สาวออฟฟิศ ใช้เวลาว่างช่วงวันหยุดปลูกผักอินทรีย์ สร้างรายได้เสริม

งานอาชีพทางการเกษตรเป็นอีกหนึ่งงานที่มีผู้คนหลากหลายอาชีพให้ความสนใจ โดยสาเหตุที่มาเริ่มสนใจการเกษตรเกิดจากความรัก หรือชอบทานพืชผักนั้นๆ จึงได้เกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะศึกษาอย่างจริงจัง ส่งผลให้จากที่ไม่รู้เรื่องการปลูกการผลิตพืชชนิดนั้นเลย เมื่อลงมือทำแล้วยิ่งมีประสบการณ์ เกิดความสนุก และสิ่งที่ตามมาคือเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่าย ทำให้เกิดเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ไม่น้อยทีเดียว

คุณปรมพร สีเหนี่ยง หรือ คุณแจง ทำสวนผักเกษตรอินทรีย์ อยู่บ้านเลขที่ 190/155 หมู่บ้านราณี หมู่ที่ 3 ซอยสวนสยาม 16 แยก 3 ได้ใช้เวลาว่างจากการทำงานประจำ มาทำสวนผักเกษตรอินทรีย์ในแบบที่เธอชอบ โดยใช้พื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาสร้างเป็นสวนเกษตรในแบบของเธอ ทำให้ในทุกวันหลังเลิกงานและวันหยุด เธอได้มาใช้เวลาให้มีความสุขในสวนเกษตรอินทรีย์ที่เธอรัก

ชอบทานผักปลอดสารพิษ จึงคิดทำเกษตรอินทรีย์ 

คุณแจง เล่าให้ฟังว่า เธอเป็นอีกหนึ่งคนที่สนใจในเรื่องของสุขภาพอาหารการกินเป็นอย่างมาก โดยแต่ละวันในมื้ออาหารของเธอจะต้องมีผักร่วมอยู่ด้วยเสมอ รวมทั้งมีการปั่นน้ำผักผลไม้ดื่มอยู่เป็นประจำ ซึ่งการนำพืชผักเหล่านี้มาบริโภคนั้นจะต้องเลือกผักที่ไร้สารพิษจริงๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการทานให้ปลอดภัยในทุกมื้อ เธอจึงได้ปรึกษากับแฟนและเริ่มต้นใช้ที่ดินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการนำมาปลูกผักอินทรีย์เพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนและต่อมาสามารถสร้างรายได้ด้วยเช่นกัน

“ประมาณปี 2559 พอเรามีโอกาสได้คุยกับแฟนเรื่องการทำเกษตร เขาก็บอกว่าน่าสนใจที่จะปลูกผักอินทรีย์ไว้กินเอง เพราะเรายังมีพื้นที่ว่างอยู่ พื้นที่ที่ทำเกษตรก็อยู่ภายในกรุงเทพฯ ไม่ต้องเดินทางออกไหนไกล โดยเริ่มแรกไม่ได้คิดว่าจะทำจำหน่าย เพียงแต่จะไว้ทานในครัวเรือนเท่านั้น แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ ก็มีเพื่อนๆ เข้ามาติดต่อขอซื้อ ทีนี้คนก็เริ่มบอกกันไปปากต่อปาก ในเวลาต่อมาพืชผักที่เราปลูกเริ่มมีจำนวนมากขึ้น จึงเป็นโอกาสทำให้เราเริ่มที่จะทำการค้าขาย โดยมีการออกจำหน่ายตามตลาดต่างๆ ผลปรากฏว่าได้การตอบรับอย่างดี เป็นอีกช่องทางที่มีรายได้เสริมจากการทำงานประจำ” คุณแจง บอก

พื้นที่ 4 ไร่ ใช้เกิดประโยชน์สูงสุด
แบ่งโซนการผลิตให้ชัดเจน

คุณแจง เล่าถึงการจัดสรรเนื้อที่ของการทำเกษตรอินทรีย์บนเนื้อที่ 4 ไร่ ให้ฟังว่า เธอกับแฟนไม่ได้มีองค์ความรู้การทำเกษตรมากนัก เพราะที่ดำเนินการนั้นก็เกิดจากความชอบล้วนๆ เมื่อมีโอกาสได้มาลงมือทำ จึงทำให้ได้มีเวลาศึกษาข้อมูลการทำเกษตรในที่ต่างๆ ยิ่งทำให้ได้รับความรู้มากขึ้น โดยทางรอดที่จะช่วยให้สวนสามารถอยู่ได้ คือต้องมีพืชผักหลายๆ ชนิด จึงเน้นทำสวนเกษตรอินทรีย์เป็นเกษตรผสมผสาน ก็จะช่วยให้มีผลผลิตที่แตกต่างออกไปแบบครบวงจร  โดยการแบ่งเนื้อที่สำหรับการทำเกษตรอินทรีย์นั้น จะมีการขุดบ่อน้ำขึ้นมาใหม่ไว้สำหรับใช้รดน้ำให้พืชผักภายในสวน พร้อมทั้งวางระบบน้ำให้ง่ายต่อการทำงานมากขึ้น เนื่องจากสวนของเธอเน้นในเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก จึงทำให้ในเรื่องของการใช้ดินปลูกนั้นสำคัญมาก มีการปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสมกับการทำเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก ส่วนพืชผักที่เน้นปลูกมีตั้งแต่พืชผักสวนครัว เช่น ถั่วฝักยาว มะเขือ คะน้า เป็นต้น ไปจนถึงผักสลัดหลากหลายชนิดที่เหมาะสมกับการนำมาทำเป็นน้ำผักปั่น และการบริโภคสำหรับผู้ที่สนใจอยากดูแลสุขภาพ

