ปลูก “คะน้าเด็ดยอด” เป็นผักสามัญประจำบ้านกันดีกว่า

หากใครยังมีพื้นที่ว่างในบ้าน อยากชวนปลูก “ผักคะน้าเด็ดยอด” ชื่อภาษาอังกฤษว่า petit kale หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ผักปูเล่” ซึ่งเป็นผักกินใบชนิดหนึ่ง ที่มีคุณลักษณะเด่นคือ เป็นพืชผักตระกูลกะหลํ่า มีอายุการให้ผลผลิตยอดอ่อนต่อเนื่องยาวนานหลายปี โดยแตกยอดขนาดเล็กจํานวนมากคล้ายยอดอ่อนของผักคะน้า นําไปประกอบอาหารทั้งรับประทานสดและปรุงสุกแบบผักคะน้าได้ทุกเมนู

ลักษณะเด่นของ ผักคะน้าเด็ดยอด

-ยอดอ่อนมีเส้นใยน้อยกว่าผักคะน้า ทำให้เนื้อผักไม่เหนียวเมื่อนำไปบริโภค

-มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์หลายชนิด โดยเฉพาะสารเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะการเกิดโรคมะเร็ง

-เจริญเติบโตได้ดีทั้งการปลูกในแปลงและปลูกในภาชนะต่างๆ

-สามารถปลูกแบบผักอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมีป้องกันและสารเคมีกําจัดศัตรูพืช เนื่องจากศัตรูพืชที่พบสามารถป้องกันและกําจัดโดยใช้จุลินทรีย์ควบคุม หรือโดยการควบคุมสภาพแวดล้อมขณะปลูก

-คะน้าเด็ดยอด เน้นการขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เนื่องจากต้นพันธุ์ที่ผลิตได้จะมีความสม่ำเสมอ แข็งแรง และปลอดโรค ศูนย์ขยายพันธุ์พืชสยาม (เอกชน) สนใจและเห็นว่า ผักคะน้าเด็ดยอดนี้ เหมาะสมต่อการพัฒนาเป็นพืชผักประจําบ้าน หรือพัฒนาวิธีการปลูกเชิงธุรกิจ รวมทั้งยังได้คัดเลือกต้นพันธุ์ที่มีลักษณะดีเด่นและผลิตเป็นต้นพันธุ์ดีออกมา และยังได้ศึกษาวิธีการปลูกที่เหมาะสมสําหรับผู้บริโภคเพื่อใช้ปลูกในลักษณะผักปลอดภัยประจําบ้าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ที่ปัจจุบันมีความเสี่ยงต่อการบริโภคผักที่มีสารเคมีกําจัดศัตรูพืชตกค้างเกินค่ามาตรฐาน

วิธีการปลูก ผักคะน้าเด็ดยอด

ผักคะน้าเด็ดยอด เจริญเติบโตได้ดีในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะดินร่วนระบายน้ำได้ดี แสงแดดส่องถึง นํ้าไม่ท่วมขัง การปลูกเป็นแปลง ผักจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าการปลูกลงกระถาง เนื่องจากระบบรากสามารถเจริญเติบโตได้ดีกว่า

หลังการเด็ดยอดคะน้าไปบริโภคแล้ว จะเกิดยอดคะน้าใหม่ ประมาณ 2-3 ยอด ต่อการเด็ด 1 ยอด เมื่อยอดชุดใหม่อายุ 25-30 วัน ก็สามารถเด็ดไปบริโภคได้อีก เมื่อเด็ดยอดอ่อนไปบริโภคอย่างสม่ำเสมอ ยอดใหม่ก็จะทยอยเกิดตามไปเรื่อยๆ

ศัตรูพืชของคะน้าเด็ดยอด

แมลงศัตรูพืชที่สําคัญ ได้แก่ หนอนผีเสื้อ หากเจอน้อยให้เก็บตัวหนอนทำลายทิ้ง หากพบการระบาดมากให้ใช้สารจุลินทรีย์ บาซิลลัสทูริงเยนซีส ฉีดพ่น สามารถกําจัดหนอนได้ดีมาก แมลงอีกชนิดที่พบบ่อยคือ เพลี้ยอ่อน สามารถกําจัดโดยฉีดพ่นน้ำแรงๆ หรือใช้ใบยาสูบตากแห้ง (ที่มวนบุหรี่) แช่นํ้าแล้วฉีดพ่นเป็นละอองฝอยๆ

โรคพืชที่พบบ่อยคือ อาการโรคเน่า เมื่อเจอความชื้นมากเกินไป วิธีแก้ไขคือ ตกแต่งใบแก่ ใบแห้ง ให้แปลงปลูกโปร่ง ไม่แน่นทึบ อากาศถ่ายเทได้สะดวก ลดปริมาณนํ้าในแต่ละวันลง เพื่อให้ความชื้นในแปลงปลูกลดลง

 การให้ปุ๋ย

แนะนำให้เสริมธาตุอาหาร ด้วยการใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ระยะเวลาประมาณ 20 วัน ต่อครั้ง อัตรา 1 ช้อนชา ต่อนํ้า 10 ลิตร

การให้น้ำ

ฤดูฝน มีความชื้นสูง ผักอาจเหี่ยวและเน่าเสียหาย ไม่ต้องรดนํ้าทุกวัน ช่วงฤดูร้อน หากให้นํ้าน้อยไป ยอดคะน้าจะเหนียว จึงต้องหมั่นสังเกตการเติบโตของพืช และให้น้ำตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา

แนวคิดการปลูกแบบธุรกิจ

ในอดีต ผักชนิดนี้ปลูกในพื้นที่อําเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นการปลูกภายใต้โรงเรือนหลังคาพลาสติก ตัวโรงเรือนทําจากไม้ไผ่ ไม่ใช้สารเคมีป้องกันและกําจัดศัตรูพืช ใช้แต่พวกเชื้อบาซิลลัสและกากยาสูบควบคุมแมลง พบว่า สามารถผลิตผักชนิดนี้ได้เดือนละหลายร้อยกิโลกรัม ผลผลิตส่งไปจําหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ

หากใครคิดจะปลูกผักชนิดนี้เชิงการค้า ขอฝากคำแนะนำสัก 2 ประการ

1.ผักชนิดนี้ไม่ชอบชื้นแฉะ ควรปลูกในโรงเรือนปลูกพืช หากปลูกกลางแจ้งในช่วงฤดูฝน ต้องมีหลังคาป้องกันฝน

2.ผักชนิดนี้ไม่จําเป็นต้องใช้สารเคมีป้องกันและกําจัดศัตรูพืชในการดูแลรักษา เหมาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งดีต่อสุขภาพของผู้ปลูกและผู้บริโภคอีกด้วย

ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อที่ ดร.วรรณา สนั่นพานิชกุล อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 086-084-6362

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2564