มันแกวบรบือ มหาสารคาม ดูพื้นๆ…แต่อร่อย สร้างงานทำเงิน

สุวนันท์ สีเทา ผู้ค้ามันแกว ริมถนนตำบลหนองสิม

             ย้อนไปในยุคเก่าก่อน ช่วงที่ตระเวนสอบเรียนต่อ และหางานทำ เดือนมีนาคม-เมษายน การเดินทางส่วนใหญ่มักได้นั่งรถแดง หมายถึงรถบัสสีแดง สีส้ม ไม่มีแอร์ อากาศร้อนอบอ้าว เหงื่อไหลไคลย้อย ดื่มน้ำเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักอิ่มจักเต็ม แต่มีอยู่ช่วงหนึ่ง ผ่านอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม นอกจากข้าวเหนียวและไก่ย่าง ที่แม่ค้ามานำเสนอให้ซื้อริมหน้าต่างรถแล้ว ยังมีมันแกว ลองซื้อชิม ปรากฏว่า อิ่มท้อง แถมความหิวกระหายเบาบางลง

              เวลาผ่านไป พบว่า มันแกวบรบือยังมีขายอยู่ แต่เขานำมาขายตามแผง ริมถนนบ้านไผ่-บรบือ มีบางส่วนที่นำมาขายริมถนนขอนแก่น-นครราชสีมา

              ไม่ได้มีการบันทึกไว้ว่าใครคือคนแรกที่นำมันแกวเข้าไปปลูกในเขตบรบือ แต่คนเฒ่าคนแก่ ตำบลหนองสิม อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม บอกว่า มีการปลูกมันแกวมานานกว่า 40 ปีแล้ว เดิมทีเขาปลูกอยู่รอยต่อระหว่างอำเภอกุดรังกับอำเภอบรบือ แต่ทุกวันนี้ บรบือปลูกมากที่สุด รวมแล้วราว 2,500 ไร่

แปลงปลูก คล้ายปลูกผัก
แปลงปลูก คล้ายปลูกผัก

               วิธีการปลูกมันแกวของชาวบ้านที่นี่ คล้ายกับการปลูกผัก คือยกร่อง แล้วนำเมล็ดมันแกว ปักหรือเหน็บลงไปที่ดิน ระหว่างแถว 15 เซนติเมตร ระหว่างต้น 5 เซนติเมตร พื้นที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 14 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 200 บาท

                พันธุ์มันแกวที่ปลูกอยู่ ซื้อเมล็ดพันธุ์มาจากจังหวัดจันทบุรี เป็น “พันธุ์เบา” นิยมปลูกกันมาก เพราะอายุการเก็บเกี่ยวหลังปลูกแค่ 130- 140 วัน มีอีกสายพันธุ์หนึ่ง หัวยาว เรียกว่า “พันธ์จันท์” ปัจจุบันไม่นิยมปลูกแล้ว เพราะอายุการเก็บเกี่ยวนาน

                 การดูแลรักษามันแกวของเกษตรกรที่นี่ เน้นภูมิปัญญาท้องถิ่น เริ่มจากใส่ปุ๋ยคอกบำรุงดิน ปุ๋ยวิทยาศาสตร์สูตร 15-15-15 ใช้เพียงน้อยนิด

                 ก่อนเก็บเกี่ยว 20 วันงดน้ำ ทำให้ได้รสชาติหวาน

                  ผลผลิตที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวได้ 3-5 ตันต่อไร่ หากนำตัวเลขกลางๆมาคำนวณ 4 ตันต่อไร่ เกษตรกรขายได้จากแปลง กิโลกรัมละ 8 บาท เท่ากับว่า 1 ไร่ ชาวบ้านมีรายได้จากการขายมันแกว 32,000 บาทต่อไร่

                   โดยภาพรวม มันแกวสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกในอำเภอบรบือไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ ปลูกมันแกวมากกว่า 2 ครั้งต่อปี เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น ดังนั้นหากคิดตัวเลขเกษตรกรปลูกอย่างน้อย 2 ครั้ง พื้นที่ปลูกจริง ต้องมากกว่า 2,500 ไร่ อย่างแน่นอน

              พื้นที่ปลูกมันแกวของเกษตรกรที่นี่ หากเป็นช่วงแล้งเขาปลูกในที่ลุ่มใกล้น้ำ ครั้นเข้าสู่ฤดูฝน ก็ย้ายขึ้นไปปลูกบนโคก ป้องกันโรคเน่า อีกทั้งดินที่แห้ง ช่วยเพิ่มความหวานให้กับมันแกว โดยที่ไม่ต้องเติมปุ๋ย

             สาเหตุที่บรบือปลูกและจำหน่ายมันแกวมายาวนาน เป็นเพราะแถบนี้เป็นดินทราย ปลูกมันแกวแล้วลงหัวเร็ว หัวมันแกวขยายได้ง่าย สำคัญที่สุดรสชาติดี

              บางฤดูกาล มันแกวบรบืออร่อยมาก จนพูดกันว่า “แอปเปิ้ลดิน”

              อาจจะมีคำถามว่า เมื่อมีรายได้ 2-3 หมื่นบาทต่อไร่ ทำไมไม่ขยายพื้นที่ปลูกให้มากๆ

              เกษตรกรเขามีประสบการณ์ ปลูกมากๆล้นตลาด ราคาเหลือกิโลกรัมละ 1-2 บาท ทุกวันนี้ เกษตรกรรายหนึ่งปลูก 1-2 ไร่

              การซื้อการขายนั้น เกษตรกรขายจากแปลงได้ 7-8 บาทต่อกิโลกรัม แม่ค้าที่แผง นำไปมัดรวมกันน้ำหนัก 2.8-3 กิโลกรัม ขาย 40 บาท เฉลี่ยแล้ว กิโลกรัมละ 14 บาท มีกำไรเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย ราคาที่แนะนำมา อาจจะมีขึ้นลงบ้าง

            ริมถนนสายบ้านไผ่-บรบือ มีผู้ค้า ออกมาขายมันแกวมากกว่า 100 แผง แต่หากเป็นช่วงเทศกาล อย่างปีใหม่ สงกรานต์ ผู้ค้าอาจจะมีมากถึง 300 แผง

              มันแกว ถือว่าเป็นผลิตผลทางการเกษตร ที่ซื้อหากันได้ทั่วไป สนนราคาไม่แพง จะซื้อกินเองหรือซื้อเป็นของฝากก็ได้ทั้งนั้น

 

              สำนักงานเกษตรอำเภอบรบือ ทำหน้าที่ดูแลเกษตรกร ถามกันได้ที่เบอร์ 043-771034