ตรวจวิเคราะห์ดินก่อนใส่ปุ๋ย ทำนา ลดต้นทุน เพิ่มรายได้

คุณพิสมัย พิมพ์ขาว เก็บเกี่ยวข้าวเพื่อขายเป็นรายได้

ปัญหาการทำนาของเกษตรกรที่มักพบได้บ่อยๆ คือ ต้องซื้อปุ๋ยราคาแพง ราคาข้าวตกต่ำ การใช้ดินทำนามายาวนาน ดินเสื่อมไม่เหมาะสม และที่สำคัญการใส่ปุ๋ยในปริมาณมาก ไม่ตรงสูตร ไม่ตรงตามอัตราส่วน และไม่ใส่ตามระยะเวลา จึงเป็นเงื่อนไขให้ต้องใช้ต้นทุนการผลิตสูง แต่การรู้ว่าในพื้นที่แปลงนามีธาตุอาหารใด? บ้าง ก็จะช่วยให้การจัดการใช้ปุ๋ยทำได้อย่างถูกต้องและรู้ค่า ได้รับผลตอบแทนคุ้มทุน เป็นหนึ่งวิธีการที่น่าสนใจ วันนี้จึงได้นำเรื่องการตรวจวิเคราะห์ดิน ก่อนใส่ปุ๋ย ทำนา ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ มาเล่าสู่กัน

คุณชมพูนุช หน่อทอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท เล่าให้ฟังว่า ปัญหาการทำนาที่สำคัญของชาวนาคือ ถ้าน้ำไม่พอเพียงก็ส่งผลต่อการเจริญเติบโต หรือใส่ปุ๋ยในนาข้าวที่ไม่คำนึงถึงสภาพดินในพื้นที่แปลงนาว่ามีธาตุอาหารอะไรบ้าง? ใส่ปุ๋ยไม่ถูกสูตรไม่ตรงกับความต้องการของต้นข้าว บางครั้งใส่ปุ๋ยน้อยไปก็ได้ผลผลิตน้อย หรือใส่มากไปก็ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงได้ผลตอบแทนไม่คุ้มทุน

คุณชมพูนุช หน่อทอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ส่งเสริมทำนาลดต้นทุน

ปุ๋ย เป็นปัจจัยสำคัญในการทำนา การตรวจวิเคราะห์ดินในแปลงนาก่อนแล้วนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์มากำหนดสูตรปุ๋ยเพื่อใส่ปุ๋ยให้ตรงสูตร ถูกอัตราส่วนและใส่ตามระยะเวลา หรือจะผสมผสานใช้ร่วมกับน้ำหมักชีวภาพหรือจุลินทรีย์สูตรปรับปรุงบำรุงดิน ก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิต ที่สำคัญต้องจัดการวางแผนใช้น้ำที่เหมาะสมไม่ว่าจะทำนาอยู่ในเขตชลประทานหรือการใช้น้ำฝน ก็จะส่งผลให้ต้นข้าวเจริญเติบโตและได้ผลผลิตข้าวคุ้มทุน

สถานีพัฒนาที่ดินชัยนาทส่งเสริมการผลิตจุลินทรีย์ใช้ลดรายจ่ายการทำนา

การตรวจวิเคราะห์ดินก่อนใส่ปุ๋ยในการทำนา ได้รับการสนับสนุนวิธีการจากสถานีพัฒนาที่ดินชัยนาท หมอดินหมู่บ้าน หรือนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ด้วยการขุดเก็บตัวอย่างดินตามหลักการส่งไปตรวจวิเคราะห์เพื่อจะได้รู้ว่าสภาพดินในพื้นที่แปลงปลูกมีธาตุอาหารอะไรบ้าง เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม (N P K) และมีความเป็นกรดด่างในระดับใด แล้วนำผลการตรวจวิเคราะห์ดินมากำหนดสูตรปุ๋ยที่จะใช้ ซึ่งจากปฏิบัติการจริง ปรากฏว่าต้นทุนการผลิตลดลงมาก ได้ผลผลิตข้าวเพิ่ม เมื่อบวกลบคูณหารแล้วจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มและมีวิถีที่มั่นคง

คุณพิสมัย พิมพ์ขาว เกษตรกรทำนา เล่าว่า มีพื้นที่ 13 ไร่ พื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกพืชแบบผสมผสาน และแบ่งเป็นพื้นที่ทำนา 5 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์ กข 41 อายุการเก็บเกี่ยว 105 วัน ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก 20-25 กิโลกรัม ต่อไร่

เมื่อก่อนหน้านี้ได้ทำนาด้วยวิธีการที่คล้ายกับเพื่อนบ้านคือ เตรียมดินแปลงนาไม่ละเอียด ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกกว่า 30 กิโลกรัม ต่อไร่ ใส่ปุ๋ยเต็มที่เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวมากๆ แต่ปรากฏว่าได้ผลผลิตข้าวเพียง 50 ถัง ต่อไร่ หรือบางครั้งก็ได้ผลผลิตข้าว 35 ถัง ต่อไร่ หรือ 2-3 เกวียน ต่อ 5 ไร่ เมื่อบวกลบคูณหารแล้วไม่คุ้มทุน

