เทคนิคผลิต “มะละกอ” ให้ผลกลมยาว ต้องแยกให้ออก “กะเทยแท้-เทียม”

การที่จะผลิตมะละกอที่ได้คุณภาพดี รูปทรงสวย เป็นที่ต้องการของตลาด จะเป็นต้นกะเทย หรือต้นสมบูรณ์เพศเป็นหลัก มะละกอเป็นพืชที่ต่างจากพืชชนิดอื่น ตรงที่มี 3 เพศ แบบแยกต้น คือ ต้นตัวผู้ ต้นตัวเมีย และต้นกะเทย แต่จะรู้ได้ยังไงว่าต้นไหนเพศอะไร เทคโนโลยีชาวบ้านรวมเทคนิคมาไว้ที่นี่แล้ว

มะละกอ เป็นพืชที่ปลูกไม่ยาก แต่หากจะปลูกให้ได้ผลดี ต้องทำความเข้าใจ

เกษตรกรที่ปลูกมะละกอเมื่อต้นเจริญเติบโตดีแล้ว ต้องทราบวิธีการคัดเพศ ทั้งนี้เพื่อให้ได้มะละกอมีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการดูแลมะละกอหลังปลูก คือ การเลือกมะละกอให้ได้ผลกลมยาว ที่ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตขอนแก่น มีงานวิจัยมะละกอมานาน ดังนั้น เทคโนโลยีต่างๆ จึงสามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้

มะละกอผลกลมยาว ทำได้อย่างไร      

คุณวิไล ปราสาทศรี อดีตผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตขอนแก่น ได้อธิบายให้ฟังว่า มะละกอ มีดอกอยู่ 3 เพศ ด้วยกัน คือ เพศผู้ เพศเมีย และกะเทย (สมบูรณ์เพศ)

ดอกเพศผู้ รู้จักกันดีในนามมะละกอสาย มีพบว่าให้ผลบ้าง ผลกลม เนื้อบาง แต่ไม่ค่อยพบบ่อยนัก

ดอกเพศเมีย ดอกมีขนาดค่อนข้างใหญ่ คล้ายดอกมะลิ ผลมะละกอที่ได้จากดอกชนิดนี้ ผลป้อมใหญ่ ในผลกลวง เนื้อไม่หนานัก การบรรจุและการขนส่งค่อนข้างมีอุปสรรค ทางการค้าแล้วไม่เป็นที่ชื่นชอบแต่อย่างใด

Advertisement

ดอกกะเทย (สมบูรณ์เพศ) ลักษณะของดอก เรียวยาวคล้ายดอกจำปี ผลที่ได้จากดอกลักษณะนี้ กลมยาว เนื้อหนา เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งผลดิบทำส้มตำ และผลสุกรับประทานสด การบรรจุและการขนส่งทำได้สะดวก ดอกและผลจากมะละกอสมบูรณ์เพศเป็นที่ปรารถนาของผู้ปลูก รวมทั้งผู้บริโภค

ภาพลักษณะดอกของมะละกอ จากซ้ายไปขวา ดอกตัวผู้ ดอกกระเทยหรือสมบูรณ์เพศให้ผลกลมยาวเนื้อหนา สุดท้ายดอกตัวเมียให้ผลกลมป้อม เนื้อค่อนข้างบาง เวลานำมาปอกและสับเป็นเส้นทำไม่ค่อยสะดวก แต่ยามขาดแคลนก็ใช้ได้และมีการซื้อขายกัน
ภาพลักษณะดอกของมะละกอ จากซ้ายไปขวา ดอกตัวผู้ ดอกกะเทยหรือสมบูรณ์เพศ ให้ผลกลมยาวเนื้อหนา สุดท้าย ดอกตัวเมีย ให้ผลกลมป้อม เนื้อค่อนข้างบาง เวลานำมาปอกและสับเป็นเส้นทำไม่ค่อยสะดวก แต่ยามขาดแคลนก็ใช้ได้และมีการซื้อขายกัน

