คนเมืองแพร่ หันหลังให้เมืองกรุง สร้างสวนส้มโอคุณภาพ และปลอดภัย ด้วยการจัดการ

ส้มโอ เป็นผลไม้ที่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะให้ผลผลิต จึงทำให้การทำสวนส้มโอในอดีตเป็นไปอย่างช้าๆ และไม่มีการขยายพื้นที่มากเหมือนพืชชนิดอื่น และส้มโอเป็นผลไม้ที่มีราคาดี ไม่เคยมีการประท้วงนำผลส้มโอไปเททิ้งให้เป็นข่าวเป็นคราว ทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญลงทุนไม่สูง ปัจจุบัน มีการขยายพื้นที่ปลูกต้นส้มโอกันมากขึ้น และปลูกได้ทั่วประเทศ

ที่จังหวัดแพร่ มีสองสามี-ภรรยา เปลี่ยนชีวิตจากผู้มีรายได้ประจำ กลับบ้านเกิดมาขยายพื้นที่ปลูกส้มโอ ก็ยังพอมีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว

คุณนิคม มะโนมูล คุณวรรัตน์ จันทรมงคล

คุณวรรัตน์ จันทรมงคล หรือ โอ๋ อายุ 45 ปี บ้านเลขที่ 150 หมู่ที่ 9 บ้านคอกช้าง ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ 54150 โทร. 082-171-2517 สามี คุณนิคม มะโนมูล หรือ คม ทั้งสองสามีภรรยาเคยใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี แต่ชีวิตหักเห กลับมาตั้งหลักปักฐาน ทั้งสามี-ภรรยา-ลูก ที่บ้านสามี ตั้งแต่ปี 2557

คุณโอ๋ เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า “ถิ่นกำเนิดเดิมเป็นชาวพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เข้าทำงานโรงงานเย็บผ้า จนได้มาพบกับคุณนิคม เป็นครอบครัวเดียวกัน แต่เนื่องจากบ้านสามีที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ไม่มีใครดูแล จึงจำเป็นต้องพาครอบครัวมาอยู่ที่นี่”

คุณคม บอกและกล่าวเสริมว่า ทรัพย์สินของพ่อ-แม่ ทั้งบ้าน ที่ทำกิน เป็นที่พ่อ-แม่แบ่งให้ มีต้นส้มโอเก่าแก่อยู่หลายต้น เป็นพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ทั้งสองเห็นพ้องกันว่า เมื่อมาอยู่บ้านคอกช้าง ไม่ได้ทำงานประจำ ก็ขอสานต่อสวนส้มโอ ทั้งต้นเก่าและขยายพันธุ์ด้วยการตอน ขยายพื้นที่ใหม่

คุณโอ๋ กล่าวว่า “จากคนมีงานทำ มีเงินเดือนประจำ ก็ไม่เคยทำสวนส้มโอมาก่อน แม้จะเป็นลูกชาวสวนในอดีต ที่ตำบลบางน้ำผึ้ง พระประแดง ตา-ยายก็ทำสวนไม้ผล แต่พี่คมเขาเคยเห็นพ่อ-แม่ทำสวนส้มโอมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก”

สีเนื้อกุ้งคล้ายสีน้ำผึ้ง

คุณคม ได้เล่าอดีตที่มาของต้นส้มโอสมัยคุณพ่อ คุณแม่ ว่า พ่อได้ปลูกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 เป็นพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง นับอายุถึงปัจจุบัน 45 ปีเข้าไปแล้ว ต้นก็ยังสมบูรณ์อยู่ ให้ผลผลิตทุกปี เมื่อมีที่ดินว่างเปล่าแต่สภาพรกร้าง ใช้เวลาถากถางหญ้าและเถาวัลย์ ถึง 3 เดือน จึงโล่งเตียน จากนั้นนำกิ่งพันธุ์ส้มโอที่ตอนจากต้นดั้งเดิมลงปลูก และทำการขยายพื้นที่ออกไปจนเต็มพื้นที่ ต้นส้มโอแปลงใหม่ส่วนใหญ่อายุ 7 ปี และ 3 ปี

“คิดว่าปลูกส้มโอ พอมองเห็นอนาคตในระยะยาวเก็บผลได้นาน และส้มโอที่นี่มีรสชาติอร่อย คนที่มาซื้อส้มโอก็ว่าอร่อย เลยคิดว่าส้มโอนี่แหละ ดีที่สุดแล้ว” คุณโอ๋ กล่าว