คุณพิสมัย พิมพ์ขาว เก็บเกี่ยวข้าวเพื่อขายเป็นรายได้

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อได้รับคำแนะนำจากหมอดินหมู่บ้าน สถานีพัฒนาที่ดินชัยนาท และนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรที่ให้ชาวนาขุดเก็บตัวอย่างดินส่งไปตรวจวิเคราะห์เพื่อให้รู้ว่าคุณภาพดินในแปลงนามีธาตุอาหาร เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในปริมาณเท่าไร หรือมีค่าความเป็นกรดด่างระดับใด แล้วนำผลที่ได้จากการตรวจวิเคราะห์ดินมาจัดการใส่ปุ๋ยในการทำนาให้ถูกต้องจึงจะลดต้นทุนการผลิตและได้ผลตอบแทนคุ้มทุน

หมักตอซังก่อนเตรียมดินทำนา

การเตรียมดินแปลงนา ได้เปิดน้ำเข้าแปลงนาหรือถ้าแปลงนามีน้ำอยู่แล้วก็กักน้ำไว้อย่างน้อย 2 วัน เพื่อหมักตอซังและฟางข้าวให้ย่อยสลายเป็นการเพิ่มจุลินทรีย์ จากนั้นจึงทำการไถ

เตรียมรถไถ นำถังพลาสติกกลมที่เจาะเป็นรูขนาดเล็กมีฝาเปิด-ปิดเพื่อให้น้ำจุลินทรีย์ไหลออกได้ ผูกมัดถังยึดกับตัวรถไถให้แน่น ใส่น้ำจุลินทรีย์ลงไปในถังพลาสติก นำรถไถลงแปลงนาทำการไถเตรียมดินพร้อมกับเปิดฝาให้น้ำจุลินทรีย์ไหลลงกระจายทั่วแปลงนา โดยเฉลี่ยใช้จุลินทรีย์ 5 ลิตร ต่อไร่ หรือใช้วิธีเทน้ำจุลินทรีย์ลงไปให้กระจายทั่วแปลงนาก่อนก็ได้ จากนั้นจึงนำรถไถลงไปไถเตรียมดิน การใส่จุลินทรีย์จะช่วยปรับปรุงบำรุงดินให้ได้คุณภาพและลดปริมาณการใส่ปุ๋ยเคมี ทำให้ต้นข้าวแตกกอดีขึ้น

ตรวจวิเคราะห์ดินแปลงนาก่อนใส่ปุ๋ยช่วยลดต้นทุนการผลิต

หลังการหว่านข้าวปลูกไป 8 วัน เมล็ดข้าวก็เริ่มงอก ได้ปล่อยน้ำเข้าแปลงนา กักน้ำไว้ 20 วัน แล้วใส่จุลินทรีย์อีกครั้งในอัตรา 5 ลิตร ต่อไร่ หลังจากนั้น 20 วัน ได้นำจุลินทรีย์ในอัตรา 500 ซีซี ผสมลงไปในน้ำ 200 ลิตร นำไปฉีดพ่นให้ทั่วแปลงนาทุก 7 วัน เพื่อช่วยให้ต้นข้าวแข็งแรงเจริญเติบโตได้ดี

การใส่ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือใส่ปุ๋ยสั่งตัด ได้จัดการใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 0-0-60 อัตรา 9 กิโลกรัม ต่อไร่ ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0 อัตรา 3 กิโลกรัม ต่อไร่ ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 18-46-0 อัตรา 15 กิโลกรัม ต่อไร่

ต้นทุนการทำนา 5 ไร่ ได้แบ่งเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว 2,050 บาท ค่าเตรียมดิน 3,250 บาท ค่าปุ๋ย 2,050 บาท ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 2,600 บาท รวมเป็นต้นทุน 9,950 บาท บวกลบแล้วต้นทุนการผลิตลดลงและได้ผลตอบแทนคุ้มทุน

จุลินทรีย์ใช้ในการปรับปรุงบำรุงดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี

คุณพิสมัย เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า การใช้จุลินทรีย์ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินด้วยการใส่ปุ๋ยได้ถูกสูตร ตามอัตราส่วนและระยะเวลา จัดการแปลงนาให้ได้รับน้ำพอเพียง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ที่สำคัญคือ ได้ผลผลิตข้าว 80 ถัง ต่อไร่ หรือได้ผลผลิตข้าว 1 เกวียน ต่อไร่ หรือได้ผลผลิตข้าวเพิ่มมากกว่าเดิม

ปลูกส้มโอขาวแตงกวาพืชเสริมรายได้

หลังการเก็บเกี่ยวข้าวได้ปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยเป็นพืชหมุนเวียน เช่น ปลูกถั่วเขียว ใช้เมล็ดพันธุ์ปลูก 5-8 กิโลกรัม ต่อไร่ เมื่อพืชเจริญเติบโตสมบูรณ์ได้ไถกลบเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งจากการปลูกพืชหมุนเวียน การใช้จุลินทรีย์ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง มีรายได้เพิ่มและยังชีพได้แบบพอเพียงและมั่นคง

ดอกโสนพร้อมเก็บไปลวกนึ่งจิ้มกินกับน้ำพริก

จากแนวทางการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนใส่ปุ๋ย ทำนา ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ เป็นการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาปรับใช้ในการทำนาเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ ยังชีพได้แบบพอเพียง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณพิสมัย พิมพ์ขาว เลขที่ 19/1 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท โทร. (083) 760-3028 หรือที่ คุณชมพูนุช หน่อทอง สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท โทร. (056) 476-720 ก็ได้เช่นกันครับ