คุณวิไล แนะนำว่า หากต้องการได้มะละกอที่สมบูรณ์เพศ ควรเพาะในถุงพลาสติก หรือปลูกลงดิน ถุง หรือหลุมละ 3-5 เมล็ด จะได้ต้น 3-5 ต้น ไม่นานนัก ต้นจะมีดอก เมื่อสังเกตเห็นต้นที่ออกดอกเล็กเรียว หรือมีผลเล็กเรียว ก็เหลือต้นนั้นไว้ ต้นอื่นตัดทิ้ง หรือหากมีฝีมือก็ถอนไปปลูก อย่าได้เหลือมะละกอหลุมเดียวแต่มี 2 ต้น เหตุผลนั้น นักวิชาการมะละกอ บอกว่า มะละกอเป็นพืชที่ซื่อสัตย์ ตอบสนองต่อปุ๋ยดีมาก หากอยู่ใกล้กัน จะแย่งปุ๋ย ปลูกใกล้กันมีผลเสียมากกว่าผลดี

Advertisement

คุณวิไล บอกว่า เมื่อผ่านการคัดต้นที่มีดอกสมบูรณ์เพศแล้ว แต่บางครั้งยังพบว่า ผลที่ออกมามีลักษณะคล้ายผลที่ได้จากดอกตัวเมีย สาเหตุนั้น เกิดจากช่วงที่อากาศแปรปรวน อย่างหนาวแล้วมาร้อนจัด ดอกกะเทยจะกลายเป็นกะเทยเทียม ส่วนหน้าฝนนั้น ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ทางแก้ไขนั้นมี เมื่อเกษตรกรปลูกมะละกอไปแล้ว คัดเลือกได้ต้นที่ให้ดอกกะเทยแล้ว แต่เมื่ออากาศร้อนจัด พบว่า ผลมะละกอออกมาป้อม บางคนอาจจะบอกว่า ได้พันธุ์มะละกอปลอม นักวิชาการท่านว่า ไม่ปลอม เป็นพันธุ์แท้ ทางแก้นั้นให้เด็ดดอกกะเทยเทียมทิ้ง

มะละกอที่ให้ดอกตัวเมีย
มะละกอที่ให้ดอกตัวเมีย

ดอกกะเทยเทียม สังเกตได้ง่าย คือ ในช่อดอกมะละกอ จะมีดอก 2-3 ดอก ต่อหนึ่งช่อ กะเทยจะแทงออกมาก่อน หากเป็นกะเทยเทียม ดอกจะใหญ่คล้ายมะลิ หากเด็ดดอกแล้วแกะกลีบดอกออก จะมีเกสร 5 ชุด ซึ่งกะเทยแท้ หรือสมบูรณ์เพศนั้น จะมีเกสร 10 ชุด การไม่เด็ดกะเทยเทียมทิ้ง ดอกจะพัฒนาเป็นผลที่คล้ายผลจากดอกตัวเมีย ขณะเดียวกันดอกข้างๆ ในช่อดอกก็จะฝ่อไป แต่หากเด็ดดอกกะเทยเทียมทิ้ง ดอกข้างๆ ในช่อดอกเดียวกันก็จะพัฒนาเป็นผลกลมยาว เนื้อหนา

บางครั้งพบว่า ดอกกะเทยเทียม พัฒนาไประยะหนึ่ง มีโรคแทรกซ้อน ผลบิดเบี้ยว เสียรูปทรงไป เรียกปรากฏการณ์อย่างนี้ว่า ผลเป็น “หน้าแมว”

ปรากฏการณ์กะเทยเทียม พบมากในช่วงอากาศแปรปรวน แต่ผ่านไประยะหนึ่ง ลักษณะกะเทยแท้ จะกลับมาดังเดิม ดังนั้น หากสังเกตการผิดปกติ มีกะเทยเทียมในต้น แก้ไขโดยการเด็ดดอกกะเทยเทียมทิ้ง ถึงแม้จะเด็ดปริมาณมากๆ แต่ก็คุ้มค่า

