“มะนาวคาเวียร์” พืชสวนกระแส สร้างรายได้ขั้นต่ำ กก. ละ 2,000 บาท

หากย้อนไปเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน เชื่อว่าหลายท่านคงคุ้นเคยกับพืชกระแสที่มาแรงอย่าง มะนาวคาเวียร์ (Finger Lime) หรือหลายท่านเรียกว่า มะนาวนิ้วมือ ในตอนนั้นเป็นอย่างดี ถึงปัจจุบันกระแสความนิยมก็เริ่มซาไป เพราะส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความที่เป็นพืชตามกระแสมาแล้วก็หายไป หรือเกิดจากผู้คนยังไม่รู้วิธีการปลูกดูแลรักษา เพราะพืชชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศออสเตรเลีย หรือข้อสุดท้ายก็นับเป็นเหตุผลที่น่ากลัวเช่นกัน นั่นคือ เกษตรกรหลายท่านถูกหลอกให้ซื้อต้นพันธุ์ไปปลูก ทั้งที่เจ้าของสวนเองยังไม่ทราบเลยว่าต้นพันธุ์ที่ขายไปนั้นเป็นมะนาวพันธุ์อะไร ลูกออกมาแล้วเป็นยังไง ก็ขายไปในราคาที่สูง แต่ผลสุดท้ายปลูกออกมาแล้วไม่ได้อย่างคำโฆษณา จึงอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้กระแสของมะนาวคาเวียร์ ค่อยๆ จางหายไป แต่ในอีกทางหนึ่งก็ยังมีเกษตรกรที่ยังมุ่งมั่นพยายามปลูกและเรียนรู้ที่จะทำพืชสวนกระแสนี้จนสำเร็จ และสามารถสร้างรายได้เสริมให้เขาเป็นอย่างดีมานานกว่า 6 ปีแล้ว

คุณเกรียงไกร บรรเทา หรือ พี่ใหม่ อาชีพหลักเป็นผู้จัดการวิศวกรรมซ่อมบำรุง และมีอาชีพเสริมเป็นเกษตรกรวันว่างปลูกมะนาวคาเวียร์ พืชสวนกระแสในปัจจุบัน แต่กลับกลายเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเขาได้ไม่น้อย

คุณเกรียงไกร บรรเทา หรือ พี่ใหม่

พี่ใหม่ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นเกษตรกรวันว่างว่า เกิดจากการอยากที่จะหารายได้เสริมให้กับครอบครัวที่อยู่ต่างจังหวัด จึงได้ศึกษาหาอาชีพเสริม และเพื่อเป็นอาชีพรองรับหลังวัยเกษียณ จนกระทั่งได้ไปรู้จักกับ อาจารย์ชาตรี ต่วนศรีแก้ว ท่านเป็นอาจารย์สอนวิชาเกษตร อยู่ที่โรงเรียนสถาพรวิทยา จังหวัดนครปฐม ท่านก็ได้ให้คำแนะนำว่าให้ลองหาปลูกพืชอะไรใหม่ๆ ที่คนยังทำกันไม่เยอะ ให้ทำพืชสวนกระแส จะได้ไม่ต้องไปวิ่งตามคนอื่น และพอหลังจากได้คำแนะนำมา ก็ใช้คำแนะนำของอาจารย์มาคิดและทำการศึกษาหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตดูว่ามีพืชชนิดไหนน่าปลูกบ้าง จนกระทั่งมาสะดุดเข้ากับมะนาวคาเวียร์ หลังจากนั้นก็ได้มีการศึกษาข้อมูล และไปขอความรู้จากอาจารย์ชาตรี จนได้ลงมือทดลองซื้อมาปลูกในขณะนั้น

“เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว ต้นพันธุ์ของมะนาวคาเวียร์มีราคาค่อนข้างสูงมาก ในตลาดขายกันต้นละประมาณ 3,000-5,000 บาท เดือนหนึ่งจะสามารถซื้อได้ประมาณ 1-2 ต้น แล้วค่อยๆ ทยอยปลูกสะสมพันธุ์ไว้กว่า 35 สายพันธุ์ ที่สวนนางรอง ที่บ้านเกิดจังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้เรียนรู้วิธีการปลูกขยายพันธุ์มาจากอาจารย์ชาตรี ปลูกจนได้ระยะ 2-3 ปี จึงได้รู้ว่าสายพันธุ์ที่ปลูกสะสมไว้กว่า 35 สายพันธุ์ ไม่ใช่ทุกสายพันธุ์ที่สามารถจะติดลูกในบ้านเราได้ นี่คือประสบการณ์แรกที่ได้เรียนรู้จากการปลูกมะนาวคาเวียร์”

แปลงปลูกมะนาวคาเวียร์ ที่สวนจังหวัดสุพรรณบุรี

ค่อยๆ เรียนรู้ จนเกิดความชำนาญ

เจ้าของบอกว่า หลังจากที่ได้เรียนรู้ประสบการณ์และข้อผิดพลาดจากมะนาวคาเวียร์ได้ประมาณ 3 ปี ก็ได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และพอที่จะทำให้รู้แล้วว่า สายพันธุ์ไหนบ้างที่สามารถติดลูกในบ้านเราได้บ้าง หลังจากนั้นเมื่อผลผลิตเริ่มออก ก็เริ่มโพสต์เฟซบุ๊กมาตลอด และเริ่มมีคนสนใจติดต่อเข้ามาขอซื้อผลของมะนาวคาเวียร์อยู่เรื่อยๆ ซึ่งในตอนนั้นมีรายได้เข้ามา 2 ทาง ทั้งจากการขายผลสด และจากการขายกิ่งพันธุ์มะนาวคาเวียร์เสียบยอด จึงทำให้รู้ว่าสิ่งที่พยายามทำมาตลอด 3 ปี มันได้ผลและสามารถสร้างรายได้กลับมาได้จริงๆ เพราะตอนแรกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เห็นแค่ที่ต่างประเทศเขาขายกัน แต่ตอนนี้เราสามารถปลูกและขายได้จริงๆ จึงเริ่มมองสเกลที่ใหญ่ขึ้นมา และได้มีการชวนเพื่อนที่เรียนจบที่เดียวกันมาทำสวนมะนาวคาเวียร์ด้วยกัน จากปลูกแค่ที่สวนนางรองที่อยู่บ้านต่างจังหวัด ก็ได้ขยายพันธุ์มะนาวคาเวียร์จากสวนนางรองไปปลูกเพิ่มที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 5,000 ต้น

เริ่มปลูกในสเกลที่ใหญ่ขึ้น
อุปสรรคก็มีมากขึ้น

หลังจากที่ได้มีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มจากสวนนางรอง มาสุพรรณบุรี พี่ใหม่ บอกว่า ด้วยความรู้ของตนเองนั้นมีความชำนาญการปลูกให้ออกดอกติดผลแค่ที่สวนนางรอง แต่กลับมองข้ามสิ่งใกล้ตัวไป คือเรื่องของสภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ไม่ได้มีการศึกษามาก่อนว่า ที่จังหวัดสุพรรณบุรีมีอากาศที่ร้อนมาก ประมาณ 37-40 องศาเซลเซียส และนอกเหนือจากอากาศที่มองข้ามไปแล้ว ยังมีเรื่องของแหล่งน้ำ คือสวนที่สุพรรณฯ ช่วงหน้าฝนจะมีน้ำใช้ไม่ขาด แต่พอถึงช่วงแล้งก็ไม่มีน้ำเลย จึงต้องเจาะน้ำบาดาลมาใช้ แต่น้ำบาดาลจะเป็นน้ำที่มีความกระด้างอยู่ค่อนข้างสูง เมื่อนำมารดต้นมะนาว ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น จากมะนาวที่ปลูกไว้ 5,000 ต้น เหลืออยู่ประมาณ 1,500 ต้น ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาอีกขั้นว่า มะนาวแต่ละสายพันธุ์ติดลูกในบ้านเราได้ แต่ว่าถ้าไปปลูกในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ผลผลิตก็ให้แตกต่างกันได้เช่นกัน นี่คืออุปสรรคที่พบเจอ และได้เกิดการเรียนรู้เพิ่มเติม หลังจากนั้นจนได้รู้ว่าพันธุ์ไหนชอบแดด พันธุ์ไหนไม่ชอบแดด พันธุ์ไหนเหมาะกับสภาพอากาศอย่างไร จนทำให้สามารถพัฒนาสวนกลับมาได้ใหม่อีกครั้ง