ปัจจุบันนี้สวนส้มโอของคุณโอ๋ให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง มีพ่อค้าคนกลางเข้าไปรับซื้อถึงสวน ครอบครัวคุณโอ๋จึงมีรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายส้มโอ ซึ่งส้มโอที่ออกมาจากสวน คุณโอ๋ บอกว่า คนที่มาซื้อยอมรับในคุณภาพว่ามีรสชาติอร่อย ผลสวย อาจจะมีผิวผลที่เปลือกมีตำหนิบ้าง ก็เป็นที่ยอมรับของตลาดและผู้บริโภค ที่สำคัญไม่ได้ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น คุณโอ๋ บอกว่า เธอและสามี ได้ดูแลเอาใจใส่สวนส้มโอเป็นอย่างดี

ผู้เขียน เลยขอให้คุณโอ๋และคุณคม บอกเล่าถึงการดูแลสวนส้มโอ

คุณโอ๋ ได้ให้รายละเอียด เริ่มตั้งแต่หลังเก็บผลส้มโอแล้วก็ให้พักต้น และเตรียมความพร้อมของต้น ให้ต้นมีการสะสมธาตุอาหารจนเข้าสู่ระยะแตกใบอ่อน และพัฒนาใบ ดูแลเมื่อเริ่มออกดอก และพัฒนาดอกจนถึงติดผล การพัฒนาของผลจนผลแก่สุกเก็บขายได้

คุณโอ๋ ได้กล่าวถึง Timeline หรือแผนผังแสดงลำดับเหตุการณ์ ที่ได้ปฏิบัติการดูแลในสวนส้มโอ ในเรื่องดิน การให้ปุ๋ย ให้น้ำ การจัดการวัชพืช โรคและแมลง ของแต่ละระยะ ตามวัฏจักรแห่งฤดูกาล ดังนี้

จาก Timeline ที่ได้แสดงเป็นแผนผังไว้ คุณโอ๋ ได้ขยายความเพิ่มเติมอีกว่า

ดิน สวนส้มโออยู่ใกล้ลำห้วยแม่ลาน เป็นดินตะกอน หรือดินน้ำไหลทรายมูล มีอินทรียวัตถุทับถมมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน มีการดูแลอนุรักษ์ดินด้วยการไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช แต่ใช้การตัด ไม่ขุดจิ้งโกร่ง (เป็นชื่อพื้นเมือง คล้ายจิ้งหรีดแต่ตัวใหญ่กว่า) เพราะช่วยทำให้ดินร่วนซุย มีโพรงอากาศ และเป็นการรักษาระบบนิเวศได้อีกวิธีหนึ่ง

ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยเคมี 2 สูตร คือ

สูตร 15-9-20 ใช้สำหรับบำรุงต้นปีละ 4 กระสอบ

สูตร 16-16-16 ใช้ตั้งแต่ผลส้มมีขนาดเล็ก จนผลโตก่อนเก็บผล 1 เดือน ปีละ 6 กระสอบ

ทำน้ำหมักชีวภาพ และน้ำหมักไล่แมลง

น้ำหมักชีวภาพ (จุลินทรีย์หน่อกล้วย)

วัตถุดิบ

  1. หน่อกล้วย 10 กิโลกรัม
  2. กากน้ำตาล 5 ลิตร
  3. น้ำเปล่า 1 ลิตร

วิธีทำ นำวัตถุดิบทั้ง 3 อย่าง ใส่ในถัง หมักไว้ 3 เดือน เมื่อใช้ให้บีบคั้นเอาแต่น้ำไปฉีดพ่น อัตรา 40 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ช่วยส่งเสริมการพัฒนาของส้มโอ

น้ำหมักไล่แมลง

วัตถุดิบ

  1. ยาสูบ หรือยาฉุน 1 กิโลกรัม
  2. เหล้าขาว 1 ขวด
  3. น้ำเปล่า 18 ลิตร

วิธีทำ นำวัตถุดิบทั้ง 3 อย่าง ใส่ในถัง หมักไว้ 2-4 สัปดาห์ เมื่อใช้ให้กรองเอาแต่น้ำไปฉีดพ่น อัตรา 40 ซีซี ผสมน้ำยาล้างจานเล็กน้อย ต่อน้ำ 20 ลิตร ช่วยป้องกันศัตรูส้มโอจำพวกแมลง