“ช่วงแรกหลังได้ผลผลิตออกมาแล้ว เราเน้นบริโภคเองภายในครอบครัว ต่อมาพอผลผลิตเริ่มมากขึ้น ก็แจกจ่ายเพื่อนบ้าง ทีนี้เริ่มมีคนสนใจผลผลิตที่เป็นผักอินทรีย์มากขึ้น เราก็เลยวางแผนการผลิตเพื่อจำหน่ายบ้าง ทำให้ต่อมาสินค้าก็บอกกันไปปากต่อปาก ทำให้ผักอินทรีย์เราขายได้อย่างต่อเนื่อง บางช่วงก็ผลิตไม่ทัน เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ ค่อนข้างที่จะทำได้ลำบากหน่อย เรื่องดินต้องปลอดสารพิษจริงๆ เรามีการปรับปรุงบำรุงดินเอง มีการเลี้ยงไส้เดือน เพื่อสร้างปุ๋ยจากธรรมชาติ ส่วนในเรื่องของโรคและแมลงเราจะไม่มีการใช้สารเคมีเลย จะมีการใช้สารชีวภัณฑ์แทนที่เหมาะสมกับการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะแปลงผักเราได้รับการรับรองมาตรฐานการทำเกษตรอินทรีย์ ดังนั้นเรื่องการผลิตเราจึงใส่ใจมาก” คุณแจง บอก

ตลาดส่งขายผักอินทรีย์  เน้นกลุ่มผู้รักสุขภาพ

ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่านผลผลิตทางการเกษตรนั้น คุณแจง บอกว่า ในช่วงแรกเมื่อมีผลผลิตจำนวนมากขึ้นพอที่จะสร้างเป็นสินค้านำออกสู่ตลาดได้แล้ว ก็จะดำเนินการใส่หอบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน นำไปจำหน่ายยังตลาดสดต่างๆ ในพื้นที่ที่รู้จัก พร้อมทั้งมีการสร้างตลาดออนไลน์สร้างเพจเฟซบุ๊กที่เป็นของสวนเองโดยเฉพาะ จึงทำให้ลูกค้าสามารถติดต่อการซื้อขายได้มากขึ้น และทางสวนจะมีบริการขนส่งด้วยระบบขนส่งบริการถึงบ้าน

โดยราคาผักอินทรีย์ที่จำหน่ายค่อนข้างที่จะเป็นราคาที่แพงกว่าท้องตลาดทั่วไป แต่เนื่องจากสินค้าที่ผลิตเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์จริงๆ ที่มีการใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมแปลง การดูแล ทุกขั้นตอนเธอลงมือทำด้วยใจรัก และอยากให้ลูกค้าได้ทานผลผลิตที่ปลอดภัยเหมือนกับที่เธอทานเอง ดังนั้น ลูกค้าจึงมั่นใจได้ว่าผักทุกต้นค่อนข้างมีคุณภาพ จึงทำให้ในเรื่องของราคาอาจจะจำหน่ายสูงกว่าราคาพืชผักสวนครัวทั่วไป

“อย่างที่เราทราบกันดีว่า ผักที่ปลูกโดยทั่วไปราคาค่อนข้างถูก แต่พอเราไปขายแต่ละชนิด ราคาที่เราตั้งไว้ก็ค่อนข้างที่จะสูงพอสมควร มีการแพ็กใส่ถุงสำหรับคนที่ซื้อจำนวนน้อย ถุงละ 20-30 บาท ส่วนคนที่ซื้อเยอะๆ เราก็จะมีจำหน่ายแบบจำนวนมาก ตก โดยเป็นผักใบผักสลัดจะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท และพืชผักสวนครัวทั่วไปราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 160-170 บาท ซึ่งลูกค้าที่ซื้อส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ชอบผักอินทรีย์จริงๆ ใหม่ๆ อาจมองว่าราคาสูง แต่พอเขาเห็นถึงคุณภาพที่ได้รับ ลูกค้าทุกคนก็ค่อนข้างที่จะพอใจ และยังกลับมาซื้อซ้ำๆ อยู่เสมอ” คุณแจง บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการปลูกผักอินทรีย์ คุณแจง แนะนำว่า อาจจะเริ่มจากการปลูกพืชที่ตัวเองชอบทานก่อน จากนั้นประสบการณ์และความอยากเรียนรู้ในการลงมือทำ ก็จะทำให้อยากเรียนรู้ที่จะปลูกผักชนิดอื่นๆ ด้วย ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ผักสวนครัวที่ปลูกในพื้นที่น้อยสามารถทำได้ จากนั้นเมื่อนำมาทานไม่ทันผลผลิตเหล่านั้นก็จะช่วยสร้างเป็นรายได้เสริมอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่ได้รับจากการทำเกษตรก็คือความสุขที่ได้ลงมือทำนั้นเอง สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 062-789-7456

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2564