กลุ่มแปลงใหญ่ลำไยคุณภาพ เชียงม่วน ทำนอกฤดู กระจายผลผลิต

ลำไย จัดเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญอันดับหนึ่งของภาคเหนือที่ทำรายได้จากการส่งออกทั้งในรูปผลสด อบแห้ง และลำไยกระป๋อง คิดเป็นมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ในอดีตแหล่งผลิตหลักของลำไยอยู่ในเขตภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีอากาศหนาวเย็นเพียงพอที่จะชักนำให้ลำไยออกดอกนอกฤดูได้ แต่ภายหลังจากการค้นพบคุณสมบัติของสารโพแทสเซียมคลอเรตด้วยความบังเอิญว่าสามารถชักนำการออกดอกของลำไยโดยไม่ต้องพึ่งอากาศหนาวเย็น นับตั้งแต่นั้นมาลำไยจึงแพร่กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้พื้นที่การผลิตลำไย จาก 3 แสนกว่าไร่ ในปี 2537 เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1 ล้านไร่ ในปี 2549 ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาผลผลิตลำไยล้นตลาด ส่งผลให้ราคาผลผลิตตกต่ำ

ลำไยที่บรรจุลงตะกร้า

นอกจากนี้ ยังขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิต จากปัญหาดังกล่าวได้มีการระดมความคิดจากผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการ นักวิชาการ และหน่วยงานต่างๆ จากภาครัฐ โดยมีความคิดเห็นร่วมกันว่าควรมีการผลิตลำไยนอกฤดูโดยกระจายผลผลิตให้ออกสู่ตลาดหลายๆ รุ่นต่อปี แต่การผลิตลำไยนอกฤดูให้ประสบผลสำเร็จนั้นจะต้องใช้ความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ของชาวสวน ตลอดจนการนำผลงานวิจัยที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้นเพื่อผลิตลำไยนอกฤดูอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือผลิตให้ได้คุณภาพต้นทุนต่ำและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ผู้เขียน

การผลิตลำไยในพื้นที่อำเภอเชียงม่วน จะเห็นได้ว่าเกษตรกรหันมาผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตขายได้ในราคาที่สูงเมื่อเทียบกับลำไยในฤดู อย่างไรก็ตาม การผลิตลำไยนอกฤดูในพื้นที่ก็ยังประสบปัญหาคุณภาพผลผลิตลำไยที่ไม่มีคุณภาพมีขนาดไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรต้องลงทุนในการผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งสารเร่งการออกดอก (โพแทสเซียมคลอเรต, KClO3) ค่าจ้างแรงงาน รวมทั้งปัจจัยการผลิต ทั้งปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช และสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชที่ต้องใช้บ่อยครั้งเมื่อเทียบกับการผลิตลำไยในฤดู การผลิตลำไยนอกฤดูยังเผชิญปัญหาที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดอำนาจการต่อรองการขายผลผลิตกับพ่อค้าคนกลาง การขาดแคลนแรงงาน สถานการณ์การผลิตลำไยนอกฤดูข้างต้นได้สะท้อนกระบวนการผลิตลำไยที่มิอาจมองข้ามปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะต้นทุนจากสารเคมีการเกษตรที่ต้องใช้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น กลุ่มแปลงใหญ่ลำไยคุณภาพอำเภอเชียงม่วน ได้นำเสนอสถานการณ์การผลิตลำไยนอกฤดูที่อาจเป็นแนวทางให้เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับประยุกต์ใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาการผลิตลำไยนอกฤดูที่มีแนวโน้มเพิ่มพื้นที่การผลิตมากขึ้นต่อไป

