บทเรียน “ชาวสวนวันหยุด” ผจก.บริษัทยา เริ่มทำเกษตรมี ‘กูเกิล’ เป็นครู มั่นใจคือความยั่งยืน

คำพูดที่ว่า สูงสุดคืนสู่สามัญ ที่เคยได้ยินมา เห็นทีจะจริง พิสูจน์ได้จาก คุณอารีย์ พนักงานออฟฟิศ ที่ทำงานในตำแหน่งที่ดีและมั่นคง แต่สุดท้ายก็ยังโหยหาชีวิตที่เรียบง่าย และได้อยู่กับครอบครัวที่รัก 

คุณอารีย์ นิลวดี (พี่ปุ้ย) เจ้าของสวนสวัสดี ตำบลบ่อปลาทอง อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา อีกหนึ่งสาวออฟฟิศที่หลงใหลวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ถึงแม้ว่าเธอจะมีอาชีพการงานที่มั่นคง แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ตอบโจทย์เธอทั้งหมด เธอยังโหยหาชีวิตที่เรียบง่าย โหยหาเวลาที่จะได้อยู่กับครอบครัวอย่างพร้อมหน้า จึงเลือกที่จะเป็นเกษตรกรวันหยุดแบบเต็มขั้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตัวเอง

พี่ปุ้ย เล่าว่า ตอนนี้ทำงานเป็นผู้จัดการอยู่ที่ บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าส่งออกผลิตภัณฑ์ยา บริษัทตั้งอยู่ใจกลางเมือง เจอแต่ความศิวิไลซ์แต่เธอไม่เคยหลงใหลความศิวิไลซ์เหล่านี้เลย เธอโหยหาความเรียบง่าย และต้องการใช้วันหยุดที่มีน้อยนิดได้อยู่กับลูกและครอบครัวให้คุ้มที่สุด เพราะทุกวันนี้ด้วยรูปแบบการทำงานที่ค่อนข้างต้องใช้ความคิดเยอะ จันทร์ถึงศุกร์คือทำงาน กลับบ้านมาก็เหนื่อย จำเป็นต้องให้ลูกอยู่กับตายายที่โคราช ซึ่งสาเหตุนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนว่า ทำไมถึงอยากเป็นเกษตรกร ทั้งๆ ที่มีหน้าที่การงานที่มั่นคงแล้ว

“จุดเริ่มต้นทำเกษตรมาจากที่ต้องมาทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ลูกต้องอยู่กับตายายที่โคราช ส่วนเรากับแฟนทำงานที่กรุงเทพฯ คือไม่อยากให้ห่างกับลูก ชีวิตในกรุงเทพฯ คือทำงานหาเงิน เพราะฉะนั้นทุกเย็นวันศุกร์เราจะกลับบ้านไปหาลูก ไปสอนการบ้านลูก หลังๆ จึงมีแนวคิดว่าเรากลับบ้านทุกอาทิตย์ อยากหากิจกรรมทำร่วมกันในครอบครัว จึงตัดสินใจซื้อที่แถวปักธงชัยเพื่องานเกษตร คิดว่าการทำเกษตรน่าจะตอบโจทย์ความต้องการของทุกคนในครอบครัว ได้ปลูกต้นไม้ร่วมกัน ได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ และถือเป็นการสร้างรายได้เพิ่มจากงานประจำไปด้วย” พี่ปุ้ย กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นเกษตรกรวันหยุด

