ปัญจขันธ์ พันธุ์เชียงราย 1… ให้สารซาโปนินสูง

ปัญจขันธ์ หรือเจียวกู่หลาน (Jiaogulan) เป็นสมุนไพรที่มีถื่นกำเนิดในประเทศจีน มีชื่อวิทยาศาสตร์ Gynostemma pentaphyllun Makino อยู่ในวงศ์ Cucurbitaceae ชื่อภาษาอังกฤษคือ Miracle Grass, Southern ginseng นิยมปลูกกันอย่างกว้างขวางบริเวณเทือกเขาทางตอนใต้ประเทศจีน ในประเทศไทยรู้จักในชื่อปัญจขันธ์ เป็นไม้เถาชนิดเดียวกับพืชในตระกูลแตง ลักษณะของต้นจะเลื้อยไปตามพื้น ใบมีสีเขียวแตกออก 5 ใบ ในแต่ละกิ่ง ส่วนของใบและลำต้นมีสารสำคัญ จำพวก Saponins สารที่พบมีชื่อเฉพาะว่า gypenosides คล้ายที่พบในโสมคน (ในโสมคน เรียก ginsenosides) พบในส่วนใบมากกว่าลำต้น

 

สรรพคุณทางเภสัชวิทยา

ปัญจขันธ์ ที่ปลูกกันส่วนมากนิยมนำมาแปรรูปเป็นชา สำหรับดื่มแก้กระหาย เดิมเป็นอาหารที่ใช้กินให้อิ่ม ต่อมาได้มีการพัฒนาใช้ในการผลิตยา และเริ่มมีการค้นคว้าสารออกฤทธิ์ ในทางเภสัชวิทยาในประเทศจีนพบว่า ปัญจขันธ์ ประกอบด้วยตัวยา 82 ชนิด มีตัวยาที่เหมือนโสมคน 4 ชนิด ได้แก่ ginsenosides Rb1 Rd และ F3 สรรพคุณของปัญจขันธ์ ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล ด้วยคุณสมบัติและสรรพคุณที่หลากหลาย รวมทั้งสภาพความเหมาะสมของดินและสภาพอากาศของประเทศไทยในแถบภาคเหนือ

ปัจจุบัน ยังขาดพันธุ์ปัญจขันธ์ที่เหมาะสมในแหล่งปลูกและมีสารสำคัญสูงเพื่อทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบหรือลดต้นทุนในการนำเข้ายาจากประเทศจีนและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทย เนื่องจากพันธุ์เดิมคือพันธุ์สิบสองปันนา เป็นพันธุ์จากประเทศจีน เป็นพันธุ์ที่มีผลผลิตสูง แต่ปริมาณสารซาโปนินอยู่ในระดับปานกลาง แต่เมื่อนำมาปลูกในประเทศไทยมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ไม่ดี (พื้นที่ปลูกควรมีอุณหภูมิระหว่าง 16-28 °C ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80%) ขณะที่พันธุ์พื้นเมืองให้ผลผลิตต่ำมาก แต่กลับมีสารซาโปนินมีค่าใกล้เคียงกับพันธุ์สิบสองปันนา และบางครั้งมีสารสูงกว่าพันธุ์สิบสองปันนา ค่ามาตรฐานของปัญจขันธ์ คือกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 8 กรัม/น้ำหนักแห้ง 100 กรัม

ปัญจขันธ์พันธุ์พื้นเมืองสันกำแพง พบปริมาณสารซาโปนินสูงกว่าค่าที่กำหนด มีรสไม่ขมจัด และมีรสหวาน แต่เนื่องจากผลผลิตต่ำมากและยังไม่ได้การพัฒนาพันธุ์อย่างต่อเนื่อง จากข้อที่ดีของพันธุ์พื้นเมืองสันกำแพงถ้ามีการผสมพันธุ์กับพันธุ์สิบสองปันนา ซึ่งมีผลผลิตสูงอาจมีโอกาสได้พันธุ์ลูกผสมใหม่ที่ให้ผลผลิตและสารซาโปนินสูง ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายจึงได้ปรับปรุงพันธุ์ปัญจขันธ์เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่มีผลผลิตและสารซาโปนินสูงกว่าพันธุ์เดิม คือ พันธุ์สิบสองปันนา

