ปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าสำหรับการผลิตข้าวแบบใช้ปุ๋ยครั้งเดียว

จากข้อมูลปริมาณและมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีสูตรที่สำคัญ ปี 2549-2554 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในปี 2554 ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีสูงถึง 6.1 ล้านตัน เป็นมูลค่า 71.8 หมื่นล้านบาท และสูตรปุ๋ยที่นำเข้ามานั้นไม่ตรงกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด อีกทั้งคุณสมบัติปุ๋ยไม่ได้เฉพาะเจาะจงสำหรับพืชแต่ละชนิด การใช้ปุ๋ยของประเทศไทยเราจึงเป็นการใช้ปุ๋ยสูตรเดิมๆในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดปัญหาสภาพดินเสื่อมโทรม และปัญหาธาตุอาหารพืชบางชนิดตกค้างภายในดินปริมาณสูง คำแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีในปัจจุบันยังคงเหมือนเมื่อ 50 ปีก่อน กล่าวคือในนาดินทรายใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-8 ในนาดินเหนียวใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 เป็นปุ๋ยรองพื้น และใช้ยูเรียเป็นปุ๋ยแต่งหน้า หน่วยงานวิจัยหลายหน่วยงานออกมาแนะนำวิธีการใส่ปุ๋ยข้าวอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นตามค่าวิเคราะห์ดิน ตามพันธุ์ข้าว ตามค่าวิเคราะห์พืช หากพิจารณาแล้วล้วนเป็นวิธีที่ใช้ได้ผล แต่อาจจะยากแก่การปฏิบัติ

ดังนั้นการคิดค้นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยละลายช้า หรือ ปุ๋ยควบคุมการละลายที่ประกอบด้วยทั้งปุ๋ยอินทรีย์ที่ช่วยปรับปรุงความเสื่อมโทรมของดิน และปุ๋ยเคมีที่ประกอบด้วยธาตุอาหารตามระยะความต้องการของพืช ซึ่งปุ๋ยจะค่อยๆปล่อยธาตุอาหารพืชออกมา จะช่วยให้พืชได้รับสารอาหารอย่างสม่ำเสมอ แบบค่อยเป็นค่อยไป ลดความเสี่ยงจากภาวะที่พืชอาจได้รับปุ๋ยมากเกินไปในช่วงแรก และช่วงหลังพืชอาจได้รับปุ๋ยน้อยเกินไป จากการที่สารอาหารถูกชะล้างไปลึกกว่าระดับรากพืช จนไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งพืชก็จะขาดสารอาหารได้

นอกจากนั้นปุ๋ยละลายช้ายังมีข้อดีในแง่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะช่วยลดปริมาณสารเคมีที่ถูกชะล้างจากแหล่งเพาะปลูกลงไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ด้วย ในปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดทำการศึกษาปุ๋ยอินทรีย์เคมีที่มีคุณสมบัติละลายช้า ที่สามารถให้ทั้งสารอินทรีย์ที่สามารถปรับปรุงสภาพดินที่เสื่อมโทรม ให้มีคุณสมบัติทางกายภาพที่ดีขึ้นทั้งการอุ้มน้ำและการระบายอากาศ พร้อมให้ธาตุอาหารในระดับที่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโต รักษาระดับผลผลิตให้ไม่แตกต่างกับการใช้ปุ๋ยเคมี อีกทั้งปุ๋ยนี้เป็นการใช้ในครั้งเดียวคือช่วงรองพื้นเท่านั้น จึงเป็นการประหยัดค่าจ้างแรงงานใส่ปุ๋ย และยังสามารถปรับสูตรปุ๋ยให้เหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดอีกด้วย

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญเกษตรสร้างสรรค์ ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าสำหรับการผลิตข้าวแบบใช้ปุ๋ยครั้งเดียว” ซึ่งเป็นปุ๋ยควบคุมการละลายที่ประกอบด้วยปุ๋ยอินทรีย์ที่ช่วยปรับปรุงความเสื่อมโทรมของดิน และปุ๋ยเคมีที่ประกอบด้วยธาตุอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของข้าว ซึ่งปุ๋ยจะค่อยๆปล่อยธาตุอาหารพืชออกมา ช่วยให้พืชได้รับสารอาหารอย่างสม่ำเสมอ

กระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าสำหรับการผลิตข้าวแบบใช้ปุ๋ยครั้งเดียว ประกอบด้วย การทำปุ๋ยหมักจากวัตถุดิบคือมูลสัตว์ ตัวอย่างเช่น การนำมูลโคที่ใหม่และแห้ง ปริมาณ 950 – 1,050 กิโลกรัม มากองบริเวณพื้นปูน เติมปุ๋ยสูตร 46-0-0 ปริมาณ 2 – 5 กิโลกรัม เติมปุ๋ยสูตร 0-3-0 ปริมาณ 20 – 40 กิโลกรัม ผสมวัตถุดิบทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากันพร้อมกับการเติมน้ำให้มีความชื้นร้อยละ 40 – 60 ใช้วัสดุที่สามารถกันน้ำได้คลุมให้มิด เพื่อป้องกันฝนและไม่ให้ความชื้นระเหยออกจากกองปุ๋ย และกลับกองปุ๋ยหมักที่ระยะเวลา 3  10  17 และ 24 วัน หลังจากการกอง

สูตรการผสมปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าสำหรับการผลิตข้าวแบบใช้ปุ๋ยครั้งเดียว ประกอบด้วย ปุ๋ยอินทรีย์จากปุ๋ยหมักมูลสัตว์ร้อยละ 30 – 50 ปุ๋ยเคมีร้อยละ 36 – 42 ปูนร้อยละ 10 – 12 ซีโอไลต์ร้อยละ 10 – 12 และกรดซิลิคอนร้อยละ 5 – 10 โดยอัตราการปล่อยปลดธาตุอาหารหลักของพืชในรูปที่เป็นประโยชน์ช้ากว่าปุ๋ยอินทรีย์เคมีสูตรเดียวกันที่ไม่มีการผสมปูนและซีโอไลต์ 30 – 50 วัน อัตราการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าสำหรับนาหว่าน คือ 50 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่เพียงครั้งเดียวหลังจากหว่านข้าว 15 – 20 วัน สามารถลดต้นทุนปุ๋ยลงประมาณ 300 บาทต่อไร่ และได้รับผลผลิตไม่แตกต่างจากการใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร จากผลการทดลองในระดับสนามและไร่นาเกษตรกรในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานีที่ได้รับผลผลิตประมาณ 1,200 กิโลกรัมต่อไร่