สุวิทย์ ศรีบุรินทร์ เกษตรกรใจกล้าเมืองเลย ปรับวิธีคิด เปลี่ยนไร่ให้เป็นสวนพุทราซุปเปอร์จัมโบ้ รายได้ปีละหลายแสน

“พุทรา” เป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นไม้ผลที่เจริญเติบโตได้เร็ว ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้หลายสิบปีกันเลยทีเดียว อีกทั้งยังมีทิศทางตลาดไปได้ดีอีกด้วย

คุณสุวิทย์ และ คุณรัศมี ศรีบุรินทร์ 2 สามี-ภรรยา อยู่บ้านเลขที่ 86 หมู่ที่ 12 บ้านน้ำค้อ ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เล่าให้ฟังว่า ตนมีอาชีพเป็นเกษตรกร ทำนา ทำสวน ปลูกอ้อย ฯลฯ แต่หากว่างจากการทำไร่ทำสวนก็จะออกไปขายล็อตเตอรี่ที่ต่างจังหวัด แล้วค่อยกลับมาดูแลไร่สวนตัวเองตามเคย

คุณสุวิทย์-คุณรัศมี ศรีบุรินทร์

ซึ่งอย่างที่รู้กันอยู่ว่าในช่วงที่ผ่านมาจนมาถึงตอนนี้เศรษฐกิจบ้านเมืองไม่ค่อยดีนัก “ข้าวยากหมากแพง” การใช้จ่ายต้องระมัดระวังให้มากถึงจะดำเนินชีวิตอยู่รอด แถมบางปีฟ้าฝนไม่เป็นใจ ก็ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ไม่เป็นไปตามเป้าหมายอยู่เหมือนกัน จนตนและภรรยาต้องคิด ปรับเปลี่ยน หาปลูกพืชชนิดใหม่ที่จะทำให้เราได้ผลผลิตที่เป็นไปตามเป้าและยั่งยืน

คุณสุวิทย์ เล่าว่า เริ่มแรกได้ตัดสินใจปลูกส้มเขียวหวาน บนเนื้อที่ 4 ไร่ ของตนเอง ตอนแรกก็ให้ผลิตดี ลูกดก แต่พอถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา ไม่ว่าจะเป็นลูกไม่สมบูรณ์ รสชาติไม่โดนใจตลาด ส่งขายลำบาก เริ่มเกิดอาการท้อ

ผลผลิตดก

จนมีคนแนะนำให้ไปศึกษาดูแปลงปลูกพุทราที่บ้านท่าดีหมี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย จนเกิดแรงฮึดอีกครั้ง เลยได้สั่งซื้อต้นพันธุ์พุทรามาจากจังหวัดเชียงใหม่ ในราคาต้นละ 70 บาท ปลูกบนพื้นที่ 4 ไร่ ของตนเอง จำนวน 250 ต้น ผลคือ ให้ผลผลิตดี เป็นไปตามเป้า ดูแลไม่ยาก สร้างผลกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ

ที่สวนคุณสุวิทย์ปลูกพุทราทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือ พุทราก้นแหลม พุทราสามรส พันธุ์นมสด แต่ที่เน้นคือ “พุทราซุปเปอร์จัมโบ้” เพราะมีผลที่ใหญ่ เท่าลูกแอปเปิ้ลเลยก็ว่าได้ ติดผลดก มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว กรอบ หวานอร่อย กินได้เต็มๆ คำ เป็นที่ต้องการของตลาด เรียกได้ว่าถ้าได้มาชิมพุทราพันธุ์นี้ที่สวน กล้าบอกได้เลยว่า “พุทราซุปเปอร์จัมโบ้” รสชาติยอดเยี่ยมไม่เป็นสองรองใคร

เปรียบเทียบพุทรากับแอปเปิ้ล
หวานกรอบ

คุณสุวิทย์ เล่าว่า การปลูกพุทรานั้นหากเราซื้อต้นพันธุ์ได้ไม่ตรงตามสายพันธุ์ที่เราต้องการ เราต้องมาเสียบยอดพันธุ์ใหม่แทน โดยนำต้นพุทราปลูกลงดินที่เตรียมไว้ ระยะห่างระหว่างต้น อยู่ที่ 6×6 เมตร ปล่อยให้รากเจริญเติบโตประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นตัดต้นให้เหลือประมาณ 10 เซนติเมตร เพื่อให้ยอดแตกออกมาใหม่ รดน้ำให้ดินชุ่มชื้นสม่ำเสมอ พร้อมใส่ปุ๋ยเดือนละครั้ง จากนั้นประมาณ 3 เดือน กิ่งและรากฐานแข็งแรง ช่วงนี้ให้เสียบยอดพุทราพันธุ์ต่างๆ ได้เลย

การคัดกิ่งพันธุ์พุทราที่มาเสียบยอด กับต้นพันธุ์พุทรา ต้องเลือกกิ่งที่มีความสมบูรณ์จากต้นที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป แล้วนำยอดพันธุ์อื่นที่เราต้องการมาเสียบยอด แล้วพันเทปเพื่อเชื่อมกิ่งพันธุ์กับต้นตอไว้ให้แน่น ประมาณ 1 เดือน กิ่งก็จะเชื่อมติดกัน หลังจากนั้นให้ดูแลบำรุงต้น โดยใส่ปุ๋ย สูตรเสมอ 15-15-15

