สองแม่ลูกชาวเชียงราย ใช้เจเนอเรชั่นที่ต่าง สร้างโอกาสทางการเกษตร แม่เป็นคนปลูก ลูกเป็นคนขาย

คุณศุภกานต์ พุทธรางกูร หรือ พี่อ้อ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์จังหวัดเชียงราย อยู่บ้านเลขที่ 333/1 หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เล่าถึงที่มาของการกลับมาเป็นเกษตรกรว่า ก่อนที่จะมาทำเกษตรนั้นตนทำงานประจำเป็นพนักงานโรงแรมมาก่อน แล้วได้ลาออกจากงานประจำเพื่อมาสานต่องานที่บ้าน สืบเนื่องมาจากคุณแม่เป็นชาวนาสืบทอดมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่า ซึ่งเป็นการทำนาข้าวแบบเดิม คือปลูกและนำไปขายให้กับโรงสี อยากได้ข้าวปริมาณมากๆ เลยใช้ปุ๋ยเคมีและยาในการเพาะปลูก เพื่อเพิ่มผลผลิต วนเวียนอย่างนี้ทุกปี ซึ่งราคาข้าวก็ผันแปรไปตามกลไกตลาด ทำให้มีกำไรน้อยมาก หรือบางปีขาดทุน เพราะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรงงาน มีราคาสูงขึ้น

คุณศุภกานต์ พุทธรางกูร หรือ พี่อ้อ

คุณแม่จึงคิดว่าอยากจะปลี่ยนแปลงวิธีการทำนาข้าวแบบเดิม จึงเริ่มศึกษาการทำเกษตรอินทรีย์ และเก็บข้าวไว้เอง ไม่ขายให้กับโรงสี เพราะอยากจะผลิตข้าวที่ดีมีคุณภาพ เก็บไว้กินเอง และได้ขายข้าวที่ดีและปลอดภัยให้กับลูกค้า ซึ่งนอกจากนี้คุณแม่ยังได้มีการศึกษาการทำเกษตรผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกไว้กินเอง เหลือจึงนำออกไปขาย ได้ลองผิดลองถูกมาตลอด และด้วยความตั้งใจจริงของคุณแม่ จึงเกิดเป็น “ฮอมฮักฟาร์ม” ฟาร์มข้าวเกษตรอินทรีย์ และเกษตรผสมผสาน มีเป็ดอารมณ์ดีเลี้ยงไว้เพื่อนำไข่ไปขาย ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกผักปลอดสารพิษ เพาะเห็ดฟางตามแนวคันดิน และยังมีอีกหลากหลายอย่างที่คุณแม่จะทำในไร่แห่งนี้

เมื่อเห็นความตั้งใจจริงของแม่แล้ว จึงอยากจะช่วยให้สิ่งที่คุณแม่ตั้งใจทำด้วยความรักประสบความสำเร็จ จึงได้ตัดสินใจลาออกจากงานแล้วกลับมาช่วยพัฒนาความฝันของแม่ให้เป็นจริง ในเรื่องของการกลับมาช่วยทำการตลาด ขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากฟาร์ม และประชาสัมพันธ์ ผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นแม่จะยังไม่เห็นความสำเร็จมากนัก แต่เรารู้สึกได้ถึงความสุขของคุณแม่ที่เห็นเรามาช่วยสานต่อสิ่งที่ท่านรัก จึงเกิดเป็น ฮอมฮักฟาร์มแห่งนี้ขึ้นมา คุณศุภกานต์ พุทธรางกูร กล่าวถึงที่มาของ ฮอมฮักฟาร์ม เกษตรอินทรีย์

ปลูกข้าวแบบคนรุ่นใหม่

“ข้าว กข 43” ผลิตภัณฑ์เด่นจากฮอมฮักฟาร์ม
อร่อย นุ่ม น้ำตาลต่ำ เหมาะกับคนรักสุขภาพ

พี่อ้อ เล่าให้ฟังว่า ที่ฮอมฮักฟาร์ม มีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 15 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 10 ไร่ และอีก 5 ไร่ ที่เหลือจัดสรรทำเป็นเกษตรผสมผสาน เพาะเห็ดฟาง เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด ปลูกผักปลอดสาร และมีการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อนำมาทำเป็นปุ๋ย โดยมีข้าวพันธุ์ กข 43 เป็นผลิตภัณฑ์เด่นของฟาร์ม เนื่องจากทางฟาร์มเล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ของข้าวอินทรีย์ พันธุ์ กข 43 ตรงที่มีความหอม อร่อย นุ่ม น้ำตาลต่ำ ผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่ต้องการลดน้ำตาลสามารถกินได้ ซึ่งถือว่าเหมาะกับกระแสคนรักสุขภาพที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน จึงถือโอกาสตรงนี้ ปั้นข้าว กข 43 ให้ติดตลาดและเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้หลักของที่ฟาร์ม

