เกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ปลูกข้าวอินทรีย์และทำสวนเกษตรผสมแบบพอเพียง

ขุดบ่อรับน้ำ ส่วนรอบบ่อปลูกหญ้าแฝกและไม้ยืนต้นเป็นแนวกั้น

อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ เป็นอีกหนึ่งแห่งของพื้นที่อีสานใต้ซึ่งในอดีตมีความแห้งแล้งขาดแหล่งน้ำ ไม่มีต้นไม้ มีแต่หญ้าขึ้นสูงเต็มไปหมด ส่วนดินก็เป็นดินปนทราย พอเข้าหน้าฝนน้ำจะท่วมทุ่งทุกปี ใต้ผืนดินลงไปเป็นดินเค็ม น้ำที่สูบขึ้นมาก็เป็นน้ำเค็ม ยากแก่การปลูกพืชชนิดใดได้สำเร็จ สภาพเช่นนี้จึงได้ชื่อว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้”

ภายหลังที่หน่วยงานต่างๆ ระดมเข้าให้ความช่วยเหลือ ด้วยการสร้างถนน สร้างอ่างเก็บน้ำ ขุดคลองซอยจำนวนหลายแห่งให้เชื่อมกัน พร้อมกับจัดการผันน้ำที่มีปริมาณมากในฤดูฝนเข้าสู่ทุกพื้นที่ ขณะเดียวกันกับความมุ่งมั่น บากบั่น และอดทนของชาวบ้านในพื้นที่แต่ละแห่งที่ต่างช่วยกันจนสามารถพลิกผืนดินที่ไร้ประโยชน์ให้กลับมาเกิดความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้สภาพทุ่งกุลาฯ ในตอนนี้ไม่ต้องร้องไห้อีกต่อไป

 

ปลูกข้าวใช้สารเคมี ไม่เคยมีเงินเหลือเลย

ครอบครัวอินทร์สำราญ ที่ประกอบไปด้วย คุณสิทธิ์ และ คุณรำพึง พร้อมบุตรชายอีกคน ได้ผจญกับความเดือดร้อนทุกข์ยากเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่ต้องการเอาชนะธรรมชาติแทนการนิ่งเฉย จึงทำให้พวกเขานำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วลงมือทำนาอินทรีย์ ควบคู่ไปกับการทำสวนเกษตรผสมผสาน เมื่อปี 2550 จนกระทั่งประสบความสำเร็จได้รับคัดเลือกจากกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็น “เกษตรกรปราดเปรื่องด้านข้าว”

คุณรำพึง และ คุณสิทธิ์ อินทร์สำราญ
คุณรำพึง และ คุณสิทธิ์ อินทร์สำราญ

คุณสิทธิ์ เล่าว่า ตอนแรกทำนาอย่างเดียว โดยใช้สารเคมี พร้อมกับมีอาชีพเป็นพ่อค้าขายเฟอร์นิเจอร์ไปด้วย พอทำไปได้สักพัก พบว่า การทำนาเคมีไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ อีกทั้งยิ่งทำยิ่งมีหนี้สินเพิ่มและเก็บเงินไม่ได้เลย จากนั้นจึงหยุด แล้วศึกษาการปลูกข้าวแบบอินทรีย์ ด้วยการขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานราชการ พร้อมไปกับได้เข้าอบรมเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ แล้วมีโอกาสไปดูงานตามสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง

แบ่งที่ 2 งาน ทำนาอินทรีย์ ไม่นานมีเงินเก็บเฉียดหมื่น

เมื่อคิดว่าตัวเองเข้าใจลึกซึ้งระดับหนึ่ง แล้วจับหลักของการทำเกษตรอินทรีย์ได้ชัดเจน จึงลงมือทดลองทำทั้งการปลูกข้าวและปลูกพืชชนิดอื่นแบบผสมผสาน ในพื้นที่ จำนวน 2 งานก่อน มีทั้งปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ โดยใช้เวลาลองผิด/ถูกกับแปลงเรียนรู้นี้ เป็นเวลา 5 ปี ระหว่างทดลองทำได้ให้คุณรำพึงทำบัญชีรับ-จ่าย เพื่อเก็บตัวเลขควบคู่ไปด้วย

