ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“หงเป่าสือ” ฝรั่งไส้แดง มีถิ่นกำเนิดมาจากไต้หวัน มีลักษณะผลรูปกลมแป้น เนื้อในหรือไส้กลางเป็นสีแดง เมล็ดน้อย รสชาติหวานกรอบ เป็นที่ถูกอกถูกใจของใครหลายคน ในประเทศไทยได้มีการนำสายพันธุ์เข้ามาปลูกได้เป็นระยะเวลากว่า 5-6 ปีแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายจนล้นตลาด ด้วยกิ่งพันธุ์ที่มีราคาสูง และการปลูกดูแลที่ค่อนข้างยากกว่าการปลูกฝรั่งสายพันธุ์ทั่วไป ทำให้ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดตอนนี้ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า หากคิดจะปลูกสร้างรายได้ยังน่าสนใจ มีพื้นที่ 1 ไร่ก็ทำได้
คุณชาญชัย ลิ้มปทุม เจ้าของสวนนานาพันธุ์ by เจ๊เกียง อยู่บ้านเลขที่ 101 หมู่ที่ 1 ตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เกษตรกรผู้คร่ำหวอดในวงการไม้ผลมานานหลายสิบปี อดีตเคยทำสวนส้ม ปัจจุบันเป็นเจ้าของอาณาจักรกล้วยหอมกว่า 200 ไร่ ควบคู่กับการปลูกฝรั่งหงเป่าสือสร้างรายได้เสริม ซึ่งถือเป็นพืชที่น่าจับตามองไม่น้อย ด้วยราคาตอนนี้ที่ทางสวนขายได้ยังมีราคาสูงอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ปลูก 10 ไร่ ฟันรายได้เกือบแสนต่อเดือน
คุณชาญชัย เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ทำสวนส้มมาก่อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง จึงได้มีการปรับเปลี่ยนมาปลูกเป็นกล้วยหอม และในขณะเดียวกัน ก็ยังพอมีพื้นที่เหลือพอให้ลงไม้ผลชนิดอื่นได้อีกประมาณ 20 ไร่ โดยช่วงนั้นเมื่อประมาณปี 2560 ได้มีเพื่อนมาแนะนำให้รู้จักกับฝรั่งหงเป่าสือที่เป็นฝรั่งสายพันธุ์จากไต้หวันเข้ามา พอมีโอกาสได้ชิมก็เกิดติดใจในรสชาติที่มีทั้งความหวานกรอบ มีเนื้อข้างในเป็นสีแดงเป็นเอกลักษณ์ และเป็นฝรั่งที่มีเมล็ดน้อย น่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต จึงตัดสินใจสั่งกิ่งพันธุ์มาทดลองปลูกประมาณ 40 ต้น ในปี 2560 เป็นการปลูกเพื่อขยายพันธุ์ขาย และทดลองปลูกเพื่อไว้ผลเป็นบางส่วน แต่ยังไม่ได้มีการจำหน่าย เพื่อศึกษาวิธีการปลูกอย่างไรให้ได้คุณภาพ จนมั่นใจในสายพันธุ์และคุณภาพของผลผลิตถึงได้มีการปลูกเพื่อจำหน่ายในปี 2564
ด้วยจุดเด่นที่มีคือ 1. ด้านรสชาติ “หงเป่าสือ” มีรสชาติที่หวานกรอบ ติดเปรี้ยวนิดๆ ค่อนข้างจะเป็นรสชาติที่แปลกใหม่ มีเนื้อข้างในสีแดงที่เป็นเอกลักษณ์ และมีเมล็ดน้อย หรือแทบจะไม่มีเมล็ด แต่แค่ในเฉพาะสายพันธุ์หงเป่าสือเท่านั้นที่มีเมล็ดน้อย เนื่องจากฝรั่งไส้แดงจะมีหลายสายพันธุ์ 2. ด้านการตลาด ขายได้ราคาสูง เพราะยังหากินได้ยากตามตลาดทั่วไป ส่วนหนึ่งมาจากปริมาณที่ยังไม่มากพอต่อความต้องการของตลาด
ปลูกฝรั่งหงเป่าสือ 10 ไร่ รับทรัพย์เกือบแสนต่อเดือน