 

ปรับปรุงพันธุ์

ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ปัญจขันธ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนได้ลูกผสมสายพันธุ์เชียงราย 2-20 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์สิบสองปันนา (ต้นแม่) กับ พันธุ์พื้นเมืองสันกำแพง (ต้นพ่อ) โดยพันธุ์สิบสองปันนาเป็นพันธุ์นำเข้าจากประเทศจีน เมื่อ พ.ศ. 2548 ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายได้ประเมินพันธุ์สิบสองปันนากับพันธุ์พื้นเมือง ในปี พ.ศ. 2554-2555 พบว่า พันธุ์สิบสองปันนามีผลผลิตสูง มีการเจริญเติบโตเร็ว แต่มีสารซาโปนินอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนพันธุ์พื้นเมืองสันกำแพงเป็นพันธุ์ที่พบบริเวณอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพันธุ์พื้นเมืองของไทย ผลผลิตต่ำมาก แต่มีสารซาโปนินสูง ปี พ.ศ. 2556 จึงได้ดำเนินการผสมพันธุ์และคัดเลือกลูกผสม ในรุ่นที่ 1 (F1) ถึงรุ่นที่ 4 ในปี พ.ศ. 2559-2562 เก็บเมล็ดในแต่ละรุ่นนำไปทดสอบผลผลิตและสารซาโปนินที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายเป็นเวลา 4 ปี จึงได้ปัญจขันธ์ลูกผสมสายพันธุ์เชียงราย 2-20 ในปี พ.ศ. 2562 โดยมีขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ ดังนี้

รวบรวมและประเมินพันธุ์ ดำเนินการระหว่าง ปี พ.ศ. 2554-2555 โดยสำรวจและรวบรวมพันธุ์ปัญจขันธ์ทั้งจากแหล่งปลูกต่างๆ และในสภาพธรรมชาติ รวบรวมได้ทั้งหมด จำนวน 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์สิบสองปันนา พันธุ์อ่างขาง และพันธุ์พื้นเมืองสันกำแพง นำมาปลูกประเมินพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ในแปลงปลูก ขนาด 1×10 เมตร ระยะ 50×50 เซนติเมตร ปลูกแถวคู่ภายใต้โรงเรือนตาข่ายพรางแสง 70% ทำค้างไม้ไผ่เพื่อให้เถาเลื้อยเก็บเกี่ยวปัญจขันธ์เมื่อครบอายุเก็บเกี่ยว หรือที่ระยะก่อนแทงช่อดอก โดยการตัดต้นปัญจขันธ์ความสูงจากพื้น ประมาณ 30 เซนติเมตร บันทึกผลผลิตทั้งน้ำหนักสด น้ำหนักแห้ง และสารซาโปนิน

 

ผสมพันธุ์

ดำเนินการในปี พ.ศ. 2556 ปลูกปัญจขันธ์ ทั้ง 3 พันธุ์ ในโรงเรือน แต่ละโรงแยกปลูกในแต่ละพันธุ์ทำการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์สิบสองปันนากับพันธุ์พื้นเมืองสันกำแพงและพันธุ์อ่างขาง ได้เมล็ดพันธุ์ รุ่นที่ 1 (F1) จำนวน 4 คู่ผสม คือ

  1. คู่ผสมระหว่างพันธุ์สิบสองปันนา x พื้นเมืองสันกำแพง
  2. คู่ผสมระหว่างพันธุ์พื้นเมืองสันกำแพง x สิบสองปันนา
  3. คู่ผสมระหว่างพันธุ์อ่างขาง x พื้นเมืองสันกำแพง
  4. คู่ผสมระหว่างพันธุ์พื้นเมืองสันกำแพง x อ่างขาง