น้ำ แหล่งน้ำที่ใช้จากลำห้วยแม่ลาน แต่ในฤดูร้อนน้ำไม่เพียงพอ ต้องแสวงหาจากแหล่งอื่น คำว่า ให้น้ำสม่ำเสมอ หมายถึง การให้น้ำ 3 วัน ต่อครั้ง ตลอดเวลาพัฒนาการของส้มโอ หรือสัปดาห์ละครั้ง ก็ควรจะเป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ยกเว้นช่วงฤดูฝน และยกเว้นช่วงก่อนเก็บผลส้ม 1 เดือน จะงดการให้น้ำเพื่อให้ผลส้มโอมีคุณภาพดี ไม่ฉ่ำน้ำ เนื้อกุ้งแห้งดี

โรคและแมลง แมลงที่มักพบในสวนก็อย่างเช่น หนอนชอนใบ แมลงวันทอง ใช้การป้องกันด้วยการฉีดพ่นด้วยน้ำหมักจากยาสูบ ส่วนเรื่องโรคนั้น คุณโอ๋ บอกว่า ยังไม่ค่อยสันทัดในการพิจารณาว่า ต้น ใบ ผล เป็นโรคอะไร เพราะที่สวนส้มโอพบโรคน้อยมาก แต่อยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องโรคส้มโอ

การเก็บผลส้มโอ ส้มโอขาวน้ำผึ้ง ออกดอกเดือนมกราคม เป็นปริมาณมากที่สุด (เป็นส้มปี หรือรุ่น 1) และจะออกดอกประปรายให้เห็นในเดือนอื่นๆ ใช้เวลาจนผลแก่สุก 7 เดือน ในเดือนสิงหาคม จะเป็นช่วงที่มีผลผลิตส้มโอแก่สุกมากสุด แต่ปัญหาก็คือ แก่สุกไม่พร้อมกัน จะทยอยแก่ และทยอยเก็บผลได้เรื่อยๆ

ผลผลิต ต้นส้มโอที่อายุ 45 ปี ต้นหนึ่งจะให้ผลผลิต 150-200 ผล แต่ละผลมีขนาดเส้นรอบวง 19-20 นิ้ว น้ำหนักต่อผล 1.3-2.0 กิโลกรัม

นอกจากปลูกส้มโอแล้ว พื้นที่โดยรอบ คุณโอ๋ยังปลูกไม้ผลอื่นๆ เช่น น้อยหน่า ส้มเขียวหวาน กล้วย สับปะรด เป็นต้น และยังปลูกพืชแซมแบบหมุนเวียน เช่น พืชผักสวนครัว เป็นต้น ใช้ประกอบอาหารทั้งจากพืชผัก นาข้าว และนำไปขายเองที่ตลาด

ถุงน้ำหวาน (หรือกุ้ง) ไม่เป็นข้าวสาร

เกษตรกรคนเก่ง บอกวิธีคิด ว่า “การปลูกพืชแซมในบริเวณรอบๆ ต้นส้มโอผลดีก็คือการรักษาความชื้นของดิน เมื่อให้น้ำ ให้ปุ๋ยกับต้นส้มโอ พืชแซมก็จะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยดังกล่าวด้วย เป็นการประหยัดเงิน ประหยัดเวลา ประหยัดพื้นที่ ถือว่าเป็นรูปแบบการผสมผสานเกื้อกูลกัน เพื่อลดต้นทุนและรักษาสภาพแวดล้อม”

การจัดการพื้นที่ ดั่งที่คุณโอ๋บอกนั้น เป็นการสร้างหลักประกันให้กับครอบครัว ให้มีความมั่นคงในด้านต่างๆ ด้วยการผลิตหลายๆ อย่าง ในพื้นที่จำกัด จึงมีรายได้หลายทาง ลดความเสี่ยงด้านการตลาด นับว่าเป็นความพยายามทำให้เกิดความคุ้มค่าบนพื้นที่การเกษตรของคุณโอ๋ ได้อาศัยหลักการคิดเกษตรผสมผสาน เลียนแบบเกษตรอินทรีย์ และอาศัยแนวคิดจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้ครอบครัวมีรายได้ประจำ ทั้งรายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี

“ถ้าเราไม่ลงมือทำ ไม่ใส่ใจ ไม่ดูแล ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ” คำกล่าวทิ้งท้ายของ คุณวรรัตน์ จันทรมงคล

………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ เป็นครั้งแรกเมื่อวันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2564