับการส่งเสริมจาก สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ ให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอมาเมื่อหลายปีก่อน โดยเฉพาะการแนะนำการวางระบบน้ำด้วยสปริงเกลอร์ การดูแลแปลงปลูกส้มโอ ปัจจุบันแปลงของเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมก็ยังเป็นสวนส้มโอที่มีความสมบูรณ์อยู่ ต้นส้มโอก็ยังคงยืนต้นมาจนถึง 40 ปี ผู้เขียนได้พูดคุยกับผู้บริหารของสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ เกี่ยวกับรูปแบบ แนวทางการส่งเสริม เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ รวมทั้งการตลาดส้มโอ ผู้เขียนขอนำมาเสนอไว้ในบทความนี้ก่อนจะไปสู่เรื่องเล่าจาก เกษตรกรต้นน้ำในพื้นที่อำเภลอง

คุณลุงจงศิลป์ ศีตลาภินันท์ เกษตรกรสวนส้มโอเมืองลอง

ส่งเสริมเกษตรกรเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพและรายได้

คุณประภาส สานอูป หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ (โทร. 054-511-214) ได้กล่าวถึงภาพรวมของส้มโอว่า ส้มโอเป็นไม้ผลเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่มีการปลูกกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีรสชาติและเป็นที่นิยมบริโภคของคนทั่วไป นอกจากนี้ ยังส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ สามารถนำเงินเข้าประเทศได้ปีละหลายสิบล้านบาท จนทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกส้มโอมากขึ้นทุกปี พันธุ์ส้มโอที่ปลูกอยู่ในประเทศไทยมีหลายพันธุ์ บางพันธุ์ก็มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่ปลูกคนละท้องที่ จึงเรียกชื่อแตกต่างกันไป พันธุ์ส้มโอที่ปลูกเพื่อการค้าแบ่งออกเป็น พันธุ์การค้าหลัก ได้แก่ ขาวพวง ขาวทองดี ขาวน้ำผึ้ง เป็นต้น พันธุ์การค้าเฉพาะแห่ง ได้แก่ ขาวแป้น ขาวหอม ขาวแตงกวา ขาวใหญ่ ทับทิมสยาม เป็นต้น

การวางระบบน้ำภายในสวนส้มโอของ คุณลุงจงศิลป์ ศีตลาภินันท์

จังหวัดแพร่ มีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศที่เหมาะสมสำหรับการปลูกไม้ผลหลากหลายชนิด สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ได้มีวิสัยทัศน์ให้จังหวัดแพร่เป็นเมืองผลไม้หลากหลายหรือเมืองผลไม้รวม ประกอบกับจุดแข็งของจังหวัดแพร่เป็นประตูสู่ล้านนา (ภาคเหนือตอนบน) เป็นเมืองชุมทางรถไฟ การขนส่งสินค้า การกระจายสินค้าเกษตร สามารถกระจายไปสู่จังหวัดอื่นๆ ได้ง่าย ตลอดจนอนาคตซึ่งจะมีรถไฟรางคู่ จากอำเภอเด่นชัยไปถึงจังหวัดเชียงราย ก็สามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ ปัญหาอุปสรรคที่ต้องรีบดำเนินการแก้ไข คือ ภาครัฐต้องหาแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มเติม เนื่องจากพื้นที่จังหวัดแพร่ประสบกับปัญหาภัยแล้งทุกปี ทำให้คุณภาพและปริมาณของผลผลิตไม่สม่ำเสมอ การขยายพื้นที่เพิ่มทำได้ยาก เพราะน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการผลิตไม้ผลคุณภาพ หากแก้ไขปัญหานี้ได้แล้ว จะทำให้เกษตรกรมีรายได้และความเป็นอยู่ที่มั่นคงและยั่งยืนแน่นอน