คุณชาญชัย บอกว่า หลังจากที่มั่นใจในรสชาติและคุณภาพของฝรั่งหงเป่าสือที่ได้ทดลองปลูกไว้ จึงได้เริ่มขยายพื้นที่ปลูกเพื่อจำหน่ายผลผลิตอย่างจริงจังในปี 2564 บนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ และได้มีการวางแผนในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าจะขยายพื้นที่ปลูกอีก 10 ไร่ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดที่สวนมีอยู่ตอนนี้
และเมื่อถามถึงวิธีการปลูกฝรั่งของคุณชาญชัยว่ามีความยากง่ายหรือแตกต่างจากฝรั่งสายพันธุ์ทั่วไปอย่างไร คุณชาญชัย อธิบายว่า วิธีการปลูกก็เหมือนกับการปลูกพืชผักผลไม้ทั่วไป ก่อนอื่นต้องพรวนดิน แล้วคลุกเคล้ามูลวัวลงไป ถ้าปลูกในพื้นที่ต่ำให้ยกโคกสูงขึ้นมาหน่อย แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึงก็ไม่จำเป็นต้องยกโคกให้สูง แค่พรวนดินให้ร่วน ปรับปรุงดินนิดหน่อย ขุดหลุมปลูกให้กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วนำกิ่งพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูกได้เลย
การเลือกต้นพันธุ์ ถ้าอยากปลูกให้ได้ผลผลิตดี ควรเลือกเป็นกิ่งชำที่อยู่ในถุง เพราะจะมีโอกาสรอดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และเจริญเติบโตได้เร็ว แต่กิ่งชำจะมีราคาแพง ถ้าหากใครมีงบน้อย หรือต้องการปลูกเชิงพาณิชย์ก็แนะนำให้ปลูกโดยใช้กิ่งตอนมากกว่า เพราะว่าต้องใช้ในจำนวนมาก ตรงนี้จะช่วยประหยัดต้นทุนลงไปได้พอสมควร เพียงแต่ว่าการใช้กิ่งตอนในการปลูก การเจริญเติบโตจะช้ากว่ากิ่งชำ ต้องอาศัยความใส่ใจหมั่นดูแลรดน้ำเป็นพิเศษก็ไม่ถือเป็นปัญหา
ระยะห่างระหว่างต้น โดยปกติทั่วไปจะปลูกในระยะห่างที่ประมาณ 2.50 เมตร หรืออาจบวกหรือลบได้ ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับขนาดของแต่ละพื้นที่ หากมีพื้นที่น้อยจะปลูกในระยะห่าง 2×3 เมตรก็ได้ แต่ถ้าหากมีพื้นที่มากหน่อยจะแนะนำให้ปลูกในระยะห่าง 3×4 เมตร เพื่อลดปัญหาการเกิดโรคและแมลง เพราะถ้าปลูกในระยะที่ประชิดกันเกินไป ตรงนี้จะเป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลง หรือมีผลในการฉีดพ่นยาและอาหารเสริม ที่ในบางครั้งอาจฉีดไม่ทั่วถึง
การดูแลรดน้ำ ฝรั่งสามารถปลูกได้ทุกที่ขอแค่ให้มีระบบน้ำที่เพียงพอ เพราะฝรั่งเป็นพืชที่ขาดน้ำไม่ได้ ส่วนวิธีการรดน้ำจะรดด้วยวิธีไหนก็ได้ แต่ถ้าหากสวนไหนรดด้วยน้ำบาดาลควรจะต้องมีการพักน้ำเอาไว้ให้ตกตะกอน 2-3 วันก่อนนำมาใช้
การรดน้ำในช่วง 1-2 เดือนแรก หากฝนไม่ตกควรรดน้ำอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน ส่วนครั้งที่ 2 ขึ้นอยู่กับพื้นที่และสภาพอากาศ หากวันไหนแดดจัดให้รดน้ำในช่วงบ่ายอีกครั้ง หลังจากนั้นเมื่อผ่านระยะ 2 เดือนแรกไปแล้ว ก็ยังคงรดน้ำทุกวันหรือวันเว้นวันก็ได้ โดยให้สังเกตจากยอดฝรั่ง ถ้ายอดเหี่ยวแสดงว่าน้ำไม่เพียงพอก็ให้รดน้ำเพิ่ม
