ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | วิภารัตน์ มาลัยเล็ก |
เผยแพร่ |
การทำเกษตรแบบผสมผสาน ไม่มีคำจำกัดความ ไม่มีกติกา หรือกฎตายตัวว่าต้องเป็นพืชชนิดใด เลี้ยงสัตว์ชนิดใด ทั้งนี้ เพราะแต่ละพื้นที่และท้องถิ่นมีสภาพทางธรรมชาติที่แตกต่างกัน การผสมผสาน ขอให้ยึดหลัก สร้างความร่มรื่นให้พืชหลายชนิดที่ปลูกอยู่ในพื้นที่เดียวกัน มีการเกื้อกูลกันทางธรรมชาติให้มากที่สุด และสำคัญที่สุดคือผู้ปลูกต้องได้ประโยชน์มากที่สุด แล้วยังสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
โดย คุณสุดชดา สุดสิริ บ้านเลขที่ 17/3 หมู่ที่ 6 ตำบลนาท่ามใต้ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เป็นอีกท่านหนึ่งที่สนใจการทำเกษตรผสมผสานพึ่งพาตนเองที่ยั่งยืน แล้วตั้งใจเดินตามแนวทางนี้
เลือกมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพราะทำด้วยใจรัก ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ทำตามความฝันของตนเองและสามี เพื่อเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายของครอบครัว เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้ตนเองและชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรที่สนใจและสมาชิกในกลุ่ม นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสมาชิกต่อไป เพื่อแบ่งปันผลผลิตที่ได้ให้เพื่อนบ้าน มีความรัก มีความสามัคคี ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และเพื่อได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัยไร้สารพิษ
การจัดสรรแบ่งพื้นที่การเกษตร
ด้านพืชผัก ปลูกไม้ 5 ระดับ ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
- ไม้ใช้สอย นำมาสร้างบ้าน ทำคอกสัตว์
- ไม้กินได้ นำมาเป็นอาหารและยาสมุนไพร เช่น ทุเรียน เงาะ ขนุน มะม่วง กล้วย มะนาว ข่า อ้อย มะพร้าว ไผ่ พริก มะเขือ ตะไคร้ ผักกินใบต่างๆ
- ไม้เศรษฐกิจ นำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ เช่น สักทอง พะยูง มะฮอกกานี
ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งเป็นการปลูกพืชที่หลากหลายจะสร้างระบบนิเวศที่สมดุลให้กับพื้นที่
ด้านปศุสัตว์ เลี้ยงเป็ด ไก่ไข่ ห่าน
ด้านประมง มีการเลี้ยงปลาน้ำจืดหลายชนิด เช่น ปลานิล ปลาทับทิม ปลาหมอ ปลาช่อน ปลากด ปลาบึก ปลาบ้า ปลาดุก ปลาไหล
เทคนิคในการปลูกพืช
- ก่อนปลูกต้องรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 เล็กน้อย
- ก่อนปลูกไม้ผล รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักผสมเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ในอัตราส่วนเชื้อสด 1 กิโลกรัม ผสมปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม และรำข้าว 4 กิโลกรัม หรือถ้าพันธุ์มีรากออกมายาวก็ให้ตัดแต่งรากทิ้งก่อน แล้วจึงนำต้นพันธุ์มาลงหลุม หากไม่ตัดรากที่ยาวทิ้งก่อนเวลาเราปลูกรากจะม้วนอยู่ในหลุม ทำให้ต้นไม้ไม่เจริญเติบโตและจะตายในที่สุด
ผลผลิตที่ได้
มีรายได้จากการขายไข่เป็ด ไก่ไข่ ปลา ผักกินใบต่างๆ ปลาแปรรูป หน่อไม้สด หน่อไม้ดอง กล้วย และพริกขี้หนู
วิธีการการเพิ่มผลผลิต
- การผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าใช้ป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ ช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดพันธุ์ ป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อราและช่วยยับยั้งการเกิดเชื้อราในดิน ป้องกันโรคแอนแทรกโนส (โรคกุ้งแห้ง) ในพริกขี้หนู
- การทำน้ำหมักจากปลาทะเล ช่วยให้ต้นไม้มีภูมิต้านทานโรคได้ดี ช่วยปรับให้เป็นกรด-ด่างที่เหมาะสม ช่วยให้การเจริญเติบโตของพืช ลูกดก ขั้วเหนียว
- น้ำหมักจากหน่อกล้วย ช่วยในเรื่องของการปรับสภาพดินให้ร่วนซุย พืชเจริญเติบโตได้ดี ช่วยดับกลิ่นของมูลสัตว์ ปรับสภาพน้ำในบ่อปลา ทำให้เจริญเติบโตดี อัตราการตายน้อยลง
- น้ำหมักชีวภาพสารเร่งดอก โดยทำจากผักสีเหลือง เช่น มะละกอ กล้วย ฟักทอง ช่วยให้ติดดอกเพิ่มการแตกยอดและขั้วเหนียว
- น้ำหมักจากหัวปลี ช่วยเรื่องการหลุดร่วงของดอกและผลผลิตที่เพิ่มขึ้น
การเพาะเลี้ยงแหนแดง
เลี้ยงในกระชังบกและบ่อพลาสติก ใช้มูลวัวใส่ลงไปเพื่อเป็นอาหารให้แหนแดง ซึ่งจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตของแหนแดงเร็วขึ้น
สามารถนำมาผสมกับอาหารสัตว์ใช้เลี้ยงเป็ด ไก่ ปลา ในอัตราส่วน 1 : 1 ช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงได้มาก มีโปรตีนสูง ถ้า
นำไปเลี้ยงปลาไม่ต้องผสมอาหาร ปลาจะโตเร็ว ถ้ามีเยอะนำไปใส่ต้นไม้ที่ปลูกเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดได้
การทำกิจกรรมเกษตรผสมผสานบนพื้นที่ 3 ไร่ สามารถลดรายจ่ายและสามารถสร้างรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 8,000-10,000 บาท
สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตรัง โทร. 089-871-6304 หรือติดต่อ คุณสุดชดา สุดสิริ โทรศัพท์ 095-350-6831
……………………………………………………
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2565