“บ้านสวนซะป๊ะพะเยา” แนวทางใหม่ของคนหนุ่ม

สวนซะป๊ะ คือผืนดินอุดมสมบูรณ์ ใต้ร่มเงาผืนป่าต้นน้ำดอยหลวง มีสายน้ำแม่กาหลวงไหลผ่านสามารถเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ตลอดปี คุณชวฤทธิ์ งามจิตร์ เจ้าของสวน อดีตเป็นพนักงานดีเด่น ตำแหน่งหัวหน้างานโรงงานอุตสาหกรรม เขากำลังนั่งพรวนดิน ทดลองสูตรปุ๋ยอินทรีย์ อยู่ในโรงเรือนระบบปิดของบ้านสวนซะป๊ะ ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ประเทศไทย ที่นี่มีผลผลิตทางการเกษตรปลอดสารพิษ จัดจำหน่ายให้ร้านอาหารหลายแห่งในพะเยา พวกเขาซื้อขายพืชผักผลไม้อินทรีย์ทางโซเชียลมีเดียเป็นหลัก นับเป็นมิติใหม่ทางการเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย

คุณชวฤทธิ์ งามจิตว์

พนักงานดีเด่นของบริษัทอุตสาหกรรมยานยนต์ คุณชวฤทธิ์ เล่าว่า เรียนช่างกลโรงงาน เพราะไม่ชอบทำการเกษตร ตอนเด็กมองเห็นพ่อแม่ลำบาก ทำไร่ข้าวโพดกลางแดดร้อน เขาจึงเลือกเป็นมนุษย์เงินเดือน สมัครทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งหนึ่งที่จังหวัดระยอง ทุ่มเททำงาน จนได้รับรางวัลพนักงานดีเด่นของบริษัท มีโอกาสศึกษาต่อและดูงานต่างประเทศ ได้รับโอกาสเลื่อนเป็นหัวหน้างานดูแลในส่วนของสายงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรโรงงานอุตสาหกรรม (PM) แต่เบื้องลึกในใจยังไม่พบความต้องการของตัวเองอย่างแท้จริง เขาอยากมีชีวิตเป็นส่วนตัว จึงลาออกมาช่วยภรรยาขายอาหาร แต่ชีวิตยังคงเร่งรีบเหมือนเดิม ยังอยากมีชีวิตเป็นของตัวเอง อยากมีอิสระทางความคิด อยากทดลองและออกแบบสิ่งใหม่ จึงปรึกษากับภรรยา พวกเราจึงเลือกทำงานเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิดจังหวัดพะเยา

จึงพบคำตอบของชีวิต เริ่มศึกษาการเกษตรอย่างจริงจัง ค้นหาข้อมูลแหล่งเรียนรู้งานเกษตรกรรมสมัยใหม่ สมัครเข้ารับการอบรมการทำเกษตรอินทรีย์ เรียนรู้การปลูกผัก เรียนการทำน้ำหมักชีวภาพ ภายใต้แนวคิดการทำกสิกรรมไร้สารพิษ เดินทางจากจังหวัดระยองมาอบรมกรุงเทพฯ บ่อยครั้ง เรียนกับ อาจารย์ธงชนะ พรหมมิ หลังจากนั้นเริ่มค้นหาวัตถุดิบเพื่อทำน้ำหมักชีวภาพ เตรียมตัวค่อนข้างดี ก่อนเริ่มทำการเกษตรอินทรีย์บนเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ในบ้านเกิดที่ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ตั้งชื่อสวนแห่งนี้ว่า “บ้านสวนซะป๊ะพะเยา”