คุณเกษม ดาวดึงส์ ประธานกลุ่มฯ

สถานการณ์การผลิตลำไยนอกฤดู พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ขาดแคลนเงินทุนที่จะนำมาใช้ในกระบวนการการผลิต ทั้งการซื้อปัจจัยการผลิต ค่าจ้างแรงงาน และค่าบำรุงต้นลำไยหลังการเก็บเกี่ยว สายพันธุ์ลำไยส่วนใหญ่เป็นพันธุ์อีดอ เกษตรกรจะใช้วิธีการพ่นสารโพแทสเซียมคลอเรตทางใบลำไยมากกว่าการราดสารบริเวณโคนต้น หลังจากทำการเก็บเกี่ยวและพักฟื้นต้นลำไย ประมาณ 4-5 เดือน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจที่มีปัจจัยด้านราคาผลผลิตลำไยเป็นปัจจัยสำคัญ

ช่วงเวลาส่วนใหญ่ที่เกษตรกรทำการพ่นสารจะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม เพื่อให้ผลผลิตออกจำหน่ายในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ (ช่วงตรุษจีน) เกษตรกรที่มีพื้นที่การปลูกลำไยจำนวนมากจะแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆ เกษตรกรบางส่วนจะทิ้งต้นลำไยหลังจากการบังคับให้ออกดอกนอกฤดู แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเร่งการออกดอก ทำให้ต้นลำไยบางส่วนไม่ได้รับการดูแลรักษา เมื่อถึงฤดูการออกดอกในช่วงเวลาปกติต้นลำไยเหล่านี้จึงไม่ออกดอก

เกษตรกรกำลังตัดแต่งลำไย

การจำหน่ายผลผลิตจะจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลางแบบเหมาสวน แล้วนำไปจำหน่ายให้กับร้านรับซื้อ ราคารับซื้อไม่สูงมากนัก ถึงแม้ผลผลิตมีจำนวนไม่มาก ราคาในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เมื่อปี 2562 ราคาเกรด AA รับซื้ออยู่ประมาณ กิโลกรัมละ 30-35 บาท ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ปี 2563 ราคาลำไยตกต่ำมาก เกรด AA ราคาประมาณ 19 บาท เกรด A ประมาณ 9 บาท เกรด B ราคาประมาณ 4 บาท และ เกรด C ราคา ประมาณ 1 บาท

เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอเชียงม่วน มอบกล่องบรรจุลำไยสนับสนุนโดยกรมส่งเสริมการแกษตรให้กลุ่ม

การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลำไยนอกฤดูด้วยสารโพแทสเซียมคลอเรตในพื้นที่ภาคเหนือ ดำเนินการที่สวนเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน ระหว่างปี พ.ศ. 2549-2553 เพื่อแก้ไขปัญหาการออกดอกติดผลน้อยในฤดูร้อน หรือการออกดอกไม่สม่ำเสมอในฤดูฝน หรือแตกใบอ่อน ทำให้ไม่พร้อมสำหรับการใช้โพแทสเซียมคลอเรตกระตุ้นให้ออกดอกนอกฤดู รวมทั้งแก้ปัญหาสีผิวผลไม่สวยเหมือนผลลำไยในฤดู นอกจากนี้ ได้ศึกษาอัตราการใช้ โพแทสเซียมคลอเรต 15 เปอร์เซ็นต์ ที่เหมาะสมต่อการกระตุ้นการออกดอกของลำไย จากการทดลองของนักวิจัยพบว่า การบังคับต้นลำไยไม่ให้ออกดอกและติดผลในฤดูปกติที่ได้ผลดีที่สุดคือ การตัดปลายกิ่ง ยาว 10-15 นิ้ว ในเดือนพฤศจิกายน การบังคับต้นลำไยไม่ให้แตกใบอ่อนในช่วงฤดูฝนเพื่อเตรียมต้นให้พร้อมราด โพแทสเซียมคลอเรต พบว่ามี 2 วิธี ที่ได้ผลดี คือ 1. การควั่นกิ่งหลัก กว้าง 0.2-0.3 เซนติเมตร จำนวน 2 วง ห่างกัน 10 เซนติเมตร หรือควั่นกิ่งแบบเกลียว (spiral cincturing) และ 2. การใส่ปุ๋ย 0-46-0 อัตรา 150 กรัม ต่อเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร จำนวน 1 ครั้ง