ส่วนเรื่องของการเพาะปลูกนั้น คุณแม่จะมีความชำนาญอยู่แล้ว เพียงแต่คุณแม่ยังขาดประสบการณ์ด้านการตลาด ตนจึงเข้ามาเป็นตัวช่วยหลักในการทำตลาด มีการสร้างแบรนด์ข้าวของตัวเองขึ้นมา ชื่อว่า “หอมละไม” ขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้คนจำผลิตภัณฑ์ของฟาร์มได้ว่า ถ้าหากเป็นผลิตภัณฑ์ข้าว กข 43 ของแบรนด์หอมละไม ลูกค้าจะได้ข้าวน้ำตาลน้อยพร้อมกิน ที่สะอาด สะดวก ได้คุณประโยชน์ ปลอดภัย บรรจุในแพ็กเกจที่ให้ความสะดวกแก่ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องโดยไม่ต้องแช่เย็น

ผลิตภัณฑ์ข้าวหอมละไม จากฮอมฮักฟาร์ม เกษตรอินทรีย์

และในแง่ของการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มนั้น ใน 1 ฤดูกาล จะได้ผลผลิตประมาณ 5-8 ตัน ต่อ 10 ไร่ จะนำมาแปรรูปขายเองทั้งหมด ซึ่งวิธีการนี้จะมีข้อแตกต่างในเรื่องของรายได้อย่างเห็นได้ชัด

“จากเมื่อก่อน ขายข้าวเปลือกได้ กิโลกรัมละ 7-8 บาท ขาดทุนเกือบทุกปี แต่พอได้ลองปรับเปลี่ยนวิถีแบบใหม่ คือปลูกเอง ขายเอง ที่ถึงแม้จะใช้เวลาแต่เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรที่ได้แล้วเยอะกว่าเมื่อก่อนมาก จึงใช้ช่องทางตรงนี้ที่จะทำให้เป็นความยั่งยืนดีกว่า ค่อยๆ ทยอยสีข้าวออกมาขาย แพ็กขาย บรรจุถุงละ 1 กิโลกรัม ราคาถุงละ 60-70 บาท สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้หลายเท่าตัว หากเทียบกับต้นทุนค่าสีข้าว ค่าแพ็กเกจก็ยังคุ้มค่ามากกว่าการขายเป็นข้าวเปลือกที่ได้ราคาเพียงน้อยนิด เพียงแต่ว่าการแปรรูปขายเองอาจจะได้เงินช้า แต่คุ้มค่ากว่าแน่นอน และนอกเหนือจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว การปลูกข้าวแบบอินทรีย์ยังเป็นผลดีกับทั้งตัวเกษตรกรและผู้บริโภคอีกด้วย”

เป็ดอารมณ์ดี เลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ

“เกษตรผสมผสาน” งานสร้างรายได้
หลังว่างจากการทำนา

เจ้าของบอกว่า อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า นอกจากการปลูกข้าวเป็นรายได้หลักแล้ว ยังมีในส่วนของงานเกษตรผสมผสาน เป็นอาชีพสร้างรายได้เสริมหลังว่างจากการทำนา ขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ดอารมณ์ดีกว่า 100 ตัว เพื่อขายไข่ และมีการเพาะเห็ดฟาง โดยนำเอาตอซังข้าวมาใช้ประโยชน์แทนการเผาทำลาย

โรยรำข้าวก่อน แล้วโรยเชื้อเห็ดฟางทับลงไป

มีวิธีการเพาะ ดังนี้

  1. นำฟางจากตอซังข้าวหลังเก็บเกี่ยวมาแช่น้ำไว้ 1 คืน
  2. ทำไม้แบบสำหรับอัดฟางให้แน่นเป็นกองๆ (ตัวอย่างของที่ฟาร์ม ใช้ความกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 1.20 เมตร)
  3. หมักฟางจนใช้ได้แล้ว ให้เอามาใส่ไม้แบบ แล้วกดให้แน่นพอสมควร
  4. จากนั้นให้โรยรำข้าวก่อน แล้วโรยเชื้อเห็ดฟางทับลงไป (ราคาเชื้อเห็ด ถุงละประมาณ 50 บาท) โดยให้โรยติดขอบไม้แบบ ชั้นเห็ดกับฟางจะทำ 2-3 ชั้น ต่อกอง
  5. จากนั้นใส่ฟางทับ แล้วรดน้ำให้ชุ่มพอสมควร
  6. ยกไม้แบบขึ้น

    ยกไม้แบบขึ้น
  7. จากนั้นให้ใช้พลาสติกคลุมกองฟางไว้เพื่อควบคุมอุณหภูมิ แล้วรอเก็บผลผลิตได้เลย ประมาณ 10-15 วัน เห็ดฟางก็จะเริ่มออก