ย้ำกันตรงนี้อีกครั้งหนึ่ง ในช่อดอกหนึ่ง มีดอกมะละกอ 2-3 ดอก ดอกที่อยู่ปลายช่อ มีโอกาสเป็นกะเทยเทียม หากปล่อยไว้จะได้ผลกลมป้อม ดอกที่อยู่ข้างๆ ก็จะฝ่อไป หากเด็ดออก ดอกข้างๆ ก็จะพัฒนาเป็นผลกลมยาว

มะละกอ
ปักชำและเสียบยอดได้

ที่ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตขอนแก่น นอกจากงานวิจัยแล้ว ยังมีขยายพันธุ์มะละกอสนับสนุนเกษตรกร ปีหนึ่งประมาณ 1-3 แสนต้น เกษตรกรที่ต้องการไม่มากนัก ขอสนับสนุนฟรีได้ แต่หากปลูกจำนวนมาก ซื้อหาในราคาไม่แพง

งานวิจัยอย่างหนึ่งที่ได้พบเห็นนั้น มีการขยายพันธุ์มะละกอโดยการปักชำยอด และการเสียบยอด

การปักชำ ทำเมื่อทราบว่าต้นนั้น มีลักษณะที่ เริ่มจากเมื่อต้นสูงพอประมาณ ตัดยอดของต้นมาชำ เมื่อมีกิ่งแขนงก็ตัดกิ่งแขนงมาชำได้อีก หรือจะปล่อยกิ่งแขนงที่มีอยู่เพื่อออกดอกติดผลต่อไป

การเสียบยอด ทำได้โดยเพาะต้นกล้ามะละกอไว้ จากนั้นนำยอดมะละกอจากต้นที่ดีมาเสียบ

ทั้งปักชำและเสียบยอด ทำคล้ายปักชำไม้อื่น คือต้องรักษาความชื้น ในการชำระยะแรกๆ งานเสียบยอดและปักชำ ถือว่าเป็นการขยายพันธุ์โดยการไม่ใช้เพศ โอกาสกลายพันธุ์ของผลบนต้นน้อย หรือแทบไม่มีเลย แต่รุ่นหลานเหลนแล้วมีโอกาส

ต้นมะละกอที่ได้จากการปักชำ

วิธีการปลูกมะละกอให้ได้ผลดี

พันธุ์
พันธุ์มะละกอที่นิยมปลูก คือ แขกดำ แขกนวล โกโก้ ซึ่งมีเนื้อสีแดงเมื่อสุก และสายน้ำผึ้ง ซึ่งมีเนื้อสีเหลืองสุก โดยเฉพาะพันธุ์แขกดำนิยมปลูกเป็นการค้าเนื่องจากบริโภคได้ทั้งดิบและสุก และพันธุ์แขกดำท่าพระ ซึ่งทนทานต่อโรคจุดวงแหวน มีเนื้อสีเหลืองอมส้มเมื่อสุก เหมาะสำหรับรับประทานดิบทำส้มตำ สุกเป็นผลไม้และแปรรูปบรรจุกระป๋องเป็นฟรุตสลัด

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
มะละกอ เป็นพืชที่ชอบดินร่วนที่มีอินทรียวัตถุสูง มีการระบายน้ำดี มีน้ำเพียงพอตลอดปี มะละกอเป็นพืชที่ไม่ทนทานต่อสภาพน้ำขังแฉะ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคโคนเน่าและรากเน่าตายได้