ลำไยที่ติดผลได้คุณภาพ

การกระตุ้นให้ต้นลำไยออกดอกติดผลในฤดูร้อนและฤดูฝน พบว่า การชักนำต้นลำไยออกดอกและติดผลในฤดูร้อนโดยการราดโพแทสเซียมคลอเรต อัตรา 50 กรัม ต่อเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร ร่วมกับการพ่นแคลเซียมโบรอน จำนวน 3 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน ต่อครั้ง ในช่วงดอกบาน ทำให้มีเปอร์เซ็นต์การติดผล จำนวนผลเฉลี่ยต่อช่อ ผลผลิตเฉลี่ยต่อต้นมากที่สุด การชักนำต้นลำไยให้ออกดอกและติดผลในฤดูฝนในสภาพฝนตกหนัก การให้ โพแทสเซียมคลอเรต โดยวิธีการหว่านบริเวณทรงพุ่ม และการฝังกลบบริเวณชายพุ่ม โดยใช้อัตรา 100 และ 150 กรัม ต่อเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร จะมีเปอร์เซ็นต์การออกดอกและผลผลิตต่อต้นมากที่สุด

ส่วนในสภาพฝนตกน้อยถึงปานกลาง พบว่า การให้โพแทสเซียมคลอเรต อัตรา 100-150 กรัม ต่อเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร แบบผสมน้ำราดบริเวณทรงพุ่ม และการหว่านบริเวณทรงพุ่มมีเปอร์เซ็นต์การออกดอก เปอร์เซ็นต์การติดผลดีกว่าการฝังกลบบริเวณชายพุ่ม การปรับปรุงสีผิวลำไยนอกฤดูในสภาพที่ลุ่มและสภาพที่ดอน ในสภาพที่ลุ่มพบว่า การพ่นสาร Azoxystrobin (AMISTAR® 25 SC) อัตรา 5 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร จำนวน 3 ครั้ง ในช่วงผลอายุ 4-5 เดือน และสาร Benzimidazole (Carbendazim) อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร จำนวน 5 ครั้ง ในช่วงอายุผล 4-5 เดือน ช่วยให้สีผิวเหลืองขึ้น สูงกว่ากรรมวิธีอื่น

ผู้เขียน เจ้าหน้าที่เกษตร และประธานกลุ่มแปลงใหญ่ลำไยคุณภาพอำเภอเชียงม่วน

ส่วนในสภาพที่ดอน พบว่า การพ่นสาร Benzimidazole (Carbendazim) อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร จำนวน 5 ครั้ง ในช่วงอายุผล 4-5 เดือน ช่วยให้สีผิวผลเหลืองขึ้นสูงที่สุด การใช้โพแทสเซียมคลอเรตที่มีสารออกฤทธิ์ 15 เปอร์เซ็นต์ เพื่อชักนำให้ลำไยออกดอกติดผลนอกฤดูพบว่า ลำไยที่ราดโพแทสเซียมคลอเรต สารออกฤทธิ์ 15 เปอร์เซ็นต์ อัตรา 600 และ 900 กรัม ต่อเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร มีเปอร์เซ็นต์การแทงช่อดอก ความยาวช่อดอก จำนวนผลเฉลี่ยต่อช่อ และขนาดผล ไม่แตกต่างกับการใช้โพแทสเซียมคลอเรต สารออกฤทธิ์ 90 เปอร์เซ็นต์ อัตรา 100 กรัม ต่อเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูในสวนเกษตรกร โดยเปรียบเทียบวิธีการที่แนะนำด้านการชักนำการออกดอกและติดผลของลำไยในฤดูร้อนและฤดูฝน โดยหว่านโพแทสเซียมคลอเรตเป็นวงบริเวณรอบทรงพุ่ม ร่วมกับวิธีการพ่นสารแคลเซียม – โบรอนกับวิธีปฏิบัติของเกษตรกรพบว่า แปลงที่ใช้วิธีการแนะนำได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่และคุณภาพผลมากกว่าวิธีการเกษตรกรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และแปลงที่ใช้วิธีการแนะนำมีผลผลิตเฉลี่ยรายได้สุทธิ และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุนสูงกว่าแปลงเกษตรกร และสามารถลดต้นทุนการผลิตด้านการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตลง จึงถือว่าเทคโนโลยีนี้มีความคุ้มค่ากับการลงทุน