เปิดสปริงเกลอร์รดน้ำตอนบ่าย

ซึ่งในปัจจุบันที่สวนปลูกมะนาวคาเวียร์อยู่ประมาณ 8 ไร่ และได้ค้นพบแล้วว่า สายพันธุ์ที่เหมาะสมที่จะปลูกในประเทศไทยที่มีอากาศร้อนเกือบทั้งปี จะมีอยู่ประมาณ 6 สายพันธุ์ ได้แก่

  1. เรดแชมเปญ (Red Champange)

    เรดแชมเปญ
  2. ไบร่อน ซันไรส์ (Byron Sunrise)

    ไบร่อน ซันไรส์
  3. เอ็มเมอรัล (Emerald)

    เอ็มเมอรัล
  4. เทสตี้ กรีน (Tasty Green)

    เทสตี้ กรีน
  5. ซีตรอน คาเวียร์ โรส (Citron Caviar Rose)

    ซีตรอน คาเวียร์ โรส
  6. เอ็มม่า (Emma)

    เอ็มม่า

ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีจุดเด่น จุดด้อย ที่แตกต่างกันออกไป คือ

1. เรื่องของการเจริญเติบโต บางสายพันธุ์จะทนร้อนได้ดี แต่บางสายพันธุ์ไม่ชอบอากาศร้อน พอเริ่มเข้าเดือนเมษายนใบจะเหลือง กรอบตายก็มี นี่คือ ความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์

2. ต้นตอที่นำมาเสียบ ที่สวนสุพรรณฯ ตอนแรกลงต้นตออยู่ 3 ชนิด คือ ทรอยเยอร์ เจซี และส้มโอ ซึ่งต้นที่รอดล้วนแล้วเป็นต้นตอทรอยเยอร์ กับเจซี แต่ต้นตอส้มโอตายเกลี้ยง เพราะฉะนั้นต้นตอก็มีส่วนในการปลูกเช่นกัน

3. รูปทรงผลจะยาว สั้น แตกต่างกันออกไป

ปลูกมะนาวคาเวียร์ในเข่ง ที่สวนนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

เทคนิคปลูกมะนาวคาเวียร์
ให้ได้ผลผลิตดี ต้องอาศัยหลายปัจจัย

เจ้าของบอกว่า การที่จะปลูกมะนาวคาเวียร์ที่เป็นพืชมีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศให้ได้ผลดีในประเทศไทยนั้นไม่ใช่เพียงแค่รู้วิธีการปลูกอย่างถูกวิธีเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยอีกหลายปัจจัยประกอบ ดังนี้

1. สายพันธุ์กับต้นตอที่ใช้เสียบยอด อย่างเช่น ถ้าปลูกในพื้นที่มีอากาศร้อน ก็ต้องเลือกสายพันธุ์ที่ปลูกในอากาศร้อนได้ เช่น ที่เนิร์สเซอรี่ของตนเองที่อยู่บุรีรัมย์ สามารถปลูกได้กว่า 12 สายพันธุ์ แต่ถ้ามาเจออากาศร้อนๆ ที่สุพรรณบุรี และใช้น้ำบาดาลรด จะสามารถปลูกได้อยู่ประมาณ 4-5 สายพันธุ์ เท่านั้น