การบำรุงใส่ปุ๋ย เมื่อฝรั่งมีอายุได้ 20 วัน เริ่มใส่ปุ๋ยครั้งแรก สูตร 25-7-7 แล้วครั้งถัดไปจะใส่เป็นสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 แล้วแต่ความสะดวก โดยระยะห่างในการใส่ปุ๋ยประมาณ 1 เดือนต่อ 1 ครั้ง ปริมาณการใส่เริ่มจากครั้งที่ 1 ใส่ปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะ แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณปุ๋ยทุกครั้งที่ใส่ปุ๋ย แล้วหลังจากนั้นประมาณเดือนที่ 5 จะเพิ่มเติมด้วยปุ๋ยสูตร 8-24-24 ใส่ผสมกับสูตรเสมอ หรือใส่สูตร 8-24-24 อย่างเดียวก็ได้ เพื่อสะสมอาหารให้เพียงพอสำหรับการออกดอก
และอย่าลืมว่าทุกครั้งที่เราใส่ปุ๋ยเราจะต้องเพิ่มทุกครั้งเพราะว่าต้นไม้แต่ละเดือนๆ โตไว โดยเฉพาะฝรั่งเจริญเติบโตได้เร็ว 5 เดือนเริ่มติดดอก ก็ควรให้พืชได้กินได้อิ่ม แล้วหลังจากนั้นเมื่อต้นใหญ่ให้ผลผลิตได้สักระยะแล้ว จะเปลี่ยนการให้ปุ๋ยเป็นกำมือแทน อาจจะเป็นต้นละ 1-3 กำมือ จะไม่ใช้ช้อนตวงแล้ว “เราจะเข้มงวดในช่วง 1-2 เดือนแรกมากที่สุด เพราะถ้าใส่ปุ๋ยเยอะเกินไป จะไม่ส่งผลดีกับพืชสักเท่าไหร่ ถ้าใส่มากไปก็ส่งผลกระทบกับรากพืชทำให้ต้นตายได้”
การดูแลช่วงฝรั่งออกดอก ถือเป็นช่วงสำคัญ จำเป็นจะต้องมีการฉีดบำรุงดอกทุกๆ 5-7 วัน เพื่อให้ดอกสมบูรณ์ การติดผลก็จะสูงขึ้น และยิ่งถ้าหากเป็นช่วงที่อากาศร้อนยิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ คือจะต้องรดน้ำให้เพียงพอ เพราะถ้าหากรดน้ำไม่เพียงพอ จะทำให้ดอกร่วงง่าย
“อุปสรรคสำคัญในการปลูกฝรั่ง โดยเฉพาะฝรั่งไส้แดง ก็คือโรคและแมลง อย่างโรคเชื้อรา เพลี้ยแป้ง และแมลงหวี่ขาว ก็ต้องมีการฉีดพ่นสารป้องกันอย่างสม่ำเสมอทิ้งไม่ได้เลย ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบการปลูกฝรั่งไส้แดงกับฝรั่งกิมจูแล้ว ฝรั่งกิมจูไม่ต้องดูแลรักษามาก แต่ก็ให้ผลผลิตที่สวยได้ แต่ถ้าเป็นฝรั่งไส้แดงถ้าไม่ดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษผลผลิตก็ออกมาไม่ดี คนปลูกก็ต้องทุ่มเท ทุ่มทุน เขาก็จะตอบแทนให้เราดี”
การห่อผล หลังจากฝรั่งออกดอก เริ่มติดลูกประมาณเหรียญ 5 บาท ที่สวนจะเริ่มทำการห่อผล ด้วยการห่อถุงพลาสติกไว้ด้านในเพื่อกันแมลงวันทอง แล้วห่อด้วยกระดาษห่อผลไม้ทับอีกชั้นเพื่อให้ผิวของฝรั่งออกมาสวย โดยขั้นตอนก่อนที่จะห่อผลควรฉีดยาป้องกันเชื้อราและแมลงไว้ก่อนห่อ ถ้าหากไม่ฉีดบางครั้งเชื้อราเกิด ทำให้ผิวฝรั่งไม่สวย ลูกร่วงได้ การฉีดจึงถือเป็นวิธีป้องกันการเกิดเชื้อราเบื้องต้นได้ดี
