อ้อยคั้นน้ำ ที่ดอยหลวง เชียงราย ปลูกสร้างรายได้งาม

จากสาวพนักงานโรงงานที่จังหวัดชลบุรี คุณอำพร เหล่าลุมพุก ปัจจุบันอาศัยอยู่ หมู่ที่ 5 ตำบลปงน้อย อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย ผันตัวเองกลับภูมิลำเนาพร้อมสามี มาทำการเกษตร จากเดิมปลูกข้าว ประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ และภัยแล้ง จึงหันมาปรับเปลี่ยนพื้นที่นา หันมาปลูกอ้อยคั้นน้ำ เมื่อปี 2562 สายพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ที่ให้ผลผลิตสูง ทนแล้ง รสชาติดี สีสวย หอม หวานอร่อย คั้นขายเอง สร้างรายได้หลักแสนต่อไร่ นับว่าเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่คิดต่าง และลงมือปลูกเอง ค้นหาข้อมูลและปรึกษากับนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร แล้วขายด้วยตนเอง ถือว่าเป็น Smart Farmer คนเก่งของจังหวัดเชียงราย

คุณอำพร เหล่าลุมพุก และสามี

อ้อยคั้นน้ำสุพรรณบุรี 50 นั้น เป็นอ้อยที่มีลักษณะลำต้นสีเขียวอมเหลือง ลำปล้องทรงกระบอก หัวท้ายเสมอค่อนข้างยาวถึงยาวมาก ไม่มีร่องหรือรอยบุ๋มบริเวณตาหรือข้อ อายุเก็บเกี่ยว 8-10 เดือน หลังปลูก ซึ่งถือว่าเป็นระยะให้น้ำอ้อยที่มีคุณภาพ และปริมาณมากที่สุด สามารถปลูกได้ในทุกภาคของประเทศไทย มีการปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศท้องถิ่นได้ดี เจริญเติบโตได้เร็ว อัตราการแตกกอดี ได้มาก 12,000-12,500 ลำ ต่อ พื้นที่ปลูก 1 ไร่ รวมทั้งสามารถไว้ตอปล่อยให้แตกหน่อเป็นต้น โดยไม่ต้องปลูกใหม่ดี มีความต้านทานโรคแส้ดำ โรคราใบขาว โรคลำต้นหรือไส้เน่าแดง และหนอนกออ้อยได้ดี หากปลูกในเขตชลประทานหรือมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจะให้ผลผลิต 18-20 ตัน ต่อ พื้นที่ 1 ไร่ หรือคั้นเป็นน้ำอ้อยสดได้มาก 4,900-5,000 ลิตร ต่อ พื้นที่ 1 ไร่ และการออกดอกมักเกิดกับอ้อยตอช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งมีการออกดอกน้อยมาก ทั้งนี้อ้อยเมื่อออกดอกปริมาณความหวานจะลดลง

นำที่นามาเป็นแปลงปลูกอ้อย

อ้อยคั้นน้ำสุพรรณบุรี 50 เป็นอ้อยที่ปลูกได้ทั้งแบบสวนยกร่อง ในร่องมีน้ำหล่อเลี้ยงตลอด และแบบพื้นราบให้น้ำด้วยสายยาง โดยสวนแบบยกร่องเริ่มด้วยการไถพรวนดิน ใส่อินทรียวัตถุแล้วปรับเรียบ แต่สวนแบบพื้นราบหลังจากไถพรวนดินใส่อินทรียวัตถุแล้ว ชักร่องลูกฟูก ระยะห่างระหว่างสันลูกฟูก 50-75 เซนติเมตร ท้องร่องระหว่างสันลูกฟูกลึกประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อใช้ขังน้ำตอนให้น้ำ อ้อยคั้นน้ำชอบดินเหนียวมีอินทรียวัตถุมากๆ ดินอุ้มน้ำได้ดีแต่ไม่ขังแฉะ ไม่ควรใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช เพราะอ้อยเป็นพืชรากลอยหรืออยู่ที่ผิวดิน อาจได้รับความกระทบกระเทือนได้ ทั้งนี้สารกำจัดวัชพืชหรือสารเคมีทุกประเภทล้วนแต่มีสถานะเป็นกรดทั้งสิ้น

การบำรุงดินอ้อยควรใช้วิธีลอกกาบอ้อย แล้วปล่อยให้คลุมหน้าดิน รอเวลาย่อยสลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ต่อไป ในเศษใบพืชแห้ง มีปุ๋ยฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม (ตัวกลางและตัวท้าย) สูง จะช่วยเพิ่มความหวานแก่อ้อยได้เป็นอย่างดี