2. ดิน ต้องเป็นดินที่ระบายน้ำได้ดี ถ้าดินไม่ดีก็ต้องมีการปรับปรุงดินให้ดีก่อนปลูก มะนาวคาเวียร์จะไม่ชอบดินที่อุ้มน้ำ เพราะเวลาติดลูกประมาณช่วงเดือนตุลาคมถึงช่วงปลายเมษายนจะเริ่มมีผลผลิตออกมาให้ได้เก็บ แล้วถ้าฝนตกลงมา ดินระบายน้ำได้ไม่ดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ มะนาวลูกจะแตก

3. น้ำ ควรมีแหล่งน้ำที่พร้อม ถ้าเป็นน้ำบาดาลควรจะสูบน้ำขึ้นมาพักไว้ก่อน ประมาณ 1 สัปดาห์ หรืออาจจะปรับสภาพน้ำง่ายๆ ด้วยการเอาขี้ควายเทใส่แล้วเลี้ยงปลา

4. คนดูแล วิธีการดูแลรักษา จะต้องรู้ว่าช่วงนี้ต้องใส่ปุ๋ยอะไร เช่น หน้าฝนมาให้ใส่ขี้หมู และสิ่งที่ตามมาคือ เชื้อรา ก็ต้องมีการฉีดพ่นไตรโคเดอร์มาไปด้วยเพื่อกันเชื้อรา สลับใส่ขี้วัว สลับใส่เคมีบ้างเป็นบางครั้ง

วิธีการปลูก

ที่สวนจะเลือกปลูก 2 วิธี คือ ที่สวนนางรอง จะปลูกลงเข่ง และสวนสุพรรณฯ ปลูกลงแปลง

1. วิธีการปลูกลงเข่ง จะมีส่วนผสมคือ ดิน 1 ส่วน แกลบดิบ 1 ส่วน ขี้วัว 1/2 ส่วน มะพร้าวสับ 1/2 ส่วน จะมีส่วนผสมหลักๆ อยู่ 4 อย่าง แต่ถ้าครั้งไหนมีใบก้ามปูก็จะผสมลงไปเป็นอย่างที่ 5 นำมาผสมให้เข้ากัน เสร็จแล้วนำมาใส่ในเข่ง โดยเอามะพร้าวสับรองก้นเข่งไว้ แล้วเอาดินใส่เข่งตั้งไว้แล้วรดน้ำไปประมาณ 1 เดือน จนกว่าหญ้าจะขึ้น ถ้าหญ้าขึ้นแล้วใบเขียว ก็แปลว่าแกลบเน่าแล้ว ก็สามารถลงต้นปลูกด้วยกิ่งพันธุ์เสียบยอดได้

2. วิธีการปลูกลงแปลง เตรียมดินไถตีดินยกร่อง ระยะห่างระหว่างร่อง ประมาณ 6×6 เมตร แต่ถ้าหากดินไม่ดี ให้เอาแกลบมาหว่านแล้วไถกลบทิ้งไว้ ประมาณ 1 เดือน พอถึงช่วงเดือนพฤษภาคมฝนเริ่มมาก็พลิกกลับตีร่อง ระยะห่างระหว่างต้น ประมาณ 3×3 เมตร

มะนาวคาเวียร์ติดผลเต็มต้น

วิธีการดูแล

ปลูกลงเข่งการจัดการจะง่ายกว่า ในช่วงปีแรกปลูกลงดินยังไงต้นก็โตไม่ทันปลูกลงเข่ง เพราะการปลูกในเข่งสามารถบังคับปุ๋ย บังคับน้ำ สามารถบังคับลูกให้ติดตลอดทั้งปีได้ แต่ข้อเสียคือ เมื่อปลูกไปได้ระยะ 2-3 ปี รากจะเดินเต็มเข่งผลผลิตจะป้อมลง ลูกจะเล็กไม่มีคุณภาพ