ผลที่ตามมาปรากฏว่า จากไม่เคยมีเงินเก็บเลย กลับเริ่มพอมีเงินเก็บจากการทำสวนผสมอินทรีย์ ด้วยหลักการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนทั้งการทำปุ๋ยเอง บริโภคอาหารจากพืช/ผักที่ปลูกไว้ สามารถประหยัดค่าอาหาร ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงเดือนละ 6,000-10,000 บาท แล้วยังลดต้นทุนการทำนาจาก 5,000 บาท เหลือเพียง 3,000 บาทต่อไร่ ส่งผลให้ครอบครัวอินทร์สำราญ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากแปลงทดลอง 2 งาน ที่ได้คลุกคลีกับวิถีอินทรีย์นี้เอง

มั่นใจแน่…ขยายพื้นที่ทำนาอินทรีย์เต็มร้อย

คุณสิทธิ์ ต่อยอดทันทีด้วยการเริ่มต้นปรับปรุงที่นาของเขาให้เป็นแนวทางอินทรีย์ทั้งหมด มีการขุดบ่อ ปลูกหญ้าแฝกบริเวณโดยรอบพื้นที่เพื่อสร้างกำแพงกั้นตามธรรมชาติตามหลักการทำเกษตรอินทรีย์ ขณะเดียวกันขุดหลุมเพื่อปลูกต้นไม้หลายชนิดจำนวนร้อยกว่าต้น จากนั้นได้ไปปลูกบ้าน และปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์กลางทุ่งนา จนชาวบ้านที่เห็นต่างสบประมาทว่าคงเป็นไปไม่ได้ จึงทำให้เขาตัดสินใจนำเงินที่เก็บสะสมไว้เมื่อคราวทำแปลงทดลองมาซื้อแผงโซลาร์เซลล์

หลายปีที่ทำนาอินทรีย์ เกษตรกรรายนี้พบความจริงว่า เมื่อการปลูกข้าวอินทรีย์ในช่วงเริ่มต้นมีการทุ่มเทเอาใจใส่อย่างเต็มที่แล้ว หลังจากนั้น สามารถค่อยๆ ลดจำนวนและปริมาณปุ๋ย/น้ำหมัก ลงได้จนอาจไม่ต้องใช้เลยในที่สุด ทั้งนี้ เป็นเพราะการสะสมอาหารและแร่ธาตุในดินมีมากพอจากที่ให้ในตอนแรก ขณะเดียวกันดินกลับฟื้นคืนสภาพที่มีความสมบูรณ์ดียิ่งขึ้นอันเอื้อประโยชน์ต่อพืช

มีบ่อเลี้ยงปลาแบบเศรษฐกิจพอเพียง
มีบ่อเลี้ยงปลาแบบเศรษฐกิจพอเพียง

เดินหน้าทำศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

พื้นที่ในแปลงอินทรีย์ทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็นกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ ปลูกข้าวแบบอินทรีย์ทุกขั้นตอน การทำไร่นาสวนผสม ปลูกไม้ผล พืชผัก ไม้ยืนต้น การปศุสัตว์ การขุดบ่อเลี้ยงปลา เพื่อการบริโภคและจำหน่าย จัดสร้างที่อยู่อาศัย

จากการที่ คุณรำพึงได้เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวมูลนิธิชัยพัฒนา “เพื่อนช่วยเพื่อน” ทำให้ได้รับพระราชทานทุนทรัพย์จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 7,000 บาท เพื่อสร้างศาลาเรียนรู้พระราชทานและฝึกอบรมแก่เกษตรกรผู้ที่สนใจอีกด้วย

คุณรำพึง ชี้ว่าจากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับเกษตรอินทรีย์มา ทำให้พบว่า การปลูกพืชแบบอินทรีย์ไม่ได้ยากอย่างที่เคยเข้าใจ ขออย่างเดียวคือ ต้องมีใจรักก่อน แล้วค่อยเรียนรู้ทีละอย่าง ทำความเข้าใจแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียด ควรจัดระบบดินให้มีความสมบูรณ์ ด้วยการไถกลบตอซังแล้วหว่านปุ๋ยพืชสด

“เมื่อจัดการได้เช่นนี้แล้ว ปุ๋ยหมักกับปุ๋ยคอกแทบจะไม่ต้องใส่เลย โดยเฉพาะหลังเกี่ยวข้าวแล้วจะใช้โรตารีปั่นตอซังข้าวกลบ กระทั่งน้ำแห้งจึงค่อยหว่านถั่วพร้าที่เป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อบำรุงดินต่อ”

นอกจากนั้น ยังเพิ่มเติมว่าการปลูกปอเทืองแล้วไถกลบเป็นอีกวิธีที่ช่วยเพิ่มคุณภาพดิน และควรไถกลบหลายครั้งไป-มา เพื่อเป็นการเติมออกซิเจนในดิน แล้วยังช่วยกำจัดวัชพืชแทนการปราบด้วยสารเคมี ถือเป็นการลดรายจ่าย

