เกษตรกรสาวลำพูน ใช้โดรนพ่นยาสวนลำไย ประหยัดเวลาถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ลดต้นทุนได้ถึง 20,000 ต่อไร่

คุณช่อเฟื่องฟ้า ลินิฐฎา หรือ คุณช่อ อยู่ที่หมู่ 6 บ้านร้องเรือ ตำบลทาสบเส้า อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ชาวสวนลำไยรุ่นใหม่ หันมาใช้โดรนพ่นยาในสวนลำไย พ่อแม่เปิดใจเห็นด้วยจากเมื่อก่อนใช้เวลาพ่นยาหลายวัน หลังใช้โดรนย่นเวลาการพ่นได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาเพียงแค่ 10 นาที ลดต้นทุนได้ถึง 20,000 บาท

คุณช่อ เล่าว่า พ่อแม่เป็นชาวสวนลำไย ได้เห็นความลำบากของพ่อแม่ในการทำงานแบบเดิมๆ คือการจ้างแรงงานมาพ่นยาลำไย คุณช่อมีความเห็นว่าการทำแบบนี้มันทำให้การทำงานมันช้า ไม่ประหยัดเวลา เพราะต้องคอยลากสายยางไปมาอยู่ตลอดเวลา หนึ่งต้นกว่าจะพ่นเสร็จใช้เวลาไปแล้วครึ่งชั่วโมง สวนคุณช่อทั้งหมด 1 ไร่ มีลำไย 400 ต้น ต้องใช้เวลาพ่นทั้งสวนเป็นอาทิตย์ หากพ่นเองก็ยิ่งใช้ระยะเวลาที่นานขึ้น หากจ้างคนงานมาพ่นก็ต้องสิ้นเปลืองเงิน ทำให้ต้นทุนการผลิตนั้นสูงขึ้นตามไปด้วย ก่อนที่จะรู้จักโดรนทำเกษตร คุณช่อได้มีโดรนเล็กสำหรับถ่ายภาพมุมสูงอยู่แล้ว ประกอบกับรู้ว่ามีโดรนเกษตรสามารถใช้ในสวนลำไยได้ จึงตัดสินใจซื้อมาใช้งานจากการมองเห็นว่า โดรนจะสามารถช่วยลดต้นทุน และระยะเวลาการพ่นยาของสวนลำไยครอบครัวได้

กระบวนการใช้งาน

คุณช่อ บอกว่า การใช้โดรนในการพ่นยาลำไยแรกๆ จะใช้ยาก เพราะต้องทำความคุ้นเคยกับการบังคับ การตั้งค่าของโดรน หากใช้ไปนานๆ จะใช้ได้คล่องเอง ในการใช้งานเริ่มแรกจะต้องนำโดรนมาทดสอบเปิดเครื่องก่อน โดรนที่คุณช่อใช้จะสามารถคำนวณพื้นที่ของสวนลำไยได้ เพราะมีระบบ GPS โดยการนำ    โดรนบินสำรวจพื้นที่สวนลำไย จากนั้นโดรนจะทำการวาดพื้นที่ออกมาว่ามีพื้นที่เท่าไหร่ ความสูงต่ำของพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง บางทีต้นลำไยอาจมีความสูงไม่เท่ากัน ต้องมาตั้งค่าว่าจะให้โดรนบินขึ้นลงตามระดับกี่เมตรเพื่อไม่ให้ชนกับพุ่มลำไย จากนั้นต้องมาตั้งค่าการบินว่าจะให้โดรนบินจากจุดไหน ไปจุดไหน จะใช้เวลาการบินไปกลับกี่นาที เช่นคุณช่อตั้งค่าไว้ให้ 1 รอบการบินไปกลับ ใช้เวลาแค่ 10 นาที โดรนก็จะพ่นยาไปกลับ 1 รอบใน 10 นาที ระยะเวลาจะขึ้นอยู่ที่เราตั้งค่าว่าจะให้ดดรนใช้เวลากี่นาทีในการพ่น ถังพ่นยาจะมี 2 ถัง ถังละ 10 ลิตร อัตราส่วนการใช้ยาสามารถใช้ตามอัตราส่วนตามยี่ห้อของยาที่ระบุให้ข้างขวด ทุกรอบที่โดรนกลับมาจะต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ เพื่อไม่ให้โดรนเกิดการดับกลางอากาศ หากโดรนดับกลางอากาศก็จะบินค้างอยู่อย่างนั้นจนกว่าแบตเตอรี่จะหมดจริงๆ ถึงร่วงลงพื้น