ส่วนการปลูกลงแปลง ในช่วงปีแรกจะโตช้า แต่พอตั้งตัวได้ ระบบรากเดิน ต้นก็จะโตเร็ว อย่างสวนที่สุพรรณฯ ปลูกมาได้ 2 ปีครึ่ง ต้นสูงประมาณ 2.5-3 เมตร

คละสีสวยงาม

ระบบน้ำ

ปลูกในเข่งรดน้ำตอนเช้าทุกวัน พอถึงช่วงประมาณบ่ายสาม จะเปิดให้น้ำสปริงเกลอร์อีกครั้ง เพื่อไม่ให้ร้อนเกินไป และมีบางสายพันธุ์ที่ไม่ทนร้อน ก็จะนำมาปลูกไว้ทางทิศตะวันออกของบ้าน พอตอนเช้าได้แดด ตอนบ่ายร่มของบ้านจะบังพอดี

ปลูกลงแปลง จะดูที่ดินเป็นหลัก รดน้ำวันเว้นวัน แต่ด้วยศักยภาพของคนสวนที่ดูแล ไม่สามารถดูดินแล้วให้ตัดสินใจเองได้ จึงแก้ปัญหาด้วยการกำหนดให้คนสวนรดน้ำแบบวันเว้นวันไปเลย ถ้าหน้าร้อนรดทุกวัน ถ้าหน้าฝนแต่ฝนไม่ตกก็ให้รดวันเว้นวันไป

ปุ๋ย… เน้นใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ จะทำให้ดินร่วนซุยด้วย ถ้าต้องการให้รากเดินช่วงหน้าฝนให้เอาขี้หมูลงสลับขี้ไก่ แล้วสลับใส่ปุ๋ยเคมี สูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 จนถึงช่วงเดือนตุลาคม เริ่มติดดอกเป็นลูกเล็กๆ ก็จะเริ่มใส่ขี้ไก่ ช่วยให้ลูกใหญ่ สีข้างในจะสวย จากนั้นรอเก็บผลผลิต

ปลูกถึงเก็บเกี่ยว… ใช้เวลาปลูก 8 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ แต่ยังได้ปริมาณที่น้อยมาก เพราะต้นยังเล็ก จะเริ่มเก็บผลผลิตได้เต็มที่ตอนต้นได้อายุประมาณปีครึ่งขึ้นไป ต้นจะไม่โทรม แต่ข้อเสียของการปลูกลงดินคือ ดูแลวัชพืชยาก

ศัตรูพืช… มีเหมือนมะนาวบ้านเรา คือ หนอนชอนใบ เพลี้ย การดูแลป้องกันตามโรคที่เกิดขึ้น

ผลผลิตและการตลาด

จะควบคุมไม่ให้ผลผลิตออกมาเกิน 100 ลูกต่อต้น เพราะถ้าให้ผลผลิตออกมากกว่านี้ ลูกจะออกมาเล็กและขายไม่ได้ราคา เพราะที่สวนมีวิธีการขายแบบแบ่งคัดเกรด ถ้าเป็นเกรดพรีเมี่ยม ขายในราคากิโลกรัมละ 3,000 บาท ไซซ์ 40-50 ลูกต่อกิโลกรัม ส่วนไซซ์รองลงมา ขนาด 50-60 ลูกต่อกิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 2,500 บาท และสุดท้ายไซซ์ 60-70 ลูกต่อกิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 2,000 บาท

