สาวอุดรฯ พลัดถิ่น สู่การเป็นเกษตรกร เจ้าของฟาร์มไก่ไข่ 7,800 ตัว ที่นอร์เวย์

ในฉบับนี้ผู้เขียนจะขอมาเล่าถึงหญิงเก่งชาวอุดรธานีท่านหนึ่ง ที่ต้องพลัดถิ่นไปเริ่มต้นใช้ชีวิตต่างแดนกับสามีชาวต่างชาติที่ประเทศนอร์เวย์ และกว่าที่พี่สาวคนนี้จะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ถือว่าต้องใช้ความอดทนและความพยายามขั้นสูง สำหรับหญิงไทยที่ต้องมาใช้ชีวิตกับคนต่างชาติ ต่างภาษา แต่เธอคนนี้ก็สู้มาจนสามารถสร้างอาณาจักรฟาร์มไก่ไข่กว่า 7,800 ตัว รวมถึงงานด้านปศุสัตว์ เลี้ยงแกะ เลี้ยงม้า ได้อย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง

พี่ใหม่ จากหญิงไทยสู่เกษตรกรเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ที่นอร์เวย์
พี่ใหม่ กับลูกชาย ลูกสาว ช่วยกันทำงานกิจการของครอบครัว

โดยพี่สาวคนเก่งท่านนี้ มีชื่อเล่นว่า “ใหม่” ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ได้แต่งงานมาเริ่มต้นสร้างครอบครัวใช้ชีวิตกับสามีชาวนอร์เวย์ ในปี 2006 อาศัยอยู่ที่เมือง Stavanger (สตาแวนเกอร์)

โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิด

ส่วนจุดเริ่มต้นการเป็นเกษตรกรที่นอร์เวย์ พี่ใหม่ เล่าให้ฟังว่า เกิดขึ้นจากก่อนที่สามีจะมาแต่งงานกับตนเอง สามีได้ซื้อฟาร์มเก่าต่อจากพ่อกับแม่ ในเดือนมกราคม ปี 2006 แล้วจึงค่อยมาแต่งงานกับตนเองในเดือนกุมภาพันธ์ในปีเดียวกัน ซึ่งหลังจากการแต่งงานก็ได้ย้ายมาอยู่กับสามีที่ประเทศนอร์เวย์ เริ่มต้นทำงานที่โรงงานเหล็ก แล้วต่อยอดเงินจากที่ตนเองและสามีทำงานประจำ มาทำคอกม้าให้คนเช่าก่อน คือจุดเริ่มต้น ส่วนฟาร์มเก่าที่ซื้อต่อจากพ่อแม่ของสามีค่อนข้างมีสภาพที่ผุพัง และเป็นฟาร์มที่ใช้เลี้ยงแกะเพียงอย่างเดียว โดยในปีแรกพ่อกับแม่ของสามียังไม่ขายแกะให้ แต่ในเวลาถัดมาไม่นานตนเองก็ได้ตั้งท้องลูกชายคนโต สามีก็ได้ถามว่า “เราจะเลี้ยงไก่ไข่กันดีไหม พอดีผมมีเพื่อนเป็นเจ้าของโรงงานไข่ เราทำส่งให้เขาได้ พี่ก็ตกลงและได้ไปกู้เงินธนาคารเพื่อมาสร้างโรงเลี้ยงไก่ไข่ และสร้างเสร็จตอนคลอดลูกชายคนโตพอดี และพ่อสามีก็ขายแกะให้พี่ในปีนั้น คือช่วงท้ายปี 2007 คือจุดเริ่มต้นและเป็นจุดเปลี่ยนที่ใหญ่มาก ทำฟาร์มเลี้ยงไก่ใหม่ คอกแกะใหม่ ทุกอย่างต้องรื้อทำใหม่ทั้งหมด”

