กรมหม่อนไหมจับมือ มช. วิจัยดักแด้ไหม พบสารสำคัญ ฤทธิ์เทียบเท่าไวอากร้า

กรมหม่อนไหมร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาวิจัยสารสกัดจากดักแด้ไหม พบสารสำคัญมีฤทธิ์เทียบเท่าสารซิลเดนาฟิล(Sildenafil)หรือไวอากร้า มีส่วนช่วยขยายหลอดเลือด ป้องกันหลอดเลือดอุดตัน และช่วยการทำงานของสมอง

            นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า จากการร่วมมือศึกษาวิจัยดักแด้ไหม โดยนายวิโรจน์ แก้วเรือง ผู้เชี่ยวชาญกรมหม่อนไหมและคณะ ร่วมกับ ผศ.ดร.สมชาย จอมดวง อาจารย์คณะอุตสาหกรรมเกษตร รศ.ดร.ปรัชญา วงศ์ทวีเลิศ และดร.ณัฐชัย ดวงนิล อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้มีการต่อยอดศึกษาสารสกัดในดักแด้ไหมที่มีฤทธิ์ต่อร่างกาย โดยได้นำดักแด้ไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์นางน้อยศรีสะเกษ -1 และพันธุ์เหลืองสุรินทร์ ทั้งตัวผู้และตัวเมีย เข้าสู่กระบวนการสกัด และหลังจากตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการแล้ว พบว่า ดักแด้หนอนไหมทั้งตัวผู้และตัวเมียมีฤทธิ์เทียบเท่าสารซิลเดนาฟิล(Sildenafil) หรือไวอากร้า ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยขยายหลอดเลือดเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น โดยเฉพาะในเพศชาย และช่วยเสริมสมรรถนะทางเพศด้วย

นอกจากนั้น ดักแด้ไหมยังมีคุณค่าทางอาหารสูง เช่นโปรตีน เกลือแร่ มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายชนิด ถึง 67% เช่น กรดไลโนเลอิก (Linoleic acid) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มโอเมก้า-6 ที่เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างสมองร่วมกับโอเมก้า-3 ที่ช่วยป้องกันหลอดเลือดอุดตัน นอกจากนี้ยังมีกรดไลโนเลนิก (Linolenic acid) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มโอเมก้า-3 ที่จำเป็นต่อการทำงานของสมองในด้านการมองเห็น การปรับตัว การเรียนรู้ และด้านอารมณ์ และอุดมไปด้วยวิตามินบี 1 และวิตามินบี 2

“คนไทยนิยมบริโภคดักแด้ไหมที่สุกแล้ว ด้วยการนำมาคั่ว จะได้รสมันอร่อย หรือนำไปปรุงเป็นอาหารประเภทอื่น เช่น ยำ ไข่เจียวดักแด้ หรือผัดกะเพรา เป็นต้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่นิยมรับประทานดักแด้อย่างแพร่หลาย มีดักแด้ขายทั่วไปตามฤดูกาลเลี้ยงไหม ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 150-200 บาท นอกจากคนไทยแล้ว คนญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย และพม่า ก็บริโภคดักแด้ไหมที่ปรุงแล้วเช่นกัน ซึ่งในอนาคต องค์การสำรวจอวกาศการบินญี่ปุ่น จะนำดักแด้ไหมนี้ปรุงเป็นอาหารสำหรับนักบินอวกาศด้วย เนื่องจากมีน้ำหนักเบาและมีคุณค่าทางอาหารสูง” อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว

 

ขอบคุณข้อมูลจาก จดหมายข่าว กรมหม่อนไหม