จากประสบการณ์ที่ทำมาคิดว่า มะนาวคาเวียร์เป็นพืชที่มีเสน่ห์ในตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นเรื่องแปลกใหม่ที่สามารถนำมาปลูกในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ และที่ผ่านมาเคยมีแม้กระทั่งคนสั่งผลจากออสเตรเลียมาขาย แต่เมื่อประเทศไทยสามารถปลูกได้เอง ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี หรือให้พูดง่ายๆ ก็คือ กลุ่มลูกค้าของที่สวนจะเป็นกลุ่มคนที่เคยมีประสบการณ์จากมะนาวคาร์เวียร์มาอยู่แล้ว คือ

รีวิวอาหารจากลูกค้า

1. กลุ่มลูกค้าที่เป็นเชฟตามโรงแรม ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่เป็นเชฟจะชอบผลผลิตแบบคละสี คืออย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น คือที่สวนนารองสามารถปลูกมะนาวคาเวียร์ได้ 12 สายพันธุ์ และถ้าแบ่งให้แคบลงมา ก็จะเหลือ 4 กรุ๊ป แยกได้เป็น 4 สี คือ

– สีขาว

– สีแดง

– สีเขียว และ

– สีชมพู เพื่อนำไปประดับบนอาหารจานหรู

2. ลูกค้าจากห้างสรรพสินค้า ลูกค้ากลุ่มนี้จะชอบมะนาวที่ผลมีลักษณะใหญ่ ยาว

3. ลูกค้าจากสื่อโซเชียล มีการติดต่อซื้อขายกันมาตลอด ซึ่งทุกวันนี้ที่สวนมีผลผลิตส่งให้ได้แค่กับลูกค้าประจำเท่านั้น และยังไม่เคยวิ่งหาตลาดเอง มีแต่ตลาดวิ่งเข้าหา ใน 1 ปี ก็ถือว่าสร้างรายได้จากมะนาวคาเวียร์ได้ไม่น้อย เพราะนอกจากจะขายผลแล้ว ยังมีการขายกิ่งพันธุ์มะนาวคาเวียร์ด้วย ราคากิ่งพันธุ์เริ่มต้นที่ 350 บาท ขนาดความสูงของต้นประมาณ 70-90 เซนติเมตร แต่ถ้าท่านใดอยากได้ต้นสูงกว่านี้ ที่สวนก็มีจำหน่าย แต่ราคาก็แตกต่างกันออกไปตามขนาดของทรงพุ่ม หรือท่านใดสนใจอยากซื้อไว้ประดับบ้านที่สวน ก็มีต้นมะนาวคาเวียร์แบบติดลูกขาย ในราคาต้นละ 8,000 บาท ความสูงของต้น ประมาณ 1.50 เมตร

ผู้ช่วยตัวน้อยประจำสวน

“ซึ่งการปลูกมะนาวคาเวียร์ ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ผมมองว่าอนาคตยังไปได้อีกไกล อย่างเช่นเดือนที่ผ่านมา มีลูกค้าจากอียิปต์ทักมาหาผมในอินบล็อกส่วนตัว ถามว่าเรามีลูกมะนาวส่งไหม เขาจะรับซื้อ 80-100 กิโลกรัมต่อเดือน ผมก็เลยตอบว่ายังไม่สามารถผลิตได้มากขนาดที่เขาต้องการ ด้วยเหตุนี้ผมจึงมองว่าตลาดยังไปได้อีกไกล คนอื่นก็มองว่าเป็นพืชกระแส แต่สำหรับผมมีลูกเมื่อไร ก็ขายได้ตลอด” พี่ใหม่ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทร. 086-358-7670 หรือติดต่อได้ที่ สวนนางรอง อยู่ที่ 41 ซอยอุดมสรรพกิจ ถนนสรรพกิจโกศล ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และสวนที่จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ที่ 154/1 หมู่ที่ 4 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

ต้นพันธุ์มะนาวคาเวียร์ 350 บาท
แพ็กจัดส่งอย่างดี
ยำปลากระป๋องราดมะนาวคาเวียร์ อาหารต้อนรับแขกผู้มาเยือน

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2564