คุณชวฤทธิ์ เล่าต่อว่า โชคดีที่ครอบครัวมีพื้นฐานด้านการเกษตร มีทรัพย์สินเป็นที่ดินของครอบครัวเป็นต้นทุน ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ในการทำการเกษตรทั้งหมด ตอนเดินทางกลับบ้าน มีน้ำหมักชีวภาพสำหรับทำการเกษตรอินทรีย์จำนวนมาก สิ่งสำคัญคือกระบวนการหมักของน้ำหมัก จะมีการปลดปล่อยธาตุอาหารที่แตกต่างกัน เขาทำน้ำหมักตั้งแต่ตอนทำงานอยู่โรงงานอุตสาหกรรมที่ระยอง เริ่มทำการเกษตรอย่างจริงจัง เริ่มจากการทำปุ๋ย ทดลองสูตรปุ๋ยหมักแต่ละสูตร มีโจทย์สำหรับการทำงานว่า ทำอย่างไรให้พืชผักทุกชนิดเติบโตดี มีผลผลิตดี เก็บรักษาได้นาน ปลอดภัยกับผู้บริโภค

เกษตรอินทรีย์ตอบโจทย์ความต้องการของคนสมัยใหม่ เขาคิดว่าเกษตรอินทรีย์ตอบโจทย์ทางธุรกิจ ขายผักสลัดกิโลกรัมละ 120 บาท กำหนดราคาขายปลีก กำหนดราคาขายส่ง ตามจำนวนที่ลูกค้าสั่งซื้อ การกำหนดราคาผลผลิตเกษตรอินทรีย์ เป็นไปตามค่าใช้จ่ายในขั้นตอนการดูแลเป็นพิเศษ เป็นการรักษามาตรฐานราคาผักสลัดอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองมาตรจาก SDGsPGS หากกำหนดราคาตามตลาด คนทำเกษตรอินทรีย์ก็คงหันไปทำเกษตรกรรมแบบเดิม คือการใช้ยาฆ่าแมลง ใช้สารเคมี เขาปลูกผักราคาสูงแต่ขายได้ทั้งปี การปลูกผักสลัดเป็นโจทย์ค่อนข้างยากเพราะอากาศบ้านเราเปลี่ยนแปลงบ่อย แสงแดดแรงหรือน้อยเกินไปทำให้ผักสลัดเสียรูปทรงได้ง่าย จำเป็นต้องมีเทคนิคการดู ไม่ว่าจะเป็นการใส่ปุ๋ยอินทรีย์และการให้น้ำ

เทคนิคเหล่านี้เขาได้เรียนรู้ผ่าน “เกษตรสุขกลางกรุง” ซึ่งถือเป็นอาจารย์คนสำคัญ ผู้บริโภคบ้านเรามีความต้องการเกษตรอินทรีย์จำนวนมาก เราจะต้องพัฒนาตัวเองให้สามารถปลูกผักให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ทดลองทำแปลงปลูกผักยกสูงเพื่อแก้ปัญหาวัชพืช เริ่มทำโรงเรือนระบบปิดแก้ปัญหาเรื่องแมลง พื้นที่โรงเรือนประมาณ 1 งาน ต้องบริหารจัดการปลูกพืชให้ได้ผลผลิตตามจำนวน มีวิธีการปลูกเป็นลำดับตามแปลงก่อนหลัง เพื่อให้มีผลผลิตป้อนสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เขาคิดว่า การทำการเกษตรยุคสมัยใหม่ โรงเรือนมีความจำเป็นเพราะเราต้องการควบคุมคุณภาพผัก มีบทเรียนสำหรับการเพาะปลูก เขากำลังจะเก็บผักสลัดขายในวันรุ่งขึ้น พอถึงช่วงเย็นของวันนี้ ฝนตกหนัก ผักสลัดใบแตกเสียหายเก็บเกี่ยวขายไม่ได้ นั่นคือข้อเสียของระบบเปิด

ตลาดขายผักยุคสมัยใหม่คือโซเชียลมีเดีย เราควรสร้างเรื่องราวในกิจกรรมการเพาะปลูกของเราให้ลูกค้าได้รับรู้ จึงจะเกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการเพาะปลูกแบบอินทรีย์ เมื่อผักเติบโตพอเก็บเกี่ยว เขาจะโพสต์คำเสนอขายกับรูปผักลงโซเชียล หลังจากนั้นจะมีคนสั่งซื้อทำให้สามารถขายผักได้ตลอด ตอนเริ่มทำการเกษตร เขาคิดจะหิ้วผักไปเสนอขายตามร้านอาหาร เขาบอกว่าไม่อายเพราะคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว แต่สุดท้าย ร้านอาหารกลับติดต่อซื้อผักผ่านโซเชียล เลยคิดได้ว่าความต้องการผักปลอดสารพิษของคนในโซเชียลมีเยอะมาก การโฆษณาสินค้าผ่านโซเชียลมันมีรูปแบบการโฆษณาของมัน สิ่งสำคัญคือการทำผลผลิตทางการเกษตรให้เติบโต ทำการเกษตรให้เป็นไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่ทำปุ๋ยอินทรีย์ ทำน้ำหมัก ดูแลผัก เก็บเกี่ยวผลผลิต