วิธีการปลูกและดูแลรักษา เตรียมเพาะต้นกล้า

นำดินร่วนที่สะอาดตากแดดแล้วประมาณ 3-5 แดด ผสมกับแกลบเผา สัดส่วน ดิน 6 ปี๊บ : แกลบเผา 6 ปี๊บ ผสมให้เข้ากันแล้วใส่ปูนขาว และใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ปริมาณอย่างละ 1 กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากัน กรอกลงถุงพลาสติก ขนาด 4×6 นิ้ว ที่เจาะรู 4-6 รู นำเมล็ดที่จะเพาะคลุกเคล้าด้วยสารเคมีกำจัดเชื้อรา เอพรอน 35 เพื่อป้องกันโรคเน่าคอดิน แล้วหยอดเมล็ดลงในถุง ถุงละ 3-5 เมล็ด ฝังให้ลึก 1 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่มทุกวัน เมล็ดจะงอกภายใน 10-14 วัน เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2-3 ใบ ให้ถอนแยก เลือกต้นที่แข็งแรงไว้ถุงละ 3 ต้น เมื่อต้นกล้าอายุ 45-60 วัน จึงย้ายลงแปลงปลูก

การเตรียมดินและการปลูก

ไถพรวนเพื่อกำจัดวัชพืชและย่อยดินให้ร่วน เตรียมแปลงปลูกโดยใช้ระยะปลูก 2×2.5 เมตร (ไร่ละ 320 หลุม) หรือระยะ 2×2 เมตร (ไร่ละ 400 หลุม) ขุดหลุมขนาดกว้าง 50 ยาว 50 และลึก 50 เซนติเมตร ผสมดินปากหลุมกับปุ๋ยคอกครึ่งปี๊บ ใส่ปูนขาว หรือร็อกฟอสเฟตบด (หินฟอสเฟต) อัตรา 150-250 กรัม ต่อหลุม และปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 20 กรัม ต่อหลุม คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากันและเกลี่ยลงหลุม พูนดินให้อยู่เหนือระดับพื้นดินประมาณ 10 เซนติเมตร

ปลูกต้นกล้าที่เตรียมไว้ หลุมละ 3 ต้น กดดินให้แน่นบริเวณรอบโคนต้น รดน้ำให้ชุ่ม แนะนำให้ปลูกช่วงบ่ายหรือวันที่แดดไม่จัด มะละกอจะตั้งตัวได้เร็ว และเปอร์เซ็นต์รอดสูง ภายใน 1 เดือน สำรวจต้นตายแล้วรีบปลูกซ่อม ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอโดยสายยางหรือระบบน้ำหยด โดยเฉพาะช่วงเดือนแรกควรให้ทุกวัน การปล่อยให้ขาดน้ำดินแห้ง จะทำให้มะละกอชะงักการเจริญเติบโต โดยเฉพาะช่วงออกดอกติดผล จะทำให้ผลร่วง ควรงดให้น้ำเมื่อฝนตกหนัก และเมื่อฝนทิ้งช่วงภายใน 5-7 วัน จะต้องให้น้ำต่อเนื่องทันที เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดิน

การใส่ปุ๋ย

ใส่ปุ๋ยคอก ปีละ 2 ครั้ง อัตรา 0.5-1 ปี๊บ ต่อต้น ต่อครั้ง ครั้งแรกเมื่อมะละกอตั้งตัวติด (ประมาณ 1 เดือนหลังปลูก) และครั้งที่ 2 เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกเสร็จแล้ว วิธีใส่ให้ใส่รอบโคนต้น อย่าชิดลำต้น และรดน้ำตาม

ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 เดือนละ 1 ครั้ง อัตรา 10-12 กรัม ต่อต้น โดยใส่ครั้งแรกเมื่อมะละกออายุครบ 1 เดือน หลังย้ายปลูก วิธีใส่โดยใส่ปุ๋ยรอบรัศมีทรงพุ่มของต้นมะละกอ กลบดินแล้วรดน้ำตาม

การคัดเลือกเพศและการถอนแยก
หลังปลูกประมาณ 2 เดือน มะละกอจะเริ่มออกดอก คัดเลือกเพศมะละกอโดยเลือกต้นสมบูรณ์เพศ (ต้นกะเทย) ไว้ หลุมละ 1 ต้น หลุมใดมีแต่ต้นตัวเมีย (ให้ผลกลมป้อม) ให้ถอนทิ้งทั้งหมด แล้วปลูกซ่อมโดยเร็ว

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562