ขยายพื้นที่ปลูกกล้วยเพิ่มอีก

เริ่มทำงานเกษตร บนพื้นที่ 8 ไร่
รายได้ยังไม่มาก แต่ความสุขล้นใจ

หลังจากที่พี่ปุ้ยจัดการซื้อที่ทำเกษตรเพื่อหากิจกรรมได้ทำร่วมกับครอบครัวได้ พี่ปุ้ย เล่าว่า เธอซื้อที่ต่อจากเจ้าของเดิมจำนวน 8 ไร่ เดิมทีที่ตรงนี้เคยปลูกละมุดมาก่อน แต่เนื่องจากละมุดไม่ได้เป็นผลไม้ตลาด เธอจึงเลือกปลูกกล้วยหอมแซมกับละมุด เนื่องจากกล้วยหอมเป็นผลไม้ที่คนทั่วไปนิยมกิน และเมื่อปีล่าสุดกำลังทดลองปลูกอะโวกาโด และฝรั่งกิมจูเพิ่มขึ้นมาในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ เพราะแนวคิดเริ่มจากอยากมีกิจกรรมทำกันในครอบครัว ปลูกกินเองถ้าเหลือจึงขาย จะยังไม่เน้นที่ตัวรายได้ แต่จะเน้นความสุขและสุขภาพของคนในครอบครัวเป็นหลัก

พี่ปุ้ย เล่าต่อว่า การเป็นเกษตรกรวันหยุดไม่ยากอย่างที่คิด หลายคนชอบหาข้ออ้างให้ตัวเองว่า ทำงานจันทร์ถึงศุกร์ก็เหนื่อยแล้ว แต่ถ้าเราอยากทำและคิดว่าสิ่งที่ทำเพิ่มขึ้นมาเป็นสิ่งที่รัก เราจะไม่รู้สึกเหนื่อยเลย อย่างตัวเธอเอง

Advertisement

โดยเธอเลือกที่จะแบ่งเวลาที่ว่างจากงานประจำ คือวันเสาร์กับอาทิตย์มาทำเกษตร การทำเกษตรของเธอเริ่มต้นจากศูนย์เพราะเธอเรียนมาทางด้านโทรคมนาคม ซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับการทำเกษตรเลย เธออาศัยความมีใจรัก ความตั้งใจ และมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนว่า ทำไปเพื่ออะไร ทุกวันนี้ถ้าถามทุกความรู้ก็หาง่ายมาก ดูจากเฟซบุ๊ก ดูจากกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรที่เขามาให้ความรู้ กูเกิ้ลถือเป็นอาจารย์ตัวยง รู้ทุกอย่าง เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ

Advertisement

“ช่วงแรกที่เริ่มปลูกกล้วยหอม ยังไม่มีประสบการณ์มาก ผลผลิตที่สวนจะออกช้ากว่าที่อื่นไป 3 เดือน กล้วยหอมของที่อื่นใช้เวลา 9 เดือน จะตกหวี แต่ที่สวนจะใช้เวลากว่าหนึ่งปีกล้วยถึงจะตกหวี ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะเธอไม่ได้มีเวลาเข้าไปดูสวนทุกวัน ปล่อยแบบตามมีตามเกิด แต่ช่วงหลังๆ เริ่มจริงจังมากขึ้น เริ่มมีการวางระบบน้ำที่สวน เป็นระบบน้ำอัตโนมัติ สามารถควบคุมการรดน้ำให้เป็นเวลาได้

ที่สวนจะตั้งเวลารดน้ำ วันละ 2 ครั้ง คือช่วงเช้ามืด ประมาณ ตี 4 และบ่าย 3 เพื่อที่ไม่ให้ไปเบียดเบียนการใช้น้ำของเกษตรกรในสวนอื่นๆ ช่วง ตี 4 สวนอื่นเขายังไม่ตื่น ก็ตั้งไว้ครึ่งชั่วโมง บ่าย 3 เปิดรดอีกครึ่งชั่วโมง ระบบจะทำงานแบบนี้ไปทุกวัน พอถึงวันเสาร์จะเข้าไปดูความเรียบร้อยว่าระบบยังใช้ได้อยู่ไหม มันก็เลยทำให้ควบคุมได้ดีขึ้น ผลผลิตจากเคยออกช้ากว่าที่อื่น ก็กลายเป็นออกเท่ากับที่อื่น นี่คือ การค่อยๆ ปรับเรียนรู้และพัฒนาจากคนที่ไม่มีพื้นฐานงานเกษตรเลย” พี่ปุ้ย พูดถึงประสบการณ์ปลูกกล้วย