มหาวิทยาลัยพะเยา คือแหล่งนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ การทำงานด้านการเกษตรต้องมีความรู้ความเข้าใจ เพราะถ้าขาดความรู้เราจะแก้ปัญหาด้วยตนเองไม่ได้ เช่น พืชของเราป่วยควรรักษาอย่างไร วัชพืชจำนวนมากควรจัดการแก้ปัญหาแบบไหน หากไม่มีความรู้เรื่องปุ๋ย เรื่องธาตุ N P K และดิน เราก็จะกลับไปสู่วังวนของปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง เมื่อพืชผักไม่อุดมสมบูรณ์ เราจะหมดศรัทธาในเกษตรอินทรีย์ บางคนมีข้ออ้างสำหรับความล้มเหลว เช่น ดินไม่ดี เราปลูกผักเติบโตบนดินได้เกือบทุกประเภทเพราะดินคือสถานที่ยึดเกาะรากพืช ดินเหมือนจานข้าวที่เราต้องเติมอาหาร (อินทรียวัตถุ) ต่อมาเรื่องน้ำหมักชีวภาพควรจะผลิตอย่างไร ใช้ระยะเวลาในการหมักนานเท่าไหร่ ใช้น้ำหมักชีวภาพอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

คุณชวฤทธิ์ได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยพะเยา เรื่องการวิจัยและการรับรองมาตรฐานผ่านห้องปฏิบัติการ โดยส่วนตัวเขาชอบทดลองงานด้านการเกษตร เมื่อเข้าสู่ระบบการวิจัยก็จะมีผลและมีการจดบันทึกอย่างเป็นระบบ ปัจจุบันเขาทดลองวิจัยการปลูกผักปลอดปรสิต เป็นงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ และทำงานวิจัยเรื่องเกษตรอินทรีย์กับคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสมาชิกของสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา

ภายใต้การบริหารจัดการของ ผศ.น.สพ.สมชาติ ธนะ ผศ.ดร.วาสนา พิทักษ์พล ผศ.ดร.บังอร สวัสดิ์สุข และทีมวิจัย ซึ่งเขาฝากขอบคุณมา ณ ที่นี้ ที่ช่วยผลักดันและชี้แนะแนวทางการเกษตรที่ถูกต้อง ตอนนี้เขาบอกว่ามีชีวิตเป็นอิสระ สามารถใช้ความคิด ออกแบบชีวิต ออกแบบการทำงาน เปลี่ยนแปลงรูปแบบได้ตามความเหมาะสม มีชีวิตพอเพียง มีผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ มีสายน้ำแม่กาหลวงเป็นแหล่งน้ำทำการเกษตรได้ตลอดปี ผืนดินเพาะปลูกล้อมรอบด้วยภูเขา มองออกไปเห็นดอยหลวงซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ มีชีวิตที่ดี เริ่มทำงานตั้งแต่ช่วงเช้า ช่วงบ่ายแดดร้อนก็ทำงานในร่มเพาะกล้าผัก ช่วงเย็นแดดร่มเริ่มทำงานในโรงเรือน ตะวันลับหลังดอยหลวงก็เริ่มเปิดไฟ เปิดเพลงฟัง ทำงานอยู่กับภรรยาในโรงเรือนถึงเวลา 3 ทุ่ม “บ้านสวนซะป๊ะพะเยา” ไม่เคยเงียบเหงาและเราพร้อมเปิดรับผู้มาเยี่ยมชมเสมอ