เมื่อต้นเริ่มแตกกิ่งแตกยอดพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ให้นำไม้ไผ่มาทำโครงสร้างเพื่อค้ำกิ่งพุทราไว้ไม่ให้หักไปตามกระแสลม และยังช่วยในการติดดอกได้ดีอีกด้วย ซึ่งหากกิ่งพุทรากิ่งไหนหัก ไม่ว่าจะเป็นกิ่งเล็กกิ่งใหญ่เมื่อออกผลโตเต็มที่จะสังเกตเห็นเลยว่ารสชาติจะออกฝาดแน่นอน

.ใช้ถุงพลาสติกห่อผล
ดูแลดีมีผลผลิตอย่างนี้

เมื่อเริ่มติดดอกออกผล ขนาดเท่าเหรียญ 10 บาท ให้นำถุงพลาสติกมาห่อผลพุทราให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงรบกวน และใช้ตัวล่อดัก ห้อยไว้รอบสวน พร้อมใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 ทุกๆ 10 วัน เพื่อบำรุงผลให้สมบูรณ์

เมื่อผลผลิตใกล้เก็บเกี่ยว ให้ใส่ปุ๋ย สูตร 0-0-60 เพื่อเร่งความหวาน เพิ่มคุณภาพของผลผลิต พร้อมให้น้ำสัปดาห์ละครั้ง หรือหากสังเกตเห็นพื้นดินเริ่มแห้งก็ต้องหมั่นให้น้ำสม่ำเสมอ ซึ่งถ้าพุทราขาดน้ำจะมีรสชาติฝาด แต่ถ้าให้เยอะเกินไป ก็จะมีรสชาติจืด ดังนั้นต้องให้ในปริมาณที่พอเหมาะ

หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จเรียบร้อยประมาณเดือนพฤษภาคม ต้องเริ่มตัดแต่งกิ่งพุทราออกให้หมด ให้เหลือแต่ตอ เพื่อให้พุทราแตกยอดออกใหม่ และต้องหมั่นให้น้ำสม่ำเสมอ พร้อมใส่ปุ๋ยบำรุงต้น สูตร 15-15-15 ด้วย คุณสุวิทย์ บอกย้ำ

ต้องตัดแต่งทุกปี
ผลผลิตมีคุณภาพ

ส่วน คุณรัศมี บอกว่า ปีนี้ถือได้ว่าสภาพอากาศเอื้ออำนวยอย่างมาก น้ำดี ลมไม่แรง ทำให้ผลผลิตพุทราเป็นที่น่าพอใจ ลูกใหญ่ เก็บตอนชุดแรก 5-6 ลูก ต่อกิโลกรัมกันเลย ซึ่งเก็บพุทราตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ประมาณ 4 เดือน เป็นไปตามเป้าที่คาดการณ์

เก็บผลผลิตได้ 15 ตัน เฉลี่ยรายได้ วันละ 6,000 บาท ขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท ส่วนใหญ่จะเก็บพุทราอยู่ 2 คนกับสามี เพราะเราต้องการคัดผลพุทราที่มีคุณภาพ หวาน กรอบอร่อยทุกลูก ถึงมือลูกค้า หากจ้างคนช่วยเก็บมากก็จะเพิ่มต้นทุนเราอีก อีกอย่างก็เสี่ยงกับการเก็บลูกยังโตไม่เต็มที่ อันจะเสียลูกค้าเราได้

เตรียมส่งลูกค้า
ลูกหลานมาช่วยงาน

ถึงปีนี้พุทราจะเป็นไปตามเป้าที่วางกันไว้ แต่ก็เจอกับปัญหาเรื่องการขนส่งเล็กน้อยอยู่เหมือนกัน ด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่มีพ่อค้ามารับซื้อพุทราถึงหน้าสวน เจ้าของเลยต้องหาช่องทางการขายอีกทางหนึ่ง คือการโพสต์ขายลงบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งผลตอบรับดีเกินคาด ลูกค้าต่างจังหวัดสั่งกันเข้ามาเยอะ จนเก็บพุทราไม่ทันกันเลยทีเดียว

หากถามว่า การปลูกพุทราครั้งนี้ประสบผลสำเร็จหรือยัง? ก็ต้องตอบว่า “ต้องศึกษา เรียนรู้ พัฒนา ต่อยอดให้เกิดผลผลิตที่ดีมีคุณภาพต่อไป” คุณรัศมี บอกทิ้งท้าย

น่ากิน
นี้ขายดีมาก

ท่านใดสนใจเทคนิคการปลูกพุทรา สอบถามได้ที่ คุณสุวิทย์ ศรีบุรินทร์ บ้านเลขที่ 86 หมู่ที่ 12 บ้านน้ำค้อ ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย หรือโทรศัพท์ 087-860-1993