การปลูกพืชแบบมือสมัครเล่น
แต่ผลลัพธ์ไม่เล่น

เจ้าของบอกว่า การปลูกกล้วยหอมที่สวนจะใช้วิธีการแยกหน่อจากต้นเดิม คือจะเสียเงินซื้อต้นพันธุ์แค่ครั้งแรกเท่านั้น หน่อพันธุ์กล้วยจะซื้อจากสวนข้างๆ หน่อละ 10 บาท ไม่ต้องมีค่าขนส่ง การปลูกกล้วยสำหรับพี่ปุ้ยจะเสียเงินลงทุนแค่ครั้งเดียว ปีต่อไปจะใช้วิธีแยกหน่อจากต้นเดิมมาปลูก โดยพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 300 ต้น

ระบบน้ำสปริงเกลอร์วางร่องกลางและติดตั้งการรดน้ำแบบอัตโนมัติ ต้นทุนการปลูกคือถูกมาก คิดเป็นตัวเลขกลมๆ 1 ไร่ ปลูกได้ 300 ต้น ลงทุนประมาณ 6,000 บาท ต่อไร่ ราคานี้คิดเผื่อคนที่ต้องซื้อต้นพันธุ์แพงกว่าต้นละ 10 บาทแล้ว ระบบน้ำถ้ามีเวลาเข้าสวนทุกวันก็ไม่ต้องทำ ใช้แรงงานตัวเองเดินรดได้ ทางที่ดีหากกำลังเริ่มทำ ไม่ควรจ้างแรงงาน เพราะรายรับจะไม่คุ้มรายจ่าย

ขยายพื้นที่ปลูกกล้วยเพิ่มอีก

การดูแล

เริ่มตั้งแต่การตัดหญ้าในสวน 8 ไร่ ตัดเดือนเว้นเดือน เพราะต้องการให้หน้าดินยังชุ่มชื้น ถ้าตัดเตียนแดดจะแรงทำให้ต้นไม่โต การใส่ปุ๋ยจะใส่ปุ๋ยคอก ดูตามช่วงเวลา ถ้าฝนตกจะเริ่มใส่ต้นไม้ ถ้าได้น้ำได้ปุ๋ยจะโตเร็ว เรื่องโรคแมลงมีเวลาดูน้อย แต่ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะที่สวนมีการป้องกันโดยการใช้ถุงห่อ ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน ลงทุนครั้งเดียวสามารถนำกลับมาใช้ได้อีกหลายครั้ง ช่วยป้องกันแมลงวันทองป้องกันฝุ่นและยังทำให้ผิวของกล้วยสวยไม่มีรอยดำ ขายได้ราคาอีกด้วย

ทดลองทำกล้วยให้มีกลิ่นขนม

ทำแล้วแต่ผลยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เคยใช้เทคนิคทำให้กล้วยมีกลิ่นเป็นช็อกโกแลต กลิ่นใบเตย และกลิ่นมะลิ โดยการรอช่วงจังหวะกล้วยออกหัวปลี แล้วกรีดที่ข้างต้น นำสำลีชุบกลิ่นที่ต้องการยัดเข้าไปเพื่อให้ต้นดูดซึมกลิ่น

ผลที่ได้คือ กล้วยมีกลิ่นตามที่ชุบสำลี แต่ยังมีความรู้สึกว่ากลิ่นยังไม่ออกมาชัดเจนเท่าที่ควรเนื่องจากเรามีการให้น้ำกล้วยตลอด น้ำอาจจะเข้าไปเจือจางกลิ่น แต่ถ้ามีเวลาจะทดลองทำอีกแน่นอน เพราะคิดว่านี่น่าจะเป็นจุดขายของสวนได้ในอนาคต

