ไขข้อข้องใจ ระกำ กับ สะละ ต่างกันตรงไหน?

ระกำ กับ สะละ จัดอยู่ในวงศ์ปาล์มเหมือนกัน พืชทั้งสองมีรูปร่างลักษณะลำต้นและผลคล้ายกันมาก จนเป็นเรื่องยากที่จะแยกแยะออกจากกันได้ อีกทั้งแหล่งปลูกอยู่ในบริเวณที่ลุ่ม ฝนตกชุก แถบจังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด อาจมีปลูกบ้างที่ภาคใต้บางจังหวัด ความเหมือนอีกประการหนึ่งคือพืชทั้งสองแยกเพศกันอยู่คนละต้น จึงมีต้นเพศผู้กับต้นเพศเมีย กรณีที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด จะได้ต้นเพศผู้ 50-70 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การขยายพันธุ์จึงต้องใช้แยกหน่อ หรือนำต้นที่อายุมากแล้วนำมาตัดเป็นท่อน ยาวท่อนละ 30 เซนติเมตร นำไปชำในวัสดุเพาะชำ ต้นที่ได้ก็จะเหมือนต้นแม่ทุกประการ พันธุ์ระกำไม่มีบันทึกไว้ว่ามีกี่พันธุ์ สะละหม้อ สะละเนินวง และสะละพันธุ์สุมาลี ส่วนความแตกต่างที่มองเห็นได้ชัดเจนคือ ระกำ ใน 1 ผล มี 4 เมล็ด หรือ 4 พู แต่สะละใน 1 ผล มี 2 เมล็ด หรือ 2 พู อาจพบว่ามี 3 พู แต่พูที่ 3 มักลีบหรือฝ่อไปไม่สมบูรณ์

มักมีคำถามเสมอว่า การนำเอาละอองเกสรเพศผู้ของระกำไปผสมกับเกสรเพศเมียของสะละ ผลที่ได้คุณภาพของผลสะละจะแปรเปลี่ยนไปหรือไม่ คำตอบคือผลของสะละที่เกิดจากการผสมข้ามที่ได้จะเหมือนกับต้นแม่ทุกประการ ไม่มีเปลี่ยนแปลง เป็นไปตามทฤษฎีอิทธิพลของแม่ หรือภาษาวิทยาศาสตร์ เรียกว่า ซินเนียร์ เอฟเฟ็ก แต่เมื่อใดถ้าหากนำเมล็ดที่ได้หลังรับประทานเนื้อไปหมดแล้วไปปลูก ต้นลูกที่ได้จะมีการกระจายตัว อัตรา 1 : 2 : 1 หมายถึง 1 ส่วน เหมือนพ่อ 1 ส่วน เหมือนแม่ และอีก 2 ส่วน จะอยู่ระหว่างกลางของพ่อและแม่ เป็นไปตามทฤษฎีของเมนเดลทุกประการ