การจัดการสวนที่สะอาดสะอ้าน

คุณประภาส ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จังหวัดแพร่มีพื้นที่ปลูกส้มโอ 262 ไร่ ปลูกมากที่อำเภอลอง ส้มโอที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ พันธุ์ขาวแตงกวา พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง และพันธุ์ทองดี โดยพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการปลูกส้มโอและมีชื่อเสียงของจังหวัดแพร่ ได้แก่ พื้นที่ปลูกส้มโออำเภอลอง พันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกส่วนใหญ่ คือพันธุ์ขาวแตงกวา ขาวน้ำผึ้ง และพันธุ์ทองดี โดยจะเริ่มให้ผลผลิตระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคมของทุกปี โดยตลาดการค้าส่วนใหญ่ส่งจำหน่ายไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และตลาดภายในจังหวัด

แปลงส้มโอขาวน้ำผึ้ง

การส่งเสริมการผลิตส้มโอจังหวัดแพร่ ปี 2563

คุณประภาส เปิดเผยว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาส้มโอจังหวัดแพร่ ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมผลักดันการส่งเสริมการผลิตส้มโอ ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย เพื่อพัฒนาสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ในการพัฒนาศักยภาพการผลิตให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ส้มโอของเกษตรกรจังหวัดแพร่ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

เนื้อกุ้งสีเหลืองอมน้ำตาลอ่อน หรือสีคล้ายน้ำผึ้ง

ส้มโอ เป็นทางเลือกอีกพืชหนึ่ง ที่มีเกษตรกรปลูกอยู่แล้ว และจังหวัดแพร่ได้มีแนวทางการพัฒนาและการปลูกส้มโอคุณภาพดี ดังนี้

  1. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสวนส้มโอเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น การจัดทำทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ การเพิ่มคุณภาพ โดยให้แต่ละสวนผลิตส้มโอที่ได้มาตรฐานใกล้เคียงกันหรือมาตรฐานเดียวกัน ลดต้นทุนการผลิต การใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และการจัดหาตลาดรองรับ
  2. 2. สร้างสวนส้มโอใหม่ให้เป็นแปลงเรียนรู้เพิ่มขึ้นอีก 8 แปลง แปลงละ 1 ไร่ โดยใช้พันธุ์ขาวแตงกวา มีการจัดทำระบบน้ำให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรรายอื่นๆ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และมีการแจกกล้าพันธุ์ส้มโอให้กับเกษตรกรที่เข้ารับการอบรม จำนวน 800 ราย รายละ 4 ต้น รวมทั้งหมด 3,200 ต้น เพื่อปลูกภายในบริเวณสวนหลังบ้านหรือพื้นที่ที่เหมาะสมให้เกษตรกรได้เรียนรู้ ฝึกปฏิบัติให้เกิดทักษะความชำนาญ และสามารถขยายพื้นที่ปลูกในอนาคต
ดอกส้มโอที่สมบูรณ์

โดยมีกิจกรรม ดังนี้

  1. กิจกรรมอบรมเกษตรกร จำนวน 800 ราย โดยเชิญวิทยากรจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ และวิทยากรเกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จ มีประสบการณ์ในด้านนี้ มาถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร
  2. 2. กิจกรรมศึกษาดูงาน นำเกษตรกร จำนวน 80 ราย และนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จำนวน 20 ราย ไปศึกษาดูงานการผลิตและการตลาดส้มโอ เมื่อวันที่ 24-25 กันยายน 2563 ณ แปลงใหญ่ส้มโอตำบลดอนแฝก อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม สวนส้มโอไทยทวี และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย และแปลงใหญ่ส้มโอตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อให้เกษตรกรได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ศึกษาเรียนรู้จากเกษตรกรที่ปลูกส้มโอในแหล่งที่มีชื่อเสียงของประเทศ
  3. การจัดทำแปลงเรียนรู้ ในพื้นที่ 7 อำเภอ 8 แปลง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกรที่ปลูกส้มโอในพื้นที่อำเภอนั้นๆ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำ
แผงขายส้มโอเจ๊นก บ้านปิน ริมทางหลวงสายแพร่-ลอง