เก็บไข่ได้วันละ 7,200-7,300 ฟอง
เลี้ยงแกะเนื้อจำนวน 98 ตัว

จัดการฟาร์มอย่างไร
ให้สามารถเลี้ยงไก่-แกะ-ม้า
จำนวนมากได้อย่างลงตัว

สำหรับการจัดการฟาร์มในต่างประเทศ พี่ใหม่ บอกว่า ที่ฟาร์มของตนเองเลี้ยงไก่ไข่จำนวน 7,800 ตัว เลี้ยงแกะเนื้อแม่พันธุ์จำนวน 98 ตัว มีพ่อพันธุ์ 4 ตัว รวมถึงการรับจ้างเลี้ยงม้าให้กับคนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงจำนวน 12 ตัว เนื่องจากเจ้าของม้าไม่มีที่เลี้ยง ตนเองแค่ดูแลให้อาหารและทำความสะอาดคอกม้า

ช่วงหน้าร้อนแกะและม้าอยู่ข้างนอก ปล่อยขึ้นเขา

ในช่วงฤดูร้อนจะปลูกหญ้าไว้ให้แกะและม้าได้มากิน และทำหญ้าแห้งไว้ขาย ใน 2 รูปแบบ คือแบบอัดเป็นก้อนกลมๆ ขนาดใหญ่ ซีลด้วยพลาสติก และแบบแห้งแพ็กขายเป็นก้อนสี่เหลี่ยม

หลังเลิกงานและเลิกเรียน ลุยงานกันต่อ
ลูกชาย ลูกสาว และสามี ช่วยกันทำงานอย่างแข็งขัน

โดยมีเนื้อที่ปลูกหญ้าประมาณ 100 ไร่ ในช่วงหน้าร้อนก็จะปล่อยให้แกะขึ้นเขาไปกินหญ้าบนเขา บนเนื้อที่ประมาณ 220 ไร่ แบ่งออกเป็น 3 โซน เพื่อเปลี่ยนให้แกะและม้ากินสลับกันไป และในช่วงตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤษภาคมของทุกปี แกะและม้าจะอยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยเดิมเพื่อได้รับการดูแลอย่างดีต่อไป

บริเวณบ้านและฟาร์ม
ฟาร์มเลี้ยงไก่ หลังคาสีแดง

ปัจจุบัน สามีจะทำงานที่ฟาร์มเป็นหลัก มีคนงานคอยช่วยอยู่ 2 คน ส่วนตนเองจะทำงานที่โรงงานเพื่อที่จะได้เงินจากงานประจำมาใช้จ่ายในครอบครัว และสะสมเงินเสียภาษีไว้สำหรับตอนเกษียณอายุจะได้มีเงินมาไว้ใช้ในยามแก่ชรา

ทุ่งหญ้าที่ปลูกบริเวณบ้านเพื่อเก็บไว้ให้สัตว์ในช่วงหน้าหนาวและขาย
ตัดหญ้าที่ปลูกไว้เตรียมอัดเป็นก้อนขาย

ส่วนขั้นตอนในการเลี้ยงไก่ไข่ 7,800 ตัวอย่างไรให้ทั่วถึง ที่ฟาร์มจะเลี้ยงในโรงปิด เน้นใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการควบคุม ทั้งในส่วนของอุณหภูมิ การให้อาหาร ให้น้ำ ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด หากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นภายในฟาร์ม ระบบจะโทร.แจ้งมาหาเจ้าของในทันที

อัดหญ้าเป็นก้อนด้วยเครื่องอัดหญ้า
กำลังขนส่งออกจากฟาร์ม

และในส่วนของการเก็บไข่จะใช้ระบบเปิดสายพานให้ไข่ไหลออกมาจากโรงเลี้ยงไก่ คนเก็บยืนรอเก็บอยู่ข้างนอกฟาร์ม ใช้เวลาเก็บวันละ 2 ชั่วโมง เก็บไข่ได้วันละ 7,200-7,300 ฟอง จะมีคนมารับสัปดาห์ละครั้ง อีกทั้งส่วนของขี้ไก่ ขี้แกะ และขี้ม้า จะนำไปหว่านเป็นปุ๋ยให้กับหญ้าเพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี

รับจ้างเลี้ยงม้า
ต้อนฝูงแกะออกมากินหญ้า

ข้อดี-ข้อเสีย ในการทำปศุสัตว์ที่ต่างประเทศ

ข้อดี

  1. รัฐบาลจะมีเงินช่วยจ้างคนงานให้ และสามารถทำประกันภัยได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ บ้าน รถ เครื่องจักรกลการเกษตร ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นเรามีประกันภัย และเกษตรกรหมู่บ้านที่ตนเองอยู่จะมีการจับกลุ่มเพื่อประชุมปรึกษาหารือกันทุกเดือน
  2. ด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปไกล ที่นี่จะใช้เครื่องจักรมากกว่าแรงงานคน เช่น หว่านปุ๋ย จะมีเครื่องหว่าน แยกออกเป็นประเภทชัดเจน เช่น หว่านปุ๋ยคอก อย่างขี้ไก่ ขี้ม้า ก็จะมีเครื่องหว่านต่างหาก ส่วนปุ๋ยขี้แกะ ขี้วัว ที่ทำเป็นน้ำก็มีเครื่องให้ปุ๋ยอีกอย่าง ที่ฟาร์มก็จะมีเครื่องหว่านปุ๋ยทั้ง 3 เครื่อง รวมถึงเครื่องตัดหญ้า เครื่องแพ็กหญ้า และเครื่องมืออุปกรณ์การเกษตรอื่นๆ อีกมากมาย

ข้อเสีย

  1. อุปสรรคทางด้านสภาพอากาศที่หนาวมาก ที่นี่ดินดี น้ำดี แต่ไม่สามารถปลูกพืชผักผลไม้ได้ตลอดทั้งปีเหมือนที่ประเทศไทย เนื่องด้วยอากาศที่หนาวเย็นจัด ประกอบกับค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าปุ๋ย ค่าน้ำมัน และค่าหัวอาหารสัตว์มีราคาแพง ทำให้มีหลายๆ ฟาร์มเริ่มทยอยปิดตัวลงเพราะรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว ทำงานแล้วเหนื่อยฟรี ปัญหาไม่ต่างจากที่ประเทศไทยสักเท่าไหร่
  2. ปัญหาของการป้องกันกำจัดโรคที่ต้องระวัง เพราะกฎหมายของที่ประเทศนอร์เวย์จะเข้มงวดมากๆ ต้องปฏิบัติตามกฎที่ตั้งไว้อย่างเคร่งครัด โดยจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจมาตรฐานความสะอาด ความปลอดภัย รวมถึงการเป็นอยู่ของสัตว์ว่ากินดีอยู่ดีไหม มีการทรมานสัตว์หรือฆ่าสัตว์เองหรือไม่ในทุกปี
  3. ไก่ที่เลี้ยงเมื่อครบกำหนดปลดระวางไม่สามารถนำไปขายเป็นไก่เนื้อได้ โดยที่ฟาร์มจะซื้อไก่สาวที่พร้อมไข่มาเลี้ยง ไก่จะอยู่ได้ประมาณ 15 เดือน เมื่อถึงกำหนดการปลดระวางต้องกำจัดแม่ไก่ทิ้งห้ามขายเด็ดขาด เนื่องจากตามกฎของที่นี่ห้ามขายไก่หรืออาหารที่ไม่ผ่าน อย. แต่ที่เมืองไทยเมื่อไก่ครบอายุปลดระวางแล้วสามารถขายแม่ไก่ได้เป็นเงินกลับคืนมา แต่ทางนี้ต้องเสียเงินเพื่อจ้างในการนำไก่ไปทิ้ง ซึ่งข้อตรงนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าที่ประเทศไทยดีกว่า ประกอบกับสภาพอากาศและภูมิประเทศที่ได้เปรียบ สามารถปลูกพืชผักได้ตลอดทั้งปี แต่ที่นอร์เวย์ปลูกผักผลไม้ได้แค่ระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงหน้าร้อนแค่นั้น พี่ใหม่ กล่าวทิ้งท้าย
พี่ใหม่ในบทบาทการทำงานประจำ
แกะ ต้องหยอดยาฆ่าพยาธิทุกเดือนก่อนส่งโรงงาน

หากท่านใดสนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทำปศุสัตว์กับพี่ใหม่ สามารถติดต่อได้ที่เฟซบุ๊ก : ชาวนา นอร์เวย์ และสามารถรับชมวิถีชีวิตเกษตรกรของพี่ใหม่ได้ที่ช่องยูทูป : ชาวนา นอร์เวย์