เจ้าของสวนทุเรียนเมืองตรัง ควบคุมหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนได้สำเร็จ โดยไม่ต้องใช้สารเคมี

อำเภอเมืองตรัง มีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมดประมาณ 549.48 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิตทั้งหมด 308 ไร่ พื้นที่ที่ให้ผลผลิตแล้วเกือบทั้งหมดเป็นสวนทุเรียนเก่าแก่ที่มีอายุ 20-35 ปี ลักษณะสวนทุเรียนมีลักษณะเป็นสวนผสม ปลูกทุเรียนร่วมกับไม้ผล ไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ บางส่วนปลูกเป็นสวนหลังบ้าน ลักษณะต้นทุเรียนมีลักษณะเป็นต้นสูงชะลูด ความสูงมากกว่า 20 เมตร การติดผลมักติดผลในส่วนบนของทรงพุ่ม

.หลอดแบล็กไลต์ เป็นหลอดไฟให้แสงรังสี UVA มีช่วงคลื่นตั้งแต่ 315-380 นาโนเมตร เป็นช่วงคลื่นที่แมลงบินได้หลายชนิดสามารถมองเห็นได้ดีและบินเข้ามาหา

เกษตรกรเจ้าของสวนเกือบทั้งหมดเป็นเกษตรกรสูงวัย ขาดแคลนแรงงานในการดูแลรักษาและกำจัดศัตรูพืช จึงปล่อยให้ทุเรียนติดผลเป็นไปตามธรรมชาติ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแต่อย่างใด ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตรัง พบว่า ผลผลิตเฉลี่ยของทุเรียนในพื้นที่อำเภอเมืองตรัง มีผลผลิตต่ำมาก ผลผลิตเฉลี่ย 500 กิโลกรัม ต่อไร่เท่านั้น พบว่าปัญหาที่สำคัญที่ทำให้ผลผลิตต่ำเกิดจากการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนระบาดทำลายผลผลิตให้ได้รับความเสียหาย

หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ตัวเมียวางไข่ได้ 100-200 ฟอง โดยวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ที่หนามทุเรียนขณะเป็นผลอ่อน ที่มีอายุตั้งแต่ 6 สัปดาห์-เก็บเกี่ยว ระยะไข่ 2-3 วัน ตัวหนอนเจาะเข้าทำลายตรงร่องหนาม ระยะตัวหนอน 30-40 วัน ระยะดักแด้ประมาณ 1-9 เดือน ระยะตัวเต็มวัย 7-10 วัน ความรุนแรงในการทำลายผลผลิตทุเรียนผีเสื้อกลางคืนเพศเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ที่ผลทุเรียนได้ 100-200 ผล

ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อ

คุณบุญชอบ บัวเพ็ชร ข้าราชการครูเกษียณ เจ้าของสวนทุเรียนในพื้นที่ตำบลนาท่ามใต้ อำเภอเมืองตรัง มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 7 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 80 ต้น ต้นทุเรียนอายุประมาณ 30 ปี ลักษณะสวนทุเรียนปลูกผสมกับไม้ผลและไม้ยืนต้นอื่น ทำให้ต้นสูงชะลูด และผลผลิตทุเรียนจะติดผลอยู่ส่วนบนของทรงพุ่ม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ประสบกับปัญหาการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนระบาด ทำให้ผลผลิตเสียหาย ร้อยละ 40-50 แม้จะมีการจ้างแรงงานฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนหลังช่วงดอกบาน 1-2 ครั้ง แล้วก็ตาม

ในฤดูกาลผลิต ปี 2563 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตรัง ได้มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับนวัตกรรมวิธีการควบคุมหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนด้วยนวัตกรรมวิธีการใช้กับดักแสงไฟแบล็กไลต์ จึงได้ไปติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับนวัตกรรมดังกล่าว และได้ตัดสินใจลงทุนซื้อวัสดุอุปกรณ์ตามที่สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตรังแนะนำ และดำเนินการติดตั้งกับดักแสงไฟแบล็กไลต์ ตามคำแนะนำของ คุณประทิ่น วรรณงาม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรและมีการติดตามให้คำปรึกษา ตลอดระยะเวลาไปจนถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต

ผลจากการดัก

และในปีนี้พบว่าผลผลิตทุเรียนเสียหายจากหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเพียง ร้อยละ 1 เท่านั้น โดยไม่ต้องใช้สารเคมีแต่อย่างใด

คุณบุญชอบ กล่าวว่า ในช่วงปลายเดือนเมษายน หลังดอกบาน ตนนำนวัตกรรมวิธีการใช้กับดักแสงไฟหลอดแบล็กไลต์มาใช้ทันที และปีนี้มีความมั่นใจว่า จะไม่มีผลผลิตที่เสียหายจากหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนให้เห็นอีกต่อไป และมั่นใจว่าไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน และจะปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

โดยนวัตกรรมวิธีการใช้กับดักแสงไฟแบล็กไลต์ควบคุมหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนควรปฏิบัติดังนี้ หลังทุเรียนดอกบาน  ทำการติดตั้งกับดักแสงไฟหลอดแบล็กไลต์ทันที โดยเปิดไฟติดต่อกันทุกคืน ตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ทันตกดินไปจนกระทั่งพระอาทิตย์ขึ้น โดยวางกับดักที่พื้นดินบริเวณรอบนอกสวน หรือห่างจากต้นทุเรียนไม่น้อยกว่า 5 เมตร ทางด้านใต้ลมที่พัดในช่วงกลางคืน โดยใช้หลอดไฟแบล็กไลต์ ขนาด 18 หรือ 20 วัตต์ โดยให้มีระยะห่างระหว่างหลอด ห่างกัน 40 เมตร ต่อหลอด

หนอนเจาะผล

โดยจำนวนหลอดไฟที่ใช้โดยเฉลี่ย 1 ไร่ ใช้ 2 หลอด ถ้าเกินจาก 1 ไร่ ให้ใช้ไร่ละ 1 หลอด เช่น 2 ไร่ ใช้ 2 หลอด บริเวณที่วางกับดักไม่ควรมีแสงสว่างจากหลอดไฟอื่นๆ ในพื้นที่ที่กระแสไฟฟ้าอาจจะมีการดับเกิดขึ้นได้ในช่วงกลางคืน

ในกรณีที่ต้องการให้การควบคุมเต็มประสิทธิภาพ และเป็นการลดความเสี่ยงให้ใช้กะละมังใส่น้ำและผงซักฟอก ให้มีระดับสูงประมาณ 5 เซนติเมตร วางไว้ใต้หลอด ให้หลอดสูงจากขอบกะละมังประมาณ 5 เซนติเมตร

ผลทุเรียนที่เสียหาย

แต่สำหรับในพื้นที่ที่มั่นใจว่ากระแสไฟฟ้าติดต่อเนื่องตลอดทั้งคืน หรือไม่ดับจะไม่ใช้กะละมังใส่น้ำวางไว้ใต้หลอดก็ได้ ซึ่งจะไม่ทำลายแมลงที่มีประโยชน์และแมลงนอกเป้าหมายประเภทแมลงกลางวัน และที่สำคัญที่สุดในการใช้กับดักนี้คือ เกษตรกรต้องรู้จักตัวเต็มวัย (ผีเสื้อ) ของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน

หากเกษตรกรได้ดำเนินการตามคำแนะนำแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ท่านอย่าเพิ่งท้อใจ นั่นแสดงว่า ท่านอาจจะมีข้อบกพร่องในการปฏิบัติอยู่บางส่วน ท่านสามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตรัง โทร. 075-218-681

เกษตรกรมั่นใจ