ที่มา | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
มะละกอแขกดำหนองแหวน เป็นมะละกอที่มีถิ่นกำเหนิด อยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี กลายพันธุ์จากแขกดำ ลักษณะเด่นของเขาคือโคนผลเล็ก กลางผลใหญ่ขึ้น ปลายผลแหลม ผิวผลสีเขียวเข้ม ผิวสวย ผลผลิตดก น้ำหนักเฉลี่ย 2.5 กิโลกรัมต่อผล เนื้อสีแดง แต่ไม่แดงติดเปลือก รสชาติหวานแหลม
ปลูกและดูแลมะละกอพันธุ์นี้อย่างไรให้ได้ผลดี
ระยะปลูก ใช้ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 2 คูณ 2.50 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ปลูกได้ 250 ต้น
ช่วงที่หยอดเมล็ดลงถุง หยอด 4-5 เมล็ดต่อถุง ต้นจะงอกอย่างต่ำ 3 ต้น เมื่อนำลงปลูก ยามที่มีดอก ให้เลือกต้นกระเทยไว้เพียง 1 ต้นต่อหลุมเท่านั้น
งานปลูกมะละกอเรื่องน้ำมีความสำคัญมาก น้ำดีมะละกอให้ผลผลิตดี
ปลูกใหม่ๆเจ้าของให้น้ำทุกวันๆละ 30-45 นาที สิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมคือความชื้น หากฝนตก เวลาการให้น้ำก็ลดลง
ปลูกได้ 14 วัน ให้ปุ๋ย จากนั้นก็ให้ปุ๋ยทุกๆ 15 วัน เป็นสูตร 15-15-15 สลับกับสูตร 16-16-16 จำนวนครึ่งช้อนกินข้าว หว่านใต้ทรงพุ่ม เมื่อขณะที่เก็บผลผลิตอยู่ เห็นว่า มะละกอยอดยืดเกินไปก็ให้ปุ๋ยสูตร 8-24-24 บ้าง ให้ยอดสั้นลง
ปุ๋ยคอก ใส่ขี้ไก่เนื้อหรือมูลสัตว์อย่างอื่น อาจจะใส่ให้ให้ทุก 3 เดือน
หลังปลูก 40 วัน มะละกอเริ่มมีดอก นับจากปลูก 7 เดือนก็เริ่มเก็บผลผลิตได้
อาจจะเก็บเป็นมะละกอส้มตำหรือมะละกอสุก
ราคาขายได้ราคาสูงสุด 15 บาท ต่ำสุด 4 บาท แต่เฉลี่ยแล้ว 8-10 บาท
อายุการเก็บเกี่ยวมะละกอแขกดำหนองแหวนมีระยะเวลา 12 เดือน จากนั้นปริมาณผลผลิตที่ได้ จะไม่คุ้มกับปัจจัยการผลิต รวมระยะเวลาที่เจ้าของต้องดูแลมะละกอเป็นเวลา 20 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เพาะกล้า มะละกอแขกดำหนองแหวนให้ผลผลิตดก รายได้ต่อต้นในช่วงที่เขาให้ผลผลิต อยู่ที่ 1,000 บาท พื้นที่ 1 ไร่ มี 250 ต้น เจ้าของจะมีรายได้ 250,000 บาท ต่อระยะเวลา 20 เดือน ดูตัวเลขแล้วสูง แต่การลงทุนไม่ใช่น้อย ปัจจัยการผลิตต้องเต็มที่อย่างปุ๋ยให้ทุก 15 วัน น้ำต้องดี การตลาดต้องชัดเจน
มีผู้ปลูกมะละกอแขกดำหนองแหวน ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว
ข้อมูลที่แนะนำมา เป็นการปลูกมะละกอแขดำหนองแหวนในหลายพื้นที่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2559