วิธีการจัดการน้ำเค็ม เพื่อการเกษตร

คันกั้นน้ำเค็ม ที่สร้างจากภูมิปัญญาชาวบ้าน

กำนันเกรียงศักดิ์ ชิตเจริญ อยู่บ้านเลขที่ 9/2 หมู่ที่ 1 ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ได้มีวิธีการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรด้วยการลงมือทำด้วยตนเอง เพราะพื้นที่บริเวณนี้คนทั่วไปมองว่าไม่สามารถปลูกพืชผลทางการเกษตรได้

กำนันเกรียงศักดิ์ เล่าว่า เนื่องจากสมัยก่อนพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นที่รกร้างมาก่อน จึงได้ขอเช่าจากเจ้าของที่ดินเพื่อมาใช้ประโยชน์ทำการเกษตรสร้างรายได้

“พื้นที่บริเวณนี้มันปลูกอะไรไม่ค่อยได้ เพราะว่าน้ำเค็มมันมา ผมก็เลยอยากจะลองทำเกษตร กักน้ำจืดไว้ใช้เพื่อสู้กับน้ำเค็ม เพราะหลัง 2 ปีมานี่ เราวิกฤตเรื่องน้ำ พอน้ำมาน้อย น้ำทะเลมันก็จะหนุนมา ทำให้พื้นที่แถวนี้กลายเป็นมีน้ำเค็ม 10 เดือน น้ำจืด 2 เดือน ซึ่งก็ถือว่าเป็นผลดีอีกอย่างกับผลไม้บางชนิด เพราะปลูกที่นี่จะมีรสชาติที่หวาน อย่างเช่น มะม่วง กล้วยหอม” กำนันเกรียงศักดิ์ กล่าว

 

สังเกตน้ำเค็มจะหนุนมา

สังเกตได้จากสัตว์น้ำตามธรรมชาติ

กำนันเกรียงศักดิ์ บอกว่า วิธีที่จะรู้ได้ดีที่สุดเวลาที่น้ำเค็มจะเข้ามาในพื้นที่ สังเกตจากปลาเสือที่ว่ายน้ำเข้ามาในพื้นที่เพื่อมาอยู่ในบริเวณน้ำจืด ก็จะเตรียมขังน้ำไว้ โดยปิดที่กันที่มีลักษณะคล้ายฝาย เพื่อกักน้ำจืดไว้ในสวนไม่ให้ออกจากล่องสวนไป

“ผมก็เอาต้นมะพร้าวที่ตายๆ ขุดมา แล้วมาวางเรียงกัน จากนั้นปักหลักลงไป ส่วนข้างใต้เราก็วางท่อตรงข้างล่างฝายเพื่อใช้สำหรับไว้เติมเวลาที่น้ำจืดมา เราจะได้มีน้ำเข้ามาภายในสวน จากนั้นเราก็ใส่ดินเป็นคันกั้นขึ้นมาเรื่อยๆ ดินยุบเราก็ใส่ใหม่เรื่อยๆ อย่าให้ต่ำกว่าระดับน้ำเค็ม เพื่อที่น้ำเค็มจะได้ไม่เข้ามาในพื้นที่น้ำจืดของเรา เราจะได้นำมารดน้ำต้นไม้ที่เราปลูกได้” กำนันเกรียงศักดิ์ กล่าว

1463381026

น้ำ นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ

ทุกสิ่งบนโลกนี้ขาดน้ำไม่ได้

จากความสำเร็จที่ได้ลงมือให้พื้นที่ที่ดูเหมือนไม่น่าจะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ ณ เวลานี้ กลับประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจสำหรับกำนันเกรียงศักดิ์ที่ได้ทดลองทำในวิธีนี้

“การเกษตรทุกอย่างจริงๆ มันไม่ยากนะ ขอให้มีน้ำอย่างเดียว เพราะถ้าเรามีน้ำไม่ว่าจะทำอะไร มันก็ได้หมด แต่ถ้าไม่มีน้ำนี่สิ ทุกอย่างมันจบหมด ตอนนี้พื้นที่ผมก็ปลูกทั้งพริกขี้หนู ถั่วฝักยาว ก็ได้ผลผลิตพอจำหน่ายได้ เพราะเก็บผลผลิตได้เร็วด้วย ใครสนใจก็ลองเอาไปทำดู” กำนันเกรียงศักดิ์ กล่าว

ซึ่งปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้สามารถปลูกไม้ผลได้หลากหลาย รวมทั้งพืชผักสวนครัว เป็นการสร้างรายได้ให้กับกำนันเกรียงศักดิ์ได้เป็นอย่างดี

 

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กำนันเกรียงศักดิ์ ชิตเจริญ หมายเลขโทรศัพท์ (086) 072-7753