การเก็บเกี่ยวผลผลิต หลังจากห่อผลประมาณ 60-70 วัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ฝรั่งเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ทุกฤดูและออกผลได้ตลอด เพียงแต่ต้องขยันเด็ดยอดอยู่เสมอ
“การเด็ดยอด สมมุติว่าเราเก็บผลผลิตเดือนที่ 8 ในเดือนที่ 6 เริ่มไว้ลูกห่อผล ซึ่งในช่วงจังหวะตรงนั้นจะมียอดเหลืออยู่ เราก็ต้องเด็ดยอดไปเรื่อยๆ เพื่อให้มีรุ่นพี่รุ่นน้องแตกออกมา ไม่ใช่ว่าเราห่อเดือนที่ 6 แล้วรอเก็บผลผลิตในเดือนที่ 8 อย่างเดียว เราก็จะได้ผลผลิตแค่รุ่นเดียว”
ผลผลิตของที่สวนจะเก็บทุก 7-10 วัน เก็บผลผลิตได้ประมาณ 100-200 กิโลกรัม โดยที่สวนจะใช้วิธีทำให้ผลผลิตออกน้อย เน้นมีผลผลิตให้เก็บเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าทางสวนเน้นขายตลาดออนไลน์เป็นหลัก จึงไม่จำเป็นต้องทำผลผลิตให้ออกมาทีครั้งละมากๆ แต่จะให้มีได้เก็บได้ทุกอาทิตย์ และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาผลผลิตเสียหายเพราะออกมาเยอะเกินไปเก็บขายไม่หมด
แต่ในอนาคตข้างหน้าทางสวนได้มีการวางแผนจะขยายตลาดเพิ่มนอกจากการขายออนไลน์ คือการเปิดหน้าร้านขายเพิ่มอีกหนึ่งช่องทาง และยังคงตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้เป็นลูกค้ากลุ่มที่มีกำลังซื้อ เพราะฝรั่งหงเป่าสือค่อนข้างมีราคาสูง หากคิดเฉลี่ยเป็นรายได้ต่ออาทิตย์อยู่ที่ประมาณ 20,000-30,000 บาท เป็นรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย เนื่องจากต้นทุนการปลูกฝรั่งก็สูงเช่นกัน โดยเฉพาะค่าแรงของการห่อฝรั่ง เพราะฝรั่งแต่ละลูกถ้าไม่ผ่านการห่อผลผลิตก็แทบไม่มีให้เก็บจากแมลงที่มารบกวน
อนาคตอีก 2 ปีข้างหน้า ตลาดยังสดใส
มือใหม่หัดปลูกเตรียมตัวอย่างไร
“สำหรับตลาดฝรั่งไส้แดง หงเป่าสือ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าถือว่ายังสดใส ถึงแม้ว่าราคาอาจจะไม่สูงเท่าตอนนี้ แต่จะไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 70 บาทแน่นอน และถ้าหากเกษตรกรท่านใดอยากปลูกเพื่อสร้างรายได้ก็ยังน่าสนใจ มีพื้นที่เพียง 1 ไร่ สามารถทำเป็นอาชีพหลักได้เลย ด้วยราคาของเขาที่ยังไม่ต้องพูดถึงกิโลกรัมละ 100 บาท เอาแค่กิโลกรัมละ 50 บาทก็พอแล้ว เพราะสามารถเก็บขายได้ทุกอาทิตย์ ส่วนการเตรียมตัวที่นอกเหนือจากมีพื้นที่แล้วผู้ปลูกจะต้องมีใจรักและต้องตั้งใจที่จะทำ ถัดมาพื้นที่ต้องมีความเหมาะสม มีแหล่งน้ำเพียงพอ และการลงทุนถือเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าจะให้พูดเข้าใจง่ายๆ คือถ้าเราให้เขากินอิ่มเขาก็ตอบแทนเราดี แต่ถ้าบางคนปลูกแล้วรอให้เทวดาเลี้ยงก็ได้แค่กินลูก ไม่มีผลผลิตพอให้ขาย” คุณชาญชัย กล่าวทิ้งท้าย
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 084-273-1206 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : นานาพันธุ์ by เจ๊เกียง