คัดเลือกพันธุ์และเปรียบเทียบพันธุ์ลูกผสม ดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2559-2561 เปรียบเทียบพันธุ์ลูกผสม จำนวน 4 คู่ผสม โดยการปลูกในแปลงทดลองเปรียบเทียบกับพันธุ์พ่อ-แม่อีก 3 พันธุ์ รวม 7 พันธุ์ วางแผนการทดลองแบบ Randomize Complete Block (RCB) 7 กรรมวิธี 3 ซ้ำ บันทึกผลผลิตน้ำหนักสดและแห้ง และปริมาณสารชาโปนิน เก็บเมล็ดพันธุ์คู่ผสมระหว่างพันธุ์สิบสองปันนากับพันธุ์พื้นเมืองสันกำแพง ที่ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์การคัดเลือกที่กำหนด และนำเมล็ดไปปลูกต่อจนถึง รุ่นที่ 4

หลักเกณฑ์คัดลือกพันธุ์ปัญจขันธ์ พิจารณาจาก

  1. ใบมีขนขนาดใหญ่ ขนาดความกว้างและยาวของใบประกอบโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 8×8 ซ.ม.
  2. ใบมีสีเขียวสม่ำเสมอทั่วทั้งใบ ก้านใบแข็งแรง
  3. ผลผลิตสดสูงกว่า 2,500 กิโลกรัม/ไร่ และน้ำหนักแห้งสูงกว่า 200 กิโลกรัม/ไร่
  4. ปริมาณสารซาโปนิน ไม่ต่ำกว่า 6-8 กรัม/น้ำหนักแห้ง 100 กรัม หรือปริมาณฟีนอลิกทั้งหมดในน้ำไม่ต่ำกว่า 10 มิลลิกรัม/กรัมน้ำหนักแห้ง
  5. อายุเก็บเกี่ยวหลังปลูกน้อยกว่า 120 วัน

 

ทดสอบพันธุ์

ดำเนินการในปี พ.ศ. 2562 นำปัญจขันธ์คู่ผสม ระหว่างพันธุ์สิบสองปันนา กับพันธุ์พื้นเมืองสันกำแพงสายพันธุ์คัดเลือก จำนวน 6 สายพันธุ์ เปรียบเทียบกับพันธุ์การค้า จำนวน 1 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์สิบสองปันนา วางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 3 ซ้ำ 7 กรรมวิธี ศึกษาการเจริญเติบโต ผลผลิต และสารซาโปนิน คัดเลือกให้เหลือ 2 สายพันธุ์ ปลูกทดสอบ 2 สายพันธุ์ ที่คัดเลือกไว้ พันธุ์สิบสองปันนา พบว่า สายพันธุ์ 2-20 ให้ผลผลิตและสารซาโปนินสูงที่สุด

สถาบันวิจัยพืชสวน นำเสนอคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ในปี พ.ศ. 2562 และคณะกรรมมการฯ พิจารณาให้เป็นพันธุ์แนะนำ ชื่อว่า ปัญจขันธ์ พันธุ์เชียงราย 1

 

ลักษณะประจำพันธุ์

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : มีรากสีขาวอยู่ใต้ดินและเหนือดินบริเวณข้อของลำต้น ลำต้นเป็นเถาเลื้อย ยาว 7.56 เมตร กว้าง 0.26 เซนติเมตร ความยาวข้อ 8.68 เซนติมเตร มีใบย่อย 5 ใบ รูปรีถึงรูปไข่ กว้าง 4.52 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวเข้ม มีขนสีขาวสั้น หนา ขอบใบมีรอยหยัก 25 หนัก แตกกิ่ง 83 กิ่ง ช่อดอกแยกเพศ ดอกเพศผู้มีกลีบ 5 แฉก สีขาว ดอกเพศเมียมีรังไข่สีเขียว ผลกลมสีเขียว มีขน เมื่อแก่เป็นสีดำ ภายในเวลา 3 เมล็ด เป็นรูปหัวใจ