    ใช้พลาสติกคลุมกองฟางไว้เพื่อควบคุมอุณหภูมิ

ข้อควรระวัง ให้รดน้ำข้างๆ กองฟาง (อย่ารดให้ถูกกองฟาง หรือเชื้อเห็ด) ทุกวัน ช่วง 2-3 วันแรก อุณหภูมิข้างในกองฟางควรอยู่ที่ 35-38 องศา หลังจากนั้นก็หมั่นเข้ามาดูกองฟาง จะมีเห็ดให้เก็บผลผลิตในทุกๆ วัน ถือว่าเป็นอาชีพเสริมที่น่าสนใจและทำง่ายมากๆ ต้นทุนต่ำ ใช้เวลาน้อย รายได้ดี กิโลกรัมละ 120 บาท ที่ฟาร์มเพาะประมาณ 30 กระบะ สามารถเก็บผลผลิตขายได้วันละประมาณ 10-15 กิโลกรัม ขายหมดทุกครั้งที่นำไปขาย ถือเป็นพืชสร้างรายได้ดี แต่จะทำได้แค่ช่วงเดียวคือ ช่วงหน้าหนาว เห็ดฟางจะไม่เหมาะกับอากาศที่ร้อนเกินไป

เตรียมเก็บผลผลิตไปขาย

เริ่มหาตลาดจากการสร้างแบรนด์
สร้างคุณภาพสินค้าให้น่าเชื่อถือ

เจ้าของบอกว่า อาศัยความเป็นคนรุ่นใหม่ในการเริ่มต้นหาตลาด ใช้ความรู้ที่เรียนทางด้านคอมพิวเตอร์ธุรกิจมาพัฒนาสร้างแบรนด์ สร้างสตอรี่ของผลิตภัณฑ์ในฟาร์มให้เป็นที่จดจำของผู้บริโภค โดยที่ฟาร์มจะดึงจุดเด่นของการเป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์มาเป็นจุดขาย

  1. ข้าว จะเป็นข้าวอินทรีย์ กข 43 ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพ โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เป็นโรงพยาบาล โรงแรม และลูกค้าออนไลน์เป็นหลักซึ่งได้รับผลตอบรับจากผู้บริโภคดีมาก
  2. เป็ดอารมณ์ดีที่เลี้ยงไว้ ประมาณ 100 ตัว เลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ ให้อาหารเป็นเศษผักผลไม้ สามารถเก็บไข่ขายได้ วันละ 70-80 ฟอง โดยมีพ่อค้ารับซื้อเป็นเจ้าประจำเพื่อนำไปทำไข่เค็ม ด้วยลักษณะเด่นไข่เป็ดของที่ฟาร์มได้เบอร์ใหญ่ ไข่แดง สีสวย
  3. เห็ดฟาง ที่มีต้นทุนการทำที่ต่ำมาก แต่สร้างรายได้ดี มีกลุ่มลูกค้าตลาดนัด เฉลี่ยรายได้ต่อเดือนจากขายพืชผลทางการเกษตรแล้ว มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ เดือนละ 25,000-30,000 บาท ในขณะที่คนในครอบครัวมีข้าวกินเอง มีผักผลไม้กินเอง โดยที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อทุกวัน

“ความไม่ไว้วางใจ” คือ อุปสรรคที่คนรุ่นใหม่ต้องเจอ
ต้องพยายามก้าวผ่าน และพิสูจน์ตัวเองให้ได้

“ความไม่วางใจจากครอบครัว ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ของเกษตรกรมือใหม่ ก็อยากจะบอกว่า ให้อดทน และพยายามพิสูจน์ตัวเองให้ได้ เพราะตัวพี่เองก็ต้องใช้เวลากว่า 2 ปี ที่จะมาพิสูจน์ให้แม่เห็นว่า สิ่งที่คนรุ่นใหม่คิดและทำไม่ได้แย่เสมอไป วันนี้เขาอาจยังไม่เชื่อ แต่ถ้าเราพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เราพูดเป็นไปได้ อย่างเช่น บอกให้เขาทำเกษตรอินทรีย์ เปลี่ยนเลยตอนนี้เขายังไม่เชื่อแน่นอน เพราะเขาทำเคมีมาทั้งชีวิต หน้าที่เราก็แค่ทำให้เขาเห็นว่า ถ้าเปลี่ยนมาทำอินทรีย์ จะมีข้อดีอย่างไร หรือถ้าหากใครมีทักษะความสามารถในการหาตลาด ก็ทำแล้วไปขายให้เขาเห็นว่าเนี่ยทำเกษตรอินทรีย์มันดีแบบนี้ ผลผลิตขายได้แพงขึ้น คุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภคก็สูงขึ้นด้วย อยากให้ทุกคนอดทนและสู้ ถ้าทำได้แล้ว อาชีพเกษตรนับเป็นอาชีพที่ตอบโจทย์ชีวิตได้อีกอาชีพหนึ่ง” คุณศุภกานต์ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ คุณศุภกานต์ พุทธรางกูร ได้ที่เบอร์โทร. 062-046-0342

ไข่เป็ดคุณภาพ มีพ่อค้ามารับซื้อทุกวัน