แล้วยังระบุว่า การปลูกข้าวแบบนาดำจะช่วยในการประหยัดเมล็ดพันธุ์ได้มาก เป็นการช่วยลดต้นทุน เพราะฉะนั้นจะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเพียง 10 กิโลกรัม ต่อไร่ เท่านั้น ประการต่อมาของข้อดีการทำนาดำคือ ต้นข้าวกอไม่แน่นเกินไป ทำให้แสงแดดสามารถส่องลงมายังผิวดินได้ทั่วถึง จึงไม่เป็นแหล่งก่อให้เกิดโรค/แมลง ได้ง่าย

ใช้ทรัพยากรหมุนเวียนในศูนย์เรียนรู้                                  ช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้

การผลิตข้าวอินทรีย์ด้วยคุณภาพจากความใส่ใจเช่นนี้ จึงทำให้คุณรำพึงและสามีอยู่ในกลุ่มผู้ผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดี และได้รับเลือกให้ทำนาปลูกข้าวเพื่อขายเมล็ดพันธุ์ให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา และอีกหลายแห่ง

ไม่เพียงแค่ปลูกข้าว ยังปลูกพืช/ไม้ผลชนิดอื่นแบบผสมผสานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงร่วมในพื้นที่ด้วย อย่าง กล้วยน้ำว้า มะม่วง มะนาว ไผ่ ฯลฯ โดยผลผลิตเหล่านี้มักมีผู้ที่เข้ามาดูงานซื้อกลับไปบ้าง บางส่วนจะเก็บไว้สำหรับใช้ประกอบอาหารหรือเลี้ยงผู้ที่เข้ามาดูงานในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

ปลูกพืชปุ๋ยพืชสดเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน
ปลูกพืชปุ๋ยพืชสดเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน

ไก่เลี้ยงแบบอินทรีย์ ด้วยการซื้อข้าวจากชาวบ้านที่กินไม่หมด ราคากิโลกรัมละ 3 บาท แล้วนำมาผึ่งแดด มาแช่ แล้วนำแมลงที่ดักไว้ในช่วงกลางคืนเทลงไปพร้อมข้าวเพื่อให้เป็ด/ไก่กิน ดังนั้น ไข่ที่ได้ก็เป็นไข่อินทรีย์ที่ปลอดภัยด้วย

ส่วนปลาให้อาหารด้วยการต้มข้าวคลุกกับรำ หรือใช้ฟางทั้งก้อนโยนลงในบ่อ เพื่อให้ปลากิน เพราะเลี้ยงแต่ปลากินพืชอย่าง ปลาตะเพียน นอกจากนั้น ยังเลี้ยงหมูไว้ จำนวน 100 ตัว เพื่อขายลูกหมูเป็นรายได้ สำหรับปุ๋ยคอกที่นำมาใส่ต้นไม้หลายชนิดจะมาจากมูลสัตว์ที่เลี้ยง

“การทำพืชอินทรีย์เพื่อให้ประสบความสำเร็จ ต้องเริ่มที่มีใจเต็มร้อยก่อน ไม่ว่าจะเป็นใครในครอบครัวก็ตาม และไม่ต้องไปมองนาด้านข้างบ้านว่า ทำไมจึงสวยจัง แต่ควรมองเฉพาะแปลงตัวเอง แล้วตั้งใจทำแปลงตัวเองให้ดีที่สุดเท่านั้น” คุณรำพึง กล่าวในตอนท้าย

บุคคลทั้งสองถือว่าเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากวิถีเกษตรอินทรีย์แบบพอเพียง สามารถพลิกท้องทุ่งที่แห้งแล้งกันดารให้กลับมาเป็นผืนนาที่มีความอุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งสร้างความเขียวขจีให้พื้นที่ จึงถือเป็นต้นแบบให้กับคนทั่วไปได้ศึกษา

หมู่คณะใดที่สนใจต้องการเข้าเยี่ยมชมความสำเร็จจากการทำเกษตรอินทรีย์ปลูกข้าวและสวนผสม สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณรำพึง และ คุณสิทธิ์ อินทร์สำราญ บ้านเลขที่ 118 หมู่ที่ 3 บ้านกระเบื้อง ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ โทรศัพท์ (089) 634-2273, (089) 845-4725

…………………………………

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น!คลิกดูรายละเอียดที่นี่