ลักษณะทางการเกษตร : น้ำหนักสดเฉลี่ย 1,897.5 กิโลกรัม/ไร่ น้ำหนักแห้งเฉลี่ย 210.5 กิโลกรัม/ไร่ อายุเก็บเกี่ยวหลังปลูก 105 วัน และจากการวิเคราะห์โดยศูนย์บริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยวิธี Gravimetric method มีสารซาโปนินต้น 11.47 กรัม ต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม (เกณฑ์มาตรฐาน 8.0 กรัม ต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม)

ลักษณะเด่น : สารซาโปนินทั้งต้นเฉลี่ย 11.47 กรัม/ต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม สูงกว่าพันธุ์สิบสองปันนาร้อยละ 52 ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 210.5 กิโลกรัม/ไร่ สูงกว่าพันธุ์สิบสองปันนา ร้อยละ 31 และอายุเก็บเกี่ยว 105 วัน สั้นกว่าพันธุ์สิบสองปันนาที่มีอายุเก็บเกี่ยว 116 วัน

พื้นที่แนะนำให้ปลูก : พื้นที่ดอนและลุ่ม มีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขัง ควรปลูกในพื้นที่ที่มีร่มเงา

หรือปลูกภายใต้โรงเรือนที่มีตาข่ายพรางแสงอย่างน้อย 50%

คุณภาพของชาสมุนไพร : การประเมินคุณภาพทางด้านประสาทสัมผัสของชาสมุนไพรปัญจขันธ์ โดยนำปัญจขันธ์อบแห้งพันธุ์เชียงราย 1 กับพันธุ์สิบสองปันนาชงด้วยน้ำร้อน 90 องศาเซลเซียส นาน 3 นาที สุ่มตัวอย่างให้ผู้ทดสอบประเมินกลิ่น สี รสชาติ และความชอบโดยรวม แบ่งคะแนนชอบเป็น 4 ระดับ ดังนี้ ชอบมากที่สุด 4 คะแนน ชอบมาก 3 คะแนน ชอบปานกลาง 2 คะแนน ชอบน้อย 1 คะแนน ปัญจขันธ์พันธุ์เชียงราย 1 ได้คะแนนคุณภาพด้านกลิ่น 3.37 สี 3.47 และความชอบโดยรวม 3.00 คะแนน ดีกว่าพันธุ์สิบสองปันนา

(คณะผู้วิจัย : ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย ประกอบด้วย ศศิธร วรปิติรังสี, บุญชนะ วงศ์ชนะ, อรุณี ใจเถิง

วิมล แก้วสีดา, ทัศนีย์ ดวงแย้ม และ วิชญา ศรีสุข สถาบันวิจัยพืชสวน ประกอบด้วย สนอง จรินทร, ลัดดาวัลย์ อินทร์สังข์, ศรีสุดา โท้ทอง, เกษมศักดิ์ ผลากร, สุนิตรา คามีศักดิ์ และ วิลาวัณย์ ใคร่ครวญ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ ได้แก่ วีระ วรปิติรังสี และพัฒนาการเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ ได้แก่ จิตอาภา จิจุบาล ศูนย์วิจัยการเกษตรและพัฒนาการเกษตรแพร่ ได้แก่ ประนอม ใจอ้าย ศูนย์วิจัยพืชสวนเลย ได้แก่ ยุพาพร ภาพันธ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงราย ได้แก่ บุญปิยธิดา คล่องแคล่ว ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ได้แก่ จรัญ ดิษฐไชยวงศ์ กองแผนงานและวิชาการ ได้แก่ ไกรศร ตาวงศ์ ข้าราชการบำนาญ ประกอบด้วย แสงมณี ชิงดวง และ พุฒนา รุ่งระวี)

ขอบคุณ ข้อมูลจาก : น.ส.พ. กสิกร