คุณเกษม ดาวดึงส์ ประธานแปลงใหญ่กลุ่มลำไยคุณภาพเชียงม่วน เล่าให้ฟังว่า จากสถานการณ์การผลิตลำไยโดยรวมที่ผ่านมาพบว่า ลำไยในฤดูราคาจะตกต่ำทุกปี แต่ผลผลิตที่ออกก่อนหรือล้าฤดู ร่วมถึงนอกฤดูจะมีราคาที่สูงกว่า จึงได้หารือกับสมาชิกกลุ่มหันมาแบ่งพื้นที่เพื่อผลิตลำไยนอกฤดู โดยได้รับคำแนะนำจากสำนักงานเกษตรอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา จะเตรียมต้นลำไยให้พร้อม คือใบอยู่ในระยะเพสลาด (ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป) ในพื้นที่อำเภอเชียงม่วน จะใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตใน 2 ลักษณะคือ ในช่วงกลางเดือนมีนาคมเป็นต้นไปจะราดสารทางดิน จากนั้นอีก 2 วัน จะพ่นทางใบ เว้นอีก 2 วัน จะพ่นทางใบซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยผลผลิตจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ในช่วงต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นไป หากราดสารล้าไปผลผลิตก็จะออกล้าไปจนถึงเดือนธันวาคม มกราคม หรือกุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับเทศกาลตรุษจีน เพราะลำไยจะสามารถให้ผลผลิตที่พร้อมจะเก็บเกี่ยวใช้เวลานับตั้งแต่ราดสารไปประมาณ 7 เดือน

ลำไยที่ติดผลได้คุณภาพ

ในปีนี้ทางกลุ่มมีการทำลำไยนอกฤดูจำนวนทั้งสิ้น 50 ไร่ ผลผลิตประมาณ 40 ตัน โดยได้ร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จำหน่ายผ่านไทยแลนด์โพสมาร์ทดอทคอม (Thailandpostmart.com) ทั้งแบบออนไลน์  และออฟไลน์ ราคาขายส่งถึงบ้าน บรรจุกล่องละ 5 กิโลกรัม 270 บาท ชาวสวนจะได้กิโลกรัมละ 32 บาท เข้ากลุ่ม 3 บาท ที่เหลือเป็นค่าตะกร้าบรรจุ ค่าขนส่ง และค่าบริหารจัดการของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งเกษตรกรพอใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการขายสด ช่อจะตัดแต่งคัดลูกเล็กคือ เกรดบี และซี ออกเหลือเกรดเอเอ และเอ ซึ่งหากขายรูดร่วง เฉลี่ยกิโลกรัมละไม่ถึง 20 บาท แต่ช่อสดจะชั่งน้ำหนักรวมกับก้านด้วย และในจังหวัดพะเยามีเพียงเกษตรกรชาวสวนลำไยอำเภอเชียงม่วนเท่านั้นที่ทำ จึงไร้คู่แข่ง ส่วนเกรดบี และซี ที่เหลือทางกลุ่มได้แกะนำไปอบเป็นลำไยเนื้อสีทอง เป็นช่องทางการจำหน่ายอีกช่องหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าผลผลิต

การแกะลำไยเพื่อนำไปอบ

สนใจการทำลำไยนอกฤดูของกลุ่มแปลงใหญ่ลำไยคุณภาพอำเภอเชียงม่วน ติดต่อสอบถามได้โดยตรงกับ คุณเกษม (อ๊อด) ดาวดึงส์ ประธานกลุ่มฯ ได้ที่บ้านแพทย์ ตำบลเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เบอร์โทร. 084-373-8987 แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้