ข้อดี ข้อเสีย

ข้อดี 1. หากใช้ในงานเกษตรนาข้าวจะดีมาก เพราะสามารถพ่นยาได้ทั่วถึง หว่านข้าวได้ทั่วถึง ในต้นลำไยก็เหมือนกัน 2. ประหยัดเวลา พ่นยาได้แรง สารเคมีหรือยาที่ใช้สามารถกระจัดกระจายได้อย่างทั่วถึง 3. ประหยัดค่าใช้จ่าย เทียบราคาใช้จ่ายเมื่อก่อนกับตอนนี้ ลำไย 400 ต้น ลงทุนไปไม่เกิน 40,000 บาท ราคาการใช้จ่ายจะลดลงมาครึ่งต่อครึ่งเหลือประมาณ 20,000 บาท ประหยัดค่าต้นทุนค่าจ้างค่าแรง 4. ไม่ต้องสัมผัสกับยาที่พ่น ปลอดภัยมากกว่าการพ่นยาแบบปกติ 5. ระยะเวลาการติดผลเร็วกว่าการพ่นยาปกติ

“คิดว่าโดรนนี้เป็นทางออกที่ดี ตัวเราจะได้ไม่ไปไกลกับสารเคมี เราไม่ต้องไปสัมผัสกับยา เราใช้เครื่องทำให้หมดเลย คือเป็นทางออกที่ดีมาก ทางคุณพ่อคุณแม่ก็เห็นด้วย มีการทดลองว่าผลผลิตที่ได้ จะได้เยอะกว่าของพ่อของแม่ไหม พี่ช่อจะเน้นประหยัดเวลาแล้วก็ได้ผลผลิตเยอะ สรุปผลผลิตออกมาเป็นไปตามเป้า ลำไยที่ทดลองออกมาก็สวยงาม การติดผลของพ่อแม่จะช้ากว่าของ” คุณช่อ กล่าว

ข้อเสีย 1. ไม่สามารถที่จะพ่นเข้ามาอยู่ในส่วนข้างล่างของต้นลำไยได้ จำเป็นต้องใช้เครื่องพ่นนิดหน่อยเพื่อเก็บงานด้านล่าง สามารถใช้ที่พ่นมือในการเก็บงานได้ 2. แรงลมใบพัดแรง ไม่สามารถพ่นยาถึงข้างล่างได้ 3. หากวันไหนทิศทางของลมไม่ดี คนที่ควบคุมต้องอยู่ในจุดที่สูงๆ เพื่อจะได้เห็นทิศทางของโดรน ทิศทางลมไม่ดีสารที่โดนพ่นก็จะมาโดนตัว 4. แบตเตอรี่ ยุ่งยากในกรณีที่ต้องบินทุกครั้ง เพราะต้องเปลี่ยนแบตทุกครั้ง 5. การดูแลรักษายาก กรณีที่พ่นสารเสร็จในถังพ่นจะเหลือน้ำยา คุณช่อจะต้องนำน้ำมาใส่เพื่อที่จะล้างสารออกจากหัวฉีด ต้องนำโดรนไปบินเล่นเพื่อไปปล่อยน้ำนั้นเอง 6. เครื่องใหญ่ทำความสะอาดยาก ใช้เวลาเยอะ ใช้เวลาการเอาออกมากางตั้งค่าก็ใช้เวลาเยอะพอสมควร

“ชาวบ้านไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เขาบอกว่ามันไม่ทั่วถึง พ่นแล้วไม่จบในครั้งเดียว ใช่เราก็บอกแล้วว่ามันไม่จบหรอก อย่างที่บอก มันบินอยู่ข้างบน มันไม่สามารถที่จะบินลงมาต่ำถึงข้างล่างได้ แต่แรงลมหรือใบพัดของมันสามารถที่จะพัดหนอนที่เกาะอยู่ตามใบลำไยออกหมดได้ อันนี้ก็ถือว่าเป็นข้อดีสามารถกำจัดศัตรูพืชให้เราได้ดีเลย มันเป็นปากต่อปาก พอเขาได้ยินคนนี้พูดดีพูดไม่ดี เขายังไม่ทันได้ลองก็ตัดสินแล้วว่ามันไม่ดี ต้องลองเปิดใจก่อน…“ คุณช่อ กล่าว

 

ติดต่อเพิ่มเติมได้ที่เพจ ช่อเฟื่องฟ้า ลินิฐฎา

…………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2564