มาถึงเรื่องเล่าจาก เกษตรกร กูรู ด้านส้มโอของเมืองลอง

คุณลุงจงศิลป์ ศีตลาภินันท์ เป็นเกษตรกรรายแรกๆ ของเมืองลอง ที่ปลูกส้มโอโดยได้กิ่งพันธุ์มาจากพ่อเลี้ยงวงศ์ ชมภูมิ่ง ปัจจุบัน คุณลุงจงศิลป์ ยังมีร่างกายเข้มแข็ง เรี่ยวแรงดี แม้จะมีอายุถึง 80 ปีแล้วก็ตาม ช่วงอายุการเป็นเกษตรกรของคุณลุงจงศิลป์ อยู่กับสวนเกษตรไม้ผลมาตลอด นอกจากส้มโอแล้วก็ยังมีมะนาว กล้วย ลองกอง อะโวกาโด

คุณลุงจงศิลป์ อยู่บ้านเลขที่ 90/12 หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ โทร. 089-516-0975 ได้เล่าให้ฟังว่า เป็นชาวจังหวัดสมุทรสาคร แต่มาลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวร่วมกับ คุณป้าเสมอใจ ศีตลาภินันท์ ชาวจังหวัดอุทัยธานี มาประกอบอาชีพช่างยนต์ที่อำเภอลอง แต่ก็สนใจการเกษตร ได้ซื้อที่สวนไว้แปลงหนึ่ง แต่ในสวนมีต้นส้มโอติดมา 1 ต้น (สายพันธุ์ปัตตาเวีย แต่ต้นได้ตายไปแล้ว) คิดว่าให้ผลผลิตดี น่าจะเพิ่มพื้นที่ปลูก จึงได้นำต้นพันธุ์ส้มโอขาวน้ำผึ้งมาจากจังหวัดสมุทรสาคร ลงปลูกในพื้นที่ 10 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2525 และให้ผลผลิตดีมาจวบจนถึงปัจจุบัน

ส้มโอพันธุ์ขาวพวงติดผลดก

สวนส้มโอของคุณลุงจงศิลป์ก็ได้รับการส่งเสริมจาก สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ ในการวางระบบน้ำจ่ายน้ำผ่านหัวสปริงเกลอร์ และให้คำแนะนำการดูแลสวน ซึ่งคุณลุงจงศิลป์ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการดูแลส้มโอให้อยู่ยั่งยืน มาถึง 40 ปี ว่า ตั้งแต่เริ่มต้นปลูก ไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องสารเคมี ได้แต่ผลิตสารชีวภาพจากธรรมชาติ ผลิตปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก มาใช้ในสวนส้มโอ

– ผลิตปุ๋ยหมัก, ปุ๋ยคอกใช้เองจากวัตถุดิบจำพวกขี้หมู ขี้ไก่ เศษวัชพืช ใบไม้แห้ง แกลบ และ พด.1 ใช้หว่านรอบโคนต้นส้มโอ ปีละ 2 ครั้ง ช่วงก่อนฤดูฝนและปลายฤดูฝน

– ผลิตน้ำหมักชีวภาพจากเศษปลา น้ำหมักหรือฮอร์โมนไข่ ทำน้ำหมักจากเศษผลไม้ มะละกอ กล้วย ฟักทอง เพื่อบำรุงต้นและผลส้มโอ

– ผลิตน้ำหมักสมุนไพรไล่แมลง ประกอบด้วยข่า ตะไคร้หอม ฝักคูน บอระเพ็ด

แต่ปัจจุบัน คุณลุงจงศิลป์ บอกว่า จากสภาพอากาศที่แปรปรวน เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 10-20 ปี เกิดโรคและแมลงมากขึ้น การพึ่งพาสารเคมีป้องกัน-กำจัดศัตรูของส้มโอเป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้ถูกนำมาใช้ผสมผสานกัน แต่ก็ไม่ได้ใช้อย่างพร่ำเพรื่อ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งภายในสวนและผู้บริโภค

คุณประภาส สานอูป ระหว่างการเยี่ยมเยียนสวนส้มโอของเกษตรกรอำเภอลอง

ส้มโอขาวน้ำผึ้งที่มีลักษณะเด่นของสวนลุงจงศิลป์

คุณลุงจงศิลป์ กล่าวอย่างมั่นอกมั่นใจว่า ผลผลิตส้มโอขาวน้ำผึ้งจากสวนของคุณลุงมีจุดเด่นหลายอย่าง