ผลผลิตที่ได้ เป็นที่น่าพอใจถ้าเทียบกับการดูแลแค่ช่วงเสาร์-อาทิตย์ ผิวสวย ผลผลิตต่อต้น 1 เครือ มี 8 หวี น้ำหนัก 1.2-1.5 กิโลกรัม ต่อหวี ตัดแบ่งขายราคาถูก เพราะเก็บไว้ก็กินไม่หมด เราจะทำตามแนวคิดทีแรกว่า ปลูกไว้กินเมื่อเหลือจึงขาย พอเหลือจริงๆ เราก็นำมาขาย แต่ขายในราคาที่ถูก เพราะอยากให้เพื่อนบ้าน เพื่อนที่ทำงาน ได้กินผลไม้ปลอดสารในราคาที่ไม่แพง ส่วนกำไรได้ตั้งแต่เริ่มทำแล้ว ได้กินและได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวตามที่ตั้งใจไว้

ฝรั่งกิมจู ช่วยสร้างรายได้อีกทาง

อาชีพเป็นเกษตรกร บนวิถีชีวิตมนุษย์เงินเดือน
ให้ประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด

พี่ปุ้ย บอกว่า เธอมองว่าอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ยั่งยืน เกษตรเป็นอะไรที่ยั่งยืน ไม่เหมือนกับงานประจำที่วันหนึ่งอาจจะเจอปัญหาทางเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยต่อบริษัท แต่ถ้าทำเกษตรอย่างน้อยทำให้มีกิน ถึงแม้จะไม่ทำเงินให้มหาศาล แต่ทำให้มีกินมีใช้ และแน่นอนว่าเมื่อไรที่ทำเต็มที่ จะมีเงินเหลือเก็บแน่นอน

ที่สำคัญเรากินอะไร เราก็ปลูกอันนั้น มันเป็นอะไรที่มั่นคงและทำให้เธอกับครอบครัวได้อยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น วันหยุดเสาร์-อาทิตย์เวลาแต่ละนาทีมีค่ามาก ลูกสนุกไปกับการปลูกต้นไม้ วิ่งเล่นในสวน พ่อกับแม่แค่ได้เดินดูสวนก็สบาย หน้าตาสดชื่นเมื่อครอบครัวมีความสุข เราก็มีความสุขตามไปด้วย

แนะนำสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่อยากจะทำงานเกษตรควบคู่กับงานประจำไปด้วย ก็ทำได้ไม่ยากคือ

1. ห้ามอ้างเรื่องเวลา เพราะเวลาทุกคนมีเท่ากัน ถ้าอยากทำอย่าไปคิดว่าเวลาคืออุปสรรค อยากทำให้เริ่มทำเลย ถ้าทำแล้วสำเร็จ จะรู้สึกภูมิใจในตัวเองมาก

2. เริ่มจากทำอาชีพประจำให้มั่นคงก่อน อย่าสร้างหนี้สินเยอะ เพราะถ้ามีหนี้สินเยอะจะไปทำอย่างอื่นยาก เราจะถูกยึดติดว่าต้องทำงานใช้หนี้ไปก่อน แต่อย่างตัวเธอเองจริงๆ ก็มีหนี้ค่าบ้านที่ต้องผ่อนที่กรุงเทพฯ แต่คิดว่าทุกวันงานประจำที่ทำยังไปได้ดีและมั่นคง

ส่วนงานเกษตรวันหนึ่งที่คิดว่าจะเกษียณตัวเองไปดูแลแม่ ไปดูแลคนในครอบครัว ตรงนั้นเราถึงจะไปทำเต็มตัว แต่ระหว่างนั้นเราก็ต้องเจียดเงินเก็บเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินด้วย หรือเพื่อใช้ในการที่อยากซื้อที่ทำการเกษตรเพิ่ม เราจะมีพร้อม ถือว่ามีอาชีพเป็นเกษตรกรหลังเกษียนเจอกันแน่นอน พี่ปุ้ย กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับมนุษย์เงินเดือนอยากใช้เวลาว่างมาทำงานเกษตร สามารถโทร. แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ คุณอารีย์ นิลวดี (พี่ปุ้ย) ได้ที่เบอร์ 061-589-6446

มะยงชิด จากสวนเจ้าของเดิมมีผลผลิตให้ได้เก็บขาย
มะยงชิด จากสวนเจ้าของเดิมมีผลผลิตให้ได้เก็บขายเมื่อวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2564