ปอกเปลือก

วิธีปลูก ให้ตัดต้นพันธุ์เป็นท่อน แต่ละท่อนมีตา 2-3 ตา สังเกตตำแหน่งตาเมื่อวางท่อนพันธุ์ราบลงกับพื้นแล้วให้มีตา 1 ตา อยู่ด้านบนกับอีก 2 ตา อยู่ด้านข้าง แต่ค่อนมาข้างบน การที่ตาใดตาหนึ่งชี้ลงล่างหรือค่อนไปทางด้านล่าง เมื่อแตกออกมาเป็นหน่อๆ นั้น จะค่อยๆ เลี้ยวขึ้นด้านบนทำให้เสียเวลา ในขณะที่ตาบนสุดโตนำไปก่อนแล้ว หรือบางครั้งตาด้านล่างชี้ลง 90 องศา เมื่องอกออกมาหน่อก็จะปักดิ่งลงดิน ไม่สามารถงอชี้ขึ้นบนได้ และอาจจะเน่าเสียหาย ที่เหมาะสมควรใช้วิธีวางท่อนพันธุ์ราบกับพื้นธรรมดาๆ เปิดหน้าดินลึกประมาณ 1 ฝ่ามือ แล้วกลบด้วยดินหลวมๆ ระยะห่างระหว่างกอ 50 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 80 เซนติเมตร

หลังจากฝังกลบท่อนพันธุ์แล้ว ควรมีเศษพืชคลุมหน้าดินรักษาความชุ่มชื้น ท่อนพันธุ์จะงอกเร็ว และได้ต้นที่สมบูรณ์แข็งแรงต่อไป ระยะแรกที่เริ่มปลูกให้น้ำ 3-5 วัน ต่อครั้ง ให้ปุ๋ยระยะเริ่มแตกหน่อ-3 เดือน ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ 1-2 ลิตร หรือปุ๋ยเคมี สูตร 25-7-7 จำนวน 1 กิโลกรัม ต่อ น้ำ 200 ลิตร อายุต้น 6 เดือน ถึงเก็บเกี่ยว ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพอัตราเดิม ร่วมปุ๋ยเคมี สูตร 25-7-7 จำนวน 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร เป็นการให้ทางรากด้วยการผ่านไปตามร่องหรือพื้นระหว่างแถวปลูกทุกๆ 15 วัน โดยให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพอย่างเดียวทุกกลางเดือน และให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพร่วมกับปุ๋ยเคมีทุกสิ้นเดือน

คั้นน้ำขาย

การตัดมาใช้ประโยชน์ ควรตัดให้ติดพื้นดินมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หลังตัดใช้ปูนกินหมากทาแผลจะช่วยป้องกันเชื้อโรค และช่วยให้อ้อยแตกกอใหม่เร็วขึ้น ซึ่งอ้อยคั้นน้ำสุพรรณบุรี-50 สามารถไว้ตอให้แตกใหม่ได้มาก 3-4 รุ่น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติบำรุง หากปฏิบัติดีอาจจะได้มากกว่าก็ได้

คุณอำพร เล่าว่า เมื่อปลูกและดูแลอย่างดีมาตลอด เมื่อถึงอายุที่จะเก็บเกี่ยวได้ ก็จะตัดแล้วนำมาคั้นน้ำขาย อยู่ริมถนนใกล้ๆ กับแปลงปลูก โดยปอกอ้อยแล้วนำไปเข้าเครื่องคั้นน้ำอ้อยที่มีอยู่ บริการลูกค้าที่แวะเวียนมาอุดหนุน หลายคนชิมแล้วติดใจในรสชาติ ความหอมหวานและกลิ่นหอมของอ้อยคั้นสด มีการบอกต่อทำให้ขายได้ตลอด คิดรายได้ต่อไร่จะตกไม่ต่ำกว่าแสนบาท ซึ่งแน่นอนว่ารายได้ดีกว่าการปลูกข้าวเป็นสิบเท่า

เครื่องคั้นน้ำอ้อยสด

อยากจะฝากถึงเกษตรกรรายอื่นๆ ให้มองถึงพืชอื่นที่สามารถสร้างรายได้ และเหมาะสมกับพื้นที่ ไม่ควรยึดติดกับพืชใดพืชหนึ่ง หรือกับความเคยชิน ต้องวิเคราะห์ถึงการเพิ่มมูลค่า รวมถึงต้นทุนการผลิตว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ หากเราทำก่อน แน่นอนว่าประสบความสำเร็จ หากจะมีคนลอกเลียนแบบ เราอาจไปต่อจนคนอื่นตามไม่ทันก็ได้ ใครอยู่แถวใกล้ๆ อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย แวะมาอุดหนุน หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้