ถ้าดูจาก ลักษณะภายนอก

– ขนาดผล มีน้ำหนัก 1.5-2.0 กิโลกรัม พอๆ กันกับส้มโอจากแหล่งกำเนิดเดิม

– รูปร่างงามได้สัดส่วน ไม่บิดเบี้ยว มีความสม่ำเสมอของขนาดและรูปร่าง

– ความสมบูรณ์ ผิวเปลือกสะอาด สีผิวผลปกติ คือออกเขียว เมื่อแก่จัดจะเป็นสีเขียวแกมเหลือง

ลักษณะภายใน

– หากปอกเปลือกจะเห็นเนื้อกุ้งใหญ่ สีเหลืองอมน้ำตาลอ่อนหรือสีคล้ายน้ำผึ้ง เนื้อไม่ฟ่าม ไม่เละ

– รสชาติหวาน ไม่มีรสขม หากตัดมาจากต้นปอกกินได้เลย รสชาติอร่อย

– เมล็ดมีขนาดปานกลาง และมีจำนวนเมล็ดน้อยหรือไม่มีเมล็ดเลย

ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ของอำเภอลอง

การดูแลส้มโอให้มีคุณภาพและมีผลผลิตออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี

คุณลุงจงศิลป์ กล่าวว่า หากเราเข้าใจธรรมชาติของต้นส้มโอแล้วเราดูแลเขาอย่างดี ก็จะได้ผลผลิตที่ดีตลอดทั้งปี จะมากน้อยแตกต่างกันแต่ละฤดูกาล ก็ต้องเน้นในเรื่อง ดิน การให้น้ำ ปุ๋ย การตัดแต่งกิ่ง ดูแลศัตรูของส้มโออยู่ตลอดเวลา

ดิน เรื่องดินนี่ คุณลุงจงศิลป์ ให้ความสำคัญมากๆ ต้องมีการตรวจวิเคราะห์ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (หรือค่า pH) ทุกๆ 2 ปี เพราะส้มโอชอบดินที่มีค่า pH เป็นกรดอ่อนๆ จึงต้องปรับสภาพดินให้ค่า pH ที่ 6.5 อยู่ตลอด โดยอาศัยเครื่องวัดค่าดิน ซึ่งคุณลุงจงศิลป์บอกว่ามีประจำอยู่ที่สวน และคุณลุงจงศิลป์ยังอธิบายต่อว่า ค่า pH มีส่วนช่วยในเรื่องการดูดซับธาตุอาหารของรากต้นส้มโอมากทีเดียว

น้ำ คุณลุงจงศิลป์ อธิบายว่า ต้นส้มโอจะขาดน้ำไม่ได้ เพราะน้ำมีความสําคัญต่อการควบคุม การเปิดตาดอกหลังการอดน้ำ และยังช่วยในการเลี้ยงผลและขยายผล การให้น้ำจึงต้องให้ในช่วงเวลาและปริมาณที่ต้นส้มโอต้องการ โดยพิจารณาจากขนาดทรงพุ่ม แต่ไม่ควรให้น้ำเสียจนท่วมโคนต้น ซึ่งต้นส้มโอต้องการความชื้นจากน้ำ ความชื้นมีผลต่อจุลินทรีย์ในการช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุ คุณลุงจงศิลป์จึงบอกว่ากรณีต้นส้มโออยู่ในช่วงให้ผล จะต้องให้น้ำสม่ำเสมอ ช่วงฤดูร้อนจะให้ที่ 7 วัน/ครั้ง ในปริมาณมาก ส่วนฤดูหนาวปริมาณจะลดลงมา แต่ก่อนเก็บผลส้มโอช่วงเดือนสิงหาคมเป็นช่วงฤดูฝนก็ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ

ปุ๋ย คุณลุงจงศิลป์ บอกว่าให้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ ให้ปีละ 2 ครั้ง เพื่อช่วยปรับปรุงดิน ส่วนปุ๋ยเคมีเพิ่มธาตุอาหาร ให้ปีละ 4 ครั้ง คือ

– หลังเก็บผลส้มโอ ฟื้นฟูต้น จะให้ปุ๋ยที่มีค่าเรโช 2:2:1 (หมายถึง ไนโตรเจน N : ฟอสฟอรัส P 205 : โพแทสเซียม N 20)

– ช่วงก่อนออกดอก ให้ปุ๋ย สูตร 15-0-0

– ช่วงติดผลขนาดเล็ก ให้ปุ๋ยที่มีค่าเรโช 1:1:1

– และช่วงใกล้จะเก็บผล ให้ปุ๋ยที่มีค่าเรโช 1:1:2      

 

มีเคล็ดลับ จากลุงจงศิลป์

คุณลุงจงศิลป์ บอกว่า จะใส่กระดูกป่น โดยหว่านให้ปีละครั้งเพื่อเพิ่มแคลเซียม ทำให้ผลส้มโอมีเปลือกบาง น้ำหนักดี และก็ยังให้เกลือหรือขี้แดดนาเกลือ ซึ่งขี้แดดนาเกลือจะประกอบด้วย สาหร่าย ตะไคร่น้ำ ซากพืชซากสัตว์เล็กๆ ที่ย่อยสลายจับตัวกันเป็นแผ่นในนาเกลือกลายเป็นดินหนังหมา หรือขี้แดดนาเกลือ เมื่อนำมาใส่รอบๆต้นส้มโอ รากส้มโอจะตอบสนองต่อขี้แดดนาเกลือดีมาก ต้นส้มโอจะสมบูรณ์เติบโตดีและช่วยในเรื่องรสชาติของส้มโอ เพราะขี้แดดนาเกลืออุดมไปด้วยแร่ธาตุฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และจุลินทรีย์

การตัดแต่งกิ่ง …คุณลุงจงศิลป์ อธิบายว่าการตัดแต่งกิ่งส้มโอจะช่วยทำให้การออกดอกติดผลดีขึ้น เพราะต้นส้มโอได้รับแสงแดดทั่วถึง ลดการระบาดของโรคและแมลง กิ่ง ต้น แย่งอาหารกันน้อยลง ผลส้มโอจะสมบูรณ์ มีขนาดสม่ำเสมอ

โรคและแมลง …ใช้การกำจัดด้วยน้ำหมักสมุนไพรและเคมีสลับกัน หากเกิดการระบาด แต่ถ้าปีใดไม่มีโรคและแมลงมากนัก สารเคมีก็ไม่จำเป็นต้องใช้

ส้มโอคุณภาพนั้น คุณลุงจงศิลป์อธิบายว่า ต้องเป็นส้มโอที่ปราศจากตำหนิอันเกิดจากโรคหรือแมลงเข้าทำลาย มีร่องรอยจากการกระทบกระเทือน เกษตรกรบางคนเก็บส้มโอแล้วตกลงพื้น แบบนี้เนื้อกุ้งส้มโอแตกไม่ควรนำมาขาย กับอีกคุณภาพหนึ่ง เปลือกบาง เนื้อกุ้งไม่เป็นเมล็ดข้าวสาร (คือเนื้อแข็งและเหนียว) ต้องมีรสชาติหวานไม่ขม

ส่วนวิธีการดูแลส้มโอก่อนออกผลผลิตมาแบบมีคุณภาพ คุณลุงจงศิลป์เน้นย้ำว่าขึ้นอยู่กับอายุต้นส้มโอ ต้องมีอายุตั้งแต่ปีที่ 7 ขึ้นไป และได้รับการดูแลตั้งแต่การปรับปรุงดิน น้ำ การให้ธาตุอาหารตามช่วงอายุของผลจะได้เนื้อที่มีรสชาติหวาน ดูแลสำรวจ ป้องกันโรคและแมลง ดูอายุผลที่พร้อมจะเก็บได้

สรุปว่า ส้มโอสวนคุณลุงจงศิลป์เป็นส้มโอที่มีคุณภาพสวนหนึ่งของอำเภอลอง เลยทีเดียว

 

ส้มโอคุณภาพ เป็นความต้องการของตลาด

เรื่องตลาดส้มโอเมืองลองนั้น จะมีแหล่งรับซื้อจากภายนอกเข้าไปเจรจาซื้อขายกับเกษตรกรด้วยวิธีการเหมาสวน ผู้ซื้อเก็บผลเอง ขนส่งบรรทุกเอง เกษตรกรคอยนั่งนับเงิน แต่ส่วนใหญ่เกษตรกรจะมีลูกค้าประจำกันอยู่แล้ว สวนของเกษตรกรที่ขายผลส้มโอด้วยวิธีการนี้ มักจะเป็นสวนที่มีพื้นที่หรือสวนขนาดใหญ่ ส่วนเกษตรกรที่ปลูกส้มโอกันในปริมาณไม่มาก ก็มักจะซื้อขายกันภายในตลาดท้องถิ่น แต่เกษตรกรก็ยังได้รับราคาที่ไม่สูงมากนัก เพราะยังต่างคนต่างขาย

ส่วนตลาดส้มโอของสวนคุณลุงจงศิลป์ คุณลุงบอกว่า แต่ละปีจะมีผู้ซื้อเข้าไปขอเหมาสวน 2-3 ราย ใครมาก่อนก็จะเข้ามาเจรจาข้อเสนอด้านราคา โดยจะขายเหมาสวนแต่ชั่งกิโล ซึ่งคุณลุงจงศิลป์จะตั้งราคาเอง เพราะส้มโอที่สวนจะออกผลผลิตก่อนแหล่งอื่น ถ้าตกลงกันก็จะทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งเมื่อถึงเวลาเก็บผลผู้ซื้อจะเข้ามาดำเนินการเอง ส่วนส้มโอที่ออกผลต่อเนื่อง มีจำนวนไม่มากนักก็จะตัดขายเอง ส่งไปขายที่จังหวัดแพร่บ้าง ขายที่บ้านในวันที่มีตลาดนัดบ้าง การขายวิธีนี้ได้ราคา กิโลกรัมละ 25 บาท เป็นราคาขั้นต่ำ ผลผลิตส้มโอแต่ละปีที่ได้คุณลุงจงศิลป์บอกว่ามีปริมาณต่ำสุด 15 ตัน และสูงสุด 25 ตัน

“ปลูกส้มโอ แล้วไม่จน ลงทุนน้อยเฉพาะ 4 ปีแรก แต่เก็บผลผลิตไปยาวนาน เพราะส้มโออายุยืน ให้ผลผลิตสูง ตลาดยังต้องการ” เป็นบทสรุปสุดท้ายของ คุณลุงจงศิลป์ ศีตลาภินันท์ กูรูด้านส้มโอของเมืองลอง

ก้าวต่อไปของส้มโอเมืองลองที่ควรจะเป็น        

หลายภาคส่วนต้องการจะนำเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอมาจับมือกันให้เป็นกลุ่มก้อน เป็นกลุ่มผู้ผลิตส้มโอเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ รวมทั้งได้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด มีการผลิตร่วมกันเป็นกลุ่มและมีการเชื่อมโยงกันด้านการตลาด โดยมีผู้จัดการแปลงใหญ่มืออาชีพ ซึ่งจะต้องใช้ทั้งหลักวิชาการและประสบการณ์ในการประสานสิบทิศเพื่อให้สมาชิกได้รับข้อมูลในการตัดสินใจที่จะปฏิบัติหรืองดการปฏิบัติ เช่น การแจ้งแผนการผลิต ช่วงเวลาที่ควรให้น้ำ ให้ปุ๋ยแก่ส้มโอ การตัดแต่งกิ่ง การสำรวจตรวจสอบโรคและแมลง จนถึงเรื่องการตลาด

ที่สุดแล้ว ส้มโอเมืองแพร่ จะได้รับการกล่าวขานในวงกว้างและตลาดส้มโอจะมีความยั่งยืน